วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

จัดการเงินทองอย่างไร เมื่อต้องออกจากงาน


ตามธรรมดาของผู้มีงานประจำ หากวันใดวันหนึ่งที่ต้อง "ออกจากงาน" แบบไม่เต็มใจ ความรู้สึกใจหายและสับสนย่อมเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่เคยได้เตรียมตัวและไม่มีความรู้เรื่องการเงินมากมายนัก

คำถามหลัก ๆ ที่น่าคิดก็คือ 1) จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร และ 2) จะทำอะไรกับ "เงินก้อนสุดท้าย" ที่ได้ตอนออกจากงานดี ซึ่งผมขอแยกตอบแต่ละประเด็นก็แล้วกันนะครับ


จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร


อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่มี "รายได้ประจำ" แต่ผมแน่ใจว่าคนทุกคนต่างมี "รายจ่ายประจำ" ด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งแรกที่เราควรทำเมื่อต้องออกจากงาน คือ การจัดประเภทรายจ่ายใน 2 มิติ
  1. รายจ่ายประจำ vs รายจ่ายไม่ประจำ
  2. รายจ่ายจำเป็น vs รายจ่ายไม่(ค่อย)จำเป็น
ซึ่งเราจะได้กล่องสี่เหลี่ยมหน้าตาทำนองนี้


จากตัวอย่างสังเกตว่ารายจ่าย "ประจำ และ จำเป็น" เป็นกลุ่มที่ถูกมองข้ามอยู่บ่อย ๆ เพราะคนมักคิดว่าตนเองไม่สามารถทำอะไรกับรายจ่ายพวกนี้ได้ ทั้งที่ความจริงสามารถเจรจากับธนาคารเพื่อยืดเทอมและลดค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือนลงไปในระหว่างที่สถานการณ์กำลังคับขัน หรืออาจเปลี่ยนรถให้เล็กลง เพื่อลดภาระการผ่อนชำระในแต่ละเดือน จะทำให้หายใจได้คล่องคอมากขึ้น

รายจ่ายบางประเภทเป็นแบบ "ประจำ แต่ไม่จำเป็น" เช่น ค่าสังสรรค์กับเพื่อนฝูงทุกสุดสัปดาห์ ซึ่งในภาวะปกติอาจถือว่าสำคัญสำหรับบางท่าน อย่างไรก็ตาม เมื่อเราต้องออกจากงาน รายจ่ายส่วนนี้ควรเป็นตัวแรก ๆ ที่ถูกตัดทิ้งหรือลดทอนลง เพราะ ความบ่อย ของรายจ่ายตัวนี้จะสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ในอีกทางหนึ่ง รายจ่ายที่ "ไม่ประจำ และไม่จำเป็น"  มักเป็นรายการเพื่อความสุขที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวหรือช้อปปิ้งสินค้าราคาแพง ซึ่งทั้งหมดสามารถทดแทนหรือประวิงออกไปได้ โดยไม่ทำให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่ลง ประเด็นสำคัญของรายการพวกนี้ คือ แม้มันจะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ก็มักเป็นจำนวนเงินที่สูงและจูงใจให้ใช้วิธี "ผ่อนชำระ" ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันให้ชีวิตอับเฉาลงไปอีก

สำหรับรายจ่ายประเภท "ไม่ประจำ แต่จำเป็น" เช่น ค่ารักษาพยาบาล แม้จะรับมือได้ยาก แต่เราก็สามารถใช้การวางแผนทางการเงินช่วยได้ โดยแบ่งออกเป็น
  1. ค่ารักษาพยาบาลก้อนใหญ่ - เราสามารถ ถ่ายโอนความเสี่ยง โดยทำประกันโรคร้ายแรงหรือประกันสุขภาพที่สามารถเบิกได้ในกรณีนอนโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้เงินออมของเราร่อยหรอ หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน
  2. ค่ารักษาพยาบาลก้อนเล็ก - เราสามารถ รับความเสี่ยง ด้วยตนเอง (โดยเฉพาะถ้าปกติแล้วท่านมีสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ดีพอสมควร) เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันแพงโดยเปล่าประโยชน์ สำหรับรายจ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ที่จริงแล้วเราพอจ่ายไหว
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ "เกมรับ" (รายจ่าย) แต่ในส่วนของ "เกมรุก" (รายรับ) นั้น บางท่านอาจสมัครงานใหม่ ขณะที่บางท่านอาจริเริ่มทำธุรกิจด้วยเงินของตนเอง ซึ่งนั่นก็จะเข้าสู่เนื้อหาของคำถามข้อที่สอง


จะทำอะไรกับ "เงินก้อนสุดท้าย" ที่ได้ตอนออกจากงานดี


การฝังตัวเองอยู่ในงานประจำมาอย่างยาวนาน ทำให้มนุษย์เงินเดือนเกิดความเบื่อหน่ายและลึก ๆ ก็ไม่อยากทำตามคำสั่งของใคร เมื่อถูกบังคับให้ออกจากงาน จึงถือเป็นช่องว่างที่ทำให้พวกเขานึกถึงการทำธุรกิจส่วนตัวขึ้นมา ทั้งนี้เงินก้อนสุดท้ายที่ได้ตอนออกจากงานสามารถนำมาใช้ก่อร่างสร้างตัวได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง

วิธีใช้เงินก้อนสุดท้ายที่ "แย่ที่สุด" เท่าที่ผมนึกออก (แต่มีคนทำจริง) คือ เอาเงินไปเที่ยวคลายเครียดเติมเต็มฝัน ... บางคนไปไกลถึงยุโรป ตะลอนล่องเรือสำราญ บุกไปถึงขั้วโลกเหนือ พอกลับถึงบ้านหมดไปครึ่งล้าน เครียดหนักกว่าเดิม บางคนเอาเงินไปกินเหล้าเมายา นอกจากเสียเงินแล้วยังเสียสุขภาพอีก

ในจังหวะที่มีเงินเต็มมือ บางท่านอาจมีความคิดอยาก "โปะหนี้บ้าน" แต่มันจะดีจริงหรือไม่?!

นายเอกชัย มีสินทรัพย์อยู่ 8 ล้านบาท (แบ่งเป็นเงินสด 2 ล้านบาท และบ้านมูลค่า 6 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม เขายังคงมีหนี้บ้านค้างอยู่ 5 ล้านบาท จึงเท่ากับว่ามีความมั่งคั่งสุทธิเท่ากับ 8 - 5 = 3 ล้านบาท

สมมติว่าในแต่ละเดือน นายเอกชัยมีค่าใช้จ่ายส่วนตัว 20,000 บาท และมีภาระผ่อนบ้านอีก 30,000 บาท เท่ากับว่านายเอกชัยที่ตกงานจะต้องติดลบทุกเดือน เดือนละ 5 หมื่นบาท ซึ่งก็แปลว่าเงินสด 2 ล้านบาท จะทำให้เขาอยู่รอดได้ 2000000/50000 = 40 เดือน

หากมีอะไรบางอย่างมาดลใจให้นายเอกชัยนำเงิน 1.5 ล้านบาทไปโปะหนี้บ้าน เงินสดของเขาจะลดลงเหลือ 5 แสนบาท แต่ภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนก็จะลดลง ถ้านายเอกชัยสามารถเจรจาลดค่าผ่อนบ้านลงไปตามสัดส่วนหนี้คงเหลือได้ ค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือนก็จะลดลงเหลือ 21,000 บาท
 
เท่ากับว่าหลังจากโปะบ้านแล้ว ในแต่ละเดือนเขาจะติดลบ 41,000 บาท

นี่อาจจะฟังดูดี แต่เงินสดที่เหลืออยู่ 5 แสนบาท จะทำให้เขาอยู่รอดได้สั้นลง คือ 500000/41000 = 12.2 เดือนเท่านั้น!

ท่านอาจรู้สึกประหลาดใจที่การ "โปะบ้าน" แม้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายและค่างวดในแต่ละเดือนลดลง แต่มันก็ส่งผลให้ สภาพคล่อง หดหายไปอย่างน่าตกใจ นายเอกชัยที่เคยนอนก่ายหน้าผากเสียดายดอกเบี้ยเดือนละหมื่นกว่าบาท มาถึงตรงนี้กลับต้องนอนก่ายหน้าผากกังวลกับเงินสดที่กำลังจะหมดลงในอีกหนึ่งปีข้างหน้า บีบให้ต้องเครียดกับการหางานใหม่มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว


สรุปก็คือ...


บางทีท่านอาจรู้สึกผิดหวังที่ผมไม่มีข้อสรุปแบบฟันธงให้ แต่ขอยืนยันว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

ท่านเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าตนเองมีความสามารถด้านใด มีความรอบคอบเพียงใด อยู่ในสถานการณ์ที่คับขันแค่ไหน และที่สำคัญ มันเป็นชีวิตของท่าน ดังนั้น ท่านย่อมต้องรู้ดีที่สุด อย่างที่ผมไม่อาจเทียบได้ อย่างไรก็ตาม ผมขอเอาใจช่วยให้ทุกท่านผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไป

ส่วนท่านที่ไม่ต้องเจอประสบการณ์แบบนี้ ผมก็ขอยินดีด้วยครับ