วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จิบกาแฟสอนหุ้น


หากได้ยินว่า "จิบกาแฟเล่นหุ้น" เราก็มักจินตนาการไปถึงการนั่งละเลียดจิบกาแฟอย่างรื่นรมย์ ในบรรยากาศร้านกาแฟที่หอมกรุ่นและผ่อนคลาย มือหนึ่งถือแก้วกาแฟ มือหนึ่งจิ้มโน้ตบุ๊กหรือแท็ปเล็ต และบนหน้าจอก็มีราคาหุ้นเขียวๆ แดงๆ กระพริบสลับกันไปมา...




คงต้องขออภัย เพราะผมไม่ได้มีเจตนาจะชักชวนหรือชี้นำให้ใครออกมาใช้ชีวิตอย่างเพ้อฝันแบบนั้น ผมไม่ได้บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้นะครับ เพียงแต่โดยมากแล้วจินตนาการของเรามักจะ "ดีเกินจริง" และนักเทรดที่เป็นมืออาชีพจริงๆ ก็ต้องผ่านการฝึกฝนและค้นคว้ามาอย่างหนัก ไม่ใช่โผล่มาถึงก็ชิลล์เลย แล้วไปนั่งเทรดขำๆ อยู่ตามร้านกาแฟ

ในเมื่อจั่วหัวเอาไว้ว่า "จิบกาแฟสอนหุ้น" ไม่ใช่ "เล่นหุ้น" เพราะงั้นเราก็มาเรียนรู้เรื่องหุ้นจากกาแฟ และเรียนรู้เรื่องกาแฟจากหุ้น ส่วนใครฟังเสร็จแล้วอยากไปเล่นหุ้น อันนั้นก็ไม่ว่ากันครับ


กาแฟเจ้าประจำ


กาแฟเจ้าประจำของหลายๆ ท่านอาจเป็นร้านชื่อดังที่ใช้หลอดกาแฟสีเขียว บรรยากาศดี มีบาริสต้ารู้ใจ และพร้อมที่จะเข้าใจภาษาแปลกๆ ของท่าน เป็นต้นว่า "ควอด ใส่วานิลลาสองช็อต ฮาเซิลนัทแบบชูการ์ฟรีหนึ่งกับอีกเศษหนึ่งส่วนสี่ช็อต ริสเทร็ตโต้ลาเต้ใส่นมถั่วเหลืองเศษหนึ่งส่วนสี่ช็อต ใส่นมปลอดมันเนยครึ่งหนึ่ง นมออร์แกนิกเศษหนึ่งส่วนสี่ ร้อนมากเป็นพิเศษ ใส่น้ำแข็งสามก้อน และใส่วิปครีมด้วย"

คนที่ไม่ใช่คอกาแฟอาจเกาหัว แล้วพานคิดไปว่าทั้งลูกค้าและบาริสต้า (คนชงกาแฟ) เป็นมนุษย์ต่างดาวที่กำลังคุยกันเหมือนในหนังเรื่อง Men in Black แต่ที่จริงแล้วนี่เป็น "รายละเอียด" ที่อยู่ในเครื่องดื่ม 1 แก้ว ซึ่งผมหยิบยกมาจากหนังสือ พลังแห่งความสำเร็จสตาร์บัคส์

ผมมองว่าตัวเองโชคดีที่เป็นคนชอบอะไรธรรมดาๆ เลยไม่ต้องสรรหากาแฟที่มีรายละเอียดมากมายขนาดนั้น เพียงแค่กาแฟสำเร็จรูป "เจ้าประจำ" ก็รสชาติดีและหอมอร่อยเพียงพอแล้ว

แต่เรื่องราวยุ่งยากก็เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อผมพบว่า กาแฟช่องเขา เจ้าประจำที่ผมซื้อมันขึ้นราคา

หากเราซื้อของบางอย่างเป็นประจำก็จะจดจำได้ว่ามันมีราคาเท่าไหร่ และเมื่อมันขึ้นราคา เราก็ย่อมจะรู้ได้ในทันที

เรื่องนี้คล้ายคลึงกับการซื้อหุ้น ถ้าเราเป็นแฟนประจำของหุ้นบางตัว เราก็ย่อมจะจำได้ว่าหุ้นตัวนี้ปกติซื้อขายกันอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ และเมื่อราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดสังเกต เราก็อาจเข้าไปเช็คดูว่าเกิดอะไรขึ้น ยิ่งถ้าเราเป็นแฟนประจำที่ไม่เพียงซื้อๆ ขายๆ หุ้นเพื่อทำกำไรแบบฉาบฉวย แต่ว่ารู้จักตัวกิจการเป็นอย่างดี เราก็จะสามารถฉกฉวยประโยชน์ที่เกิดจากการตีความผิดๆ ของนักลงทุนได้

ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารแพลมออกมาว่าบริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้นมาก นักลงทุนจึงพากันเข้าไปไล่ซื้อจนหุ้นมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งที่จริงหากเช็คดูให้ลึกๆ ก็จะรู้ว่ากำไรที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการขายบริษัทย่อยแห่งหนึ่งออกไป กำไรที่น่าจะเยอะนี้จึงเป็นกำไรพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และถ้าคิดให้ดี ในไตรมาสหน้าหรือปีหน้า บริษัทก็จะไม่สามารถรับรู้กำไรที่เกิดขึ้นจากบริษัทย่อยแห่งนั้นได้อีกแล้ว (เพราะว่าขายไปเรียบร้อยแล้ว)

นักลงทุนที่ฉลาดจึงไม่เพียงแต่หักกำไรพิเศษนี้ออกไป แต่ยังคิดไปข้างหน้าด้วยว่า บริษัทย่อยที่หายไปนี้จะกระทบกับกำไรของบริษัทมากน้อยแค่ไหน หากพิจารณาดูแล้วกำไรในอนาคตมีแววว่าจะสวนทางกับราคาหุ้นในปัจจุบัน มันก็อาจเป็นโอกาสขายที่ดีก็เป็นได้ ... นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการที่เราเป็นแฟนประจำของหุ้นตัวหนึ่ง และมองไปให้ไกลกว่าคนอื่นก้าวหนึ่ง


มองหาส่วนลด มองหายี่ห้อใหม่


ย้อนกลับมาที่กาแฟช่องเขา ทางออกแรกที่ผมคิดได้ก็คือ ลองเช็คราคาดูว่า มันขึ้นราคาเฉพาะห้างที่ผมซื้อหรือไม่ หรือว่าขึ้นราคาทุกห้าง หากมีห้างไหนที่ยังไม่ปรับราคา ผมก็อาจเข้าไปซื้อกาแฟนี้มาตุนไว้ก่อนที่มันจะปรับขึ้นราคา นี่คือการมองหาส่วนลด

โชคร้ายที่ผมพบว่า ทุกห้างที่ไปสำรวจต่างก็ขายกาแฟนี้ในราคาแพงกว่าที่ผมเคยซื้อ ดังนั้นผมจึงเริ่มคิดถึงการเปลี่ยนไปลิ้มลองกาแฟยี่ห้ออื่นดูบ้าง เผื่อว่าจะมีรสชาติดีและราคาไม่แพง

หลังจากตระเวนดื่มกาแฟมาหลายยี่ห้อ ผมก็พบว่าการเปลี่ยนตัวกาแฟทำให้ส่วนผสมน้ำตาลและครีมที่เคยเซ็ตไว้ "ลงตัว" กลับกลายเป็นต้องทดลองกันใหม่ และถึงแม้จะปรับจนดีที่สุดแล้ว แต่ก็ยังสู้กาแฟช่องเขาเจ้าเดิมไม่ได้อยู่ดี เรื่องนี้ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า "จะเสียเวลากินกาแฟไม่อร่อยอยู่เป็นเดือนๆ ทำไมเนี่ย?!"

โลกของหุ้นและกาแฟอาจไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ที่แน่ๆ การมองหา "ส่วนลด" เป็นสิ่งที่ง่ายกว่าการมองหา "ยี่ห้อใหม่"

ในมุมของกาแฟ การแวะเวียนไปเช็คราคาบ่อยๆ ก็ทำให้ผมรู้ว่า มีบางครั้งเหมือนกันที่ห้างจะลดราคากาแฟช่องเขา และเป็นโอกาสให้ผมได้ซื้อของถูกใจในราคาลด โอเค มันอาจไม่ต่ำเท่ากับที่เคยซื้อได้ในอดีต แต่มันก็ทำให้ผมมีกาแฟอร่อยๆ ดื่ม ซึ่งคิดดูแล้วก็ง่ายกว่าการทดลองกาแฟยี่ห้อใหม่เรื่อยไป

นอกจากนี้เมื่อนึกย้อนดู บางทีผมอาจหลอกตัวเองอยู่ก็ได้ เพราะกาแฟยี่ห้อใหม่ก็อาจปรับราคาขึ้นมาแล้วเหมือนกัน เพียงแต่ผมไม่รู้ เพราะไม่เคยได้ติดตาม

ในส่วนของหุ้นนั้น หากเราเรียนรู้ตัวธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนตัวหุ้นบ่อยๆ เราก็มีโอกาสที่จะเห็น "ส่วนลด" ในระดับที่น่าพอใจ และกล้าที่จะลงมือซื้อหุ้นด้วยความเชื่อมั่น กล่าวได้ว่าการยึดมั่นอยู่กับ "ยี่ห้อเดิม" ช่วยทำให้การมองหาส่วนลดเป็นเรื่องง่ายขึ้น


ย้ำส่งท้าย อย่าเข้าใจผิด


แน่นอน นี่ไม่ได้หมายความว่าห้ามเปลี่ยนตัวหุ้น เพียงแต่เราจะไม่เปลี่ยนบ่อยๆ และในทำนองเดียวกัน การรอซื้อหุ้นที่มีส่วนลดก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องรอซื้อหุ้นราคาเดิมที่เคยซื้อเมื่อสองปีที่แล้ว

นักลงทุนควรรู้ว่า "มูลค่า" ของหุ้นเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา เพราะฉะนั้นส่วนลดก็ย่อมเปลี่ยนไปตามเวลาเช่นกัน ราคาหุ้น 20 บาทอาจถือเป็นราคาที่มีส่วนลดแจ่มแจ๋วเมื่อสองปีที่แล้ว แต่พอถึง พ.ศ. นี้ ราคาหุ้น 28 บาทก็อาจเรียกได้ว่า "ถูกเหลือเชื่อ" แล้วก็ได้ การยึดมั่นถือมั่นอยู่กับสิ่งที่แปรผันไปตามเวลา จึงไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก ไม่ว่าจะในโลกของกาแฟหรือหุ้นก็ตาม

อย่างผมเองถ้าขืนรอซื้อกาแฟช่องเขาที่ราคาเดิม ชาตินี้ก็อาจไม่มีวันได้กินอีกเลย จริงไหมล่ะครับ


หมายเหตุ ภาพประกอบจาก thaifranchisecenter.com

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ14 พฤษภาคม 2556 เวลา 12:04

    ขอบคุณครับสำหรับมุมมองดีๆครับ

    ตอบลบ
  2. เขียนได้หอมละมุนกลมกล่อม
    ปัญหาคือผมติดกาแฟ หากวันไหนไม่ได้กินกาแฟยี่ห้อเดิม วันนั้นจะหงุดหงิด ไม่กระฉับกระเฉง
    คาเฟอีนตัวเก่ามันแรง จนยี่ห้ออื่นก็แทนไม่ได้

    ตอบลบ
  3. บทความดีครับ

    ตอบลบ