วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

"คิดเอาไว้ว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ"

 

"คิดเอาไว้ว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ
มันเป็นอะไรที่พูดยาก ต้องให้เธอแก้
รู้ก็รู้ว่าชอบ แต่ใจมันพูดไม่ได้
แต่ถ้าเธอช่วยมันก็ง่าย อะไรก็คงไม่แย่"


คิดว่าหลายคนน่าจะเกิดทันยุคของ "แร็พเตอร์" และเคยได้ยินเพลงดังอย่าง "คิดถึงเธอ" เพลงนี้นะครับ

คนเรามักจะมีความมั่นอกมั่นใจบางอย่างอยู่ลึกๆ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว แม้กระทั่งคนที่ขาดความมั่นใจก็ยังมีความ "มั่นใจ" ว่าตัวเองขาดความสามารถหรือมีความบกพร่องบางอย่าง ไม่ว่าคนอื่นจะพูดปลอบใจมากมายเท่าใด ในเมื่อเขาคิดเอาไว้แล้วว่าใช่ เขาก็จะบอกกับตัวเองว่า "ต้องใช่แน่ๆ"

ความมั่นใจในระดับที่เกินควร ต่อให้มีความรู้ประกอบด้วย ก็ยังอาจเป็นสิ่งที่อันตรายอยู่ดี เพราะบางครั้งตรรกะของเราเองนี่แหละที่พาซวย


ตรรกะที่ผิดพลาด


ผมคิดว่าคนส่วนมากน่าจะเคยพบเจอหรือได้ยินเรื่องราวที่ "กลับตาลปัตร" เหตุการณ์ทำนองนี้มักจะเริ่มต้นแบบนึง จากนั้นก็พลิกผันไปแบบหน้าด้านๆ ชนิดที่เราแทบตกเก้าอี้เลยทีเดียว ความพลิกผันเหล่านี้ไม่ใช่ใครเป็นคนทำ แต่เป็น "ตรรกะ" ของเราเองต่างหากที่ไม่ถูกต้อง ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้นะครับ

น้องหวานหวาน รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ไปทานข้าวเย็นพร้อมเปิดตัวกับพ่อแม่ของแฟนหนุ่ม เธอจึงออกไปทำผมที่ร้านตั้งแต่เช้า เตรียมสวยเต็มที่ว่างั้น ปรากฏว่าแฟนหนุ่มส่งข้อความมาตั้งแต่เช้าขอเปลียนเวลาเป็นทานข้าวกลางวันแทน

โชคร้ายที่หวานหวานลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้าน ผลก็คือ เธอกลับมาเห็นข้อความนั้นตอนบ่ายสอง... ทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรง ฝ่ายชายโกรธที่หวานหวานไม่ไปตามนัด ทำให้พ่อแม่ของเขาไม่พอใจ ส่วนหวานหวานก็โกรธที่แฟนเลื่อนนัด แถมยังส่งมาเป็นข้อความแทนที่จะโทรหากันให้รู้เรื่อง ต่างฝ่ายต่างขุดเรื่องแย่ๆ ของอีกฝ่ายขึ้นมาด้วยความโมโห ที่สุดแล้วทั้งสองคนก็เลิกกัน

ตรรกะที่ผิดพลาดของเรื่องนี้คือ ฝ่ายชายส่งข้อความจากนั้นก็ "คิดเอาเอง" ว่าฝ่ายหญิงต้องได้รับข้อความ ขณะเดียวกับที่ฝ่ายหญิงก็ออกไปทำธุระโดยไม่ได้เอาโทรศัพท์ไปด้วย และ "คิดเอาเอง" ว่าคงไม่มีอะไร เพราะยังอีกนานกว่าจะถึงเวลานัด

ตรรกะของแต่ละฝ่ายนั้นถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง การส่งข้อความซึ่งถือเป็นการสื่อสารทางเดียวแล้วอนุมานว่าอีกฝ่ายจะต้องได้อ่านข้อความ "ทันที" เป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้องเสมอไป

ขณะเดียวกันในยุคที่โทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่ 5 ของเราไปเสียแล้ว การลืมโทรศัพท์ไว้ที่บ้านและคิดว่าคงไม่มีใครติดต่อเรา ก็อาจไม่ถูกต้องซะทีเดียว ตรรกะที่ไม่ถูกต้องของน้องหวานหวานแม้จะไม่ใช่ตัวเริ่มเรื่องราว แต่ก็สร้าง "จุดอ่อน" ให้กับเหตุการณ์และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

บางครั้งตรรกะที่ผิดพลาดก็ไม่ถึงกับทำให้ชีวิตเราพลิกผัน เพียงแต่สะท้อนออกมาในสถานการณ์ต่างๆ เช่น พอเราได้ยินน้องบอกว่าสอบตก เราก็ดุทันที "ทำไมไม่ขยันอ่านหนังสือ" สังเกตว่าตรรกะของเราคือ ไม่อ่านหนังสือจึงสอบตก ทั้งที่จริงน้องอาจขยันแล้วเพียงแต่เผอิญไม่สบายในวันสอบ หรือข้อสอบปีนี้ออกยากเกินไป ที่จริงมีเด็กสอบตกกันเป็นร้อยๆ คน

ดังนั้นแทนที่เราจะเริ่มต้นด้วยการดุด่า เราน่าจะถามไปว่าทำไมถึงสอบตก ก็จะได้คำอธิบายกลับมา หรือถ้าน้องขี้เกียจจริงเขาก็จะสำนึกได้ด้วยตัวเอง


ตรรกะในการลงทุน


ในโลกของการลงทุน ตรรกะที่ไม่ถูกต้องและนำไปสู่หายนะมีให้เห็นอยู่เสมอ ที่น่าแปลกใจคือ นักลงทุนดูเหมือนจะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังคงพยายามใช้ตรรกะผิดๆ ในการ "เสี่ยงโชค" จากตลาดหุ้นต่อไป

มีคนจำนวนมากคิดว่าตัวเองลงทุนใน "หุ้นพื้นฐานดี" พอถามว่าหุ้นพื้นฐานดีเป็นอย่างไร บ้างก็ตอบว่าเป็นหุ้นตัวใหญ่ บ้างก็ตอบว่าเป็นหุ้นที่กระทรวงการคลังถือ บ้างก็ตอบว่าเป็นหุ้นที่ราคาอยู่ในขาขึ้น นี่คือตัวอย่างของตรรกะที่ไม่ถูกต้อง

ลองคิดถึงกรณีบริษัทถ่านหินยักษ์ใหญ่ถูกศาลแพ่งตัดสินให้แพ้คดี 3 หมื่นล้านบาท คิดถึงกรณีบริษัทสายการบินชั้นนำของประเทศมีผลกำไรลุ่มๆ ดอนๆ และถูกครหาเรื่องความโปร่งใส หรือคิดถึงหุ้นปั่นต่างๆ ที่ถูกลากขึ้นมาอย่างช้าๆ จากนั้นก็ "ทุบ" กันแบบสามวันจบเกม

หุ้นตัวใหญ่จำนวนมากเป็นหุ้นพื้นฐานดี แต่ก็ไม่ใช่ทุกตัว แม้ในบรรดาตัวที่จัดว่าพื้นฐานดี ก็ยังดีมากน้อยไม่เท่ากัน

ในส่วนของหุ้นที่กระทรวงการคลังถือก็เหมือนกัน เราอาจเชื่อในความมั่นคงของตัวบริษัท แต่นั่นก็ไม่ได้การันตีว่าบริษัทจะไม่ขาดทุน บางทีบริษัทอาจจะขาดทุนบักโกรกอยู่นานก่อนที่รัฐบาลจะอัดฉีดเงินก้อนใหม่เข้ามา ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นนักลงทุนก็แทบหมดตัวแล้ว

นอกจากตรรกะเรื่องหุ้นพื้นฐานดีแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่คนเข้าใจผิดกันมาก คือ การเข้าซื้อตอนที่หุ้นตก


หุ้นตกไม่ใช่หุ้นถูก


เพื่อนร่วมงานของผมมักจะกระดี๊กระด๊าในวันที่หุ้นตก พวกเขามองว่านี่คือโอกาสดีสำหรับการซื้อหุ้น เพราะพวกเขามองว่า "หุ้นตก = หุ้นถูก"

งั้นถ้าผมสมมติต่อว่าวันพรุ่งนี้หุ้นตกอีกก็แสดงว่าหุ้นถูกลงไปอีกใช่มั๊ยครับ แล้วถ้ามันตกต่อเนื่องกัน 4 วัน หรือ 4 เดือน คุณยังคิดว่าราคาหุ้นที่เข้าซื้อ ณ วันแรกที่หุ้นเริ่มตกยังคง "ถูก" อยู่หรือไม่ครับ

ตรรกะที่ว่าหุ้นตกเท่ากับหุ้นถูกไม่เป็นจริงเสมอไป มันอาจจะถูกกว่าเมื่อวาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันถูกเพียงพอที่จะเข้าซื้อ โดยเฉพาะถ้าเป็นการลงทุนในระยะยาว การซื้อ โดยอัตโนมัติ เพราะเห็นว่าหุ้นตก หรือขาย โดยอัตโนมัติ เพราะเห็นว่าหุ้นขึ้น อาจทำให้เราผิดหวังได้

แม้กระทั่งตรรกะของ VI หรือนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่บอกว่า "ซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าให้มากๆ แล้วราคาหุ้นจะสะท้อนคุณค่าของกิจการขึ้นมาเอง" ก็ยังไม่ถูกต้อง 100% เสมอไปอย่างน้อยก็ในกรอบเวลาหนึ่งๆ บางบริษัทอาจมีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าอยู่เป็นสิบปีก็เป็นไปได้ เมื่อผ่านไป 4-5 ปี ราคาหุ้นที่ยังถูกเรื้อรังอาจทำให้เราเริ่มตั้งคำถามว่า เงินทุนของเรามัวไปทำอะไรอยู่

VI ชั้นดีจะรู้ว่าพวกเขาไม่ได้ถูกต้องเสมอไป แต่แค่ตรรกะของพวกเขาทำงานได้ "เป็นส่วนมาก" พวกเขาก็รวยได้แล้ว การมั่นใจเกินควรและ "ตีแตก" กับหุ้นตัวหนึ่งตัวใดด้วยความหวังว่าจะรวยเละรวยเร็ว อาจกลายเป็นการเดิมพันชีวิต ซึ่งนั่นก็จะทำให้การลงทุนกลายเป็นการพนันไปได้ ทั้งที่เรากำลังถือตรรกะของ VI อยู่แท้ๆ

สิ่งสำคัญอาจไม่ใช่การหาตรรกะที่ถูกต้อง 100% แต่เป็นการใช้ตรรกะที่ถูกต้องในระดับที่เพียงพอ มีการประเมิน downside ว่าความเสียหายอาจเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนหากว่าตรรกะของเราผิดพลาด รวมทั้งมองหาทางหนีทีไล่เอาไว้ด้วย

อย่าเอาแต่ "คิดเอาไว้ว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ" เพราะบางทีมันก็อาจจะ "ไม่ใช่" ครับ


ภาพประกอบจาก siamsouth.com และ kapook.com

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

วาดสีน้ำตามกูรู


หลังจากเปิดทีวีไปเจอรายการ "วาดสีน้ำตามกูรู" ช่อง True Explore 2 นับแต่นั้นผมก็จะติดตามรายการนี้อยู่เสมอ อย่างหนึ่งก็คือ "ทึ่ง" ความสามารถของจิตรกรที่วาดสดๆ จากกระดาษขาวว่างเปล่า แต้มๆ ปัดๆ จนเห็นวิวทิวทัศน์เป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าอัศจรรย์ ...โดยเฉพาะสำหรับคนที่วาดรูปไม่ค่อยเป็นอย่างผม

แน่นอนว่าผมไม่ได้มองเห็นมันเป็นศิลปะอย่างเดียวอยู่แล้ว แต่ยังมองเห็นธรรมชาติบางอย่างที่สอดคล้องกับชีวิตของนักลงทุนอีกด้วย และนี่ก็คือสิ่งที่ผมจะเล่าให้ฟังครับ


จินตนาการสำคัญไฉน?


หลายคนคิดว่าการลงทุนต้องเกี่ยวกับหุ้น เกี่ยวกับตัวเลข ไม่เห็นจะมีอะไรโรแมนติกหรือมีความเชื่อมโยงกับศิลปะได้เลยสักนิด แต่ความจริงแล้ว "จินตนาการ" นี่แหละคือสิ่งสำคัญสำหรับทั้งสองเรื่อง



ในการวาดรูป เช่น วิวภูเขาและแม่น้ำ จิตรกรย่อมต้องวางโครงร่างของภาพก่อนว่าจะเอาภูเขาไว้ตรงไหน ลำน้ำไว้ตรงไหน จากนั้นจะใส่รายละเอียดอะไรบ้าง เป็นต้น การจัดองค์ประกอบในภาพถือเป็นเงื่อนไขความสำเร็จเบื้องต้น เพราะถ้าเราจัดวางไม่สวย รูปก็จะออกมาไม่สวย ต่อให้ "ฝีแปรง" ดีเพียงใด ภาพที่ออกมาอย่างมากก็สวยแบบพิลึกๆ

การจัดองค์ประกอบเกิดขึ้นตั้งแต่รูปยังไม่ได้ถูกวาด คำถามก็คือ แล้วเราเห็นมันได้อย่างไร ...ใช่แล้วครับ เราใช้จินตนาการนั่นเอง

จินตนาการมีความสำคัญกับนักลงทุนไม่แตกต่างกัน เราต้อง "วาดภาพ" ไว้ในใจก่อนว่า ในที่สุดแล้วพอร์ตการลงทุนของเราจะเป็นอย่างไร จะเน้นหุ้นเติบโต หุ้นปันผล หรือจะถือเงินสดไว้ในสัดส่วนเท่าไหร่

เราต้องไม่ลืมว่าการถือเงินสดก็มีส่วนสำคัญ นึกถึงเวลาหุ้นตกแรงๆ ทั้งตลาด เราจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อหุ้น "On Sale" เหล่านั้น ถ้าเรารู้จักจินตนาการเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เราจะวาดภาพพอร์ตของเราได้อย่างรัดกุมมากขึ้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราอยากสร้างพอร์ตที่สร้างกระแสเงินสดเป็นหลัก ภาพสุดท้ายของเราก็คือพอร์ตที่มีหุ้นปันผลเป็นตัวหลักอย่างน้อยครึ่งพอร์ต หากเราระดมเงินไปซื้อ LTF หวังหักภาษีตั้งแต่แรก สัดส่วนของ LTF ในพอร์ตเราก็คงจะเยอะมาก หากเราจินตนาการถึงปีต่อๆ ไป ซึ่งอัตราภาษีของเราขยับขึ้นจาก 10% เป็น 20% ถึงเวลานั้นเราก็คงจะงกอีกและระดมซื้อ LTF อีกรอบ สุดท้ายกลายเป็นว่าพอร์ตของเรามีแต่ LTF และไม่ได้เน้นสร้างกระแสเงินสดอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก

หากเราไม่จินตนาการถึงภาพสุดท้ายปลายทางไว้ตั้งแต่ต้น สิ่งที่เราทำก็คงมั่วซั่ว พอเห็นอะไรเข้าท่าก็ลากมันเข้ามาในพอร์ต กลายเป็นว่าแต่ละแอ็คชั่นไม่ได้ส่งเสริมหรือนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทาง

อย่าลืมนะครับ ทุกแอ็คชั่นของเราควรมีความหมาย มันควรพาเราไปสู่เป้าหมายที่วางไว้!


ค่อยๆ วาดไปเรื่อยๆ


นักวาดภาพมือใหม่มักจะไม่รู้ว่าควรทำอะไรก่อนอะไรหลัง บางทีก็ไปวาดบ้านบนภูเขาก่อนลงสีพื้นหญ้า วาดเสร็จแล้วก็ต้องมานั่งกังวลว่าบ้านจะเลอะสีพื้น หรือบางทีก็พบว่าโทนสีมันไม่เข้ากัน

จิตรกรที่เก่งแล้วจะไม่มีปัญหานี้ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าจะวาดท้องฟ้าก่อน แล้วค่อยมาลงสีพื้นหญ้า รายละเอียดเอาไว้ทีหลัง เขามีเวลาสังเกต "ความสอดคล้องกัน" ขององค์ประกอบต่างๆ และหากเรานั่งมองเขาวาดภาพก็จะเห็นว่ามันค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ

ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนที่พุ่งเข้าชาร์จทีละจุด เช่น "เดือนนี้ฉันจะซื้อ SE-PED ซึ่งเป็นหุ้นปันผลชั้นดี แล้วเดือนหน้าฉันจะซื้อ CDALL ซึ่งเป็นหุ้นเติบโตชั้นยอด" เขาจะรู้ได้ยังไงว่าเดือนนี้เดือนหน้าจะเป็นโอกาสดีสำหรับการซื้อหุ้นแต่ละตัว?

เราจะไปบังคับว่าโอกาสดีต้องมาตอนนั้นตอนนี้ไม่ได้ นักลงทุนจึงควรจะ "มองหาโอกาสไปเรื่อยๆ" ค่อยๆ สร้างพอร์ตให้เข้ารูปเข้ารอยในลักษณะเดียวกับที่จิตรกรทำกับภาพสีน้ำของเขา ถ้ายังวาดบ้านไม่ได้เพราะสีพื้นยังไม่แห้งดี เราก็ไม่ควรฝืนทำ ไม่อย่างนั้นภาพอาจจะออกมาเละเทะ ในทำนองเดียวกันถ้าหุ้นตัวนี้ยังไม่ถูก เราก็อย่าเพิ่งซื้อ คนที่ซื้อหุ้นแพงมีแนวโน้มที่จะอยาก "ซื้อถัว" เพื่อรักษาแผลในใจ แต่มันกลับจะทำให้การลงทุนของเขาผิดแผนไปหมด

ถ้าอยากให้พอร์ตของเรา "สวยขึ้นเรื่อยๆ" เหมือนอย่างที่ภาพวาดสวยขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจและลงมือทำเมื่อโอกาสผ่านเข้ามาครับ


สวยขึ้นอีกนิด หรือไม่ก็พังพาบไปเลย


ในตอนท้ายของการวาดภาพ จิตรกรมักใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น เพิ่มแสงเงาให้ต้นไม้ เพิ่มแกะในทุ่งหญ้า ฯลฯ ส่วนมากแล้วสิ่งเหล่านี้จะทำให้ภาพวาดมีเสน่ห์มากขึ้น แต่ก็บ่อยครั้งเหมือนกันที่มันออกมาแล้วไม่สวย ทำให้ภาพวาดโดยรวมด้อยลงไปอย่างน่าเสียดาย

การเป็นนักลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นก็มีความเสี่ยงไม่แพ้จิตรกรเหล่านี้ การทำอะไรบางอย่างเพื่อเพิ่มกำไรให้กับพอร์ต "อีกนิด" อาจลงท้ายด้วยการทำลายกำไรให้หายวับไปกับตา

นักลงทุนส่วนมากทราบดีว่าการถือหุ้นผ่านช่วงขาขึ้นสามารถทำกำไรได้มหาศาล บางครั้งแม้หุ้นจะขึ้นมามาก "เกินมูลค่าที่แท้จริง" ไปแล้ว แต่ราคาหุ้นก็ยังขยับขึ้นได้อีก มีคนจำนวนไม่น้อยปฏิเสธที่จะขาย(หรือทยอยขาย)หุ้นเกินมูลค่าเหล่านั้น พวกเขายังรีรอขอทำกำไรอีกนิด ด้วยเห็นว่าหุ้นยังเป็นขาขึ้น ยังมีโมเมนตัม ยังไม่ถึงแนวต้าน ฯลฯ

หลายคนต้องแลกกำไร "อีกนิด" กับกำไรทั้งหมดที่ทำไว้ เมื่อหุ้นพวกนั้นถูกกระแทกลงมาไม่เป็นท่า พวกเขาลืมไปว่า ยิ่งหุ้นเกินมูลค่าไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเท่ากับยก "แต้มต่อ" ให้คนอื่นๆ มากระทืบเขามากขึ้นเท่านั้น

การจะดูว่าแต้มต่ออยู่ที่ใครก็ไม่ยาก ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่ามากๆ มี Margin of Safety เยอะ แต้มต่อก็อยู่ที่เรา แต่ถ้าราคาหุ้นขึ้นมาเร็วจนเกินมูลค่า แต้มต่อก็อยู่ที่คนอื่น ...ง่ายๆ แค่นี้


และนี่ก็คือข้อคิดดีๆ ที่ได้จาก "วาดสีน้ำตามกูรู" อย่าลืมออกไปสัมผัสธรรมชาติและสร้างสรรค์งานศิลปะบ้างนะครับ


ภาพประกอบจาก www.jwjonline.net เป็นเว็บสอนวาดสีน้ำสำหรับมือใหม่ครับ ข้อดีคือเขาโชว์ความผิดพลาดที่เขาเคยทำไว้ให้เราได้ดูและเรียนรู้ด้วย

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

หุ้นตก(อีก)ขอบ


ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงหุ้นตกขอบไป 2 พวกแล้ว นั่นก็คือ หุ้นตกขอบแบบ "รอเข้าก๊วน" เช่น พวกที่มี potential ที่จะเข้าสู่ดัชนี SET50 หรือ MSCI ในระยะอันใกล้ ส่วนอีกพวกก็คือ หุ้นตกขอบแบบ "ตกสำรวจ" เช่น พวกที่นักวิเคราะห์ไม่ค่อยสนใจ อาจจะด้วยเป็น volume น้อย หรืออะไรก็ตามที

การซื้อหุ้นตกขอบทั้งสองประเภทข้างต้น แม้จะไม่จัดเป็นการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI จนกว่าจะได้ตรวจสอบว่า "ราคาหุ้น" ต่ำกว่า "มูลค่าที่แท้จริง" และทำให้เกิด Margin of Safety ที่มากเพียงพอ แต่การซื้อหุ้นรอเข้าก๊วนก็เป็นแนวคิดที่สามารถทำเงินได้ในระยะเวลาอันสั้น

ขณะเดียวกันการซื้อหุ้นตกสำรวจก็มักจะล็อก downside ของเราได้พอสมควร เพราะถ้าเป็นหุ้นโวลุ่มน้อยที่มีผลประกอบการดี คนที่ถือหุ้นส่วนมากจะถือยาวและรอเก็บเพิ่ม ไม่ใช่ซื้อๆ ขายๆ หุ้นพวกนี้อาจจะไม่ตื่นเต้น แต่ก็มีโอกาสทำกำไรดี

คราวนี้เราจะมาว่ากันต่อด้วยหุ้นตกขอบอีก 2 พวก ได้แก่ หุ้นที่ตกขอบจาก "เกณฑ์การคัดเลือกบริษัท" และ หุ้นที่ตกขอบจาก "เกณฑ์การคัดเลือกหุ้น"


ตกขอบจาก "เกณฑ์การคัดเลือกบริษัท"


เชื่อว่าหลายคนมีเกณฑ์ในการคัดเลือกบริษัทที่จะเข้าลงทุน เป็นต้นว่าต้องมีค่า D/E หรือ สัดส่วนหนี้สินต่อทุน ไม่เกิน 1 เท่า หรือไม่เช่นนั้นก็อาจระบุในเชิงของผลตอบแทน เช่น ต้องมีค่า ROE อย่างน้อย 15% อะไรแบบนี้

ปัญหาของการตั้งเกณฑ์ดังกล่าวก็คือ บริษัทที่ไม่ตรงตามเกณฑ์จะถูกมองข้ามไปโดยทันที และทำให้มัน "ตกขอบ" ทันทีเหมือนกัน

ว่ากันตามจริงถ้าเราเปรียบเทียบบริษัทสองแห่งที่เหมือนกันทุกอย่าง ยกเว้นบริษัทหนึ่งมีค่า D/E เท่ากับ 0.97 เท่า ขณะที่อีกบริษัทมีค่า D/E เท่ากับ 1.02 เท่า จะเห็นว่ามันแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในแง่ของ "โครงสร้างเงินทุน" ซึ่งนั่นก็แปลว่าความเสี่ยงในเรื่องนี้ไม่ได้แตกต่างกันมากมายนัก

อย่างไรก็ตาม นักลงทุน "เถรตรง" จำนวนหนึ่งได้สกรีนบริษัทที่สองออกไปเรียบร้อยแล้ว พวกเขาอาจกำลังไปรุมซื้อบริษัทแรกอยู่ นั่นเป็นโอกาสดีที่เราจะเข้าไปซื้อบริษัทที่ดีพอๆ กัน แต่เป็นที่สนใจน้อยกว่า

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับค่า ROE เช่นกัน ตัวเลขที่เราได้ยินบ่อยคือ 15% เพราะฉะนั้นบริษัทที่ตกขอบก็อาจมี ROE ที่ 14% ปลายๆ เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนนักลงทุนเถรตรงเหล่านี้ก็คือ เครื่องมือจำพวก Screener ซึ่งจะคัดหุ้นตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ พวกเขาอาจจะเข้าไปในเว็บไซต์และกรอกเกณฑ์ที่ต้องการ จากนั้นก็กด Submit! แล้วรายชื่อหุ้นที่ไม่เข้าเกณฑ์ก็จะกระเด็นออกไป ไม่โผล่ออกมาให้นักลงทุนเถรตรงเหล่านั้นเห็นอีกเลย


ตกขอบจาก "เกณฑ์การคัดเลือกหุ้น"


เหตุที่ผมแบ่ง เกณฑ์การคัดเลือกบริษัท และ เกณฑ์การคัดเลือกหุ้น ออกจากกัน เป็นเพราะต้องการเน้นให้เห็นว่าในเกณฑ์บริษัทนั้น เรากำหนดหลักเกณฑ์โดยใช้ "ปัจจัยภายใน" เช่น โครงสร้างเงินทุน กำไรสุทธิ ส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นต้น ในขณะที่เกณฑ์หุ้น เราเอา "ปัจจัยภายนอก" ซึ่งก็คือ ราคาหุ้นในตลาด มาใช้ในการคัดเลือกด้วย

ราคาหุ้นมีผลโดยตรงกับค่า P/E และค่า P/BV การมองหาหุ้นตกขอบของเราก็จะคล้ายๆ กับในกรณีของ D/E และ ROE เพียงแต่นัยสำคัญจะ "บางกว่า"

จริงอยู่ว่ามีคนมองหาหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำกว่า 10 เท่า หรือมีค่า P/BV ต่ำกว่า 2 เท่า อยู่บ้างเหมือนกัน แต่เกณฑ์พวกนี้ไม่ค่อยเจาะจง บางคนอาจจะเล็ง P/E ต่ำกว่า 12 เท่า บางคนอนุโลมให้ถึง 15 เท่า บางคนใจดีมากยอมให้ถึง 20 เท่า กล่าวได้ว่าเกณฑ์ P/E ค่อนข้างหลวมกว่ากรณีของค่า D/E ซึ่งมักกำหนดไว้ที่ 1 เท่า

หลายคนลืมไปว่าราคาหุ้นมีผลต่อค่า Dividend Yield หรืออัตราผลตอบแทนเงินปันผลด้วย ยิ่งราคาหุ้นสูงขึ้น ยีลด์ก็ยิ่งลดลง (เพราะตัวหารมันเพิ่ม) นักลงทุนท่านใดกำหนดเกณฑ์ว่าจะลงทุนใน "หุ้นปันผล" ที่จ่ายสูงกว่า 8% อาจตัดหุ้นที่มียีลด์ 7% ปลายๆ ออกไปอย่างน่าเสียดาย

หุ้นที่จ่ายปันผล 7.8% แต่มีคุณสมบัติอื่นๆ เช่น จ่ายสม่ำเสมอ จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี มีกำไรสะสมอยู่มาก ฯลฯ อาจน่าซื้อไม่แพ้หุ้นที่จ่ายปันผล 8% ก็ได้ หากเราตัดมันทิ้งไปกลายเป็น "หุ้นตกขอบ" ก็ถือว่าเสียของโดยใช่เหตุ


สรุป


แม้โลกจะก้าวหน้าไปขนาดไหน ผมยังเชื่อเสมอว่า "วิจารณญาณ" ของนักลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ การกำหนดหลักเกณฑ์การลงทุนแบบตายตัวมีความเสี่ยงที่เราจะมองข้ามของดีๆ ไป

ขณะเดียวกันการที่คนอื่นๆ ในตลาดกำหนด "ขอบเขต" ความสนใจ อย่างเช่นในกรณีของ Analyst Coverage หรือดัชนี SET50 ดัชนี MSCI ก็ทำให้มีหุ้นบางตัวอยู่นอกความสนใจ และเป็นโอกาสที่หุ้นดีๆ อาจถูกมองข้ามไปเช่นกัน

ในทางกลับกันถ้าเราเองที่เป็นคนมองข้ามมันไป ลองเอาหุ้นพวกนั้นกลับมาทบทวนดู บางทีหุ้นตกขอบ "อาจ" เป็นโอกาสดีที่หลบซ่อนอยู่ก็ได้