วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เที่ยวต่างประเทศ


คนจำนวนไม่น้อยนิยมท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยการ "ซื้อทัวร์" ซึ่งก็อาจจะเหมาะสมกับความชื่นชอบและข้อจำกัดของแต่ละคน แต่ในฐานะของนักลงทุน ผมคิดว่าการมีโอกาส "เที่ยวเอง" ช่วยเปิดมุมมองให้กับตัวเราได้มากกว่ากันมาก

โดยทั่วไปบริษัททัวร์มักเน้นไปที่สถานที่ท่องเที่ยวดังๆ ตามที่ใส่เข้ามาในรายการ คือ ได้เที่ยวหลายแห่ง แต่ละแห่งใช้เวลาน้อย พอหมดเวลาเที่ยวก็ขนคนกลับเข้าโรงแรม แล้ววันรุ่งขึ้นก็ตื่นนอนแต่เช้าเพื่อออกเดินทางต่อไป เป็นเช่นนี้จนกระทั่งเดินทางกลับบ้าน สรุปก็คือ ได้เที่ยวเยอะ จ่ายไม่มาก มีไกด์คอยดูแลความสะดวกให้ตลอดรายการ ซึ่งฟังดูก็น่าจะดี

อย่างไรก็ตาม การไปเที่ยวกับทัวร์นั้น เราขาดโอกาสสำคัญที่จะได้รับประสบการณ์และเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เป็นต้นว่า เขากินอยู่กันอย่างไร เดินทางอย่างไร จับจ่ายใช้สอยที่ไหน ฯลฯ ทว่าสิ่งเหล่านี้สามารถซึมซับได้จากการจัดทริปไปเที่ยวด้วยตัวเอง ซึ่งเราจะได้เผชิญหน้ากับความท้าทายในต่างแดนพร้อมๆ กับครอบครัวหรือเพื่อนของเรา รับมือกับ "ความไม่รู้" ที่ทุกคนก็ไม่รู้พอๆ กัน รวมถึงได้สังเกตความเป็นไปของสิ่งรอบตัว และแน่นอนว่ามันมีประโยชน์สำหรับนักลงทุนอย่างเราๆ

ผมขอยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นก็แล้วกัน

ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาล้ำหน้ากว่าประเทศของเราไปมาก หลายอย่างที่เป็น "ของใหม่" สำหรับเรา ก็เป็นของเก่าสำหรับเขา กล่าวได้ว่าประเทศของเรากำลังเดินตามรอยเขาอยู่ห่างๆ คนที่รู้จักสังเกตและมองหาโอกาสทางธุรกิจก็อาจเห็นอะไรดีๆ และนำมาใช้กับการลงทุนของตัวเราเองได้


ภูมิประเทศก็สำคัญ


จากประสบการณ์ของผม การครอบครอง "ทรัพยากรที่มีจำกัด" นั้น เป็นสิ่งที่ดีเสมอ อย่างเช่น ในเมืองที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา และมีพื้นที่ราบเป็นส่วนน้อย ย่านการค้ามักมากระจุกตัวอยู่บนพื้นที่ราบ ซึ่งมีการคมนาคมสะดวก ราคาที่ดินบนพื้นที่ราบก็ย่อมสูงกว่าบนเนินเขา ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นเร็วกว่าด้วย

ในกรณีนี้ ความได้เปรียบของทำเลพื้นที่ราบ คือ การเดินทางที่สะดวกสบายและประหยัด แตกต่างจากคนที่อยู่อาศัยบนเนินเขาที่มีถนนคนเคี้ยว ซึ่งนอกจากต้องควักเงินซื้อบ้านแล้ว ยังจำเป็นต้องซื้อรถยนต์และขับขึ้นเขาทุกวัน สิ้นเปลืองทั้งเวลาและน้ำมัน หากจะเทียบไปแล้วก็อาจเหมือนกับคนกรุงเทพฯ ที่ซื้อบ้านอยู่ชานเมืองไกลๆ เลยต้องซื้อรถขับขึ้นทางด่วนฝ่ารถติดไปทำงานทุกวัน ซึ่งนั่นก็กระทบต่อวิถีชีวิตทั้งหมดในระยะยาว คิดๆ ดูแล้ว การยอม "จ่ายแพง" ซื้อทรัพยากรที่มีจำกัดตั้งแต่ต้นอาจจะคุ้มค่าในเชิงของการลดรายจ่าย ทั้งตัวของมันเองยังทวีมูลค่าได้เร็วอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การทุ่มเงินซื้อทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อเอามา "ใช้สอย" อาจมองไม่เห็นเป็นตัวเงิน อย่างเช่น บ้านที่เราอยู่อาศัยถึงแม้จะเพิ่มมูลค่ามากขึ้น แต่ผมก็คิดว่าคนเราคงไม่ค่อยมีใครขายบ้านตัวเองเพื่อทำกำไร เพราะต้องวุ่นวายเรื่องขายบ้านเก่า สร้างบ้านใหม่ ย้ายโรงเรียนลูก ฯลฯ ความคุ้มค่าในกรณีดังกล่าวจึงมักเป็นในแง่ของการใช้สอยมากกว่าที่จะนับกันเป็นจำนวนเงิน และนี่ก็คงจะคำนวณออกมาได้ยาก

การซื้อทรัพยากรที่มีจำกัดให้คุ้มค่าในแง่ตัวเงินควรเป็นการซื้อเพื่อเอามา "ทำเงิน" อย่างเช่น ซื้อบ้านหรือคอนโดฯ เพื่อเอามาปล่อยเช่า หรือแม้แต่การซื้อที่ดินเปล่าในทำเลที่มีจำกัดเพื่อเอามาพัฒนาธุรกิจ อย่างที่ญี่ปุ่นก็มีการสร้างตึกเล็กๆ ในทำเลใจกลางเมืองสำหรับจอดรถโดยเฉพาะ และใช้อุปกรณ์จักรกลยกรถขึ้นไปเก็บบนตึกอย่างนุ่มนวล สร้างรายได้ให้กับเจ้าของธุรกิจได้เป็นกอบเป็นกำ

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราอาจไม่ทันสังเกตเรื่องของภูมิประเทศข้างต้น หากตัดสินใจไปเที่ยวกับคณะทัวร์ ซึ่งจะนัดเราแบบ 6-7-8 คือ ปลุก 6 โมง, ทานอาหาร 7 โมง และออกเดินทาง 8 โมงเช้า เพื่อนั่งรถโค้ชไปยังสถานที่ท่องเที่ยวให้ทันตามกำหนดการ

...แต่ถ้าคุณเดินท่อมๆ ไปในเมืองอย่างไม่เร่งรีบแล้วล่ะก็ คุณจะเห็นมันแน่


วิถีชีวิต


เมื่อเดินทางท่องเที่ยวไปกับคณะทัวร์ เรามักเดินทางด้วย "รถโค้ช" ซึ่งรวดเร็วและสะดวกสำหรับการท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ แต่นั่นก็เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมที่จะทำให้เรามองข้ามวิถีชีวิตของผู้คนไป

ในการเดินทางด้วยตัวเอง เรามีโอกาสที่จะได้ขึ้นรถเมล์ รถไฟ รถไฟใต้ดิน รถราง แท็กซี่ ฯลฯ และได้เดินทางพร้อมๆ กับคนพื้นที่นับหมื่นนับแสน เราจะได้เห็นว่า คนเหล่านั้นที่เดินทางไปทำงานในตอนเช้าแวะซื้ออะไรเป็นอาหารเช้า หนังสือพิมพ์ยังขายดีอยู่หรือไม่ ร้านกาแฟมีมากน้อยแค่ไหน พวกเขาซื้อกาแฟตามร้านหรือซื้อจากร้านสะดวกซื้อ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในเมืองเป็นอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่ผมพบเห็นจากร้านสะดวกซื้อ คือ ร้านในญี่ปุ่นมีของหลากหลายกว่าในประเทศไทยมาก เบเกอรี่ดูสดใหม่น่ากิน กาแฟสำเร็จรูปแบบแช่เย็นก็มีขายหลายยี่ห้อ และก็อร่อยเสียด้วย เท่าที่ผมสังเกตมา ร้าน FamilyMart, ร้าน 7-Eleven และร้าน Lawson มีจำนวนมากมายไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สิ่งนี้ทำให้ผมตระหนักได้ว่า แท้จริงแล้วแบรนด์เหล่านี้รู้วิธีต่อสู้ เพียงแต่เขาเลือกที่จะบุกหรือไม่เท่านั้นเอง

ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินเข้าเดินออกร้านสะดวกซื้อและสังเกตผู้คนไปพร้อมๆ กัน ทำให้ผมพอจะมองเห็นว่าร้านสะดวกซื้อในเมืองไทยจะสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างไร ทั้งยังลบความคิดเดิมๆ ที่หลายคนบอกผมว่า "ร้านสะดวกซื้อในเมืองไทยพัฒนามามากแล้ว อิ่มตัวแล้ว ต่อไปนี้เป็นการขยายสาขาไปตามจังหวัดต่างๆ เท่านั้น"

ในแง่ของการเดินทาง ผมได้รับประสบการณ์จากการใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทบจะทุกรูปแบบ รวมทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล และพอจะมองเห็นว่าระบบขนส่งของประเทศเราจะพัฒนาไปในทิศทางใดได้บ้าง เทคโนโลยีใดที่น่าจะ "เวิร์ก" หรือ "ไม่เวิร์ก" กับประเทศไทย เป็นต้น และถ้าจะมองกันในมุมของหุ้น เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหุ้นในกลุ่มขนส่งแต่เพียงเท่านั้น หากยังพาดผ่านไปถึงกลุ่มการเงิน, เทคโนโลยี, รับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งถ้าเรามี ขอบข่ายแห่งความชำนาญ หรือ circle of competence ในกลุ่มเหล่านี้พอดี นี่ก็อาจเป็นมุมมองที่ดีสำหรับการลงทุนในอนาคต


เหมือน หรือ ไม่เหมือน?


ถึงแม้ประเทศไทยจะเดินตามรอยประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่กับทุกสิ่ง เหตุผลก็คือ สภาพแวดล้อมของเราไม่ได้เหมือนกับต่างประเทศเสมอไป อย่างธุรกิจตึกจอดรถนั้น หากจะให้คุ้มค่ากับการลงทุนและค่าไฟฟ้า ความต้องการพื้นที่จอดรถจะต้องสูงมากจริงๆ ซึ่ง อาจจะ ยังไม่ใช่สำหรับประเทศไทยในตอนนี้

หรืออย่างธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในประเทศญี่ปุ่น บางทีเราอาจวาดฝันว่าประเทศของเราจะมีร้านสะดวกซื้อเป็นหมื่นๆ ร้าน แต่ก็ต้องดูด้วยว่าความหนาแน่นของประชากรของเรามีมากพอหรือไม่ ประชากรในกรุงเทพฯ ยังคงอยู่อาศัยตามซอยหรือหมู่บ้านอีกไม่น้อย นี่ทำให้ "ความหนาแน่น" ของประชากรในบางพื้นที่ไม่สามารถสูงมากจนเปิดร้านสะดวกซื้อได้หลายๆ ร้านในบริเวณใกล้เคียงกัน

หรือในกรณีของรถไฟความเร็วสูง เราก็อาจคิดต่อไปได้ว่าอะไรเป็น "เงื่อนไขแห่งความสำเร็จ" ของประเทศญี่ปุ่น จากนั้นก็ย้อนกลับมาดูว่าประเทศของเรามีสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ก็จะพอมองเห็นได้ว่า เมื่อทำแล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร อย่างรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นนั้น คนญี่ปุ่นที่เดินทางข้ามเมืองในแต่ละวันมีจำนวนมาก และเป็นคนที่มีกำลังทรัพย์พอที่จะจ่ายค่าโดยสารแพงๆ รถไฟของเขาจึงสามารถเดินทางได้ถี่ ทั้งยังตรงเวลาอีกด้วย ก็ต้องถามว่าประเทศของเรามีคุณลักษณะเช่นนั้นหรือไม่ หากไม่มี เราก็ต้องปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของเรา ความสำเร็จจึงจะออกมาได้อย่างยั่งยืน

และนี่ก็คือเรื่องราวของการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยตัวเอง แล้วก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์กลับมามองในมุมของเจ้าของธุรกิจ ซึ่งผมมองว่ามันคุ้มไม่แพ้ความสนุกที่ได้จากการเดินทางอย่างอิสระ รูปถ่ายสวยๆ และของฝากที่ซื้อกลับบ้าน

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รวยฝ่าธรรมชาติ


"ธรรมชาติของคน คือ การไม่รวย" นี่คือข้อเท็จจริงของชีวิตที่น่าจะกล่าวได้ว่าเป็น "An Inconvenient Truth" หรือความจริงที่ไม่มีใครอยากฟังอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้ผมจะอธิบายว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น รวมถึงวิธีที่เราจะฝ่าธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติของชีวิตการทำงานหรือการลงทุนก็ตาม


มนุษย์เงินเดือนฝ่าธรรมชาติ


"ค่าเฉลี่ย" ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่อธิบายความเป็นไปต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังมองหา "ความพยายาม" บางอย่างที่จะเอาชนะธรรมชาติ (ค่าเฉลี่ย) ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในโลกของการทำงาน

สมมติเราทำงานประจำและได้รับเงินเดือน เรามีโอกาสสูงที่จะได้รับเงินเดือนในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม หรือใกล้เคียงกับเพื่อนๆ ที่เรียนจบมาพร้อมกัน เว้นแต่ว่าเราจะได้ใช้ความพยายามบางอย่างเพื่อเอาชนะค่าเฉลี่ยนั้น เช่น เจรจาต่อรองกับเจ้านาย แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ย้ายงานเพื่อหาโอกาสดีๆ หรือแม้กระทั่งออกแรงเลียแข้งเลียขาหัวหน้า (อันหลังไม่ดีนะครับ)

หากปราศจาก "พลังงาน" ที่เราใส่ลงไป โอกาสที่เราจะได้รับค่าตอบแทนในระดับเฉลี่ยก็เป็นไปได้สูง เป็นต้นว่าทำงานแบบเนือยๆ ไปเรื่อยๆ รอเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งไปตามอายุงาน ...

พลังงานที่เราใส่ลงไป ไม่จำเป็นต้องมาในลักษณะ "บ้าพลัง" หรือขยันเป็นม้า แต่อาจเป็นพลังงานที่มาในลักษณะของความใส่ใจ ความรอบคอบ ความมีน้ำใจให้เพื่อนร่วมงาน รวมทั้งการพยายามดึงจุดเด่นของเราขึ้นมาขาย อย่างเช่น ทักษะทางภาษา ทักษะการนำเสนอ หรือความสามารถทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ในกรณีที่ความพยายามของเราเป็นผล ผลตอบแทนซึ่งก็คือ เงินเดือนและโบนัส ก็จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ย สิ่งที่ผมอยากให้ข้อสังเกตไว้ คือ เงินเดือนที่สูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น "ฐาน" เปรียบเทียบสำหรับการขึ้นเงินเดือนในปีถัดๆ ไป นั่นก็แปลว่า ความพยายามของเราไม่ได้ส่งผลแค่ครั้งเดียว แต่จะดึงให้ฐานะทางการเงินและความเป็นอยู่ของเราดีกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวด้วย ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นการสร้างความมั่งคั่งในแบบของมนุษย์เงินเดือนก็ว่าได้

แต่ก็อย่างที่ว่า... สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องใส่พลังงานลงไปให้ถูกที่ถูกทาง และยิ่งเริ่มต้นเร็วก็ยิ่งดีด้วย


อยากรวยต้องฝืนธรรมชาติ


ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? เหตุผลก็คือ ธรรมชาติของคนส่วนใหญ่ย่อมรักความสบาย อยากอยู่ดีกินดี เห็นใครมีอะไรมาโอ้อวด ก็อยากมีอย่างเขาบ้าง ไม่ให้ตกยุคหรือน้อยหน้าใคร สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องจับจ่ายใช้สอย บางทีไม่ได้จ่ายเพื่อตัวเอง แต่ก็ต้องจ่ายเพื่อคนที่เรารัก ทว่าสรุปแล้วก็ต้องควักเงินอยู่ดี

ความจำเป็น กับ ความอยาก เป็นสิ่งที่เราต้องแยกให้ออก แต่ปัญหาโดยทั่วไปก็คือ คนเรามักโอนความอยากไปเป็นความจำเป็น ในยามที่ความอยากพุ่งปรี๊ดขึ้นมา ความเป็นไปเช่นนี้นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญอันแรกของความร่ำรวย โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุน เพราะเมื่อเก็บเงินไม่อยู่และเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนน้อยๆ โอกาสที่จะ "ทบต้น" และสร้างความมั่งคั่งในอนาคตก็ย่อมลดลงไปด้วย

แต่ถึงแม้จะมีเงินลงทุนแล้ว อุปสรรคในลำดับต่อมาก็คือ ความสามารถในการสร้างผลตอบแทน

ถ้าเราลงทุนด้วยความรู้และความพยายามเท่าๆ กับคนส่วนใหญ่ ผลตอบแทนที่เราได้ก็คงไม่แตกต่างไปจาก "ค่าเฉลี่ย" ของตลาดเท่าไหร่นัก หากต้องการผลตอบแทนที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ย เราก็จำเป็นต้องใส่พลังงานบางอย่างเข้าไปในการลงทุน และต้องใส่ให้ถูกที่ด้วย

นักเล่นหุ้นวัยกระเตาะบางรายหวังรวยเร็วด้วยการพยายามซื้อขายหุ้นบ่อยๆ และนี่ก็คือสิ่งที่ผมพบเห็นอยู่บ่อยๆ ตามเว็บบอร์ด บางคนถึงกับคิดเลยว่าเดือนหนึ่งมี 20 วันทำการ ถ้าเขา "มักน้อย" ทำกำไรแค่วันละ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับได้กำไรเดือนละไม่น้อยกว่า 20% แล้ว จากนั้นก็ใส่ความพยายามไปกับการเพ่งดูกราฟตลอดทั้งวัน ซื้อขายทั้งหุ้น ทั้ง DW มือเป็นระวิง ...

และแน่นอนว่ามันไม่เป็นผล


พลังในทางลบ


การสร้างผลตอบแทนให้ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวจำเป็นต้องฝืนธรรมชาติและใช้พลังงานอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่ทราบว่า การสร้างผลตอบแทนให้ได้ ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยของตลาด ก็จำเป็นต้องใช้ความพยายามเหมือนกัน เพียงแต่เป็นความพยายามที่ผิดทิศผิดทาง อย่างเช่นความพยายามของนักเล่นหุ้นฝันหวานข้างต้น

การฝืนธรรมชาติ มีทั้ง "ทางบวก" และ "ทางลบ" หากไม่มี ปรัชญาการลงทุน เป็นตัวกำกับ เราก็จะออกแรงสะเปะสะปะ ให้ผลบวกบ้าง ลบบ้าง สุทธิแล้วอาจได้ผลลัพธ์เป็นศูนย์เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ได้ผลตอบแทนเท่ากับค่าเฉลี่ยนั่นเอง ทั้งที่เหน็ดเหนื่อยลงแรงไปไม่น้อย ถ้าซ้ำร้ายหน่อย นอกจากเหนื่อยแล้วยังแพ้ค่าเฉลี่ยของตลาดอีกต่างหาก

คนจำนวนมากไม่มีปรัชญาการลงทุนเป็นของตัวเอง พวกเขามักจะบอกว่า "ลงทุนแนวไหนก็ได้ ขอให้ได้กำไรเหอะ" ทำนองเดียวกับแมวดำแมวขาว ถ้าจับหนูได้ ก็เป็นอันว่าใช้ได้เหมือนกันหมด แต่พวกเขาลืมไปว่าการลงทุนไม่ได้เหมือนกับแมวเสียทีเดียว และการตั้งต้นที่ "หนู" (กำไร) ก็ทำให้พวกเขาละเลยความสำคัญของแมว (วิธีลงทุน) ทั้งที่เป็นหัวใจของความสำเร็จในระยะยาว

มืออาชีพด้านการลงทุนต่างรู้ดีว่า เมื่อเราลงทุนอย่างถูกต้อง กำไรก็จะตามมาเอง หรือถ้าจะว่าไปก็คงเหมือนกับการสรรหา "แมวเก่งๆ" มาสักตัว จากนั้นมันก็จะจับหนูได้ ซึ่งก็คงดีกว่าการเหวี่ยงแหจับแมวขาวแมวดำขาเป๋ หูตาตาฝ้าฟาง มาอยู่ในสังกัดเต็มไปหมด แม้จะมีขุนศึกแมวมากมาย แต่หาเก่งๆ ไม่ได้ซักตัวเดียว แบบนั้นหนูก็คงวิ่งกันสบาย

ปรัชญาการลงทุนจะเป็นตัวบอกเราว่า "แมวเก่งๆ" สำหรับเรานั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร อะไรคือการลงทุนที่ดี อะไรคือการลงทุนที่เหมาะกับบุคลิกของเรา นี่จะเป็นสิ่งที่กำกับว่า "ทางบวก" สำหรับเราอยู่ทางไหน เพื่อที่เราจะได้ไม่มัวไปเบ่งพลังอยู่ในทางลบ

แต่น่าเสียดายที่คนส่วนมากเดินเตร็ดเตร่อยู่ในตลาดหุ้นโดยปราศจากปรัชญาการลงทุน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่สามารถฝืนธรรมชาติและสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยได้อย่างยั่งยืน


...ไม่ใช่เรื่องง่าย


การฝืนธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย ลองนึกถึง "ตู้เย็น" ที่ต้องพยายามดึงความร้อนออกจากอาหารต่างๆ และรักษาอุณหภูมิภายในตัวมันให้ต่ำกว่าอุณหภูมิภายนอกอยู่เสมอ แน่นอน มันต้องใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกันกับที่นักลงทุนต้องฝืนธรรมชาติและสร้างความมั่งคั่ง พวกเขาจึงจำเป็นต้องใช้พลังงานอยู่ตลอด "ความสม่ำเสมอ" หรือ "วินัย" จึงถือเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จอีกดอกหนึ่ง

และความยากนี้เองส่งผลให้ "โลกของคนรวย" กลายเป็นโลกที่คนบางกลุ่มไม่มีวันไปถึง เพราะพวกเขาเป็นตู้เย็นที่ไม่มีเครื่องทำความเย็น (ขาดความรู้และแนวทาง) หรือไม่ก็ลืมเสียบปลั๊ก (ขาดพลังงานและความสม่ำเสมอ)