วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เมื่อดอกเบี้ยติดลบ


เรื่องประหลาดในวันนี้อาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาในวันหน้า สิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมันก็จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป

นานมาแล้วดอกเบี้ยเงินฝากในระดับ "สิบเปอร์เซ็นต์" ถือเป็นของธรรมดา ในวันนั้นหากมีใครพูดถึงดอกเบี้ยแถว ๆ ศูนย์เปอร์เซ็นต์ คงจะต้องถูกหัวเราะเยาะในฐานะของพวกหลุดโลก ... แต่แน่ล่ะ นี่ธรรมดามากสำหรับวันนี้

ในมุมของคนไทยทั่วไป เรายังคงหยุดอยู่แถวนี้ (ที่ดอกเบี้ยออมทรัพย์ 0.50%) แต่ในภาพที่ใหญ่ขึ้นไปในระดับโลก ธนาคารกลางของหลาย ๆ ประเทศเริ่มใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ ดอกเบี้ยติดลบ เป็นของแปลกประหลาดในวันนี้ แต่มัน "อาจ" กำลังกลายเป็นของธรรมดาในวันหน้าก็ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าเมื่อใช้แล้วมันได้ผลหรือไม่ หากใช้แล้วดี เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวและกลับมาเติบโต ประเทศอื่นก็จะเลียนแบบต่อ ๆ กันไป

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ผมมองเห็นก็คือ การ "ประเมินมูลค่าหุ้น" ที่เราเรียน ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ เกิดขึ้นในบริบทของอัตราผลตอบแทนยุคเก่า ไม่มีใครรู้ว่ามันยังคงใช้ได้ดีอยู่หรือไม่ หากเราใช้อัตราคิดลด (r) ที่ต่ำมาก ๆ ล้อไปตามอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล

อีกหนึ่งประเด็นหนึ่งที่จะตามมา เมื่ออัตราคิดลดต่ำมาก ๆ ก็คือ ในวันที่อัตราการเติบโตของกระแสเงินสด (g) จากบริษัท มีค่าสูงจนไล่เลี่ยหรือแซงค่า r โมเดลการประเมินมูลค่าหุ้นหลาย ๆ ตัวก็จะใช้การไม่ได้ ปัญหาหนักอยู่ตรงที่ว่า "มันเริ่มใช้การไม่ได้ตอนไหน?"

หรือพูดให้ชัดก็คือ เรา (ในฐานะของ value investor หรือ VI) เริ่มโดนหลอกตอนไหน?

นี่เป็นประเด็นสำคัญของการประเมินมูลค่าหุ้น และเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงพยายามให้ความสำคัญกับการประเมินมูลค่าด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น วิธีอัตราส่วน วิธีคิดลด วิธีประเมินจากสินทรัพย์ ฯลฯ

ในทางทฤษฎี "มูลค่าหุ้น" (สมมติว่าคุณมีปัญญาหามันได้) เป็นค่าค่าเดียว ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะหามันด้วยวิธีใดก็ควรจะได้ตัวเลขเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของข้อมูลและสมมติฐาน เรามักประเมินมันออกมาให้เป็น ช่วง มากกว่าจะฟันธงเป็นตัวเลขเดียว เหมือนอย่างที่กูรูหลาย ๆ ท่านบอกไว้

[ประเด็นนี้อาจเข้าใจมากขึ้น หากอ่านเรื่อง "นักลงทุนขงเบ้ง" ในหนังสือ แต้มต่อในตลาดหุ้น]

กล่าวโดยสรุปก็คือ ในสถานการณ์ที่ดอกเบี้ยถูกกดลงมามาก ๆ เช่นนี้ การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีคิดลด ควรเพิ่มความระมัดระวัง

และส่วนที่น่าหนักใจสำหรับเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า textbook ส่วนใหญ่แม้จะเป็นของต่างประเทศก็ยังไม่ครอบคลุมถึงประเด็นนี้ เพราะส่วนมากเป็นตำราที่ตีพิมพ์มาในยุคก่อน ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น