วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เพิ่มทุน - ไดลูท - สูตรช่วยคิด


หากอยู่ในตลาดหุ้นนานพอ ส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนก็จะได้มีประสบการณ์ เพิ่มทุน หรือก็คือ การที่บริษัทมาขอให้ผู้ถือหุ้นอย่างเรา ๆ ใส่เงินทุนเพิ่มเข้าไป เพื่อแลกกับ “หุ้นใหม่” ที่บริษัทจะออกมาให้

สิ่งที่นักลงทุนมักสงสัยเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์แบบนี้ ได้แก่

  1. การเพิ่มทุนจะส่งผลอย่างไรต่อหุ้น?
  2. พวกเขาควรเพิ่มทุน, ควรอยู่เฉย ๆ หรือว่าควรขายหุ้นทิ้ง?
  3. พวกเขาควรทำอย่างไรหากต้องการเพิ่มทุน แต่ไม่มีเงิน?

ในที่นี้เราจะมาตอบคำถามข้างต้น โดยใช้แนวคิดและการคำนวณง่าย ๆ เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจและสามารถดูแลตัวเองได้ ภายใต้สถานการณ์ที่น่างุนงงนี้


ผลกระทบต่อหุ้น


เมื่อมีการออกหุ้นเพิ่มทุน จำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้น ส่วนบริษัทก็จะได้รับเงินทุนเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง ผลกระทบจากการเพิ่มทุนจึงมีทั้งในแง่ของ อำนาจควบคุม และ ราคาหุ้น ซึ่งทั้งสองแง่มุมนี้อาจได้รับผลไม่เท่ากันก็ได้ เช่น การเพิ่มทุนอาจทำให้ “หนึ่งหุ้น” ของบริษัทมีอำนาจควบคุมลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับส่งผลให้ราคาหุ้นลดลงเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เป็นต้น

จากการสังเกตของผม การลดลงของอำนาจควบคุม (control dilution) เป็นสิ่งที่นักลงทุนรายย่อยทั่วไปไม่ค่อยสนใจ เนื่องจากพวกเขา ไม่ รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของบริษัทสักเท่าไร แต่ในทางตรงข้าม การลดลงของราคาหุ้น (price dilution) กลับเป็นสิ่งที่พวกเขาเฝ้าติดตาม เพราะรู้สึกว่ามันกระทบต่อความมั่งคั่งของพวกเขาโดยตรง ...แต่นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เราจะมาดูผลกระทบทั้งสองด้านผ่านตัวอย่างของหุ้น BNPU (นามสมมติ) ซึ่งประกาศเพิ่มทุนในอัตรา 4 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ โดยใช้สิทธิ์ได้ที่ราคา 5 บาท

[สัดส่วน n หุ้นเดิมต่อหนึ่งหุ้นใหม่ ในที่นี้ คือ n = 4 และใช้สิทธิ์ที่ราคา X = 5 บาท]

ลกระทบเรื่องสัดส่วนความเป็นเจ้าของที่จะลดลงนั้น คิดง่าย ๆ จากสัดส่วนจำนวนหุ้นใหม่ที่จะเข้ามาแบ่งความเป็นเจ้าของ และเนื่องจาก 4 หุ้นเดิม + 1 หุ้นใหม่ กลายเป็น 5 หุ้นหลังเพิ่มทุน ดังนั้น สัดส่วนของหุ้นใหม่ (หลังเพิ่มทุน) จึงเท่ากับ 1 / 5 = 0.20 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์


แม้การเพิ่มทุนจะส่งผลให้ “หนึ่งหุ้น” มีอำนาจหรือสัดส่วนความเป็นเจ้าของลดลง แต่ถ้านักลงทุนยอมใส่เงินเพิ่มทุนและได้รับหุ้นใหม่ พวกเขาก็จะรักษาสัดส่วนความเป็นเจ้าของตามที่ตนเองเคยมีอยู่ก่อนการเพิ่มทุนเอาไว้ได้

สำหรับผลกระทบเรื่องการลดลงของราคาหุ้น เนื่องจาก 4 หุ้นเดิม + 1 หุ้นใหม่ กลายเป็น 5 หุ้นหลังเพิ่มทุน เราก็จะเอาต้นทุนหุ้นเดิมกับต้นทุนหุ้นใหม่มาบวกกัน เพื่อหาราคาต้นทุนเฉลี่ยต่อหุ้นภายหลังเพิ่มทุน และอนุมานว่าราคาตลาดควรเท่ากับราคาต้นทุนดังกล่าวนั่นเอง

[สมมติว่าราคาหุ้นก่อนเพิ่มทุน S = 15 บาท]


เมื่อคำนวณได้ดังนี้ เราก็จะทราบว่าหลังเพิ่มทุนแล้ว ราคาหุ้น BNPU ควรลดลง 2 บาท หรือคิดเป็นการไดลูทของราคา 13.3 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ราคาหุ้นที่ลดลง ไม่ ได้แปลว่าเราจะขาดทุน เพราะที่จริงมันก็เป็นราคาต้นทุนเฉลี่ยต่อหนึ่งหุ้นของเรานั่นเอง พูดง่าย ๆ ก็คือ นี่เป็นราคาที่เท่าทุนสำหรับเรา และเป็นราคาที่ “ยุติธรรม” สำหรับผู้เล่นรายใหม่ ซึ่งไม่ได้รับสิทธิ์ใส่เงินเพิ่มทุนในราคาถูกเหมือนกับเรา


ใช้สิทธิ์เพิ่มทุนดีหรือไม่


ถึงแม้ว่าการเพิ่มทุนจะส่งผลให้เกิดการ ไดลูท ทั้งสองรูปแบบข้างต้น แต่มันก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะถ้าใช้สิทธิ์เพิ่มทุนเต็มจำนวน เราก็จะมีสัดส่วนอำนาจควบคุมบริษัทเท่าเดิม และราคาหุ้นที่ไดลูทลงมาก็ถือว่าเท่าทุนสำหรับเราเหมือนกับที่ได้บอกไป

ในทางกลับกัน หากไม่ใช้สิทธิ์เพิ่มทุน สัดส่วนอำนาจควบคุมบริษัทที่อยู่ในมือเราก็จะลดลง ซึ่งประเด็นนี้อาจสำคัญหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับนักลงทุนแต่ละท่าน แต่ที่แน่ ๆ คือ การไม่ใช้สิทธิ์เพิ่มทุนจะทำให้ราคาต้นทุนหุ้นในมือเราสูงกว่าราคาตลาด (เพราะไม่ได้ใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นใหม่ในราคาถูกเหมือนกับคนอื่น ๆ) เท่ากับว่าเราขาดทุนไปโดยปริยาย

สรุปก็คือ โดยทั่วไป “ใช้สิทธิ์” มักดีกว่า “ไม่ใช้สิทธิ์” ...ยกเว้นท่านจะไม่อยากถือหุ้นตัวนี้แล้ว หรือไม่มีเงินจะเพิ่มทุน

สำหรับกรณีแรก เมื่อท่านมีมุมมองลบและไม่อยากถือหุ้นต่อไป การขายหุ้นก่อนที่จะถึงวันขึ้นเครื่องหมาย XR หรือ Excluding Right (ซึ่งหมายถึง ไม่ได้รับสิทธิ์จองซื้อหุ้นออกใหม่) อาจเป็นความคิดที่ดี เพราะจะได้ราคาสูงกว่าและไม่ต้องยุ่งยากกับขั้นตอนการเพิ่มทุนด้วย


ทำอย่างไรดี หากไม่มีเงินเพิ่มทุน


ส่วนกรณีที่สอง เมื่อท่านอยากถือหุ้นตัวนี้ต่อแล้วก็ไม่อยากเสียเปรียบ แต่ไม่มีเงินเพิ่มทุน ทางออกที่ดีอาจเป็นการขายหุ้นออกมา “บางส่วน” แล้วนำเงินที่ได้ไปเพิ่มทุน

คำแนะนำนี้ท่านอาจพบเห็นได้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม แม้คนส่วนมากจะรู้เรื่องนี้ แต่พวกเขาก็ไม่มีไอเดียว่าควรขายหุ้นออกมามากน้อยแค่ไหน ถึงเพียงพอที่จะรักษาจำนวนเงินลงทุนดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็ไม่เสียเปรียบจากการไดลูทของราคาหุ้น

ย้อนกลับไปที่ตัวอย่างเดิม สมมติท่านถือหุ้น BNPU อยู่ 5,000 หุ้น และราคาหุ้นก่อนขึ้น XR คือ 15 บาท มูลค่าเงินลงทุนในหุ้นตัวนี้จะเท่ากับ 15 x 5000 = 75,000 บาท โจทย์ของเราก็คือ ท่านควรจะขายหุ้นออกมากี่หุ้น ถึงจะได้เงินเพียงพอสำหรับการใช้สิทธิ์เพิ่มทุนหุ้นส่วนที่เหลือ และมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้นหลังเพิ่มทุนก็ยังคงอยู่ที่ 75,000 บาทด้วย ซึ่งผมจะขอแนะนำสูตรนี้ครับ


และในเมื่อท่านมี 5,000 หุ้นอยู่เดิม จำนวนหุ้นที่ต้องขายก็จะเท่ากับ 0.077 x 5000 = 385 หุ้น ซึ่งในชีวิตจริงท่านอาจ “ปัดขึ้น” เป็น 400 หุ้น เพื่อให้สามารถขายได้สะดวกเป็นหลักร้อยหุ้น และได้รับเงินจากการขายหุ้น 15 x 400 = 6000 บาท

สำหรับหุ้นที่เหลือ 5000 - 400 = 4600 หุ้น จะได้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุน (ในอัตรา 4:1) เท่ากับ 4600 / 4 = 1150 หุ้น และต้องเอาเงินไปเพิ่มทุน 5 x 1150 = 5,750 บาท

สรุปก็คือ ท่านขายหุ้นได้เงิน 6,000 บาท (ซึ่งถ้าจะให้ถูกจริง ๆ ต้องหักค่าคอมมิชชันในการขายหุ้นไปหน่อยนึงด้วย) จากนั้นนำเงินไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน 5,750 บาท คิดคร่าว ๆ ก็เกือบจะพอดีกัน


สังเกตว่าจำนวนหุ้นทั้งสิ้นหลังเพิ่มทุน 4600 + 1150 หุ้น เมื่อคูณกับราคาหุ้นหลังเพิ่มทุน 13 บาท จะเท่ากับ 74,750 บาท ใกล้เคียงกับมูลค่าเงินลงทุนเริ่มแรก จึงกล่าวได้ว่าท่านสามารถรักษาสัดส่วนเงินที่ลงทุนในหุ้นตัวนี้ได้โดยไม่ต้องวิ่งหาเงินจากภายนอกมาเพิ่มทุน แล้วก็ไม่เสียเปรียบนักลงทุนท่านอื่น ๆ ด้วย

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของการเพิ่มทุนและสูตรช่วยคิดอย่างง่าย ๆ ที่จะทำให้ท่านสามารถตัดสินใจได้อย่างมีหลักการ และรักษาผลประโยชน์ที่พึงมีในฐานะนักลงทุนได้ครับ