วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

VI ระดับบริษัท


ในฐานะของนักลงทุนรายย่อย ผมคิดว่าหลายท่านที่เป็น Value Investor หรือ VI คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เราต้องซื้อหุ้นที่มี "ราคา" ต่ำกว่า "มูลค่า" กล่าวได้ว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญของการเป็นวีไอ

สิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ถือเป็นเรื่องเสริม ไม่ว่าจะเป็นเงินปันผล การถือยาว การเติบโต ฯลฯ ถ้าเราลงทุนโดยเน้นสิ่งเหล่านี้ แต่ไม่ได้สนใจประเมินมูลค่าหุ้นหรือประเมินไม่เป็น แบบนั้นก็ไม่ใช่วีไอ และนี่ก็เป็นสาเหตุที่เราเรียกการลงทุนแบบนี้ว่า Value Investment ...

ไม่ใช่ Dividend Investment, Long-term Investment หรือ Growth Investment!

บางคนคิดว่า Value Investment (ย่อว่า VI เหมือนกัน) เป็นเรื่องของนักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้น แต่ที่จริงแนวคิดนี้สามารถเอาไปใช้ในระดับบริษัทได้ด้วย ... และถ้ามันอยู่ใน "สายเลือด" ของบริษัทไหน นักลงทุนวีไอเองก็ไม่ควรพลาดศึกษาบริษัทนั้นด้วยเช่นกัน


บริษัทก็เป็น VI ได้


หลายท่านเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า นักลงทุนบุคคลสามารถทำตัวเป็นวีไอได้โดยการประเมินมูลค่าหุ้น และใช้ประโยชน์จากการที่ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง พวกเขาอาจสงสัยว่า อ้าว! แล้วบริษัทจะประเมินมูลค่าหุ้นไปทำไมล่ะ? ผมจะอธิบายอย่างนี้ครับ

ในการดำเนินธุรกิจ บริษัทจะต้องตัดสินใจในกิจกรรมต่างๆ เช่น การวิจัยตลาด การผลิต การหาลูกค้า หรือแม้แต่การขยายกิจการก็ตาม กิจกรรมพวกนี้ล้วนเป็นสิ่งที่มี "มูลค่า" ในตัวเอง เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปแล้วบริษัทก็จะไม่ได้ประเมินมูลค่าหุ้น หากแต่ประเมินมูลค่าของกิจกรรมเหล่านี้แทน

โดยปกติถ้าเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องมีการตัดสินใจ เช่น การเปิดสายการผลิตใหม่ หรือการโหมจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย บริษัทก็มักจะมีการประเมินความคุ้มค่าของโครงการกันก่อนอยู่แล้ว แต่บางกิจกรรมที่ผู้บริหารมองว่า "ทำแน่" อย่างนี้ก็อาจทำเลย โดยไม่ต้องสั่งลูกน้องให้ไปประเมินความคุ้มค่าของโครงการมาอีก

ในจุดนี้ผู้บริหารที่มีหัวใจเป็น VI จะมีความได้เปรียบ เพราะพวกเขาสามารถประมาณได้ด้วยประสบการณ์ว่ากิจกรรมใดมีคุณค่าหรือมูลค่าสูง เมื่อเทียบกับ resource ที่ต้องใช้ ซึ่ง resource นี้ก็ไม่ได้คิดแต่ที่เป็นตัวเงิน แต่ว่าคิดไปถึงเวลา ความเหนื่อยยากของทีมงาน และการเสียโอกาสที่จะไปสร้างสรรค์งานอย่างอื่นด้วย

แม้ในส่วนที่ต้องพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการ พวกเขาก็ยังคงใช้แนวคิดของวีไอ โดยใช้การประเมินอย่างระมัดระวังและใช้ "มูลค่าขั้นต่ำ" ที่จะได้รับจากโครงการ หากถึงกระนั้นแล้วมูลค่าก็ยังคงสูงคุ้มค่าน่าพอใจ พวกเขาจึงค่อยลงมือทำ

สิ่งนี้เหมือนกับที่นักลงทุนวีไอคำนวณมูลค่าหุ้นแบบอนุรักษ์นิยม แล้วก็นั่งรอจนกว่าราคาหุ้นจะต่ำกว่ามูลค่าไปมากๆ ถึงจะเข้าซื้อ อย่างที่เราเรียกกันว่ามี "Margin of Safety" ในระดับที่น่าพอใจนั่นเอง และในเมื่อพวกเขาซื้อในจุดที่ downside แทบไม่มีแล้ว ผลตอบแทนของพวกเขาจึงสูงได้ ทั้งๆ ที่ความเสี่ยงต่ำ


รอคอยโอกาสดี


ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่า บริษัทควรนั่งจับเจ่าและรอคอยจนกว่าจะมีโครงการที่ดีสุดยอดผ่านเข้ามา เพราะความเข้มงวดของบริษัทที่เป็นวีไอย่อมปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หากเป็นการดำเนินงานปกติ ก็อาจมองหา Margin of Safety ที่ไม่ต้องมากนัก แต่ถ้าเป็นโครงการยักษ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง แบบนี้ก็ควรมองหา Margin of Safety ที่มากหน่อย

นอกจากการดำเนินงานของบริษัทแล้ว ในบางกรณีบริษัทก็อาจทำตัวเป็น "นักลงทุน" ได้ด้วยเหมือนกัน อย่างเช่น การลงทุนในทรัพย์สิน หรือการเข้าซื้อกิจการ เป็นต้น

โดยปกติเรามักเห็นบริษัทออกมา "ช้อปปิ้ง" ในขณะที่กิจการกำลังเฟื่องฟู (คล้ายๆ กับที่ผู้คนชอบออกมาจับจ่ายใช้สอยเงินในช่วงที่รายได้ดีหรือเพิ่งได้โบนัส) ซึ่งก็มักเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดีและกิจการอื่นๆ ก็เฟื่องฟูอยู่ด้วยเหมือนกัน การออกมาซื้อกิจการในช่วงเวลานี้จึงมักเป็นการซื้อ "ของดีราคาแพง" ซึ่งไม่ใช่แนวคิดของวีไอเลย

ในทางตรงข้าม บริษัทที่มีความเป็นวีไอจะเก็บเงินเอาไว้ก่อนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดี โดยอาจเก็บเป็นเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น หรือไม่เช่นนั้นก็เอาไปลดหนี้ การกระทำเช่นนี้เป็นการเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับโอกาสที่จะผ่านเข้ามา และเมื่อโอกาสนั้นผ่านเข้ามาจริงๆ พวกเขาก็จะมีเงินสดเอาไว้ช้อปปิ้ง "ของดีราคาถูก" หรืออย่างน้อยก็มีวงเงินกู้เอาไว้ใช้ในสถานการณ์ดังกล่าวได้


บมจ. เฮ้าส์ เอ็นเนอร์จี


ขอยกกรณีสมมติ บมจ. เฮ้าส์ เอ็นเนอร์จี ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินหลายแห่งในประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี ในช่วงที่ราคาถ่านหินเพิ่งจะบูมไปกับราคาน้ำมันด้วย (ก่อนที่จะตกสวรรค์ลงมาเหมือนกัน) เฮ้าส์ เพิ่งซื้อกิจการถ่านหินรายใหญ่รายหนึ่งในประเทศออสเตรเลียและก่อหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นมา ซึ่งถ้าจะว่ากันตามจริงนี่ก็เป็นการลงทุนที่ไม่ขี้เหร่เท่าไหร่นัก และในเวลานั้นเฮ้าส์ก็เป็นบริษัทที่มีหนี้สินน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาราคาถ่านหินก็ตกต่ำ ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและในส่วนของธุรกิจพลังงานเองที่มีการนำ "เชลล์แก๊ส" มาใช้ จนใครๆ ก็บอกว่าถ่านหินจบเห่แล้ว และแม้ว่าเฮ้าส์จะสามารถผลิตถ่านหินได้มากขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นในด้านปริมาณเท่านั้น เพราะเมื่อขายได้ราคาต่ำ รายได้ก็หดหาย กำไรก็ลดลง สิ่งนี้เกิดขึ้นกับผู้ผลิตถ่านหินทุกราย ไม่ใช่แค่เฮ้าส์เท่านั้น นอกจากนี้บางเหมืองที่มีต้นทุนสูงก็จำใจต้องปิดตัวลง

ในเวลานี้หากผู้บริหารของเฮ้าส์มีแนวคิดแบบวีไอมาก่อนหน้า พวกเขาอาจมีเงินสดและวงเงินกู้ยืมจำนวนมาก เพื่อเอามา "ช้อปปิ้ง" เหมืองถ่านหินที่มีคุณภาพดี มี facility พร้อม และมีต้นทุนต่ำ ภายใต้สมมติฐานว่าถ่านหินจะยังเป็นพลังงานจำเป็นของโลกใบนี้ต่อไป ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้น

ผมเคยคุยกับเพื่อนที่เป็นวิศวกรในแวดวงนี้ และเห็นตรงกันว่า ถ่านหินส่วนมากขุดขึ้นมาแล้วก็ถูกส่งไปที่โรงไฟฟ้า และการจะเปลี่ยน (convert) ประเภทโรงไฟฟ้า เช่น จากโรงไฟฟ้าถ่านหินไปเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้แก๊สหรือน้ำมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งต้นทุนก็คงสูงจนไม่คุ้มที่จะทำ สรุปก็คือ โรงไฟฟ้าโรงไหนที่ใช้ถ่านหินก็คงจะต้องใช้ต่อไป

นั่นหมายความว่า demand ของถ่านหินในอนาคตอย่างน้อยๆ ก็ไม่น่าจะลดลง ส่วน supply ส่วนเกินก็น่าจะค่อยๆ ถูกดูดซับไป (อย่าลืมว่าบางเหมืองที่สู้ต้นทุนไม่ได้ก็ปิดดำเนินการไปบ้างแล้ว) เมื่อทั้งสองฝั่งเกิดสมดุลมากขึ้น ราคาถ่านหินก็น่าจะมีเสถียรภาพได้

ดังนั้น หากเฮ้าส์สามารถออกไปช้อปปิ้งกิจการดีๆ ในช่วงเวลานี้ บางทีนี่จะเป็นการ "ตีแตก" ในระดับบริษัท เหมือนอย่างที่ ดร.นิเวศน์ เคยทำได้มาแล้วในระดับบุคคลก็เป็นได้ ... แต่ก็น่าเสียดายที่มันไม่ได้เกิดขึ้น


การซื้อหุ้นคืนของเฮ้าส์


อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งดีๆ ที่ บมจ. เฮ้าส์ เอ็นเนอร์จี ลงมือทำ นั่นคือ "การซื้อหุ้นคืน" ซึ่งเป็นแอ็คชั่นที่เรียกได้ว่า วีไอ๊... วีไอ

การซื้อหุ้นคืนเป็นการที่บริษัทออกมาซื้อหุ้นของตัวเองเสมือนว่าเป็นผู้เล่นรายหนึ่งในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ราคาหุ้นตกต่ำลงมากจนถือได้ว่า "ต่ำเกินไป" ในสายตาของผู้บริหาร และดูไปแล้วก็น่าจะมี Margin of Safety ที่มากพอสมควร ดังนั้นแทนที่จะไปลงทุนอย่างอื่นให้ได้ผลตอบแทนดีๆ ก็ลงทุนในหุ้นของบริษัทตัวเองที่รู้จักตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างดีก็แล้วกัน... ผลก็คือ

1) demand ของหุ้นในตลาดสูงขึ้นและส่งผลดีต่อราคา โดยราคาหุ้นอาจจะดีขึ้น หรือถ้าตกก็คงตกเบาลง ขณะเดียวกันหุ้นที่ถูกบริษัทซื้อไปก็จะถูกดูดซับออกจากตลาด นั่นหมายความว่า supply ของหุ้นจะลดลงด้วยในอนาคต

2) หุ้นที่ถูกซื้อคืน เรียกว่า treasury stocks เป็นส่วนที่ไม่มีสิทธิ์รับเงินปันผล กล่าวได้ว่า "คนแย่งเค้ก" ของเรามีน้อยลง และในทำนองเดียวกัน เมื่อจำนวนหุ้นลดลง ตัวหารก็ลดลง กำไรต่อหุ้นหรือ EPS ก็เพิ่มขึ้น

3) เป็นการจัดโชว์สองอย่างพร้อมๆ กัน อย่างแรกเป็นการ "โชว์ป๋า" เพื่อบอกว่าตัวเองมีเงินสดมาก และอย่างที่สองเป็นการ "โชว์เก๋า" ส่งสัญญาณบอกนักลงทุนว่าราคาหุ้นในตลาดต่ำเกินจริง ทำนองว่า นี่ไง ฉันเองยังควักเงินซื้อเลย!

การซื้อหุ้นคืนจึงเป็นทั้งการช่วยพยุงราคาหุ้น, เพิ่มคุณค่าหุ้น และจัด โชว์ป๋า+โชว์เก๋า ไปพร้อมๆ กัน ที่สำคัญเป็นการซื้อของดีราคาถูกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะชื่นชอบบริษัทที่มีการซื้อหุ้นคืนอย่างมาก

ว่ากันตามจริงแล้ว การซื้อหุ้นคืนดีกว่าการจ่ายเงินปันผลเสียด้วยซ้ำ เพราะการจ่ายเงินปันผล เราได้รับเงินแค่ครั้งเดียว (แถมยังเสียภาษีด้วย) แต่การลดตัวหารได้อย่างถาวรจะส่งผลดีตลอดไป แถมการลงมือในจังหวะที่หุ้นมีราคาถูก ทำให้บริษัทไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายแพงมาก ทั้งยังลดภาระเงินปันผลจ่ายในอนาคตลงได้บางส่วนอีกด้วย


การซื้อหุ้นคืนด้วยเหตุผลที่เหมาะสม ณ ราคาที่เหมาะสม เป็นการกระทำของผู้บริหารที่มีจิตวิญญาณของวีไอ แต่เราก็ต้องสังเกตดีๆ ด้วยว่า มันเกิดจากการใคร่ครวญอย่างรอบคอบ หรือเป็นแค่การสร้างข่าวเพื่อพยุงราคาหุ้น ซึ่งการจะตอบได้นั้น เราต้องศึกษารายละเอียดของการซื้อให้ดี


ลงทุนแบบ VI กับบริษัทที่เป็น VI


บริษัทที่มีความเป็นวีไออย่างชัดเจนที่สุดก็คือ เบิร์กไชร์ ฮาทาเวย์ ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

เบิร์กไชร์เป็นบริษัทที่เข้าถือหุ้นบริษัทอื่นๆ ในขณะที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง แต่เนื่องจากเบิร์กไชร์เองก็จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) เพราะฉะนั้นตัวของมันเองก็มีโอกาสซื้อขายกันต่ำกว่ามูลค่าได้ด้วยเหมือนกัน และหากว่าคุณสามารถคว้าโอกาสนั้นไว้ได้ ผลตอบแทนของคุณก็จะเจ๋งยิ่งกว่าวอร์เรน บัฟเฟตต์ เสียอีก (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานั้นๆ)

ลองคิดดูว่าจะมีอะไรดีไปกว่าการลงทุนแบบวีไอในบริษัทที่เป็นวีไอเสียอีกล่ะ!?

สำหรับพวกเราที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยคงไม่ต้องคิดไปไกลถึงเบิร์กไชร์หรอก เยี่ยมๆ มองๆ หากิจการชั้นดีที่คิดและทำแบบวีไอ จากนั้นก็รอซื้อเมื่อมี Margin of Safety ที่น่าพอใจ...

แค่นี้ก็หรูแล้วครับ!

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จุดจบของฟองสบู่หุ้นค้าปลีก


ในตลาดหุ้นบ้านเราเชื่อว่าหุ้นในกลุ่มค้าปลีกคงเป็น "หุ้นในดวงใจ" ของใครๆ หลายคน ผมจึงคิดแล้วคิดอีกว่าควรเขียนเรื่องนี้ดีหรือไม่ เพราะใจหนึ่งก็อยากเตือนด้วยความปรารถนาดี แต่อีกใจหนึ่งก็กลัวจะโดนรุมสกรัมจากคนที่หลงรักหุ้นกลุ่มนี้สุดหัวใจ

เอาอย่างนี้แล้วกันครับ ถ้าใครตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะ "ร่วมเป็นร่วมตาย" ไปกับหุ้นกลุ่มนี้ จะอยู่ด้วยกันทั้งในยามทุกข์และยามสุข และไม่ห่วงเรื่องกำไรขาดทุน ก็ข้ามบทความนี้ไปได้เลย ... แต่ถ้าใครพร้อมเปิดตาดูภาพมุมกว้างมุมลึก ดูมุมมองที่อาจเหมือนหรือต่างกับเรา จากนั้นก็คิดไตร่ตรองด้วยตัวเองอีกที อย่างนี้บทความก็อาจช่วยคุณได้มากครับ


ความสำเร็จของธุรกิจค้าปลีก


ดูเหมือนว่าในระยะหลังบริษัทที่ทำกิจการเกี่ยวกับค้าปลีกจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว การเติบโตทั้งในแง่ของยอดขายและผลกำไรเป็นไปอย่างก้าวกระโดด พร้อมไปกับราคาหุ้นที่พุ่งทะยานอย่างกับติดจรวด เกินหน้าเกินตาหุ้นกลุ่มอื่นๆ จนคนเขาบอกกันว่า "กัดฟันซื้อไปเถอะ" เดี๋ยวก็กำไร

เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ครับว่า ทำไมค้าปลีกจึงเพิ่งมาบูมเอาป่านนี้? ทำไมไม่เป็นเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว? ทำไมต้องเป็นค้าปลีก? ทำไม...

หากเรานึกย้อนดู (นึกออก! แสดงว่าเกิดทัน) รูปแบบของร้านค้าปลีกในสมัยก่อนจะเป็นแบบ "ต่างคนต่างทำ" คือ ใครมีตึกแถวคิดจะเปิดร้านโชห่วยก็เปิด หาของมาขาย มียี่ปั๊วซาปั๊วเอาของมาส่ง ลูกค้าก็อยู่ในละแวกนั้นเอง บางทีลูกค้าก็เป็นเด็กๆ มาซื้อลูกอม 3 เม็ด 1 บาท ใส่อยู่ในกระป๋องโลหะ หรือไม่ก็ซื้อขนมขบเคี้ยว ผู้ใหญ่ก็มาซื้อสบู่ แชมพู เรื่อยไปจนถึงน้ำปลา ซีอิ๊ว แป้งมัน ฯลฯ





ต่อมารูปแบบร้านค้าปลีกก็มีการพัฒนาขึ้นโดยมีตัวอย่างมาจากต่างประเทศ และเมื่อร้านค้าปลีกมีการ "เปิดสาขา" ก็ทำให้เราได้เห็นร้านเล็กๆ อย่างร้านสะดวกซื้อที่เป็นรูปแบบแฟรนไชส์ทันสมัย หรือร้านใหญ่ๆ อย่างห้างสรรพสินค้า ห้างไฮเปอร์มาร์ท ซึ่งต่างก็สะอาดสะอ้าน มีมาตรฐาน มีระบบการขนส่งสินค้า (logistics) ที่คล่องตัว เรียกได้ว่าน่าประทับใจตั้งแต่หน้าบ้านไปจนถึงหลังบ้าน

การเปิดสาขาทำให้ผู้ประกอบการสามารถ "ก๊อปปี้" ความสำเร็จไปใช้กับร้านใหม่ได้ในทันที ระบบหลังบ้านก็ใช้ร่วมกัน ยิ่งเปิดสาขาก็ยิ่งมีการประหยัดที่เกิดจากขนาด (economy of scale) มากขึ้น ในส่วนของหน้าบ้าน ลูกค้ายินดีจ่ายเงินให้กับความสะดวกสบายและความมั่นใจ ในส่วนของหลังบ้าน บริษัทก็สามารถต่อรองกับคู่ค้าหรือซับพลายเออร์ได้มากขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับในสมัยก่อนที่ซับพลายเออร์จะมีอำนาจมากกว่าร้านค้า


โอกาสทางการเงินและวิถีชีวิต


ความสำเร็จของธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันส่วนหนึ่งเกิดจากรูปแบบการเงินและการใช้ชีวิตของผู้บริโภคด้วย

ในแง่ของการเงิน เราแทบปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนเมืองรุ่นหลังมีการศึกษาสูงขึ้น และส่วนมากเรียนจบออกมาก็ใช้ชีวิตเป็นพนักงานประจำ การศึกษาที่สูงขึ้นทำให้พวกเขามีรายได้ค่อนข้างดีและเป็นที่หมายปองของสถาบันการเงินต่างๆ ในการที่จะปล่อยสินเชื่อ กล่าวได้ว่าพวกเขามีความสามารถในการจับจ่าย ทั้งในส่วนของเงินตัวเองและเงินที่มาจากเครดิต

ในแง่ของการใช้ชีวิต เมื่อคนเหล่านี้ออกมาใช้ชีวิตเป็นชนชั้นกลาง พวกเขาต้องทำงานหนักให้คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ บางคนกว่าจะได้กลับบ้านก็ค่ำแล้ว วิถีชีวิตเช่นนี้ทำให้พวกเขาไม่ค่อยทำกับข้าวกินเองที่บ้าน และหันไปหา "อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง" หรือ "ร้านอาหารนอกบ้าน" ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็เข้าทางกิจการค้าปลีกทั้งนั้น ... ลำพังเหน็ดเหนื่อยต่อสู้กับงานและการจราจรก็แย่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะขอสบายๆ กับอาหารการกินบ้าง

สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของเราในทุกวันนี้ ได้แก่ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งไปเสริมรูปแบบการเงินและการใช้ชีวิตของเราได้อย่างไม่รู้ตัว

เป็นต้นว่าราคารถยนต์ที่ถูกลงทำให้คนมีรถขับกันมากขึ้น (ลองเทียบรถยนต์รุ่นล่างๆ กับค่าครองชีพ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันดูสิ) การเดินทางไปเที่ยวห้างไกลๆ สามารถทำได้ง่ายกว่าแต่ก่อน หรือแม้แต่คนที่ไม่ขับรถก็ยังสามารถโดยสารรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินไปเที่ยวห้างได้สบาย

นอกจากนี้การที่เรามีสมาร์ทโฟนเอาไว้ท่องอินเทอร์เน็ต เกาะติดโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็ทำให้เราสนอกสนใจมากขึ้นว่าร้านอาหารหรือเสื้อผ้าร้านไหนกำลังเป็นที่นิยม เพื่อนๆ ของเราไปเที่ยวไหนกันมาบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า "การบริโภค" ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ด้วยเหตุนี้สังคมของเราจึงเข้าสู่ยุคแห่งการบริโภค และถ้ามีเงินไม่พอ ธนาคารทั้งหลายก็แทบจะ "ยัดเงิน" (และหนี้) ใส่มือคุณเลยแหละ ที่จริงนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่เป็นทางด้านการเงิน เช่น การใช้บัตรพลาสติกแทนเงินสด ซึ่งก็ทำให้การจับจ่ายยิ่งง่ายเข้าไปอีก ... พอจะนึกออกมั๊ยว่าเงินที่บริโภคกันแหลกลาญเหล่านี้จะไหลไปที่ไหน

อ้อ! ก็ธุรกิจค้าปลีกสิครับ


ค้าปลีกไม่อาจเลิศหรูตลอดไป


ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ความรุ่งเรืองของธุรกิจค้าปลีกก็เช่นเดียวกัน ผมไม่อาจรับรองได้ว่าธุรกิจค้าปลีกจะ "เลิกดี" เมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ ถ้าสรรพสิ่งในโลกใบนี้เป็นอนิจจัง (เป็นสิ่งไม่เที่ยง ย่อมมีวันแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา) เราก็จะได้เห็นวันที่ความเฟื่องฟูนี้จบลง

ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่าจะจบแบบเบาๆ คือ อัตราการเติบโตค่อยๆ ลดลงทีละน้อยจนเหลือปีละ 3-4% พอๆ กับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาว (long term GDP growth) หรือว่าจะจบแบบแรงๆ คือ ทรุดลงมาแบบตกสวรรค์? อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจนะครับ แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงต้องมี "จุดจบ" ทำไมไม่เติบโตตลอดไป อย่างนี้ผมมีคำตอบให้

อย่างแรก คือ เรื่องของทำเล ผมขอให้ทุกคนลองหลับตาจินตนาการดูก่อน สมมติตัวเองว่าเป็น CEO หรือผู้จัดการใหญ่ของกิจการค้าปลีกซักราย ในช่วงแรกๆ ที่เราจะเปิดสาขาใหม่ เราจะเลือกทำเลตรงไหนครับ

แน่นอน เราคงจะเลือก "ทำเลที่ดีที่สุด" เป็นการเปิดเอาฤกษ์เอาชัย เลือกทำเลที่แน่ใจว่ามีกำลังซื้อสุดยอด คู่แข่งน้อย ฯลฯ ต่อเมื่อเปิดแล้วรอด ยอดขายดี เราถึงค่อยขยับไปเปิดสาขาอื่นในทำเลที่ดีรองๆ ลงไป ถูกไหมครับ นั่นแปลว่าทำเลที่ดีจะถูกใช้ก่อน และสาขาที่เปิดหลังก็จะได้ทำเลแย่ลงเรื่อยๆ ผมจึงมองว่าการเปิดสาขาเพิ่มแม้จะช่วยในเรื่อง economy of scale แต่มันก็ถูกหักลบด้วยทำเลที่แย่ลง ซึ่งถ้าบริษัทใดหลับหูหลับตาเปิดสาขามากๆ ในตอนท้ายพวกเขาก็จะต้องมานั่งปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร

อย่างที่สอง ลองหันมาดูเรื่องของ economy of scale จริงอยู่ว่าการมีสาขามากขึ้นส่งผลให้มีการประหยัดอันเนื่องมาจากขนาด สาขาที่มากขึ้นอาจช่วยในการแชร์ต้นทุน เช่น เรามีต้นทุนคงที่เดือนละ 300,000 บาท ถ้าเปิด 3 สาขา ก็คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยสาขาละ 1 แสนบาท แต่ถ้าเปิด 30 สาขา ต้นทุนเฉลี่ยจะเหลือเพียง 1 หมื่นบาท

สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็น คือ แม้เราจะเดินหน้าเปิดเพิ่มเป็น 60 สาขา ต้นทุนเฉลี่ยอาจลดลงเหลือ 5 พันบาทได้จริง แต่การลดจาก 10,000 บาทเหลือ 5,000 บาท ก็คงช่วยอะไรไม่ได้มาก ไม่เหมือนกับตอนเปิดสาขาแรกๆ พูดอีกอย่างก็คือ economy of scale สามารถทำงานได้ถึงระดับหนึ่ง แต่พอหลังจากนั้นแล้ว มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ซึ่งเรื่องนี้ก็รวมไปถึงพลังในการต่อรองกับซับพลายเออร์ด้วยเช่นกัน

ธุรกิจค้าปลีกที่ทำหน้าที่เป็น "หน้าร้าน" สามารถต่อรองกับซับพลายเออร์ได้มากขึ้น หากว่ามีจำนวนยอดสั่งซื้อสินค้ามากๆ อย่างไรก็ตาม ซับพลายเออร์สามารถอดทนจนหน้าเขียวหน้าเหลืองได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อส่วนต่างกำไรของเขาถูกกัดกินไปจนไม่เหลือหลอ เขาก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นถ้าใครคิดว่าจะ "ผูกขาด" และโขกสับซับพลายเออร์ได้โดยไม่มีขีดจำกัดแล้วล่ะก็ ขอให้คิดเสียใหม่

อย่างที่สาม ได้แก่ ฐานกำไรที่โตขึ้น การมียอดขายและกำไรมากๆ เป็นสิ่งที่ดี ขณะเดียวกันมันก็เป็นความท้าทายด้วย หากปีที่แล้วบริษัทมีกำไร 8,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาทในปีนี้ กำไรที่เพิ่มขึ้น 2 พันล้าน (เทียบกับกำไรเดิม 8 พันล้าน) จะคิดเป็นการเติบโต 25%

ในปีต่อไปหากบริษัทสามารถทำกำไรเพิ่มได้อีก 2 พันล้านบาท กำไรของพวกเขาจะเป็น 12,000 ล้านบาท และคิดเป็นการเติบโต 20% ซึ่งลดลงจากเดิม เหตุเพราะว่าฐานกำไรของบริษัทใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง มาถึงตรงนี้หลายคนอาจถามว่า ในเมื่อบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้วทำไมจะทำกำไรให้ใหญ่ขึ้นในสัดส่วนเดียวกันไม่ได้ล่ะ ... คำตอบคือ "ข้อจำกัด" ของศักยภาพบริษัทครับ

สมมติบริษัทค้าปลีกแห่งหนึ่งมีศักยภาพ (เงินทุน บุคลากร และเวลา) เพียงพอที่จะเปิดสาขาได้สูงสุดปีละ 100 สาขา และการเปิดสาขาในจำนวนเท่านี้ก็จะสร้างกำไรให้บริษัทเพิ่มขึ้นได้ 2,000 ล้านบาท ในปีต่อๆ ไปบริษัทก็ยังคงเปิดสาขาได้ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้เท่าใดนัก เพราะแม้บริษัทจะพยายามหาคนและเงินทุนมาเพิ่ม แต่ผู้บริหารที่รับผิดชอบก็จำเป็นต้องเข้าไป monitor หรือตรวจสอบคุณภาพอยู่ดี (ยกเว้นจะยอมลดมาตรฐานลง ซึ่งก็คงไม่ใช่สิ่งที่ดี) แถมยังต้องคอยดูแลสาขาเดิมๆ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปีอีก แค่คิดก็เหนื่อยแทนแล้ว

อย่างที่สี่ เป็นเรื่องของคู่แข่ง โอกาสทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมย่อมดึงดูดใจให้คู่แข่งก้าวเข้ามาขอแบ่งเค้ก ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผู้ที่เข้ามาก่อนแน่ๆ โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่งหน้าใหม่หันไปขอใช้ "know-how" จากธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ เพราะนั่นแปลว่าพวกเขาจะไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ หรือเปรียบไปก็เหมือนลูกนกที่ออกจากไข่ปุ๊บก็บินได้เลย

ร้านค้าปลีกในลักษณะของร้านสะดวกซื้อนั้น ส่วนใหญ่ลูกค้าไม่ได้รู้สึกผูกพันกับตัวเจ้าของร้านหรือว่าพนักงาน บางทีอาจมีความพอใจในชื่อแบรนด์ของร้านบ้าง แต่ที่ "ตรึงใจ" จริงๆ ก็คือ ทำเลและความสะดวกมากกว่า ซึ่งสองสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่คู่แข่งรายใหม่เสาะหาไม่ได้

แม้ในภาพใหญ่เบอร์สองหรือเบอร์สามยังไม่มีทางไล่ทันเจ้าตลาดในเร็ววัน แต่ถ้ามองเป็นทำเลหรือเป็นร้านๆ ไป เราอาจเห็นการแข่งขันที่คู่คี่สูสีก็เป็นได้ มันมีความแตกต่างอย่างมากระหว่างการเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ "วิ่งสบายๆ" กับ "วิ่งไปเหลียวหลังไป" ต่อให้ยังวิ่งนำเป็นอันดับหนึ่งอยู่เหมือนเดิมก็เถอะ


ฟองสบู่หุ้นค้าปลีก


เห็นได้ว่าบริษัทค้าปลีก โดยเฉพาะ "เจ้าเดิม" ไม่อาจยืนค้ำฟ้า หรืออย่างน้อยก็คงไม่ยืนได้แบบสบายๆ เหมือนที่เคยเป็นมา ฉะนั้นภาพสวยๆ และความคาดหวังที่สูงลิบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันราคาหุ้นค้าปลีกมาตลอดหลายปีนี้ อาจกลายเป็นการเป่าฟองสบู่ให้พองโตพร้อมที่จะแตกก็เป็นได้

ก่อนจะมาว่ากันด้วยเรื่องฟองสบู่ ผมขอแนะนำว่าใครที่ยังไม่ได้อ่านเรื่อง "ปรากฏการณ์ขอบฟ้า" หรือ Horizon Effect ควรสละเวลาอ่านมันสักนิดเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าท่านจะไม่พลาดเรื่องสำคัญไป

http://www.monkeyfreetime.com/2013/05/blog-post_30.html

นักลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตว่า หุ้นค้าปลีกแทบจะทั้งกลุ่มมีการซื้อขายกัน "แพงมาก" เมื่อเทียบดูจากค่า P/E หรือ price-to-earning โดยหุ้นของบริษัทชั้นนำหลายตัวขยับขึ้นไปเทรดกันที่ P/E 40-50 เท่า แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีน้อยคนที่นึกไปถึงสถานการณ์ที่เรียกว่าฟองสบู่

หลายคนคิดว่า P/E 40-50 เท่านี้อาจจะดูแพง จึงพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองด้วยการใช้ "forward P/E" คือ เอาผลประกอบการในอนาคตมาใช้คำนวณ บางทีฟอร์เวิร์ดไปปีเดียวก็ยังแพงอยู่ เลยฟอร์เวิร์ดไปหลายๆ ปี ทำให้ดูว่าราคาหุ้นไม่แพงเมื่อเทียบกับอนาคตอันสดใส

อันที่จริงแล้วสิ่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น "ปรากฏการณ์ขอบฟ้า" อย่างหนึ่งก็ได้เหมือนกัน เรามองไปในอนาคต เช่น 3-6 เดือน แล้วยังคงเห็นการเติบโต จึงคิดไปว่าอนาคตที่ไกลกว่านั้นก็น่าจะยังสวยงามด้วย แถมบางครั้งผู้บริหารก็กล่อมเราเสียอยู่หมัด ชวนเชื่อว่าในอนาคตเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเติบโตภายหลัง AEC จะยิ่งมากกว่านี้หลายเท่า เราจะไปบุกพม่า ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ...

ถามหน่อยเถอะว่าประเทศเหล่านั้นเขาไม่มีค้าปลีกกันหรือยังไง ที่สำคัญพอเศรษฐกิจเปิดมากขึ้นแล้ว มั่นใจหรือว่าเราจะยังรักษาตลาดภายในประเทศได้อย่างเหนียวแน่น เราบุกเขาได้ เขาก็บุกเราได้นะครับ!

การที่บริษัทปลูกหญ้าให้ดูเขียวๆ จากนั้นก็บอกว่า "หญ้าที่ขอบฟ้าเขียวยิ่งกว่า" จึงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ เพราะสิ่งที่อยู่ไกลกว่าขอบฟ้าย่อมเป็นสิ่งที่เราไม่เห็น วิธีที่จะเห็นมันได้ชัดเจนก็คือ ต้องเดินเข้าไปดูใกล้ๆ และในระหว่างที่ยังไม่แน่ชัดก็ระมัดระวังตัวเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งฝันหวานและยอมจ่ายเงินแพงๆ

เพราะนี่อาจเป็นฟองสบู่หุ้นค้าปลีกก็ได้


ฟองสบู่แตก เมื่อ...


ปัจจัยที่ช่วยเสริมปรากฏการณ์ขอบฟ้าก็คือ การรับรู้ที่มักจะ "ล้าหลัง" (lag) ความเป็นจริง

เมื่อเราเห็นผลประกอบการของบริษัทออกมาดีติดต่อกัน 3-4 ปี เราก็มักคะเนไปว่าปีนี้ก็น่าจะดีอีกเช่นเคย ทั้งที่ยังไม่ทันเช็คแผนงานหรือกิจกรรมที่บริษัทจะทำในปีนี้เสียด้วยซ้ำ การที่เราคิดว่าผลกำไรจะออกมาดีเป็นเพราะเราดูจาก "ตัวเลขเก่า" เพราะฉะนั้นคนที่ดูแต่ตัวเลขเก่าๆ ก็จะล้าหลังความเป็นจริงอยู่เสมอ

ดังที่บอกไปแล้วว่า ขอบฟ้าของคนเราไม่เท่ากัน บางคนมีขอบฟ้าไกล บางคนมีขอบฟ้าใกล้ คนที่มีขอบฟ้าใกล้เป็นพวกที่น่ากลัวมาก เพราะต่อให้อันตรายมาจ่ออยู่ตรงหน้า พวกเขาก็ยังชิลล์ๆ บอกว่า "นื่เป็นเรื่องชั่วคราว" เมื่อใดที่บริษัทเริ่มมีผลประกอบการแย่ลง คนที่ยึดติดกับข้อมูลเก่าก็จะบอกว่านี่เป็นเรื่องชั่วคราว เพราะ mindset ของเขาล้าหลังและยังยึดมั่นอยู่ว่าบริษัทนี้จะต้องเติบโตแน่

และเมื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดสิ้นสุดลง ฟองสบู่นี้ก็อาจค่อยๆ แฟบลง หรือไม่ก็แตกดังโพละ

น่าจะมีหลายคนเคยเห็นแผนภาพ "วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์" หรือ product life cycle ความจริงเราสามารถประยุกต์มันกับตัวกิจการได้ โดยกิจการหนึ่งๆ อาจมีหลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราก็เพียงแต่เอาแผนภาพของแต่ละผลิตภัณฑ์มาซ้อนกัน ก็จะเห็นภาพวงจรชีวิตของตัวกิจการได้

ในแง่นี้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทค้าปลีกอาจไม่ใช่ "สินค้า" อย่างสบู่ ยาสีฟัน หรือขนม แต่ว่าเป็น "ตัวร้าน" เช่น ร้านสะดวกซื้อเดิมเน้นขายของเหมือนโชห่วย แต่ว่ามีการจัดร้านสวยงามและทันสมัยกว่า อาจเรียกได้ว่าเป็น "ร้านสะดวกซื้อดั้งเดิม" ต่อมาเริ่มรุกไปในการขายเครื่องดื่มและอาหาร เรียกว่า "ร้านอิ่มสะดวก" อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเราก็ต้องมาพิจารณาวงจรชีวิตของร้านแต่ละแบบ จากนั้นก็จะได้รู้ว่าตัวบริษัทที่เป็นเจ้าของร้านพวกนี้จะอยู่ในขั้นใดของวงจรชีวิต




เมื่อมองเข้าไปในบริษัทค้าปลีก สิ่งที่ทุกคนรู้เท่ากัน คือ ที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่นั่นก็ไม่ได้บอกเราว่าบริษัทกำลังอยู่ที่จุด A หรือจุด B กันแน่

ความแตกต่างระหว่างสองจุดนี้มีนัยมากมายเหลือคณานับ เพราะถ้าบริษัทอยู่ที่จุด A นั่นแปลว่าเราจะยัง "เกาะ" ไปกับบริษัทค้าปลีกแห่งนี้ได้อีกนานพอสมควร แต่ถ้าบริษัทอยู่ที่จุด B ก็หมายถึงว่าการเติบโตใกล้จะสิ้นสุดลง และหากเราเข้าซื้อหุ้นตัวนี้ก็อาจเป็นการซื้อก่อนถึงยอดดอยเพียงเล็กน้อย

การจะฟันธงได้ว่าบริษัทอยู่ที่จุดใดกันแน่นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้จักตัวกิจการเป็นอย่างดีจนกระทั่งสามารถมองเห็นอนาคตไปได้ไกลพอควร ซึ่งก็วกกลับไปที่ "ปรากฏการณ์ขอบฟ้า" อีกนั่นเอง

บางท่านอาจคิดว่าการซื้อที่จุด B ก็ไม่ได้เลวร้ายมากนัก เพราะบริษัทยังเติบโตต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นอัตราที่ไม่น่าตื่นตาตื่นใจเหมือนกับที่เป็นมาก่อนหน้านั้น แต่อย่างที่ผมเคยกล่าวไว้ว่า "หุ้นเติบโตจะยังดีตราบเท่าที่มันยังเติบโต" เพราะฉะนั้นแค่มันโตในอัตราที่น้อยลงก็เป็นหายนะได้แล้ว


Inverted John Neff's Method


คนที่ศึกษาแนวทางของเซียนหุ้นอาจเคยได้ยินชื่อของ จอห์น เนฟฟ์ (John Neff) ซึ่งเป็นยอดผู้จัดการกองทุนอีกท่านหนึ่ง กลยุทธ์การลงทุนอันโดดเด่นของเนฟฟ์อยู่ที่การซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการดีและมี P/E ต่ำ โดย "ทีเด็ด" อยู่ที่การเบิ้ลผลตอบแทน

เนฟฟ์บอกว่า P = [P/E] x E ดังนั้นหากวันใดหุ้นที่ถูกมองข้ามตัวนี้เริ่มเป็นที่สนใจ ค่า P/E ของมันก็จะพุ่งพรวดขึ้นมา และเมื่อรวมกับผลของตัว E หรือ earning (กำไร) ที่โตขึ้นด้วย ราคาหุ้นก็จะซุปเปอร์ทวีคูณ รวยเละ!

ผมเรียกวิธีนี้ว่า John Neff's Method หรือ วิธีของจอห์น เนฟฟ์ ซึ่งใช้การ "ระเบิด" ของค่า P/E ผสมผสานกับการเติบโตของกำไร

ในกรณีของหุ้นค้าปลีก ผมมองเห็น Inverted John Neff's Method หรือ วิธีที่สวนทางกับจอห์น เนฟฟ์ กล่าวคือ หุ้นค้าปลีกในวันนี้เป็นหุ้นยอดฮิต ผู้จัดการกองทุนแทบทุกรายมีมันอยู่ในพอร์ตเรียบร้อยแล้ว ทุกคนกล้ากัดฟันซื้อในราคาแพงแม้ว่าค่า P/E จะสูงเสียดฟ้า ในขณะที่ตัว E ก็เติบโตอย่างมากในแต่ละปี

ในอนาคตหากตัว E เติบโตน้อยลง เช่น แทนที่จะโตปีละ 25% ก็ลดลงเหลือปีละ 10-15% สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ นักลงทุนเลิกคลั่งไคล้หุ้นค้าปลีก ค่า P/E ที่เหมาะสมอาจลดลงจาก 40-50 เท่า เหลือเพียงแค่ 20 เท่า กระบวนการนี้จะย้อนทางกับจอห์น เนฟฟ์ เพราะกลายเป็นว่าค่า P/E "หดตัว" ลงอย่างมาก พร้อมกับที่ตัว E โตน้อยลง ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำอย่างไม่น่าเชื่อทั้งๆ ที่หุ้นยังพอจะเติบโตได้อยู่บ้าง

ในที่สุดฟองสบู่ก็แตกโดยสมบูรณ์ แม้จะเพิ่งย่างก้าวเข้าสู่เฟสอิ่มตัว หรือ Maturity เท่านั้น

ก็ลองไปคิดๆ กันดูแล้วกันครับ ของแบบนี้ระวังกันไว้ก่อนก็ดี อย่ารอให้ฟองสบู่แตกก่อนแล้วค่อยมาหงอยเอาทีหลัง ... เงินทองเป็นของนอกกาย แต่ถ้าทำหายก็เสียใจ จริงมั๊ยครับ?!


หมายเหตุ ภาพประกอบกระป๋องฮอลล์จาก thaiscooter.com