วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เบื้องหลังของการผ่อน 0% 10 เดือน


โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนประเภทที่ซื้อของแล้ว “ไม่ผ่อน” แต่จะจ่ายไปเลยเต็มก้อน (ไม่ว่าจ่ายเงินสดตรงนั้น หรือจ่ายเต็มยอดเมื่อบัตรเครดิตเรียกเก็บ) อย่างไรก็ตาม มีญาติมิตรรอบตัวมากมายที่นิยมโปรโมชั่นบัตรเครดิตประเภทผ่อน 0% 10 เดือน เคยมีบางคนบอกประมาณว่า “ช่วงนี้รายจ่ายรัดตัวมาก ถ้าไม่ได้ผ่อนพวก 0% นี่คงจะแย่” คำพูดดังกล่าวสะกิดใจผมอยู่ไม่น้อย บางทีมันอาจจะจริงอย่างที่เขาว่า หรือบางทีมันอาจไม่ช่วยอะไรเลย แล้วอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องกันแน่?

หลังจากคิดถึงเรื่องนี้อยู่เป็นระยะ คำตอบที่ชัดเจนก็ค่อย ๆ โผล่ออกมา


win-win-win solution?


ในการซื้อสินค้าทั่วไป สมมติว่าซื้อเครื่องซักผ้า 30,000 บาท โดยลูกค้าจ่ายด้วยบัตรเครดิตธนาคาร ฝ่าย ร้านค้า จะได้รับเงินค่าสินค้าทั้งก้อนจากสถาบันการเงิน ส่วน ลูกค้า ก็จะได้รับสินค้าไปใช้ทันที จากนั้นเมื่อครบรอบบัญชี แบงก์ หรือสถาบันการเงินผู้ออกบัตรจึงค่อยเรียกเก็บเงินจากลูกค้าเต็มจำนวน

จะเห็นว่าในกิจกรรมดังกล่าว แบงก์ต้องเป็นฝ่ายออกเงินให้ก่อนเหมือนการปล่อยสินเชื่อระยะสั้น ซึ่งถ้าลูกค้าสามารถจ่ายเงินได้เต็มจำนวนตามกำหนดที่เรียกเก็บ แบงก์ก็ไม่ได้รับดอกเบี้ยจากลูกค้า (แต่ยังมีรายได้ส่วนแบ่งจากร้านค้า)

ในอีกทางหนึ่ง หากลูกค้าเลือกผ่อน 0% ยาว 10 เดือน แม้จะมีการรูดบัตรตามจำนวนเงินค่าสินค้า แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ เมื่อถึงครบรอบบัญชี แบงก์จะเรียกเก็บเงินจากลูกค้าเพียง 1 ใน 10 ของยอดที่รูดซื้อสินค้า (เช่น 3,000 บาท ในกรณีเครื่องซักผ้าข้างต้น) แต่เรียกเก็บไปแบบนี้เป็นเวลา 10 เดือน หากลูกค้าสามารถจ่ายได้เต็มจำนวนที่เรียกเก็บในแต่ละเดือนนี้ ก็จะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย นี่จึงเรียกว่าเป็นการ “ผ่อน” หรือ “แบ่งชำระ” ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์

กิจกรรมนี้ดูเหมือนจะเป็นทางออกแบบ win-win-lose คือ ร้านค้าก็เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ เพราะขายของได้ง่ายขึ้น แม้จะเป็นของที่มีราคาแพง ส่วนลูกค้าก็ได้รับสินค้าทันที แถมไม่ต้องจ่ายเงินก้อนโตในครั้งเดียว จะมีก็แต่แบงก์ที่ต้องควักเงินจ่ายให้ แล้วยังใช้เวลานานกว่าจะเรียกเก็บเงินได้ครบจำนวน จนดูเผิน ๆ อาจทำให้คิดไปว่าแบงก์คงจะเสียเปรียบ... แต่ก็ไม่จริงนัก

เหตุผลก็คือ ทุกครั้งที่มีการผ่อน 0% ผ่านบัตรเครดิต นอกจากแบงก์จะได้รับส่วนแบ่งจากร้านค้าแล้ว การที่ลูกค้าสร้างกระแสหนี้ (ตรงข้ามกับการสร้างกระแสเงินสดรายรับนะครับ) ซึ่งจะโผล่มาเป็นประจำทุกเดือน เป็นการทำให้บัตรเครดิตใบนั้น ๆ เกิดการ active และถ้าบัตรไหนมีส่วนร่วมกับการผ่อน 0% มาก ๆ ก็มีโอกาสสูงขึ้นที่ลูกค้าจะหยิบใช้ในการจับจ่ายครั้งต่อไป

การจับจ่ายใช้สอยบ่อยครั้งทำให้แบงก์มีโอกาสได้รับส่วนแบ่งจากร้านค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันข้อมูลจำนวนมหาศาลก็ยังเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาสินเชื่อประเภทอื่น เช่น สินเชื่อรถ หรือสินเชื่อบ้านที่มีวงเงินหลายล้านบาทในอนาคต

อีกประเด็นหนึ่ง เมื่อบัตรเครดิตมี “ว่าที่หนี้” รอต่อคิวเรียกเก็บอีกยาวเป็นสิบเดือน โอกาสที่ลูกค้าจะยกเลิกบัตรก็เป็นไปได้ยาก ถ้าคิดในแง่ทฤษฎีเกม ทางเลือกแรกเป็นการใช้บัตรต่อ แล้วทยอยจ่ายค่าเครื่องซักผ้าเดือนละ 3,000 บาท ไปจนกว่าจะครบสิบเดือน กับทางเลือกที่สอง คือ ปิดบัตรและเคลียร์ยอดค้างชำระทั้งหมดทันที (ซึ่งอาจทำให้หัวโกร๋นได้ โดยเฉพาะถ้ามีผ่อน 0% อยู่หลายรายการ ดังที่จะขยายความต่อไป) แน่นอนว่าทางเลือกแรกเป็นสิ่งที่ง่ายและเกิดขึ้นมากกว่า นั่นก็แปลว่า ฐานลูกค้าของแบงก์จะมีความมั่นคงมาก

ถึงตรงนี้การผ่อน 0% ดูคล้ายกิจกรรมที่เป็นแบบ win-win-win คือ ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย


win?-win?-win? solution


ท่านทั้งหลายอาจเห็นความกวนอยู่ในหัวเรื่องนี้ เพราะคำว่า win ทุกตัวล้วนตามมาด้วยเครื่องหมายคำถาม

ร้านค้า – รวมถึงผู้ผลิตสินค้า อาจขายของได้มากและง่ายขึ้น แต่การแข่งขันของพวกเขาก็มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากการแบ่งชำระทำให้ลูกค้าสามารถ “ปีน” ขึ้นไปซื้อสินค้ารุ่นที่มีราคาแพงขึ้นได้ (เกิดการแข่งขันข้ามตลาด) พวกเขาจึงต้องเจอโจทย์ใหม่ และต้องพยายามบริหารจัดการต้นทุนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันต้องเผื่อส่วนแบ่งที่ต้องจ่ายให้กับแบงก์อีกด้วย

ลูกค้า – แม้การแบ่งชำระ 0% ดูเหมือนจะทำให้ลูกค้าสบายขึ้น แต่แท้จริงแล้วความ “เบาสบาย” นี้จะคงอยู่เพียงแค่แป๊บเดียว นอกจากนั้นยังมีโอกาสสูงที่ลูกค้าจะประเมินกำลังซื้อของตนเองผิดพลาด (เพราะไปคิดถึงแค่ยอดชำระรายเดือน) หรือหลงระเริงจนเสียวินัย ตัดสินใจซื้อสินค้ารุ่นที่แพงเกินไป หรือซื้อของที่ไม่มีความจำเป็นกลับมา สุดท้ายเมื่อชำระยอดแต่ละเดือนไม่ไหวก็ต้องจ่ายด้วยยอดขั้นต่ำและยอมเสียดอกเบี้ย

กลายเป็นว่าในขั้นตอนซื้อจนถึงเรียกเก็บเงินค่าสินค้าแบบ แบ่งชำระ นั้นไม่เสียดอกเบี้ยก็จริง แต่มาเสียดอกเบี้ยตอน จ่ายขั้นต่ำ กับบัตรเครดิต แถมวิธีคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็สุดจะเหี้ยมเกรียม เพราะเขาคิด “ทั้งยอด” และคิดย้อนไปตั้งแต่วันที่รูดนู่นเลย ไม่ได้มาเริ่มคิดตั้งแต่วันที่เรียกเก็บเงินอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ

สถาบันการเงิน – เมื่อฐานลูกค้าของแบงก์หรือบริษัทบัตรเครดิต ขยายตัวเพราะการ “ซื้อเกินจำเป็น” ยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น แม้จะดูน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ก็อาจมีคุณภาพต่ำและตามมาด้วย หนี้เสีย ได้ในที่สุด คนทั่วไปมักคิดว่าแบงก์คงจะมีกำไรมหาศาล เพราะเห็นช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ลืมต้นทุนสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งได้แก่ credit cost หรือ ต้นทุนจากการไม่สามารถตามเก็บหนี้ได้ หากบริหารไม่ดี นอกจากไม่กำไรแล้วยังอาจถึงขั้นเจ๊งได้เลย

เพราะฉะนั้น ที่บอกว่า win-win-win จึงต้องประกบด้วยเครื่องหมายคำถามด้วย


การผ่อน 0%... ไม่ช่วย


ความจริงนี้อาจน่าสะเทือนใจ แต่การที่ท่านไม่รู้ยิ่งน่าสะเทือนใจกว่า

สมมติครัวเรือนของท่านมีการซื้อสินค้า “ไอเท็มใหญ่” เช่น เครื่องปรับอากาศ, เครื่องซักผ้า, โทรทัศน์, โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ เวียนเข้ามาทุก 3 เดือน เป็นจำนวนเงินเฉลี่ยครั้งละ 30,000 บาท ขณะเดียวกันก็มี “ไอเท็มเล็ก” เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น, เครื่องปั่นน้ำผลไม้, ไดร์เป่าผม ฯลฯ รวมกันเฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท

เพื่อให้ง่าย เราจะคิดบนฐานเดียวกันเป็นยอดใช้จ่ายต่อเดือนและถือว่าทุกรายการผ่อนชำระแบบ 0% 10 เดือน ในแต่ละเดือนจะมียอดใช้จ่าย (30000 / 3) + 5000 = 15,000 บาท (ซึ่งแบ่งชำระ 10 เดือน) คิดเป็นยอดชำระ 1,500 บาท/เดือน



กล่องสี่เหลี่ยมแต่ละกล่องแทนจำนวนเงิน 1,500 บาท สังเกตว่าการใช้จ่ายเฉพาะของเดือนที่หนึ่งนี้จะทำให้ท่านมีภาระต้องจ่ายไปอีก 10 เดือน ครั้นพอเข้าเดือนที่สอง ท่านก็ช้อปปิ้งและมียอดที่ต้องชำระเข้ามาอีก 1,500 บาท/เดือน แต่คราวนี้ภาระในการชำระจะยืดเหลื่อมไปถึงเดือนที่ 11 ขณะที่ภาระจากการใช้จ่ายของเดือนที่หนึ่งก็ยังคงต้องชำระถึงเดือนที่ 10



เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ยอดชำระของท่านจะเริ่มทับถมขึ้น จนถึงเดือนที่ 10 ยอดชำระในส่วนที่ใช้จ่ายมาตั้งแต่เดือนที่ 1 ก็จะสิ้นสุดลง แล้วพอถึงเดือนที่ 11 ยอดชำระในส่วนที่ใช้จ่ายมาตั้งแต่เดือนที่ 2 ก็จะสิ้นสุดลงเหมือนกัน เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากนับจำนวนกล่องสี่เหลี่ยมก็จะเห็นว่าคงตัวอยู่ที่ 10 กล่อง นับจากเดือนที่ 10 เป็นต้นไป



นี่แปลว่าอะไร? กล่องสี่เหลี่ยมแต่ละกล่องแทน 1,500 บาท แสดงว่าการผ่อน 0% ทำให้ท่านจ่าย “เบาตัว” ในเดือนแรก (จ่าย 1,500 บาท) จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละกล่อง ๆ จนสุดท้ายมาอยู่ที่ steady state หรือ สถานะคงตัว ณ เดือนที่สิบ และต่อจากนั้นก็จ่ายเดือนละ 1500 x 10 = 15,000 บาท ไปเรื่อย ๆ ซึ่งที่จริงก็เท่ากับยอดใช้จ่ายเฉลี่ยในแต่ละเดือนนั่นเอง

สรุปก็คือ ในระยะยาวเมื่อผ่อน 0% ไปเรื่อย ๆ ยอดเงินที่ถูกเรียกเก็บจะเท่ากับยอดเต็มที่ใช้จ่าย ไม่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระแต่อย่างใด


งั้นทำอย่างไรดี?


ตามความเห็นของผม ภาวะหนี้สิน ควรเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” คือ ท่านสามารถมีหนี้ได้ แต่ควรมีแล้วจบเป็น ไม่ใช่มีไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเป็นหนี้จากการบริโภค ไม่ใช่เงินกู้ยืมเพื่อเอามาทำการค้า

ถึงตรงนี้หลายท่านอาจคิดต่อไปว่า “เอ้า! แล้วจะให้ทำอย่างไร ตอนนี้ก็หนี้ท่วมอยู่” ผมขอแนะนำ สูตร FFD หรือ Fix – Freeze - Delay ให้เอาไปทำวันนี้เลย ไม่ต้องย้อนกลับไปแก้อดีต

ขั้นแรกเป็นการ fix หรือ กำหนดงบประมาณ ให้แน่ชัดก่อนไปซื้อของ โดยเฉพาะของที่มีราคาสูง การซื้อของตามงบประมาณที่กำหนดไว้ล่วงหน้าทำให้ท่านมีรายจ่ายลดลง ทั้งยังได้ของใช้ตามจำเป็นอยู่ ไม่ใช่ซื้อรุ่นแพงเพียงเพราะว่าผ่อนไหว

ขั้นที่สอง freeze หรือ แช่แข็งรายจ่าย ในการซื้อสินค้า 5,000 บาทด้วยเงินสด รายจ่ายของท่านจะถูก “ฟรีซ” หรือแช่แข็งไว้ที่ 5,000 บาททันที ส่วนการผ่อน 0% นั้นไม่แน่ เพราะหากท่านจ่ายตามยอดเรียกเก็บไม่ได้ก็จะถูกคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต เปรียบไปก็เหมือนแบคทีเรียที่สามารถเติบโตได้ในสภาวะที่เหมาะสม ถ้าเราไม่สร้างสภาวะดังกล่าวให้ แบคทีเรีย (ดอกเบี้ย) ก็โตไม่ได้

ทางออกก็คือ พยายาม ลด-ละ-เลิก การผ่อน โดยเริ่มจากรายจ่ายก้อนเล็กที่ทำได้ง่ายก่อน ถ้าพอไหวก็จ่ายเงินสดเลย บัตรเครดิตจะได้ไม่อีนุงตุงนัง เหลือไว้แค่รายการใหญ่ที่ควรค่าแก่การผ่อนจริง ๆ พอท่านมีแบคทีเรียไม่กี่สายพันธุ์ การบริหารจัดการก็จะง่ายขึ้น

ขั้นที่สาม delay หรือ ยืดระยะเวลาซื้อ นี่เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลมาก ถ้าอะไรไม่เร่งด่วน รอได้ก็รอก่อน เงินถ้าอยู่ในมือเรา อยากจ่ายเมื่อไหร่ค่อยจ่ายก็ได้ ในทางกลับกันเงินที่จ่ายออกไปแล้ว เรียกเท่าไรมันก็ไม่หวนคืนกลับมา

แล้วท่านไม่ต้องห่วง ส่วนใหญ่แล้วคนเราอยู่เฉย ๆ เดี๋ยวรายจ่ายก็จะโผล่มาเอง บางทีก็รถเสีย หรือป่วยต้องไปหาหมอ ก๊อกน้ำพัง ไอแพดชาร์จไม่เข้า ฯลฯ เพราะฉะนั้นวางแผนการใช้จ่ายให้หลวมไว้ก่อนเป็นดี บางครั้งพอไม่ได้ซื้อทันที ทิ้งไว้นานเข้าความอยากได้มันก็หดหายไป ส่วนเงินก็ยังอยู่ที่เดิม นอกจากนี้ยังเป็นวิธีที่นุ่มนวลในเชิงจิตวิทยาด้วย เพราะท่านแค่บอกตัวเองว่า “เดี๋ยวค่อยซื้อ” ก็ไม่ได้หักหาญน้ำใจอะไรมากมาย

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการผ่อน 0% ซึ่งเป็นทั้งตัวช่วยและหลุมพรางที่ต้องรู้เท่าทัน ปิดท้ายด้วย "เพดานหนี้" ซึ่งอยากแนะนำให้เอาไว้ใช้เป็นแนวทางบริหารหนี้ในภาพรวม เพื่อจะได้มีชีวิตที่สงบสุขและมั่นคงกันทุกคน


วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

แพ้ตลาด อนาถใจ?


นักลงทุนส่วนใหญ่มักมีความคิดตั้งต้นว่า เมื่อลงทุนแล้ว “ต้องชนะตลาด” บางท่านให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า หากลงทุนแล้วไม่ชนะตลาดก็ไม่ควรฝืน สู้ไปซื้อ กองทุนรวมดัชนีหุ้น เสียดีกว่า ซึ่งฟังดูเผิน ๆ ก็มีเหตุมีผลดี เพราะถ้าเราลงทุนเองแล้วได้ผลตอบแทนน้อยกว่า จะมัวเสียเวลาลำบากลงทุนเองทำไม?


แต่นั่นแหละ ถ้าทุกอย่างมันตรงไปตรงมาเช่นนั้นก็คงไม่ต้องมีบทความนี้


ตั้งต้นที่ผลตอบแทน


ตามสายตาของคนทั่วไป ความสำเร็จในการลงทุนหุ้นวัดกันด้วย ผลตอบแทน หรือพูดให้เป็นรูปธรรมหน่อยก็คือ ดูว่าพอร์ตหุ้นของเราโตขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ และถ้าจะให้ดีก็ต้องมีการเปรียบเทียบกับตลาดโดยรวมด้วย หากตลาดปรับตัวขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วหุ้นของตนเองขึ้น “เพียง” 15 เปอร์เซ็นต์ พวกเขาจะรู้สึกไม่พอใจ เพราะถือว่าแพ้ตลาดไปถึง 5 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม การค้นหาว่าพอร์ตหุ้นของตนเองให้ผลตอบแทนกี่เปอร์เซ็นต์ก็จำเป็นต้องใช้ความพยายาม บางท่านอาจคิดว่า “ไม่เห็นมีอะไร แค่ล็อกอินเข้าไปในบัญชีของเรา โบรกเกอร์เขาก็มีตัวเลขบอกไว้เรียบร้อยแล้ว” แต่นั่นก็เป็นตัวเลขที่มีความบกพร่องบางอย่างอยู่

ประการแรก โบรกเกอร์มักบันทึกรายการซื้อขายหุ้นของเราด้วยวิธี FIFO (First-In-First-Out) หมายถึง ถ้าเราซื้อหุ้นตัวเดิมมาหลายล็อต พอเวลาทยอยขาย มันจะเริ่มตัดขายจากล็อตแรกก่อน ดังนั้น หากหุ้นล็อตแรกมีต้นทุนต่ำกว่าล็อตหลัง ๆ พอขายหุ้นไปบางส่วน ส่วนที่ขายก็จะรับรู้เป็นกำไร (realised gain) เมื่อรายงานหุ้นคงเหลือครั้งต่อไป เขาไม่ได้เอากำไรที่รับรู้ไปแล้วนี้มารวมด้วย พอร์ตที่เหลืออยู่ก็จะดูเหมือนขาดทุน เพราะหุ้นล็อตที่เหลือเป็นหุ้นต้นทุนสูงทั้งนั้น

ประการที่สอง รายงานหุ้นคงเหลือจะให้ผลที่น่าสับสนสำหรับนักลงทุนระยะยาว เพราะมันจะคาบเกี่ยวข้ามปีหรือข้ามหลายปี พอเห็นตัวเลขบอกว่ากำไร 35% ก็ไม่รู้อีกว่าตกปีละกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วเป็นของปีล่าสุดกี่เปอร์เซ็นต์

ประการที่สาม รายงานกำไรขาดทุนของโบรกเกอร์มักไม่รวม เงินปันผล ที่ได้รับระหว่างทางเข้าไปด้วย ผลตอบแทนที่เห็นจากในรายงานจึงมักต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก โดยเฉพาะสำหรับหุ้นที่จ่ายปันผลดี

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงควรจดบันทึกและสรุปกำไร/ขาดทุนด้วยตนเอง อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง


เป็นเรื่องธรรมชาติ


สมมติท่านสรุปผลตอบแทนของพอร์ตได้แล้ว และอยากนำตัวเลขนี้ไปเปรียบเทียบกับตลาดหุ้น อย่างน้อยท่านควรใช้ดัชนี TRI (Total Return Index) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ คำนวณให้ ไม่ใช่ดัชนี SET เหตุผลสั้น ๆ ก็คือ ดัชนี SET เป็นตัวแทนของตลาดหุ้นไทยโดยรวมก็จริง แต่มันคำนวณจากราคาหุ้นแต่ละตัวที่ ไม่ รวมเงินปันผล ส่วนดัชนี TRI นั้นรวมเงินปันผลเข้าไปด้วยแล้ว จึงเป็นการเปรียบเทียบที่ตรงความจริงมากกว่า (หรือถ้าท่านจะใช้ผลตอบแทนของดัชนี SET ซึ่งหาได้ง่ายกว่า ก็ต้องนำอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยของตลาดมาบวกเข้าไปด้วย จึงจะถือว่าใช้ได้)

แม้ถึงตรงนี้ท่านรู้วิธีเปรียบเทียบผลตอบแทนของตนเองกับตลาดหุ้นแล้ว แต่ท่านอาจยังไม่ทราบว่า โดยธรรมชาติแล้วนักลงทุนรายย่อยจะแพ้ตลาด แม้ว่าที่จริงเขาจะเก่งเท่าตลาดก็ตาม!

สาเหตุก็คือ ถ้ากำหนดดัชนี SET (หรือดัชนี TRI ก็ตาม) เป็นตัวแทนของตลาด “พอร์ตหุ้น” ลักษณะนี้จะเสมือนกลยุทธ์ buy and hold ที่ยาวนานมาก ๆ และไม่มีต้นทุนการซื้อขาย เมื่อรับเงินปันผลมาก็ไม่ต้องจ่ายภาษี

ผิดกับนักลงทุนที่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นในทุกครั้งที่มีการซื้อขาย และยิ่งถ้าเป็น นักลงทุนรายย่อย ซึ่งไม่มีอำนาจต่อรองอัตราค่าคอมมิชชั่น ความเสียเปรียบนี้ก็จะยิ่งชัดเจน ส่วนเงินปันผลก็ถูกหักภาษี แถมยังมีระยะเวลาระหว่างวันขึ้นเครื่องหมาย XD กับวันที่ได้รับเงินจริงอีก

สำหรับเรื่องการซื้อขาย นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสพบกับส่วนต่างระหว่างราคาเสนอซื้อ-เสนอขาย (bid-offer spread) ของหุ้นตัวเล็กที่กว้างมาก ต่างจากนักลงทุนสถาบัน/นักลงทุนต่างชาติที่ผูกปิ่นโตกับหุ้นตัวใหญ่สภาพคล่องดี เพราะฉะนั้นต่อให้เลือกตัวหุ้นเก่งพอ ๆ กัน นักลงทุนรายย่อยก็มีแนวโน้มจะทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่านักลงทุนกลุ่มอื่น

นอกจากนี้ เมื่อมีหุ้นใหม่เข้าตลาด ที่เรียกกันว่า หุ้น IPO โดยธรรมชาติหุ้นตัวดี ๆ มักไม่ตกถึงมือรายย่อย แต่พอเปิดมาวันแรกวิ่งแรง ดัชนีก็เอาไปคำนวณแล้ว นี่ก็เป็นอีกความเสียเปรียบหนึ่ง

ดังนั้น หากเราพบนักลงทุนรายย่อยที่ทำผลตอบแทนได้ “เท่าตลาด” ที่จริงแล้วเขาจะต้องเก่งกว่าตลาดพอสมควร


ฝีมือดีก็แพ้ตลาดได้


ธรรมชาติของการแพ้ตลาดข้างต้นเป็นการกล่าวถึงนักลงทุนระยะยาวที่มี “ฝีมือปานกลาง” อย่างไรก็ตาม โปรดอย่าได้จินตนาการต่อว่านักลงทุนที่มีฝีมือดีจะต้องชนะตลาดเสมอไป

สมมติเรามีหุ้นในตลาด 2 ตัวที่มีสัดส่วนเท่า ๆ กัน ได้แก่ หุ้นหนักแน่น ซึ่งมีผลประกอบการค่อนข้างคงเส้นคงวาและไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อม และ หุ้นอ่อนไหว ซึ่งมีผลประกอบการหวือหวาไปตามปัจจัยภายนอก เพื่อให้เห็นภาพเราอาจเปรียบเทียบหุ้นตัวแรกเป็นเหมือน “เรือยนต์” ที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองไปได้ในทุกสถานการณ์ ส่วนหุ้นตัวที่สองเป็นเหมือน “เรือใบ” ที่จะวิ่งฉิวเมื่อลมมา

ในกรณีที่เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หุ้นอ่อนไหว จะได้รับผลบวกที่ชัดเจนและมีราคาวิ่งฉิวแรงกว่า หุ้นหนักแน่น เพราะฉะนั้นนักลงทุนที่ถือ หุ้นอ่อนไหว ในตลาดขาขึ้นก็จะสามารถเอาชนะดัชนีตลาดหุ้นสมมติของเรา (ที่คำนวณมาจากหุ้นสองตัวนี้) ส่วนนักลงทุนที่ถือ หุ้นหนักแน่น ก็จะแพ้ตลาด และในทางกลับกันเมื่อตลาดเป็นขาลง หุ้นหนักแน่น สามารถทนทานต่อสภาพเศรษฐกิจได้ดีกว่า ราคาหุ้นก็มีแนวโน้มปรับตัวลงในสัดส่วนที่น้อยกว่าตลาด

หรือสรุปง่าย ๆ คือ หุ้นหนักแน่น จะแพ้ตลาดในช่วงตลาดขาขึ้น และชนะตลาดในช่วงตลาดขาลง

น่าเสียดายว่า “หุ้นคุณภาพดี” ในความรู้สึกนึกคิดของนักลงทุนแบบเน้นมูลค่า หรือ VI (value investor) ที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของผลประกอบการ มีความโน้มเอียงไปทาง หุ้นหนักแน่น ในตัวอย่างของเรามากกว่าที่จะเป็น หุ้นอ่อนไหว และเมื่อบวกกับคุณลักษณะของตลาดหุ้นที่เวลาปรับตัวลงมักจะเร็วและแรง แต่เวลาขึ้นมักขึ้นทีละน้อยและกินเวลานาน (ซึ่งทำให้ตลาดขาขึ้นยาวนานกว่าขาลง) ทั้งสองประการนี้ทำให้หุ้นที่อยู่ในมือของ VI หลาย ๆ ท่านดูแล้วน่าละเหี่ยใจมากกว่าความเป็นจริง

เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ สมมติว่าในช่วงเวลา 4 ปี หุ้นทั้งสองไม่มีการจ่ายเงินปันผลและมีการเปลี่ยนแปลงของราคาดังนี้

หุ้นหนักแน่น:

+10%   +10%   +10%   -22%

หุ้นอ่อนไหว:

+20%   +20%   +20%   -40%

หากดัชนีตลาดสมมติของเราคำนวณจากราคาหุ้นถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาด โดยเริ่มต้นทั้งสองตัวมีมูลค่าตลาดเท่ากัน ดัชนีหุ้นจะเปลี่ยนแปลงดังนี้

+15%   +15%   +15%   -32%

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า หุ้นหนักแน่น จะแพ้ตลาดต่อเนื่องถึงสามปี (แพ้ปีละ 5 เปอร์เซ็นต์) ก่อนจะกลับมาชนะตลาดได้ในปีสุดท้าย (ชนะ 10 เปอร์เซ็นต์) ขณะที่ หุ้นอ่อนไหว จะตรงกันข้าม คือ ชนะตลาดสามปีติดต่อกัน (ชนะปีละ 5 เปอร์เซ็นต์) และแพ้ในปีสุดท้ายปีเดียว (แพ้ 8 เปอร์เซ็นต์)

ความตลกอยู่ตรงที่ว่าในกรอบระยะเวลา 4 ปี หุ้นทั้งสองตัวรวมถึงดัชนีตลาดล้วนให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 0.9% ต่อปี ไม่มีใครแพ้ใคร แต่ถ้าดูกันเป็นจำนวนปี หุ้นหนักแน่น กลับแพ้ตลาดถึง 3 จาก 4 ปี ส่วน หุ้นอ่อนไหว ก็ชนะตลาดถึง 3 จาก 4 ปี การแพ้หรือชนะตลาดเป็นรายปีจึงอาจจะเป็นเรื่องหลอกตาได้


สิ่งที่นักลงทุนควรยึดถือ


จากตัวอย่างข้างต้น เราคงเห็นแล้วว่าการเอาชนะตลาดเป็นรายปี ไม่ใช่ สิ่งที่ควรยึดถือ หรือถ้าจะพูดให้ทุกท่าน “งง” ยิ่งขึ้นไปอีก การเอาชนะตลาดแม้ในระยะยาว ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรยึดถืออีกเช่นกัน

หนังสือ The Intelligent Investor โดย เบนจามิน เกรแฮม (อาจารย์ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์) ระบุไว้ว่า “คุณจะต้องไม่ตัดสินความสำเร็จทางการเงินของตัวเองจากสิ่งที่คนอื่นทำ คุณไม่ได้จนลงแม้แต่น้อย หากคุณแพ้ดัชนี” ซึ่งตรงกับสิ่งที่อยู่ในใจของผมมานาน (ถ้าจะให้แฟร์ อันที่จริงประโยคนี้อยู่ในส่วนของ ความคิดเห็นเพิ่มเติม ที่ เจสัน ซวีจ เป็นผู้เขียน ไม่ใช่ข้อความของเกรแฮมโดยตรง แต่... ใครจะเขียนก็ตาม ความคิดที่ถูกต้องจะถูกต้องด้วยตัวของมันเอง ไม่ใช่เพราะมันเป็นคำพูดของเซียน)

หากคุณเป็นคนขี้กังวล การลงทุนหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ตลอดเวลาและเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม แม้มันจะทำให้คุณรวยกว่าคนอื่น ๆ ในตลาด คุณจะยืนโบกธงด้วยความปลื้มปริ่มเมื่อสิ้นปีที่ 10 หลังจากนอนกระสับกระส่ายด้วยความกังวลวิตกมา 3650 คืน ทำไมกัน?

ความเห็นโดยส่วนตัวของผม คือ การลงทุน “ของเรา” ควรออกแบบมาให้ตอบโจทย์ของเราเอง นั่นคือสิ่งที่นักลงทุนควรยึดถือ ตราบเท่าที่เราสามารถทำตามแผนและได้รับผลตอบแทนในระดับที่ตนเองพึงพอใจ มันก็ไม่ควรมีปัญหาอะไร คุณอาจจะอยากแข่งขันกับตลาดหรือคนอื่นบ้างก็ได้ แต่นั่นไม่ควรเป็น “โจทย์” ที่แท้จริงของชีวิต

ปิดท้ายด้วยอีกประโยคเด็ดจากหนังสือเล่มเดียวกัน

“เป้าหมายของการลงทุนไม่ใช่การได้เงินมากกว่าระดับเฉลี่ย แต่เป็นการได้เงินในจำนวนที่มากพอต่อความต้องการของคุณต่างหาก”

เพราะฉะนั้น ถึงแพ้ตลาดก็ไม่ควรต้องอนาถใจครับ

วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สูตรเงินออม


ผู้ที่ทำงานประจำมาแล้วระยะหนึ่งมักมีคำถามว่า “ทำงานมาจนถึงป่านนี้ ฉันควรมีเงินเก็บเท่าไรแล้ว?”

การถามตัวเองเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะนั่นแสดงว่าท่านยังคงมีสติและรู้จักมองไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในการแสวงหาความรู้เรื่องนี้ ท่านอาจพบว่าตัวเองโชคดีและโชคร้ายไปพร้อม ๆ กัน

ที่บอกว่า โชคดี ก็เพราะว่าปัจจุบันมีแหล่งความรู้มากมายที่นำเสนอ “สูตรลัด” ที่คำนวณได้เองง่าย ๆ แบบที่ไม่ต้องไปนั่งกรอกตัวเลขตามเว็บไซต์ จึงขอยกสูตรยอดนิยมมาแสดงไว้ในที่นี้ (ส่วน โชคร้าย คืออะไรนั้น ขอให้เก็บความสงสัยเอาไว้ก่อน)


สูตรที่ 1


เงินออมที่ควรมี  =  0.1 x อายุ x รายได้ตลอดปีปัจจุบัน

แน่นอนว่าสูตรนี้ดูง่ายมาก สมมติท่านอายุ 30 ปี มีเงินเดือน 30,000 บาท (เท่ากับปีละ 30000 x 12 = 360,000 บาท) ก็จะคำนวณได้ดังนี้

เงินออมที่ควรมี  =  0.1 x 30 x 360000  =  1,080,000 บาท

หากเงินเก็บของท่านน้อยกว่าจำนวนนี้ก็แปลว่า ท่านควรจะเร่งเก็บออมให้มากขึ้น


สูตรที่ 2


เงินออมที่ควรมี  =  2 x (อายุปัจจุบัน – อายุเริ่มงาน) x (เงินเดือนปัจจุบัน + เงินเดือนเริ่มงาน)

สูตรนี้ยาวหน่อย แต่หากท่านพิจารณาดูก็จะเห็นวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลัง นั่นคือ ผู้คิดน่าจะพยายามหา “เงินเดือนเฉลี่ย” โดยการจับ เงินเดือนปัจจุบัน และ เงินเดือนเมื่อเริ่มงาน ของท่านมาบวกกันแล้วหารสอง ส่วนผลต่างระหว่างอายุปัจจุบันกับอายุเริ่มงานก็คือ จำนวนปีที่ทำงานมาแล้วนั่นเอง

หากต้องการเปลี่ยน “เงินเดือน” ให้กลายเป็น “รายได้ตลอดปี” ท่านก็จะต้องนำมาคูณด้วย 12 เพราะฉะนั้นสูตรนี้ก็จะจัดรูปใหม่ให้เทียบเคียงกับสูตรแรกได้ว่า

เงินออมที่ควรมี  =  (1/3) x จำนวนปีทำงาน x รายได้ตลอดปีเฉลี่ยย้อนหลัง

สมมติเหมือนเดิมว่าปัจจุบันท่านอายุ 30 ปี มีเงินเดือน 30,000 บาท และเริ่มทำงานตอนอายุ 22 ปี เงินเดือนเริ่มแรก 18,000 บาท ก็จะคำนวณได้ดังนี้

เงินออมที่ควรมี  =  2 x (30 – 22) x (30000 + 18000)  =  768,000 บาท



ปัญหาสำคัญของสูตรดั้งเดิม


หลายท่านอาจสังเกตเห็นความไม่สมเหตุสมผลของสูตรแรก เนื่องจากมีการใช้ อายุคน แทนที่จะเป็นจำนวนปีที่ทำงานอย่างในสูตรที่สอง ลองคิดดูเล่น ๆ ว่า เงินออมที่ควรมี ณ สิ้นปีแรกของการทำงานจะเป็นเท่าไร

เงินออมที่ควรมี  =  0.1 x 22 x (18000 x 12)  =  475,200 บาท

ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเงินได้ตลอดทั้งปีรวมกันแล้วยังแค่ 18000 x 12 = 216,000 บาท เท่านั้นเอง

สูตรที่สองอาจดูสมเหตุสมผลมากขึ้น แต่ก็ยากที่จะตอบว่าเหตุใดเราจึงต้องใช้ เศษหนึ่งส่วนสาม (1/3) ไปคูณข้างหน้า และสูตรนี้ก็ไม่ได้คิดถึงผลของการนำเงินออมไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนแบบทบต้นด้วย ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นโชคร้ายที่อยู่ในโชคดี เพราะแม้เราจะมีสูตรสำเร็จให้ใช้ แต่ก็ดูเหมือนจะมีข้อบกพร่องอยู่เต็มไปหมด ทำให้เราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าตกลงแล้วเราควรมีเงินออมเท่าไหร่กันแน่


สูตรเงินออมของ MonkeyFreeTime


เมื่อสูตรดั้งเดิมยังดีไม่พอ เราก็น่าจะลองสร้างสูตรใหม่ขึ้นมา เริ่มจากสมมติความมั่งคั่งของปีที่ 1 (W1) ให้เท่ากับ เงินเดือนปีที่ 1 (S1) คูณ 12 เดือน และคูณด้วย อัตราการออม (k) ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็มักออมกันอยู่ที่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ จึงเขียนได้ว่า

W1  =  12 k S1

ในทำนองเดียวกัน เงินที่ออมเพิ่มในปีที่สองจะเท่ากับ 12 k S2 ซึ่งถ้าเงินเดือน (salary) มีอัตราการเติบโต gs เราก็ย่อมทราบว่าเงินเดือนปีที่ 2 หรือ S2 จะเท่ากับ S1 (1+gs) หรือพูดอีกอย่างก็คือ เงินที่ออมเพิ่มในปีที่สองเท่ากับ 12 k S1 (1 + gs)

หากความมั่งคั่ง (wealth) ที่สะสมมาในปีที่ 1 มีการลงทุนและได้รับอัตราผลตอบแทน gw ความมั่งคั่งที่สะสมมาดังกล่าวก็จะงอกเงยขึ้นเป็น 12 k S1 (1+gw) เมื่อนำทั้งสองส่วนนี้มารวมกันก็จะได้ความมั่งคั่งรวม ณ สิ้นปีที่ 2

W2  =  12 k S1 (1+gs)  +  12 k S1 (1+gw)

จากผลการสำรวจโดยบริษัท Willis Towers Watson (Thailand) อัตราการปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยของปี 2559 อยู่ที่ 5.5% ซึ่งอาจตีคร่าว ๆ ว่า 6% ก็ได้ หากเราจัดพอร์ตลงทุนที่ผสมผสานระหว่างหุ้น พันธบัตร และสินทรัพย์อื่น ๆ โดยได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 6% เช่นกัน นี่จะเป็นกรณีพิเศษที่ทำให้ gs = gw (เพื่อให้ง่าย สมมติว่า gs = gw = g) สิ่งที่ตามมาก็คือ สมการข้างต้นจะสามารถลดรูปให้ง่ายลงได้

W2  =  12 k S1 (1+g)  +  12 k S1 (1+g)
       =  12 k S2 + 12 k S2
       =  2 x 12 k S2

เมื่อคำนวณแบบนี้ในปีต่อ ๆ ไป เราจะได้

W3  =  3 x 12 k S3

W4  =  4 x 12 k S4

ซึ่งเขียนให้อยู่ในรูปทั่วไปได้ว่า ความมั่งคั่งในปีที่ n หรือ Wn  =  12 n k Sn หรือ

เงินออมที่ควรมี  =  อัตราการออม x จำนวนปีทำงาน x รายได้ตลอดปีปัจจุบัน


ประชันสูตรเงินออม


สิ่งแรกที่ทดลองทำหลังจากได้ “สูตรใหม่” ก็คือ การสร้างโมเดลบน Excel เพื่อทดสอบประสิทธิภาพเทียบกับสูตรดั้งเดิม เริ่มจากกรณีที่เรามีความมั่นใจมากที่สุดก่อน เมื่อการเติบโตของเงินเดือนเท่ากับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (gs = gw) ได้ผลออกมาดังนี้




สังเกตว่า ความมั่งคั่ง ที่อยู่ในคอลัมน์ M ถือเป็นตัวเลขที่ถูกต้องตามที่คำนวณได้จากโมเดล ส่วนตัวเลขจากสูตรต่าง ๆ จะอยู่ใน 3 คอลัมน์ถัดมาทางขวา ในกรณีพิเศษ gs = gw เงินออมจากสูตร MonkeyFreeTime หรือ MFT จะเท่ากับความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นจริงพอดี ขณะที่สูตรอื่น ๆ ล้วนคำนวณออกมาสูงเกินจริงไปมาก [ดูภาพด้านล่าง] ความคลาดเคลื่อนจากสูตรที่ 1 และสูตรที่ 2 มีค่ากลาง (median) อยู่ที่ 55% และ 33% ตามลำดับ




เพื่อให้เกิดความเข้าใจรอบด้านเราจะสมมติอีกกรณีหนึ่ง เมื่ออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเงินเดือนอยู่ 1 เปอร์เซ็นต์ดูบ้าง ปรากฏว่าเงินออมจากสูตร MFT เริ่มสูงเกินจริง แต่ก็ยังมีค่ากลางของความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 4% เท่านั้น เทียบกับสูตรที่ 1 และสูตรที่ 2 ซึ่งคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 62% และ 38% ตามลำดับ




สรุปง่าย ๆ คือ สูตรเงินออม MonkeyFreeTime  มีความแม่นยำมากกว่า โดยเฉพาะในกรณีที่ผลตอบแทนจากการลงทุนใกล้เคียงกับอัตราการปรับเพิ่มเงินเดือน  นี่เป็นผลจากการถอดสูตรมาด้วยวิธีทางคณิตศาสตร์ ซึ่งที่จริงว่าไปแล้วมันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร

เงินออมที่ควรมี  =  อัตราการออม x จำนวนปีทำงาน รายได้ตลอดปีปัจจุบัน

โปรดจดสูตรง่าย ๆ นี้ไว้ใช้ อย่าลืมว่า อัตราการออม ที่เหมาะสมมักมีค่าอยู่ระหว่าง 0.10 - 0.20 (หรือ 10-20% ของรายได้นั่นเอง) ถ้าออมน้อย ออมขั้นต่ำ ก็ใช้ตัวเลข 0.10 ถ้าออมเก่งมาก ก็ใช้ตัวเลข 0.20 หรือหากเก็บออมในระดับปานกลาง ไม่อัตคัดเกินไป จะใช้ตัวเลข 0.15 ก็ย่อมได้

ความจริงท่านอาจเก็บออมในระดับสูงกว่านี้มาก ๆ ก็ได้ (เช่น 30% หรือ 40% ของรายได้) แต่ขอให้แน่ใจว่าการเก็บออมในระดับนี้ไม่ "ตึง" เกินไปจนต้องอยู่อย่างยากไร้เกินควร ที่สำคัญไม่แพ้กันเมื่อคำนวณออกมาแล้ว ขอให้ทุกท่านพยายามเก็บออมให้ได้ตามนั้นด้วย

ปิดท้ายกันด้วยข้อมูลอย่างหนึ่งที่หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า ความมั่งคั่ง “บรรทัดสุดท้าย” ณ อายุ 60 ปี คือ 15.4 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานพื้น ๆ ว่าลงทุนได้ผลตอบแทน 6% เงินเดือนขึ้นปีละ 6% และเก็บออม 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ นี่เป็นตัวเลขที่ท่านไม่จำเป็นต้องตาโตแต่อย่างใด เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝีมืออันเลิศหรู ขอแค่มีวินัยเท่านั้น