ด้วยแนวคิดที่ว่า "เมื่ออายุมากขึ้น คนเราควรลงทุนอย่างอนุรักษนิยมมากขึ้น" พอร์ตลงทุนของคนวัยเกษียณจึงมักถูกออกแบบให้มีความระแวดระวัง โดยพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะไม่ให้ขาดทุนหรือสูญเสียเงินต้นเลย แม้ได้ผลตอบแทนน้อยก็ไม่เป็นไร
การลงทุนอย่างระมัดระวังสุด ๆ โดยมุ่งรักษาเงินต้น อาจทำให้คนวัยทำงานรวยช้า แต่กับคนวัยเกษียณ นี่อาจทำให้หมดตัวได้ เหตุผลก็เพราะว่าโดยทั่วไปแล้วคนวัยเกษียณมักจำเป็นต้องดึงเงินบางส่วนออกมาจากพอร์ต เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (ต่างจากคนวัยทำงานที่มักใช้จ่ายเงินจากรายได้ประจำ แล้วส่วนที่เหลือเก็บจึงค่อยนำมาลงทุน)
เมื่อพอร์ตลงทุนให้ผลตอบแทนน้อยมาก เงินที่ดึงออกมาก็แทบจะเป็นส่วนของเงินต้นล้วน ๆ พอร์ตของเขาจึงหดลง เริ่มจากทีละน้อย และค่อย ๆ เร่งตัวมากขึ้นจนกระทั่งหมดไป
ตัวอย่างพอร์ตลงทุนของผู้เกษียณอายุที่มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ภายใต้อัตราเงินเฟ้อ 3 เปอร์เซ็นต์ และได้ผลตอบแทน 1.87 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เทียบเท่าผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุ 5 ปี
ทั้งนี้ เส้นตรงสีแดงในภาพกำกับไว้เพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า การหดตัวลงของพอร์ตโฟลิโอมีการเร่งตัวในช่วงท้าย ก่อนที่มูลค่าพอร์ตจะกลายเป็นศูนย์ในระหว่างปีที่ 16 หลังเกษียณ ถ้าอายุเกษียณมาตรฐาน 60 ปี ก็เท่ากับว่ามีเงินใช้จ่ายถึงอายุ 75 ปีกว่า ๆ ใกล้เคียงกับอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยตามข้อมูลจากธนาคารโลกพอดี ซึ่งสอดคล้องกับสื่อและแหล่งความรู้ทางการเงินที่แนะนำให้เก็บเงินเพื่อการเกษียณอย่างน้อย 4 ล้านบาท ตามที่เราเคยได้ยินกันมา
อย่างไรก็ตาม ท่านทั้งหลายควรตระหนักด้วยว่า การมีเงินแค่พอใช้ถึงค่าเฉลี่ยอายุขัยนั้นออกจะน่ากลัวเกินไป เพราะถ้าประเมินคร่าว ๆ ว่า ค่าเฉลี่ย อยู่ตรงประมาณกึ่งกลางของประชากรทั้งหมด โอกาสที่ตัวเราจะเป็นหนึ่งในประชากรที่มีอายุขัยยาวนานกว่าตัวเลขนี้ก็จะเท่ากับ 50-50 หรือพอ ๆ กับการโยนเหรียญ
จุดหมดตัว
ถึงตรงนี้หลายท่านน่าจะสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่าง การลงทุน กับ การจัดการเงิน ของคนวัยเกษียณ ทั้งสองสิ่งนี้แม้จะมีความสัมพันธ์กัน แต่ก็เป็นคนละส่วนอยู่ดี
สำหรับชีวิตหลังเกษียณ ความมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่การ "มีเงินใช้ตลอดชีพ" หาใช่การ "ไม่ขาดทุน" แต่อย่างใด ต่อให้เราลงทุนแล้วไม่เสียเงินเลย แต่การทยอยไถ่ถอนเงินทุนก็ทำให้หมดตัวได้ ณ จุดใดจุดหนึ่งในอนาคต ซึ่งผมขอเรียกว่า จุดหมดตัว ภารกิจของนักลงทุนวัยเกษียณ ได้แก่ การยืดจุดหมดตัวที่ว่านี้ให้ออกไปไกลที่สุด
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ลองมาดูตัวอย่างพอร์ตลงทุนที่แหล่งความรู้อื่น ๆ ไม่กล้าแนะนำกันบ้าง
นี่เป็นกรณีที่ค่อนข้างสุดขั้ว เมื่อคนวัยเกษียณนำเงินทั้งหมด 4 ล้านบาทเท่ากันไปลงทุนหุ้นและได้รับผลตอบแทนในระดับปานกลาง (หรืออาจจะค่อนข้างแย่เสียด้วยซ้ำในสายตาของบางท่าน) สังเกตว่า จุดหมดตัว ขยับไปอยู่ที่ปีที่ 29 หลังเกษียณ หรือเทียบเท่าอายุ 89 ปี
พอร์ตลงทุนแบบนี้นับว่า "เสี่ยงมากขึ้น" ในแง่ของการลงทุน เนื่องจากถือครองหุ้นเอาไว้เต็มอัตรา แต่ควรถือว่า "เสี่ยงน้อยลง" ในแง่ของการจัดการเงินในภาพรวม เพราะจุดหมดตัวอยู่ห่างออกไปมาก แม้จะยังคงกินอยู่และใช้จ่ายเท่าเดิม
ข้อสังเกตประการหนึ่งของพอร์ตสุดขั้วนี้ คือ ขนาดของพอร์ตมีการเติบโตขึ้นในช่วงแรก ก่อนจะลดลงในภายหลังด้วยอัตราเร่ง เหตุผลก็เพราะว่าผลตอบแทนรวมของพอร์ต 7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหักด้วยค่าใช้จ่ายปีละ 240,000 บาท ซึ่งคิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าพอร์ตตั้งต้น จะเท่ากับว่าขนาดของพอร์ตเติบโตได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี (ในช่วงแรก) ช้ากว่าค่าใช้จ่ายซึ่งเติบโตด้วยอัตราเงินเฟ้อ 3 เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายจึงโดนค่าใช้จ่ายไล่กวดและต้องไถ่ถอนเงินต้นออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดตัวไปในที่สุด
หากต้องการมั่นใจว่าจะไม่หมดตัว ท่านจำเป็นต้องยืดจุดหมดตัวออกไปที่อินฟินิตี้ (infinity - ไม่มีที่สิ้นสุด) พูดง่าย ๆ ก็คือ สามารถมีกินมีใช้ตลอดชีวิต เหมือนที่เคยอธิบายไปในบทความชื่อ "แทะเงินก้อน" ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ ผลตอบแทนรวมของพอร์ตจะต้องเพิ่มขึ้นจาก 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 9 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับ สมการอิสรภาพทางการเงิน ที่เคยนำเสนอไปเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว
[ท่านทั้งหลายอาจอัศจรรย์ใจนิดหน่อย เมื่อองค์ความรู้ที่ค้นพบต่างกรรมต่างวาระ สุดท้ายก็กลับมาสอดคล้องกันเองราวกับจิ๊กซอว์ที่อยู่ในชุดเดียวกัน]
จัดพอร์ตให้เหมาะสม
ในกรณีที่ไม่สามารถยืด จุดหมดตัว ออกไปที่อินฟินิตี้ ท่านจำต้องยอมรับความจริงและจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสม แน่นอนว่าท่านไม่ควรเอาเงินไปฝากธนาคารหรือซื้อกองทุนตราสารหนี้จนหมด ขณะเดียวกันการจัดพอร์ตสุดขั้วโดยลงทุนหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนในตัวอย่างข้างต้นก็ไม่น่าจะเป็นความคิดที่ดีนัก
ลองมาพิจารณาภาพด้านล่างนี้กัน
หากแบ่งช่วงเวลาหลังเกษียณออกเป็นช่วง ๆ ด้วยสูตรจำนวนปี "ยกกำลังสอง" เหมือนในรูป เราอาจประเมินว่าช่วงเวลาที่ใกล้จะมาถึง (เช่น 2 ปีแรก) เป็นช่วงที่ควรเตรียมเงินสดพร้อมใช้ รูปแบบของสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับเงินก้อนนี้ ได้แก่ เงินฝากธนาคาร หรือกองทุนตราสารเงิน ซึ่งสามารถไถ่ถอนได้ภายใน 1-2 วัน โดยไม่ลดมูลค่า
เงินก้อนสำหรับช่วงเวลา 4 ปีถัดไป (เช่น ปีที่ 2 ถึงปีที่ 6) สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนสูงขึ้นและมีความผันผวนไม่มาก เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นหรือระยะกลาง ส่วนสินทรัพย์ที่เหมาะสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงปีที่ 6 ถึงปีที่ 14 อาจเน้นไปที่การสร้างกระแสเงินสดและการเติบโตมากขึ้น เช่น กองทุนรวมที่กระจายลงทุนในกองรีท (REIT) หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หลาย ๆ กอง หรือแม้แต่กองทุนรวมหุ้นที่เน้นหุ้นปันผลดี
ในส่วนของสินทรัพย์ที่จะรองรับค่าใช้จ่ายช่วงปีที่ 14 ถึงปีที่ 30 เราน่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนและเอาชนะเงินเฟ้อได้ด้วยการลงทุนหุ้นอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาวและกว่าจะต้องใช้เงินก้อนนี้ก็ยังอีก 14 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจเกิดชะงักงัน อย่างน้อยก็มีเวลานับทศวรรษให้ตลาดหุ้นฟื้นตัว สิ่งสำคัญก็คือ อย่าลืมกระจายการลงทุนไปในหุ้นหลาย ๆ ตัว เพราะ "ตลาดหุ้น" ในภาพรวมมักฟื้นได้หลังวิกฤติ แต่กับ "หุ้นหนึ่งตัว" นั้นไม่แน่
เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว สมมติว่าเรามีเงินเกษียณ 4 ล้านบาท และเตรียมค่าใช้จ่ายไว้ปีละ 240,000 บาท เงินสำหรับสองปีแรกจะเท่ากับ 240000 x 2 = 480,000 บาท ตีง่าย ๆ ว่าก้อนนี้เอาไปฝากธนาคาร
[เพื่อไม่ให้ซับซ้อนมากนัก เราจะตัดเรื่องเงินเฟ้อออกไป แต่ท่านทั้งหลายไม่ต้องกังวล เพราะการลงทุนในภาพรวมของเราให้ผลตอบแทนที่น่าจะพอสู้กับเงินเฟ้อได้อยู่แล้ว]
เงินสำหรับสี่ปีถัดมา 240000 x 4 = 960,000 บาท เอาไปซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้
เงินสำหรับแปดปีต่อไป 240000 x 8 = 1,920,000 บาท เอาไปซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในกองอสังหาฯ และกองทุนรวมที่เน้นหุ้นปันผลดี อย่างละเท่า ๆ กัน
เงินส่วนที่เหลือจะเท่ากับ 4000000 - 480000 - 960000 - 1920000 = 640,000 บาท ส่วนนี้เป็นเงินที่เตรียมไว้ใช้จ่ายตั้งแต่ปีที่ 14 เป็นต้นไป จึงเอาไปซื้อกองทุนหุ้น
สรุปตัวอย่างพอร์ตตั้งต้น
*** ข้อสรุปนี้เกิดจากตัวเลขและสมมติฐานข้างต้น เพื่อประโยชน์ในการนำเสนอแนวคิดเท่านั้น ***
นี่เป็นตัวอย่างการจัดพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตคนวัยเกษียณ ซึ่งมีข้อสังเกตอยู่ 3-4 ประการ
ประการแรก พอร์ตดังกล่าวนี้เป็นเพียง "พอร์ตตั้งต้น" ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะต้องปรับส่วนผสมในพอร์ตเป็นระยะ โดยอาจย้อนกลับไปยังแถบสีที่แบ่งช่วงปีอีกครั้งหนึ่ง แล้วแบ่งสรรสินทรัพย์ไปตามหมวดหมู่เสียใหม่ทุกปีหรือทุกสองปี
ประการที่สอง พอร์ตลงทุนนี้มี จุดหมดตัว ณ ต้นปีที่ 19 หลังเกษียณ เทียบกับกรณีลงทุนอย่างระมัดระวังสุด ๆ [ภาพแรกของบทความ] ซึ่งมีจุดหมดตัวอยู่ประมาณกลางปีที่ 16 การยืดจุดหมดตัวออกไปได้เกือบสามปีนับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับคนวัยเกษียณที่กำลังหลังพิงฝา
ประการที่สาม ท่านสามารถใช้แถบสีจำนวนปีรูปแบบอื่น เช่น แทนที่จะกำหนดช่วงแบบยกกำลังสอง (2-4-8-16 ปี) ท่านอาจใช้ตัวเลขง่าย ๆ อย่างเช่น 5-10-15 ปี ก็ได้ โดยหลักแล้วเราจะไม่มีปัญหากับตัวเลขที่แตกต่างกัน ตราบเท่าที่มันสะท้อนแนวคิดเรื่องการลงทุนระยะสั้น-ระยะยาว
ประการที่สี่ สัดส่วนการถือครองหุ้นในระดับ 40 เปอร์เซ็นต์ อาจทำให้กูรูหลายท่านไม่พอใจนัก เพราะพวกเขาคุ้นเคยและมักให้คำแนะนำประเภทบอกต่อกันมา เช่น "คนวัยเกษียณควรถือครองหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ และถือตราสารหนี้กับเงินฝากธนาคารในสัดส่วนที่มาก" แบบนี้ท่านควรถามเขาด้วยว่า "ตัวเลข 5 เปอร์เซ็นต์มาจากไหน?" บางทีท่านอาจจะประหลาดใจที่แม้แต่กูรูเองก็คอนเฟิร์มคำแนะนำของตัวเองไม่ได้ และอาจหงุดหงิดกับคำถามของท่านด้วยซ้ำไป
ส่วนพอร์ตตัวอย่างของเรา เราได้เห็นกันแล้วว่าตัวเลข 40 เปอร์เซ็นต์ มีที่มาอย่างไร และถ้าท่านใส่สมมติฐานใหม่ตามสถานการณ์ของตนเองเข้าไปในโมเดล ตัวเลขใหม่ที่ได้ก็จะถือว่ามีที่มาเช่นกัน ซึ่งท่านสามารถมั่นใจได้มากกว่าคำแนะนำแบบกำปั้นทุบดินที่ฟังต่อกันมา นอกจากนั้นพอเวลาผ่านไป สัดส่วนการลงทุนหุ้นจะลดลงจนเหลือศูนย์ไปเอง หากมีการปรับพอร์ตอย่างสม่ำเสมอตามที่บอกไปข้างต้น นี่เป็นกลไกที่เกิดขึ้นเพื่อผสานแนวคิดเรื่อง การลงทุน และ การจัดการเงิน เข้าด้วยกัน
สำหรับประเด็นเรื่องความเสี่ยงและสัดส่วนการถือครองหุ้นนี้ ไว้ผมจะพยายามหาโอกาสอธิบายเพิ่มเติมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก MonkeyFreeTime ต่อไป
ขอบคุณมากครับ
ตอบลบ