วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

ฉีกตำราเรื่องความเสี่ยง


เมื่อเราตั้งคำถามกับนักลงทุนว่า "อะไรคือความเสี่ยงของคุณ?"

ก) สูญเสียเงินลงทุน (ขาดทุน)
ข) ราคาหุ้นผันผวน

หากต้องเลือกจริงๆ เพียง 1 ข้อ ผมคิดว่าเกิน 90% จะเลือกข้อ ก

จริงอยู่ว่าราคาหุ้นที่แกว่งไกวไปมาอาจทำให้เรารู้สึกกลัว แต่ถ้าเรามีประสบการณ์มากพอก็อาจจะกล้าถือหุ้นต่อไปและได้ผลตอบแทนที่ดีในที่สุด และแท้ที่จริงแล้ว ความกลัวที่มีต่อความผันผวนในข้อ ข ก็มีรากเหง้ามาจากความกลัวที่จะขาดทุน (ข้อ ก) นั่นเอง

แต่เชื่อหรือเปล่าครับว่าในทางวิชาการแล้ว "ความเสี่ยง" คือ คำตอบในข้อ ข !!! ไม่เชื่อไปถามคนที่สอบ CFA หรือ CISA ก็ได้


หุ้น X เสี่ยงกว่าหุ้น Y

การนิยามความเสี่ยงให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเราในฐานะของนักลงทุน หากเราเชื่อว่าความเสี่ยงคือความผันผวนของราคาหุ้น เราจะลดความเสี่ยงด้วยการถือหุ้นที่ราคาไม่ค่อยแกว่ง หรือที่เราเรียกว่าหุ้น low-beta โดยไม่ได้สนใจว่าผลประกอบการของบริษัทมีการเติบโตอย่างโดดเด่นหรือไม่ หรือเราอาจจะหันไปถือหุ้น high-beta หรือหุ้นที่มีความผันผวนมากกว่าตลาด เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น อย่างที่ได้ยินกันมาว่า high risk, high return

นั่นหมายความว่า หากเราต้องการผลตอบแทนสูงๆ สิ่งเดียวที่เราจะทำคือ "เพิ่ม" ความเสี่ยง เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

งั้นเราลองคิดถึงนักลงทุนระดับเซียนอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ทั้งสองคนนี้กล้าเสี่ยงลุยไฟเพื่อให้ได้ผลตอบแทนงามๆ หรือเปล่า ... คำตอบคือ เปล่าเลย

ในทางตรงกันข้าม นักลงทุนทั้งสอง "ลด" ความเสี่ยงให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ยังได้ผลตอบแทนงดงาม ทั้งสองคนไม่ได้เชื่อว่า หุ้น X เสี่ยงกว่าหุ้น Y ทั้งสองคนไม่ได้เชื่อว่าความเสี่ยงอยู่ที่ตัวหุ้น หรือ instrument และนี่คือกรอบความคิดที่ทำให้ลงทุนแล้วรวย


ความเสี่ยงอยู่ที่วิธีลงทุน

ในทางวิชาการ คนที่ถือหุ้น X ต่างก็มีความเสี่ยงเท่าๆ กัน เพราะเขานิยามความเสี่ยงเอาไว้ที่ตัว instrument แต่ในชีวิตจริง คนที่ซื้อหุ้น X ที่ราคา 20 บาท ย่อมมีความเสี่ยงน้อยกว่าคนที่ซื้อที่ราคา 40 บาท จะเห็นว่าคุณมีโอกาสทำกำไรได้เป็นเท่าตัวทั้งที่ถือหุ้นตัวเดียวกัน และไม่ต้องเพิ่มค่า beta ให้กับพอร์ตของตัวเองเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่รอจังหวะซื้อในขณะที่หุ้นมีราคาถูกเท่านั้น และนี่ก็คือวิธีที่บัฟเฟตต์และ ดร.นิเวศน์ ทำ

ที่จริงเซียน VI ทั้งสองท่านไม่เคยให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นอยู่แล้ว ค่า beta (ซึ่งมาจากราคาหุ้น) จึงไม่เคยอยู่ในหัวสมองของทั้งคู่เลยแม้แต่น้อย และแทนที่จะเลือกหุ้นที่มีค่า beta สูงหรือต่ำ พวกเขากลับพิจารณาศักยภาพการเติบโตของบริษัท รวมทั้ง "ส่วนลด" ที่ได้จากราคาตลาด ที่เราเรียกกันว่า margin of safety

ผมมีโอกาสได้ฟังเสวนาเซียนหุ้น VI งานหนึ่ง คุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข ได้ให้ข้อคิดที่ตรงใจผมมากๆ ว่า "มันไม่มีหรอก หุ้น VI มันมีแต่วิธีการลงทุนแบบ VI" หุ้นตัวเดียวกัน เซียนหุ้น VI เข้าซื้อตอนที่มัน undervalued แต่นักเล่นหุ้นทั่วไปมักเพิ่งมาสนใจตอนที่รู้ว่าเซียน VI ถืออยู่ ซึ่งกว่าพวกเขาจะได้ข่าวนี้ มันก็อาจไม่เข้าเกณฑ์การลงทุนแบบเน้นคุณค่าแล้วก็ได้

วิธีที่ถูกต้อง คือ อย่าซื้อหุ้นตามใคร แม้กระทั่งเซียนหุ้น VI ก็ตามที


สรุป

หากคุณต้องการรวยตู้มต้ามแบบบัฟเฟตต์ โซรอส หรือแม้แต่ ดร.นิเวศน์ ผมแนะนำให้โยนความคิดเรื่อง high risk, high return ทิ้งออกไปนอกหน้าต่างซะ ลืมเรื่องค่า beta ลืมเรื่องการเพิ่มความเสี่ยง แล้วหันมาเพิ่มผลตอบแทนด้วยการ "ลด" ความเสี่ยงในแบบเดียวกับที่ทั้งสามคนทำจนประสบผลมาแล้ว

สถานที่เดียวที่ผมเอาแนวคิดเรื่อง high risk, high return มาใช้ก็คือในห้องสอบ ไม่ใช่ในตลาดหุ้นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น