วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560

"กลยุทธ์สู่ความสำเร็จในการลงทุนหุ้น" - Part 1


สรุปแง่คิดสำคัญจากงานสัมมนา "กลยุทธ์สู่ความสำเร็จในการลงทุนหุ้น" ซึ่งจัดขึ้นที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 ในวันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน 2560 โดยมีวิทยากร 2 ท่าน ได้แก่ คุณหมออรพรรณ คงพันธุ์วิจิตร ผู้เขียนหนังสือ คู่มือ Scan หุ้น และคุณสุภศักดิ์ จุลละศร ผู้เขียนและผู้แปลหนังสือ แต้มต่อในตลาดหุ้น และ เจาะแก่น P/E

 
  • การทำกำไรจากหุ้นมีหลายแนวทาง ถ้าเก่งจริงในแนวทางที่เลือก ก็สามารถทำกำไรได้ทั้งสิ้น
  • แนวเทคนิค มีความเชื่อพื้นฐานอยู่ 3 ข้อ
  1. ราคาหุ้นสะท้อนทุกสิ่ง
  2. ราคาหุ้นเคลื่อนไหวเป็นแนวโน้ม
  3. ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยตัวเอง
  • ข้อแรกตอบคำถามว่า ทำไมดูกราฟอย่างเดียวก็พอ, ข้อที่สองตอบคำถามว่า เราจะทำกำไรได้อย่างไร (Trend vs Countertrend ถ้าจะตามเทรนด์ ก็ต้องจับการเริ่มต้นและสิ้นสุดของแนวโน้ม แต่ถ้าจะเคาน์เตอร์เทรนด์ ก็ต้องดูแนวรับ-แนวต้าน), ส่วนข้อสุดท้ายเป็นตัวที่ทำให้การดูกราฟในอดีตสามารถนำมาใช้ทำนายอนาคตได้
  • แนวพื้นฐาน มีความเชื่อว่า "ในระยะยาว" ราคาหุ้นจะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของตัวกิจการ เพราะฉะนั้นการลงทุนตามแนวพื้นฐานจะไม่มีเล่นสั้น ถ้าเล่นสั้น นั่นคือการเก็งกำไรตามข่าว
  • การเก็งกำไรสามารถเล่นยาวหรือสั้นก็ได้ แต่การลงทุนต้องยาวเท่านั้น และถ้าเริ่มต้นอย่างไรก็ขอให้รักษาแนวทางนั้นไว้จนจบ จึงจะเรียกว่ามืออาชีพ
  • การลงทุนหุ้นสามารถทำได้ทั้งแบบ ทีมเวิร์ก และ ฉายเดี่ยว ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ขอให้เลือกตามความถนัด

  • สไตล์การลงทุนของคุณหมออรพรรณ เน้นการอ่านงบการเงิน
  • งบการเงินที่สำคัญ 3 งบ ได้แก่ งบแสดงฐานะการเงิน เป็นตัวบอกความแข็งแกร่ง รวมทั้งปัญหาของตัวกิจการ, งบกำไรขาดทุน เป็นตัวบอกความสามารถในการทำกำไร, งบกระแสเงินสด เป็นตัวบอกโฟลว์ของเงินสด
  • จุดสังเกต คือ บริษัทที่ดีมักจะมีงบการเงินที่ "คลีน" อ่านแล้วไหลลื่น เข้าใจง่าย
  • สำหรับบริษัทที่มีปัญหา ความเห็นของผู้สอบบัญชีมักจะยืดยาว และมีข้อความที่แสดงถึงความพยายามที่จะปกป้องตัวเอง (มาก ๆ)
  • บริษัทที่น่าสนใจตามความเห็นของคุณหมอ ควรมี ROE ไม่น้อยกว่า 15% รวมทั้งมี P/E และ P/BV ต่ำ อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติแล้วบริษัทที่มี ROE สูง ค่า P/BV มักสูงด้วย
 
  • สไตล์การลงทุนของคุณสุภศักดิ์ เน้นให้น้ำหนักการลงทุนตามความชัดเจนของโอกาส (Probabilistic Investment)
  • "แต้มต่อ" เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีในทุกการลงทุน
  • บริษัทที่ลงทุนควรเป็น self-financing คือ สามารถอุ้มชูตนเองด้วยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ ไม่ต้องมาขอเพิ่มทุน
  • นักลงทุนไม่ควรหลงรักหุ้นที่ตนเองถือ ถ้าวิเคราะห์แล้วสมควรขายก็ขายซะ ตลาดหุ้นเปิดทำการแทบทุกวัน อยากได้เมื่อไหร่ค่อยไปซื้อใหม่
  • นักลงทุนอาชีพ "กำไรไม่คุยโว ขาดทุนไม่ซึมเศร้า" และที่สำคัญ คือ ไม่โชว์พอร์ต (ในปี 1978 โรเบิร์ต วิลสัน เปิดเผยสถานะการลงทุนของตนเอง สุดท้ายถูกผู้คนในตลาดรุมกระซวก ขาดทุนไปหลายล้านดอลลาร์)

[มีต่อ Part 2]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น