วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

กับดักกองทุนรวม


เป็นธรรมดาของผู้เลือกซื้อกองทุนรวมที่จะมองหากองทุนที่มีประวัติผลตอบแทนดีเยี่ยม แต่เรา ๆ ท่าน ๆ เคยคิดกันบ้างไหมว่า ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมนั้นมีอะไรอยู่เบื้องหลัง?

สมมติมีกองทุนรวมให้ท่านเลือกอยู่ 2 กอง ซึ่งมีผลตอบแทนย้อนหลัง ดังนี้


ผมค่อนข้างแน่ใจว่าหากมีเพียงข้อมูลข้างต้น คนจำนวนมากจะจิ้มกองทุน A เพราะเชื่อว่าให้ผลตอบแทนเหนือกว่ากองทุน B ชัดเจน ไม่ว่าจะมองย้อนไป 1 ปี, 3 ปี หรือ 5 ปี ซึ่งดูไปแล้วกองทุน B น่าจะไม่เคยชนะกองทุน A ได้เลย สรุปก็คือ ถ้าดูในมิติของผลตอบแทนย้อนหลัง กองทุน A ถือว่าชนะขาดแบบไม่ต้องเสียเวลาคิด

อย่างไรก็ตาม ผมอยากชี้ให้เห็นกับดักอันหนึ่งของการเลือกซื้อกองทุนรวมจากผลตอบแทนย้อนหลัง เพราะตัวเลขที่สูง "ทุกช่อง" ก็ไม่ได้แปลว่า ผลตอบแทนจะเหนือกว่า "ทุกปี" แบบไม่มีอะไรให้คิดเหมือนกัน

หากหน่วยลงทุนของกองทุนทั้งสองเริ่มต้นที่ 10 บาทเท่า ๆ กัน เมื่อห้าปีที่แล้ว ผลตอบแทนแบบทบต้นย้อนหลังห้าปีที่ 6% ต่อปีหมายความว่า ปัจจุบันมูลค่าหน่วยลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 13.38 บาท เท่ากันทั้งสองกองทุน (10 * 1.06^5 = 13.38) แต่รายละเอียดที่แตกต่างกันจะไปอยู่ตรงระหว่างทาง

กองทุน A มีผลตอบแทนปีล่าสุดสูงถึง 23.6% แต่ถ้าเราคิดย้อนกลับจากจุดนี้ มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุน A เมื่อหนึ่งปีที่แล้วจะอยู่ที่ 10.83 บาท (13.38 / 1.236 = 10.83) และนั่นก็แปลว่า กองทุนทำผลตอบแทนแบบทบต้นได้เพียง 2% ต่อปี ตลอด 4 ปีแรก (เพราะว่า (10.83/10)^(1/4) = 1.02)

กระบวนการคิดแบบย้อนกลับสามารถทำให้เราถอดตัวเลขและ "เห็นภาพ" ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นระหว่างทางดังตารางด้านล่าง สำหรับบางปีนั้น ผมจำเป็นต้องแสดงตัวเลข เฉลี่ยต่อปี ของช่วงเวลา (เช่น ปีที่ 1 ควบปีที่ 2) เนื่องจากเราไม่สามารถระบุตัวเลขรายปีได้ทั้งหมด รู้แต่เพียงว่าในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น ในปีที่ 1 และ 2 กองทุน A ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 2% ต่อปี


ท่านคงสังเกตได้ว่า กองทุน A ที่ดูเหมือนจะมีผลตอบแทนโดดเด่นในตารางแรก แท้จริงแล้วกลับ "ด้อยกว่า" กองทุน B มาตลอด 4 ปี แต่เพิ่งจะมาพุ่งพรวดราวกับโด๊ปยาแค่ในปีล่าสุดปีเดียว และถ้าเอามือปิดคอลัมน์ขวาสุด พิจารณาเพียงแค่ 4 ปีแรก ผมเชื่อว่าคงมีหลายท่านอยากเปลี่ยนใจมาซื้อกองทุน B แทนเป็นแน่

ประเด็นเรื่อง ผลตอบแทนพุ่งพรวด นั้นเป็นเรื่องที่ฟันธงได้ยาก บางทีอาจเป็นเพราะกองทุนไปซื้อหุ้นแรง ๆ และเจอ "แจ็กพ็อต" เข้าพอดี ซึ่งอาจเป็นเรื่องดวงมากกว่าฝีมือ หรืออาจมีผู้จัดการกองทุนคนใหม่ที่เก่งกาจเข้ามาบริหารในช่วงปีหลังสุดก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม โดยหลักทั่วไปแล้วนักลงทุนควรพยายามหากองทุนที่มีผลตอบแทนดีคงเส้นคงวา มากกว่าที่จะดีเลิศในบางปีแล้วก็แย่ในอีกหลาย ๆ ปี

แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ถ้าไม่ระวังให้ดี พอเห็นตัวเลข สามัญสำนึกก็หลอกเราได้เหมือนกัน

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ตลาดหุ้นเมื่อสิ้นรัชกาล


ประเทศของเราว่างเว้นจากการผลัดแผ่นดินมายาวนาน นับตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์ ก่อนที่จะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอีก ๔ ปีต่อมา คือ ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นรัชกาลจึงมีความสำคัญควรค่าแก่การบันทึกไว้ 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ข่าวการประชวรของ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของคนไทยทั้งประเทศ และแน่นอนว่ารวมถึงตลาดหุ้นด้วย บางวันที่ตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด ผู้คนก็มักเล่าลือกันว่าเป็นเพราะ “ข่าวอัปมงคล” ที่มีผู้เจตนาปล่อยออกมาทุบตลาด เรื่องนี้เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในอดีต แต่ก็ไม่เคยจับตัวการที่ปล่อยข่าวได้ ตราบจนกระทั่งคำแถลงที่ไม่มีใครอยากฟังปรากฏขึ้นบนจอโทรทัศน์ เมื่อเวลา ๑๙.๐๐ น. ของวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙


ช่วงเวลาบีบหัวใจ



ประกาศสำนักพระราชวังหลายฉบับที่ออกมารายงานเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างต่อเนื่องทำให้ประชาชนไทยใจคอไม่สู้ดี หลายคนสวดมนต์อยู่กับบ้านเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ขณะที่บางคนก็ไปเฝ้าติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช

ในเวลาเดียวกันข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์ (Line) และเฟซบุ๊ก (Facebook) ก็มีข่าวลือ ออกมามากมาย ทั้งยังมีการบอกต่อให้พสกนิกรช่วยกันสวดมนต์ถวายในหลวง และมีบทสวดให้ด้วยเสร็จสรรพ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคง “ปราม” ไม่ให้ประชาชนเชื่อถือข่าวลือต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วน และให้รับฟังข่าวสารจากรัฐบาลผ่านทางสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ เป็นสำคัญ 

ำหรับตลาดหุ้นนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะนับจากวันจันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ ทันทีที่ตลาดหุ้นเปิดมาก็ร่วงลงไป ๕๑ จุด หรือลดลง ๓.๔ เปอร์เซ็นต์จากวันทำการก่อนหน้า ซึ่งถือว่ามากโขอยู่ แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับอีกสองวันต่อมา คือ วันพุธที่ ๑๒ ตุลาคม เมื่อตลาดหุ้นทรุดลงไปทำจุดต่ำสุดติดลบ ๙๙ จุด หรือลดลงถึง ๖.๘ เปอร์เซ็นต์ในช่วงระหว่างวัน


คืนที่น่าหวาดผวา



ในคืนวันพุธที่ ๑๒ ตุลาคม หลังจากได้ยินข่าวว่าพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน มีพระราชบัญชาให้จัดการสวดมนต์ตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อถวายพระพรแด่ในหลวงของเราให้ทรงหายจากพระอาการประชวร ข้าพเจ้าก็ประมวลข่าวสารจากทุกด้าน และเริ่มรู้สึกว่าสถานการณ์ล่าสุดคงจะน่าเป็นห่วงมากกว่าที่ข้าพเจ้าพยายามคิด

คืนนั้นข้าพเจ้าเข้านอนด้วยความวิตก แม้จะรวมรวมสมาธิสวดมนต์ถวายแด่ในหลวง แต่พอล้มตัวลงนอนก็นึกหวั่นขึ้นมาอยู่ดีว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าและคนไทยทั้งมวลพยายามทำ จะส่งผลมากพอให้พวกเราผ่านพ้นค่ำคืนนี้ไปได้อย่างปกติสุขหรือไม่


วันที่กลายเป็นประวัติศาสตร์



เช้าวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม ตลาดหุ้นเปิดทิ้งดิ่งลงมาทันที ๑๙ จุด ซึ่งแม้จะมากพอสมควร แต่ก็ดูเหมือนจะเป็น “ปกติ” สำหรับภาวะที่ไม่ปกติอย่างช่วงเวลานั้น และต่อมาดัชนีหุ้นก็ลงไปทำจุดต่ำสุดติดลบ ๔๖ จุดในช่วงแรกของการซื้อขายภาคบ่าย

จุดพลิกผันอยู่ที่เวลา ๑๕.๔๖ น. เมื่อมีแรงซื้อพุ่งโถมเข้ามาราว ๔,๓๐๐ ล้านบาท ภายในเวลา ๕ นาที ถือเป็นปริมาณการซื้อขายที่มากขึ้นเป็นสองเท่า เมื่อเทียบกับช่วง ๕ นาทีก่อนหน้านั้น ส่งผลให้ดัชนี SET พุ่งขึ้นทันที ๑๑ จุด ก่อนที่ช่วงเวลาที่เหลือตลอดบ่ายจะเป็นการไล่กวาดกว้านซื้อหุ้นกันอย่างไม่คิดชีวิต สรุปแล้วดัชนีดีดตัวขึ้นถึง ๕๖ จุด หรือ ๔.๑ เปอร์เซ็นต์จากจุดต่ำสุด ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง

หลังจากตลาดหุ้นปิดไม่นานก็มีข่าวลือแพร่ออกมาว่ารัฐบาลจะมีการแถลงข่าวในคืนนี้ ข้าพเจ้ายอมรับตามตรงว่าไม่อยากให้มีการแถลงข่าวอะไรเลย เพราะหวั่นใจว่าจะเป็นข่าวร้าย แม้สัญญาณที่ส่งออกมาจาก สำนักข่าวตลาดหุ้น ดูแล้วเหมือนน่าจะเป็นข่าวดีอะไรสักอย่าง (เนื่องจากในแวดวงการลงทุนเป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า หุ้นจะตกเมื่อมีข่าวร้าย และหุ้นจะขึ้นเมื่อมีข่าวดี) เพียงแต่นึกไม่ออกว่าข่าวดีจะมาในรูปแบบไหน
ข้าพเจ้าผละจากหน้าจอหุ้นและออกไปสังเกตการณ์รอบ ๆ บริเวณบ้าน ด้วยเคยได้ยินมาว่า แต่โบราณเมื่อมีเหตุแก่บ้านเมือง เช่น การสูญเสียเจ้านายชั้นสูง มักปรากฏอาเพศหรือลางบอกเหตุ ทว่าเย็นวันนั้นข้าพเจ้ามองออกไปก็ไม่เห็นเมฆหม่น ฝนพรำ ท้องฟ้าแปรปรวน หรือลมกระโชกใด ๆ ซึ่งที่จริงคงต้องบอกว่าไม่รู้สึกว่ามีลมพัดเลยเสียด้วยซ้ำ ในละแวกบ้านมีแต่ท้องฟ้าที่เป็นสีฟ้าใสและสงบนิ่งอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ก้อนเมฆใหญ่น้อยแม้แต่ก้อนเดียวก็ไม่ปรากฏ หากไม่นับความรู้สึกหวาดหวั่นที่อยู่ในใจ ท้องฟ้าวันนั้นน่าจะนับว่าสวยงามอย่างที่หาได้ยากยิ่ง

เมื่อถึงเวลา ๑๙.๐๐ น. รายการโทรทัศน์ตัดเข้าสู่แถลงการณ์ ตัวหนังสือแรก ๆ ที่ปรากฏบนจอทำให้ความหวังของข้าพเจ้าและคนไทยทั้งปวงดับสิ้นลง

“เสด็จสวรรคต”


เหตุบังเอิญ?



คืนวันนั้นตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นช่วงหัวค่ำที่ข้าพเจ้ารู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่เย็นเยียบ ท้องฟ้ามีพระจันทร์ลอยเด่น แต่ไร้ดวงดาว ซึ่งก็นับว่าพิกลอยู่ เพราะตลอดเย็นวันนั้นลมสงบจนน่าจะเรียกได้ว่าไม่มีลมพัดเสียเลย หากก้อนเมฆจะแห่แหนลอยเข้ามาปกคลุมท้องฟ้าจนมิดได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก็ควรเป็นเรื่องเหลือเชื่อและผิดหลักวิทยาศาสตร์ อีกทั้งพระจันทร์ก็ไม่น่าจะสุกสว่างดังที่ข้าพเจ้าเห็นด้วย

ในละแวกบ้านของข้าพเจ้า สุนัขทั้งหลายต่างปิดปากเงียบไม่มีเสียงเห่ากันอย่างที่เคย ราวกับว่าพวกมันได้อพยพย้ายที่อยู่กันไปเสียหมด เสียงแมวที่ปกติจะมาป้วนเปี้ยนร้องหง่าว ๆ เป็นประจำ คางคกและกบที่เคยกระโดดกันสวบสาบ รวมถึงแมลงที่เคยส่งเสียงร้องกันในเวลากลางคืนก็พากันหายไปอย่างน่าประหลาดด้วยเหมือนกัน นี่อาจไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ แต่ก็ช่างสอดคล้องอย่างพอเหมาะพอเจาะกับจิตใจอันห่อเหี่ยวของพสกนิกรไทยในห้วงเวลานั้น

ครั้นถึงรุ่งเช้าเมื่อตื่นขึ้นมาข้าพเจ้าก็ไม่ได้ยินเสียงนกร้องแม้สักตัว ทั้งที่โดยปกติแล้วพวกนกกระจอกจะชอบมาจิกเคาะอยู่ที่หน้าต่างห้องนอนและห้องน้ำของข้าพเจ้าอยู่ไม่เว้นวาย จนอดคิดไม่ได้ว่าความเศร้าสร้อยของมนุษย์เป็นหมู่ใหญ่คงจะถ่ายโอนไปสู่สัตว์ต่าง ๆ ได้ด้วยกระมัง กระทั่งช่วงสายของวันนั้นในอินเทอร์เน็ตก็มีข่าวว่ามีผู้พบปรากฏการณ์ หมอกธุมเกตุ ปกคลุมพระนคร ซึ่งตามตำราอธิบายว่ามักจะเกิดขึ้นในเวลาที่มีเหตุใหญ่ ๆ เช่น การสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดิน และเรื่องราวเช่นนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ดังเหตุการณ์ที่มีการบันทึกไว้เมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต 

ม้จะยืนยันไม่ได้ว่าหมอกธุมเกตุเกิดขึ้นในละแวกบ้านข้าพเจ้าด้วยหรือไม่ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ได้ออกไปสังเกตการณ์ในที่สูงหรือตรวจสอบทัศนวิสัยในระยะไกล แต่ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง มันก็น่าจะอธิบายปรากฏการณ์ประหลาดที่ทำให้สรรพสัตว์เงียบงัน หรือทำให้ท้องฟ้าไร้เมฆไร้ดาวได้

ความจริงแล้วปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์อื่น ๆ ยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นหมู่เมฆที่ไปรวมตัวกันบริเวณฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร (และน่าจะเป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งในละแวกบ้านของข้าพเจ้า) ทั้งยังมีแสงอาทิตย์สาดส่องจำเพาะลงมาเหนือโรงพยาบาลศิริราช ปรากฏการณ์พระจันทร์ทรงกลด มีฝูงนกบินวนรอบพระบรมมหาราชวัง หรือมีก้อนเมฆปรากฏเป็นรูปของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์เหล่านี้ข้าพเจ้าไม่ได้พบเห็นด้วยตนเอง เพียงแต่ทราบจากหนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ


ความวิปริตของตลาดหุ้น



ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ตลาดหุ้นในบ่ายวันที่ ๑๓ ตุลาคม มีการไล่ซื้อหุ้นกันอย่างผิดปกตินับตั้งแต่เวลา ๑๕.๔๖ น. ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับประกาศสำนักพระราชวังที่ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต เมื่อเวลา ๑๕ นาฬิกา ๕๒ นาที ก็ต้องถือว่าใกล้เคียงกันอย่างมาก ประกอบกับปริมาณการซื้อขายที่โถมเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเวลา ๑๕.๕๓ น. คิดเป็นเม็ดเงินกว่า ๓,๒๐๐ ล้านบาท ผลักดันให้ดัชนีพุ่งขึ้น “อีก ๑๑ จุด” ในช่วงเวลาเพียง ๓ นาที ทั้งหมดนี้ยากที่จะเป็นเรื่องบังเอิญ



เหตุการณ์นี้ทำให้หลายท่านสงสัยว่า มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในตลาดหุ้นที่มีแหล่งข่าว “วงใน” ที่รวดเร็วราวกับสายฟ้าแลบ และพร้อมที่จะตอบสนองต่อข่าวตามที่พวกเขามีมุมมองหรือไม่

นอกจากนั้นแล้วเมื่อพิจารณาจากตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งปิดทำการหลังตลาดหุ้นราว ๆ ๑๕ นาที สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้น (SET50 Index Futures) ก็ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง ๑๖-๑๗ จุด (ของดัชนี SET50) แม้ภายหลังตลาดหุ้นปิด สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุน มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ว่าดัชนีหุ้นจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อในวันรุ่งขึ้น

ในวันทำการถัดมา คือ วันศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม ดัชนี SET พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงถึง ๔๙ จุด ทันทีที่เปิดตลาด ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบตลอดทั้งวันและปิดไปบวก ๖๕ จุด หรือบวก ๔.๖ เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางความฉงนสนเท่ห์ของนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก


ผิดคาด-ตามคาด



เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนความรู้สึกของพสกนิกรไทย ข้าพเจ้าขอเรียกการตอบสนองของตลาดหุ้นภายหลังเหตุการณ์นี้ว่า ตอบสนองโดยปรับตัวสูงขึ้น แทนที่จะเรียกว่า ตอบสนองในทางบวก (แม้ดัชนีหุ้นจะปรับตัว “บวก” หรือเพิ่มขึ้นจริง ๆ ก็ตาม) เนื่องจากการบวกในเชิงตัวเลขกับการบวกในแง่ของการตีความนั้นอาจไม่ตรงกันเสมอไป และโดยแท้จริงแล้วความสูญเสียอันยิ่งใหญ่นี้ก็ไม่มีทางจะเป็นไปในทางบวกใด ๆ ได้เลย

การที่ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นภายหลังรับรู้ข่าวการเสด็จสวรรคต นับว่าขัดแย้งกับความรู้สึกและความคาดหวังของนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก เพราะพวกเขาเชื่อว่าประเทศไทยหลังจากสิ้นรัชกาลที่ ๙ น่าจะมีพื้นฐานอ่อนแอลง อย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว สิ่งที่ควรสะท้อนออกมาในตลาดหุ้นจึงน่าจะเป็นการที่หุ้นตกหนักเสียยิ่งกว่าตอนที่เพียงแค่มีข่าวพระอาการประชวร ครั้นเมื่อเหตุการณ์กลับตรงกันข้าม พวกเขาจึงรู้สึกประหลาดใจเหลือประมาณ ต่างจากนักลงทุนสถาบัน เช่น ผู้จัดการกองทุน หรือผู้บริหารเงินทุนของสถาบันการเงินต่าง ๆ

ในสถานการณ์ทั่วไป หุ้นจะตกเมื่อมีข่าวร้าย และหุ้นจะขึ้นเมื่อมีข่าวดี ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนไม่น้อยเกิดความขุ่นเคือง เมื่อเห็นหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงตามหลังการสูญเสียที่ใหญ่หลวง ดังความคิดเห็นที่ปรากฏตามเว็บบอร์ดหลายแห่ง ขณะที่บางท่านบอกว่ายอมรับได้หากหุ้นจะขึ้น แต่ไม่น่าจะเป็นการปรับตัวขึ้นอย่างเอิกเกริก ราวกับไม่มีหัวจิตหัวใจในห้วงเวลาเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนรายย่อยบางท่านเหมือนกันที่เข้ามาเยาะหยันและกล่าวหาว่านักลงทุนที่แสดงความผิดหวังเหล่านี้เป็นพวกขี้แพ้ ขายหุ้นขาดทุนไม่รู้จักเรียนรู้แล้วออกมาโวยวาย


ผู้ถูกกล่าวหา



เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้นักลงทุนสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมหรือกองทุนอื่น ๆ ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำให้หุ้นตก หลายท่านที่ใช้คำพูดรุนแรงอาจจะบอกว่า นี่เป็นเจตนา “ทุบหุ้น” โดยอาศัยข่าวอันไม่บังควร ก่อนที่จะรอช้อนซื้อกลับไปที่ราคาต่ำสุด

ข้อหาดังกล่าวนับว่าร้ายแรง และยากที่นักลงทุนสถาบันเหล่านั้นจะสามารถตอบโต้ได้อย่างถนัดถนี่ เนื่องจากผู้บริหารกองทุนแต่ละแห่งย่อมรู้เพียงพฤติกรรมของกองทุนเท่าที่ตนเองดูแลอยู่ ทำให้ไม่สามารถออกตัวหรืออธิบายแทนกองทุนอื่น ๆ ได้โดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ผู้ที่กระทำการทุบหุ้นจริง (สมมติว่ามี) ก็คงจะไม่ออกมาพูดความจริงให้ถูกลงโทษกัน ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่าน่าจะเป็นการดีหากเราจะศึกษาดูว่า พฤติกรรมการซื้อขายหุ้นที่ผ่านมาของนักลงทุนสถาบันเป็นอย่างไร และเราจะเรียนรู้อะไรได้จากเรื่องนี้

ย้อนกลับไปประมาณวันที่ ๑๑ - ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ตลาดหุ้นเคยดิ่งลงอย่างรุนแรงในลักษณะเดียวกันนี้ และในครั้งนั้นก็มีผู้กล่าวหาว่ามีการทุบหุ้นเกิดขึ้นเช่นกัน



สังเกตว่าปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยในตลาดหุ้นช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้าอยู่ที่ประมาณ ๕ - ๖ หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่ปริมาณการซื้อขายกลับพุ่งขึ้นมาเป็น ๘.๒ หมื่นล้านบาท และ ๑.๐๓ แสนล้านบาท ในวันที่ ๑๑ และ ๑๕ ธันวาคม ตามลำดับ ทั้งสองวันนั้นเป็นวันที่ตลาดหุ้นทรุดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวันที่ ๑๕ ธันวาคม ดัชนี SET ลงไปทำจุดต่ำสุดติดลบ ๑๓๙ จุด หรือลดลงถึง ๙.๒ เปอร์เซ็นต์ในระหว่างวัน

หากพิจารณาปริมาณการซื้อขายของสถาบันภายในประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวก็จะพบว่า นักลงทุน “กลุ่มเดียว” ที่ซื้อสุทธิตลอดสามวัน ได้แก่ นักลงทุนทั่วไปในประเทศ (หรือที่เรียกกันว่า นักลงทุนรายย่อย นั่นเอง) ส่วนนักลงทุนอีกสามกลุ่มล้วนขายสุทธิ มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป



จากข้อมูลนี้ข้าพเจ้ามีข้อสังเกตสำหรับข้อมูลปริมาณการซื้อขายของวันที่ ๑๑ และ ๑๕ ธันวาคม กล่าวคือ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ มียอดขายสุทธิค่อนข้างใกล้เคียงกัน (ประมาณ ๒ พันล้านบาทเศษทั้งสองวัน) และมีปริมาณธุรกรรมรวมทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขายคิดเป็นเงินราว ๆ ๑.๗ – ๑.๙ หมื่นล้านบาท ส่วน นักลงทุนต่างประเทศ มียอดขายสุทธิต่างกันอยู่บ้าง (๓.๔ พันล้านบาท เทียบกับ ๔.๒ พันล้านบาท) แต่ปริมาณธุรกรรมรวมของทั้งสองวันก็ยังคงอยู่ที่ ๓.๔ – ๓.๕ หมื่นล้านบาท

ในขณะเดียวกันนั้น นักลงทุนสถาบันในประเทศ แม้จะขายสุทธิลดลงจาก ๓.๑ พันล้านบาท เหลือ ๘ ร้อยล้านบาทเศษ ทว่ายอดธุรกรรมรวมกลับเพิ่มสูงขึ้นจาก ๑.๕ หมื่นล้านบาท กลายเป็น ๒.๑ หมื่นล้านบาท เมื่อพิจารณารูปแบบราคา หรือ price pattern ของดัชนี SET ซึ่งมีลักษณะหางยาว คือ ดิ่งลงแรงและดีดกลับแรง ก็อาจอนุมานได้ว่า นักลงทุนที่มีพฤติกรรมเทขายอย่างตื่นตระหนกและไล่ซื้อกลับอย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบันนี่เอง อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการอนุมานจากข้อมูลเท่าที่มีและไม่สามารถยืนยันรายละเอียดข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่มีข้อมูลปริมาณการซื้อขายในระหว่างวันที่แยกตามกลุ่มนักลงทุน


จากอดีตถึงปัจจุบัน



เมื่อกลับมาดูตลาดหุ้นในช่วงสิ้นรัชกาลที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ จะพบว่ามีการเทขายหุ้นอย่างหนักตั้งแต่ต้นสัปดาห์ (วงกลมหมายเลข ๑๐) แต่ดัชนี SET ลงไปทำจุดต่ำสุดในวันพุธกลางสัปดาห์พร้อมกับปริมาณการซื้อขาย ๑.๓ แสนล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ๔๑ ปีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนที่จะหุ้นจะดีดกลับอย่างรุนแรงในวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ (วงกลมหมายเลข ๑๔)



จากข้อมูลปริมาณการซื้อขายแยกตามกลุ่มนักลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่า ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ดัชนีหุ้นดิ่งลงแรงในทันทีที่เปิดตลาด และแม้จะสามารถดีดกลับขึ้นไปได้มากในระหว่างวัน แต่ที่สุดแล้วก็ยังคงติดลบถึง ๔๗ จุด โดยมี นักลงทุนสถาบันในประเทศ เป็นผู้ขายสุทธิ ๗.๓ พันล้านบาท จึงพออนุมานได้ว่าแรงขายที่มีตลอดทั้งวันน่าจะมาจากนักลงทุนกลุ่มนี้

ต่อมาในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ตลาดหุ้นสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มากในช่วงเปิดตลาด แต่ก็ต้องเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งติดลบไปเกือบ ๑๕ จุด ณ สิ้นวัน ซึ่งนักลงทุนสถาบันในประเทศก็ยังคงขายสุทธิ ๓.๓ พันล้านบาท และถือเป็นแรงขายที่สำคัญของวันนั้น แม้ว่าจะมีบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างประเทศร่วมขายสุทธิด้วยส่วนหนึ่งก็ตาม ส่วนวันพุธที่ ๑๒ ตุลาคม ตลาดหุ้นได้แสดงพฤติกรรม เปิดลบ-ดิ่งแรง-ฟื้นเร็ว คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ โดยมีบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นแรงขายที่สำคัญของวัน



ข้อสังเกตอันหนึ่งตามมุมมองของข้าพเจ้า คือ ในวันที่ตลาดทรุดลงอย่างหนัก ดังเช่นที่เกิดขึ้นในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ และ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ มักปรากฏว่านักลงทุนสถาบันในประเทศขายหุ้นออกมาในปริมาณมาก แต่แล้วเมื่อเห็นว่าไม่มีอะไร พวกเขาก็ซื้อหุ้นกลับไปในปริมาณมากเช่นเดียวกัน ทำให้ยอดขายสุทธิ ณ สิ้นวันไม่ได้มโหฬารเท่ากับที่ขายออกมาในทีแรก

ครั้นถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม ตลาดหุ้นเปิดมาในแดนลบและทรุดลงต่อ จวบจนกระทั่งเวลา ๑๕.๔๖ น. ที่มีแรงซื้อโถมเข้ามาดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้คาดได้ว่ามีนักลงทุนจำนวนหนึ่งเร่งรีบซื้อกลับอย่างรวดเร็ว และผลักดันให้ดัชนีหุ้นที่กำลังติดลบกว่า ๔๐ จุด ปรับตัวขึ้นมาปิดบวก ๖ จุดเศษ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลปริมาณการซื้อขายแยกตามกลุ่มนักลงทุน แรงซื้อดังกล่าวก็ไม่น่าจะเป็นใครไปได้นอกจาก นักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่มียอดซื้อสุทธิถึง ๙.๗ พันล้านบาท ในขณะที่บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (ที่เคยร่วมกันเป็นแรงขายสำคัญในวันก่อนหน้า) ยังคงขายสุทธิถึง ๒.๕ พันล้านบาทอยู่

ในวันทำการถัดมา ศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม ระหว่างที่ประชาชนไทยโดยทั่วไปยังอยู่ในความโศกเศร้า ตลาดหุ้นเปิดทำการด้วยการพุ่งขึ้น ๔๙ จุด และยังคงไต่ระดับต่อเนื่องจนกระทั่งปิดตลาดไปบวก ๖๕ จุด โดยมีนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิถึง ๑.๓๕ หมื่นล้านบาท


ใครทำอะไร



กล่าวได้ว่าตลอดห้าวันทำการในสัปดาห์นั้น นักลงทุนสถาบันในประเทศ เป็นแรงซื้อและแรงขายสำคัญที่กำหนดทิศทางของดัชนี SET โดยเป็นผู้ขายสุทธิในวันที่หุ้นลงแรง และเป็นผู้ซื้อสุทธิในวันที่หุ้นขึ้นแรงหรือมีการดีดกลับรุนแรง ส่วนนักลงทุนรายย่อยนั้นกลับกัน เพราะเป็นผู้ซื้อสุทธิในวันที่หุ้นลงแรง และเป็นผู้ขายสุทธิในวันที่หุ้นขึ้นแรง

คงจะไม่ผิดหากจะกล่าวว่า นักลงทุนรายย่อยเป็นผู้โอบอุ้มตลาดไม่ให้ผันผวนรุนแรงไปกว่าที่มันเป็น ขณะที่นักลงทุนสถาบันกลับกลายเป็นผู้ที่สร้างความผันผวนนั้นขึ้นมา อย่างน้อยก็ใน ๕ วันทำการที่กล่าวมานี้ ส่วนนักลงทุนอีกสองกลุ่มก็มีการเก็งกำไรอย่างมากเช่นกัน แต่ไม่ได้ส่งผลชัดเจนในช่วงเวลาที่ยกมา

สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้นักลงทุนสถาบันตกเป็นจำเลยสังคมในข้อหาพยายาม “ทุบ” และ “ลาก” หุ้นอย่างไม่มีกาลเทศะ แม้จะมีผู้บริหารกองทุนรวมออกมาชี้แจง แต่ก็ไม่สามารถขจัดข้อสงสัยได้อย่างสิ้นเชิง



ความตั้งใจที่จะเทขายและไล่ซื้อหุ้นกลับคืนดูค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นในวงกว้างหรือเกิดจากนักลงทุนสถาบันเพียงไม่กี่ราย รวมถึงเจตจำนงที่อาจเป็นไปได้ทั้งการบริหารเงินลงทุนโดยสุจริต หรืออาจเป็นความพยายามที่จะทุบและลากหุ้น เพื่อตักตวงผลประโยชน์จริง ๆ ก็เป็นได้

ในฐานะที่ข้าพเจ้าอยู่ในตลาดหุ้นเป็นเวลายาวนานพอสมควร ข้าพเจ้าไม่คาดหวังว่าผู้คนในตลาดหุ้นจะมีความสำรวมหรือมีกาลเทศะ ยอมละเว้นจากการทำกำไรเมื่อเห็นโอกาสอยู่ตรงหน้า ดังนั้น ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวโทษบรรดาผู้จัดการกองทุนหรือนักลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กับความพยายามที่จะแสวงหาประโยชน์จากข่าวสารในช่วงเวลาสิ้นรัชกาล แม้ตัวข้าพเจ้าเองจะมีความเชื่ออยู่ลึก ๆ ว่า นี่เป็นสิ่งที่คนดีดีเขาไม่กระทำกัน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะทุบหรือลากหุ้นนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะนี่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและผิดจรรยาบรรณอย่างชัดเจน ไม่เกี่ยวข้องกับกาลเทศะหรือมโนสำนึก หากผู้ใดมองพฤติกรรมทุบและลากหุ้นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็เท่ากับยอมรับความเลวให้ถือเป็นปกติของสังคม ซึ่งนับว่าเป็นอันตราย


มุมมองที่ต้องเปลี่ยนแปลง



สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าเล็งเห็นในห้วงเวลาที่ผ่านมา คือ แท้จริงแล้วนักลงทุนสถาบัน ไม่ใช่ กลุ่มนักลงทุนที่มีความหนักแน่นและช่วยบรรเทาความผันผวนของตลาดหุ้นไทย ดังที่เคยกล่าวอ้างกันเมื่อครั้งริเริ่มจัดตั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ Long Term Equity Fund (LTF) 

หลายปีก่อนหน้านี้ภาครัฐมีความคิดว่า ตลาดหุ้นไทยมี นักลงทุนต่างชาติ เป็นผู้ชี้นำ ส่วนนักลงทุนรายย่อยก็เป็นพวกที่ไหลไปตามเม็ดเงินต่างชาติ แม้จะมีสัดส่วนการซื้อขายมาก แต่ก็เน้นการเก็งกำไรระยะสั้น ไม่มีทิศทางที่แน่นอน ตลาดหุ้นไทยจึงขาดเสถียรภาพ ทำให้ภาครัฐพยายามส่งเสริมบทบาทของนักลงทุนสถาบัน รวมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปหันมาลงทุนผ่าน “มืออาชีพ” อย่างกองทุนรวมมากขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี นัยว่าเป็นการพัฒนาตลาดทุนไปในตัว

เวลาที่ล่วงเลยไปพิสูจน์ให้เห็นว่านักลงทุนสถาบันเองก็มีการเก็งกำไรอย่างสูง และตลาดหุ้นไทยที่หวังว่าจะมีเสถียรภาพก็กลับไร้เสถียรภาพเสียยิ่งกว่าเก่า นอกจากนี้การที่นักลงทุนสถาบันมีเม็ดเงินอยู่ในมือจำนวนมาก (ซึ่งที่จริงก็เป็นเงินของประชาชนทั่วไป) รวมกับความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่ “เหนือกว่า” นักลงทุนรายย่อยทั่วไป ส่งผลให้ความเสียหายที่ อาจจะ เกิดขึ้นจากนักลงทุนสถาบันเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

การเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกันส่งผลในทางลบต่อการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว บริษัทจำนวนไม่น้อยให้ข้อมูลแก่นักวิเคราะห์ผ่านการให้สัมภาษณ์หรือการจัดประชุมนักวิเคราะห์เป็นการเฉพาะ แม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขที่ฝ่ายบริหารประเมินเอาไว้โดยตรง แต่ก็ทำให้บทวิเคราะห์ต่าง ๆ สามารถคาดการณ์ตัวเลขได้ค่อนข้างแม่นยำ ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยต้องรอจนกว่าบทวิเคราะห์จะเผยแพร่ออกมา หรือบริษัทประกาศผลการดำเนินงานอย่างเป็นทางการผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้บริหารสถาบันการเงินจำนวนมากเป็นผู้กว้างขวางในแวดวงสังคม ซึ่งก็คงไม่น่าแปลกใจหากพวกเขาจะมีเส้นสายหรือช่องทางเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็วกว่าบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม


เดินหน้าต่อไป



ความรู้จากตลาดหุ้นเมื่อสิ้นรัชกาล ควรเป็นแรงผลักดันให้ตลาดทุนไทยเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน เริ่มจากภาครัฐควรทบทวนนโยบายการส่งเสริมบทบาทของนักลงทุนสถาบันผ่านกองทุน LTF เพราะที่ผ่านมาสัดส่วนนักลงทุนสถาบันก็น่าจะเพิ่มขึ้นมามากแล้ว (และที่จริงก็ชัดเจนว่าแนวทางนี้ไม่ได้ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุนไทย) โดยหากรัฐต้องการส่งเสริมการออมของประชาชนต่อไป ก็สามารถเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น ๆ เป็นการทดแทนได้

ประการต่อมา หน่วยงานกำกับตลาดทุนควรปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูล เช่น กำหนดให้มีการเผยแพร่การประชุมนักวิเคราะห์ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้แน่ใจว่านักลงทุนรายย่อยจะได้รับข้อมูลเชิงลึกไม่ช้าไปกว่านักลงทุนสถาบัน

ประการสุดท้าย นักลงทุนทุกคนควรตระหนักถึงกฎหมายและจริยธรรม ไม่ยอมเห็นการกระทำผิดกฎหมายเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนในระดับที่สูงขึ้นไปก็ควรเชิดชูผู้ที่ประกอบกิจการงานด้วยจริยธรรม ยอมมองข้ามผลกำไรสูงสุดเพื่อจรรโลงสังคม จึงจะได้ชื่อว่าปฏิบัติตามรอยเบื้องพระยุคลบาทอย่างแท้จริง


------------------------

หมายเหตุ: ขอขอบคุณข้อมูลราคาหุ้นจาก eFinance และข้อมูลปริมาณการซื้อขายย้อนหลังจากคุณ roadtrip เว็บบอร์ด Pantip.com

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รวมโพสต์แฟนเพจ MonkeyFreeTime





เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย Desocialisation ของ MonkeyFreeTime เราจึงย้ายข้อความต่าง ๆ จากแฟนเพจเฟซบุ๊กมายังบล็อกนี้ โดยเรียงตามลำดับเวลา ทุกท่านจะสามารถเห็นพัฒนาการนับตั้งแต่ก่อตั้งเพจจวบจนกระทั่งถึงโพสต์สุดท้ายในวันที่ 2 สิงหาคม 2559 รวมทั้งสิ้น 831 โพสต์

---------------------------------

ภายหลังวันที่ 2 สิงหาคม 2559 จนถึงสิ้นปี 2559 มีโพสต์เพิ่มเติมอีก 4 โพสต์, ในปี 2560 มีเพิ่มเติมอีก 67 โพสต์, ในปี 2561 มีเพิ่มเติมอีก 77 โพสต์, ในปี 2562 มีเพิ่มเติมอีก 61 โพสต์, ในปี 2563 มีเพิ่มเติมอีก 53 โพสต์, ในปี 2564 มีเพิ่มเติมอีก 49 โพสต์ และในปี 2565 มีเพิ่มเติมอีก 40 โพสต์ รวมเป็นทั้งสิ้น 1,182 โพสต์ จึงปรับปรุงไฟล์เพิ่มเติม


ปี 2555/2012
MonkeyFreeTime 2012/H1
MonkeyFreeTime 2012/H2

ปี 2556/2013
MonkeyFreeTime 2013/Q1
MonkeyFreeTime 2013/Q2
MonkeyFreeTime 2013/Q3
MonkeyFreeTime 2013/Q4

ปี 2557/2014
MonkeyFreeTime 2014/Q1
MonkeyFreeTime 2014/Q2
MonkeyFreeTime 2014/Q3
MonkeyFreeTime 2014/Q4

ปี 2558/2015
MonkeyFreeTime 2015/Q1
MonkeyFreeTime 2015/Q2
MonkeyFreeTime 2015/Q3
MonkeyFreeTime 2015/Q4

ปี 2559/2016
MonkeyFreeTime 2016/Q1
MonkeyFreeTime 2016/Q2
MonkeyFreeTime 2016/Q3-Q4

ปี 2560/2017
MonkeyFreeTime 2017/Q1-Q2
MonkeyFreeTime 2017/Q3-Q4

ปี 2561/2018
MonkeyFreeTime 2018/Q1-Q2
MonkeyFreeTime 2018/Q3
MonkeyFreeTime 2018/Q4

ปี 2562/2019
MonkeyFreeTime 2019/Q1
MonkeyFreeTime 2019/Q2
MonkeyFreeTime 2019/Q3
MonkeyFreeTime 2019/Q4

ปี 2563/2020
MonkeyFreeTime 2020/Q1
MonkeyFreeTime 2020/Q2

ปี 2564/2021

ปี 2565/2022

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

จัดการเงินทองอย่างไร เมื่อต้องออกจากงาน


ตามธรรมดาของผู้มีงานประจำ หากวันใดวันหนึ่งที่ต้อง "ออกจากงาน" แบบไม่เต็มใจ ความรู้สึกใจหายและสับสนย่อมเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่เคยได้เตรียมตัวและไม่มีความรู้เรื่องการเงินมากมายนัก

คำถามหลัก ๆ ที่น่าคิดก็คือ 1) จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร และ 2) จะทำอะไรกับ "เงินก้อนสุดท้าย" ที่ได้ตอนออกจากงานดี ซึ่งผมขอแยกตอบแต่ละประเด็นก็แล้วกันนะครับ


จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร


อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่มี "รายได้ประจำ" แต่ผมแน่ใจว่าคนทุกคนต่างมี "รายจ่ายประจำ" ด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งแรกที่เราควรทำเมื่อต้องออกจากงาน คือ การจัดประเภทรายจ่ายใน 2 มิติ
  1. รายจ่ายประจำ vs รายจ่ายไม่ประจำ
  2. รายจ่ายจำเป็น vs รายจ่ายไม่(ค่อย)จำเป็น
ซึ่งเราจะได้กล่องสี่เหลี่ยมหน้าตาทำนองนี้


จากตัวอย่างสังเกตว่ารายจ่าย "ประจำ และ จำเป็น" เป็นกลุ่มที่ถูกมองข้ามอยู่บ่อย ๆ เพราะคนมักคิดว่าตนเองไม่สามารถทำอะไรกับรายจ่ายพวกนี้ได้ ทั้งที่ความจริงสามารถเจรจากับธนาคารเพื่อยืดเทอมและลดค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือนลงไปในระหว่างที่สถานการณ์กำลังคับขัน หรืออาจเปลี่ยนรถให้เล็กลง เพื่อลดภาระการผ่อนชำระในแต่ละเดือน จะทำให้หายใจได้คล่องคอมากขึ้น

รายจ่ายบางประเภทเป็นแบบ "ประจำ แต่ไม่จำเป็น" เช่น ค่าสังสรรค์กับเพื่อนฝูงทุกสุดสัปดาห์ ซึ่งในภาวะปกติอาจถือว่าสำคัญสำหรับบางท่าน อย่างไรก็ตาม เมื่อเราต้องออกจากงาน รายจ่ายส่วนนี้ควรเป็นตัวแรก ๆ ที่ถูกตัดทิ้งหรือลดทอนลง เพราะ ความบ่อย ของรายจ่ายตัวนี้จะสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ในอีกทางหนึ่ง รายจ่ายที่ "ไม่ประจำ และไม่จำเป็น"  มักเป็นรายการเพื่อความสุขที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวหรือช้อปปิ้งสินค้าราคาแพง ซึ่งทั้งหมดสามารถทดแทนหรือประวิงออกไปได้ โดยไม่ทำให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่ลง ประเด็นสำคัญของรายการพวกนี้ คือ แม้มันจะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ก็มักเป็นจำนวนเงินที่สูงและจูงใจให้ใช้วิธี "ผ่อนชำระ" ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันให้ชีวิตอับเฉาลงไปอีก

สำหรับรายจ่ายประเภท "ไม่ประจำ แต่จำเป็น" เช่น ค่ารักษาพยาบาล แม้จะรับมือได้ยาก แต่เราก็สามารถใช้การวางแผนทางการเงินช่วยได้ โดยแบ่งออกเป็น
  1. ค่ารักษาพยาบาลก้อนใหญ่ - เราสามารถ ถ่ายโอนความเสี่ยง โดยทำประกันโรคร้ายแรงหรือประกันสุขภาพที่สามารถเบิกได้ในกรณีนอนโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้เงินออมของเราร่อยหรอ หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน
  2. ค่ารักษาพยาบาลก้อนเล็ก - เราสามารถ รับความเสี่ยง ด้วยตนเอง (โดยเฉพาะถ้าปกติแล้วท่านมีสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ดีพอสมควร) เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันแพงโดยเปล่าประโยชน์ สำหรับรายจ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ที่จริงแล้วเราพอจ่ายไหว
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ "เกมรับ" (รายจ่าย) แต่ในส่วนของ "เกมรุก" (รายรับ) นั้น บางท่านอาจสมัครงานใหม่ ขณะที่บางท่านอาจริเริ่มทำธุรกิจด้วยเงินของตนเอง ซึ่งนั่นก็จะเข้าสู่เนื้อหาของคำถามข้อที่สอง


จะทำอะไรกับ "เงินก้อนสุดท้าย" ที่ได้ตอนออกจากงานดี


การฝังตัวเองอยู่ในงานประจำมาอย่างยาวนาน ทำให้มนุษย์เงินเดือนเกิดความเบื่อหน่ายและลึก ๆ ก็ไม่อยากทำตามคำสั่งของใคร เมื่อถูกบังคับให้ออกจากงาน จึงถือเป็นช่องว่างที่ทำให้พวกเขานึกถึงการทำธุรกิจส่วนตัวขึ้นมา ทั้งนี้เงินก้อนสุดท้ายที่ได้ตอนออกจากงานสามารถนำมาใช้ก่อร่างสร้างตัวได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง

วิธีใช้เงินก้อนสุดท้ายที่ "แย่ที่สุด" เท่าที่ผมนึกออก (แต่มีคนทำจริง) คือ เอาเงินไปเที่ยวคลายเครียดเติมเต็มฝัน ... บางคนไปไกลถึงยุโรป ตะลอนล่องเรือสำราญ บุกไปถึงขั้วโลกเหนือ พอกลับถึงบ้านหมดไปครึ่งล้าน เครียดหนักกว่าเดิม บางคนเอาเงินไปกินเหล้าเมายา นอกจากเสียเงินแล้วยังเสียสุขภาพอีก

ในจังหวะที่มีเงินเต็มมือ บางท่านอาจมีความคิดอยาก "โปะหนี้บ้าน" แต่มันจะดีจริงหรือไม่?!

นายเอกชัย มีสินทรัพย์อยู่ 8 ล้านบาท (แบ่งเป็นเงินสด 2 ล้านบาท และบ้านมูลค่า 6 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม เขายังคงมีหนี้บ้านค้างอยู่ 5 ล้านบาท จึงเท่ากับว่ามีความมั่งคั่งสุทธิเท่ากับ 8 - 5 = 3 ล้านบาท

สมมติว่าในแต่ละเดือน นายเอกชัยมีค่าใช้จ่ายส่วนตัว 20,000 บาท และมีภาระผ่อนบ้านอีก 30,000 บาท เท่ากับว่านายเอกชัยที่ตกงานจะต้องติดลบทุกเดือน เดือนละ 5 หมื่นบาท ซึ่งก็แปลว่าเงินสด 2 ล้านบาท จะทำให้เขาอยู่รอดได้ 2000000/50000 = 40 เดือน

หากมีอะไรบางอย่างมาดลใจให้นายเอกชัยนำเงิน 1.5 ล้านบาทไปโปะหนี้บ้าน เงินสดของเขาจะลดลงเหลือ 5 แสนบาท แต่ภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนก็จะลดลง ถ้านายเอกชัยสามารถเจรจาลดค่าผ่อนบ้านลงไปตามสัดส่วนหนี้คงเหลือได้ ค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือนก็จะลดลงเหลือ 21,000 บาท
 
เท่ากับว่าหลังจากโปะบ้านแล้ว ในแต่ละเดือนเขาจะติดลบ 41,000 บาท

นี่อาจจะฟังดูดี แต่เงินสดที่เหลืออยู่ 5 แสนบาท จะทำให้เขาอยู่รอดได้สั้นลง คือ 500000/41000 = 12.2 เดือนเท่านั้น!

ท่านอาจรู้สึกประหลาดใจที่การ "โปะบ้าน" แม้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายและค่างวดในแต่ละเดือนลดลง แต่มันก็ส่งผลให้ สภาพคล่อง หดหายไปอย่างน่าตกใจ นายเอกชัยที่เคยนอนก่ายหน้าผากเสียดายดอกเบี้ยเดือนละหมื่นกว่าบาท มาถึงตรงนี้กลับต้องนอนก่ายหน้าผากกังวลกับเงินสดที่กำลังจะหมดลงในอีกหนึ่งปีข้างหน้า บีบให้ต้องเครียดกับการหางานใหม่มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว


สรุปก็คือ...


บางทีท่านอาจรู้สึกผิดหวังที่ผมไม่มีข้อสรุปแบบฟันธงให้ แต่ขอยืนยันว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

ท่านเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าตนเองมีความสามารถด้านใด มีความรอบคอบเพียงใด อยู่ในสถานการณ์ที่คับขันแค่ไหน และที่สำคัญ มันเป็นชีวิตของท่าน ดังนั้น ท่านย่อมต้องรู้ดีที่สุด อย่างที่ผมไม่อาจเทียบได้ อย่างไรก็ตาม ผมขอเอาใจช่วยให้ทุกท่านผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไป

ส่วนท่านที่ไม่ต้องเจอประสบการณ์แบบนี้ ผมก็ขอยินดีด้วยครับ

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เมื่อดอกเบี้ยติดลบ


เรื่องประหลาดในวันนี้อาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาในวันหน้า สิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมันก็จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป

นานมาแล้วดอกเบี้ยเงินฝากในระดับ "สิบเปอร์เซ็นต์" ถือเป็นของธรรมดา ในวันนั้นหากมีใครพูดถึงดอกเบี้ยแถว ๆ ศูนย์เปอร์เซ็นต์ คงจะต้องถูกหัวเราะเยาะในฐานะของพวกหลุดโลก ... แต่แน่ล่ะ นี่ธรรมดามากสำหรับวันนี้

ในมุมของคนไทยทั่วไป เรายังคงหยุดอยู่แถวนี้ (ที่ดอกเบี้ยออมทรัพย์ 0.50%) แต่ในภาพที่ใหญ่ขึ้นไปในระดับโลก ธนาคารกลางของหลาย ๆ ประเทศเริ่มใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ ดอกเบี้ยติดลบ เป็นของแปลกประหลาดในวันนี้ แต่มัน "อาจ" กำลังกลายเป็นของธรรมดาในวันหน้าก็ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าเมื่อใช้แล้วมันได้ผลหรือไม่ หากใช้แล้วดี เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวและกลับมาเติบโต ประเทศอื่นก็จะเลียนแบบต่อ ๆ กันไป

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ผมมองเห็นก็คือ การ "ประเมินมูลค่าหุ้น" ที่เราเรียน ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ เกิดขึ้นในบริบทของอัตราผลตอบแทนยุคเก่า ไม่มีใครรู้ว่ามันยังคงใช้ได้ดีอยู่หรือไม่ หากเราใช้อัตราคิดลด (r) ที่ต่ำมาก ๆ ล้อไปตามอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล

อีกหนึ่งประเด็นหนึ่งที่จะตามมา เมื่ออัตราคิดลดต่ำมาก ๆ ก็คือ ในวันที่อัตราการเติบโตของกระแสเงินสด (g) จากบริษัท มีค่าสูงจนไล่เลี่ยหรือแซงค่า r โมเดลการประเมินมูลค่าหุ้นหลาย ๆ ตัวก็จะใช้การไม่ได้ ปัญหาหนักอยู่ตรงที่ว่า "มันเริ่มใช้การไม่ได้ตอนไหน?"

หรือพูดให้ชัดก็คือ เรา (ในฐานะของ value investor หรือ VI) เริ่มโดนหลอกตอนไหน?

นี่เป็นประเด็นสำคัญของการประเมินมูลค่าหุ้น และเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงพยายามให้ความสำคัญกับการประเมินมูลค่าด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น วิธีอัตราส่วน วิธีคิดลด วิธีประเมินจากสินทรัพย์ ฯลฯ

ในทางทฤษฎี "มูลค่าหุ้น" (สมมติว่าคุณมีปัญญาหามันได้) เป็นค่าค่าเดียว ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะหามันด้วยวิธีใดก็ควรจะได้ตัวเลขเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของข้อมูลและสมมติฐาน เรามักประเมินมันออกมาให้เป็น ช่วง มากกว่าจะฟันธงเป็นตัวเลขเดียว เหมือนอย่างที่กูรูหลาย ๆ ท่านบอกไว้

[ประเด็นนี้อาจเข้าใจมากขึ้น หากอ่านเรื่อง "นักลงทุนขงเบ้ง" ในหนังสือ แต้มต่อในตลาดหุ้น]

กล่าวโดยสรุปก็คือ ในสถานการณ์ที่ดอกเบี้ยถูกกดลงมามาก ๆ เช่นนี้ การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีคิดลด ควรเพิ่มความระมัดระวัง

และส่วนที่น่าหนักใจสำหรับเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า textbook ส่วนใหญ่แม้จะเป็นของต่างประเทศก็ยังไม่ครอบคลุมถึงประเด็นนี้ เพราะส่วนมากเป็นตำราที่ตีพิมพ์มาในยุคก่อน ๆ

วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กับดักงบประมาณ


"งบประมาณ" เป็นสิ่งที่เราควรใส่ใจอยู่เสมอ

เมื่อท่านกำลังตัดสินใจควักเงินซื้อข้าวของบางอย่าง ผู้ขายมักพยายามชักชวนให้ท่านจ่าย "แพงกว่า" งบประมาณที่มีอยู่ เช่น สมมติท่านอยากซื้อเครื่องออกกำลังกายด้วยงบ 2 หมื่นบาท สุดท้ายมักไปจบที่ 3-4 หมื่นบาท หรืออาจจะมากกว่านั้น พร้อมกับเหตุผลดี ๆ ที่ทำให้ท่านละเมิดงบประมาณของตนเอง


เหตุผลดี ๆ


เหตุผลจูงใจที่พบบ่อย คือ เรื่องสุขภาพ โดยพนักงานขายมักชี้ให้ท่านเห็นว่า สุขภาพของเราสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด (โดยเฉพาะเงินทอง) ดังนั้น ท่านควรจ่ายแพงขึ้นอีกหน่อยเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องออกกำลังกาย เครื่องกรองน้ำ เครื่องสำอาง หรือเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ทั้งที่จริงท่านเองก็ไม่แน่ใจว่า สินค้ายี่ห้อหรือรุ่นถัดลงมาที่มีราคาถูกกว่าจะทำร้ายสุขภาพของท่าน หรือมันแค่เพียง "เทพ" น้อยกว่ากันอีกนิด

เหตุผลยอดฮิตอันต่อมา คือ เรื่องความคุ้มค่า พนักงานขายมักไม่ปฏิเสธหากสินค้าของเขามีราคาแพงกว่าคู่แข่งจริง ๆ แต่พวกเขามักหยิบยกความคุ้มค่าในระยะยาวขึ้นมาต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการดูแลรักษาที่ต่ำกว่า ค่าซ่อมแซมที่น้อยกว่า หรือบริการที่รวดเร็วกว่า ซึ่งหลาย ๆ เรื่องก็พิสูจน์ได้ยาก หรือกว่าจะพิสูจน์ได้ (ว่าไม่จริง) ท่านก็จ่ายเงินไปนานโขหรือจนพ้นระยะรับประกันไปเรียบร้อยแล้ว

เหตุผลยอดนิยมอันสุดท้าย (ที่ไม่ถูกหลักสักเท่าไหร่) คือ มันผ่อนได้!! ประเด็นนี้เป็นวิธีคิดที่ไม่ค่อยจะเข้าท่านักในสายตาของผม เพราะแม้การผ่อนจะช่วยให้ท่าน "มีปัญญาจ่ายได้" แต่สุดท้ายเราก็ต้องจ่ายจำนวนเงินทั้งหมดอยู่ดี ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าอย่างไร แถมยังเป็นจำนวนเงินที่เกินไปกว่างบประมาณที่ตั้งเอาไว้แต่แรกด้วย

พูดง่าย ๆ ก็คือ มันทำให้เรา "มีปัญญาจ่ายในสิ่งที่ไม่ควรจ่าย" และที่ไม่ควรจ่ายก็เพราะว่าที่จริงแล้วมันแพงเกินไปสำหรับเรา


หลุดพ้นจากกับดัก


หลายท่านมีสโลแกน "เต็มที่กับชีวิต" หรือ "ชีวิตของเรา ใช้ซะ" ซึ่งผมคงไม่ต่อต้าน เพียงแต่เห็นว่าถ้าคนเรา เต็มที่ กับทุกสิ่งทุกอย่าง (โดยเฉพาะเรื่องเงิน) อนาคตก็คงจะไม่สบายเท่าไหร่นัก อย่าลืมว่าสำหรับคนส่วนใหญ่แล้วเงินเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด และช่วงเวลาของการหาเงินก็มีจำกัดด้วยเช่นกัน บางทีอาจต้องเลือกว่าจะเต็มที่กับอะไรและเมื่อไหร่บ้าง

นั่นคือเหตุผลที่เราควรกำหนดงบประมาณเวลาจะไปซื้อของ โดยเฉพาะของชิ้นใหญ่ พร้อมทั้งมีเทคนิคที่จะผ่านพ้นกับดักต่าง ๆ ด้วย

เทคนิคแรก ได้แก่ การตั้งงบประมาณให้ต่ำกว่างบจริงเล็กน้อย

ตัวอย่างเช่น หากตั้งใจซื้อเครื่องกรองน้ำในราคา 8,000 บาท ลองบอกพนักงานขายว่าท่านมีงบ 6,000 บาท บางทีท่านอาจแปลกใจว่าไป ๆ มา ๆ สุดท้ายหวนกลับไปจบที่ 8,000 บาทได้ยังไงก็ไม่รู้

เทคนิคที่สอง คือ ให้ซื้อในการเลือก "ครั้งที่สอง" เท่านั้น

ความหมายก็คือ ท่านไปดูสินค้าครั้งแรกเพื่อเก็บข้อมูลและเปรียบเทียบ จากนั้นก็กลับไปคิดทบทวน ปรึกษาครอบครัวหรือเพื่อนฝูง แล้วค่อยกลับไปชี้ตัวและจ่ายเงินในการเดินห้างครั้งที่สอง วิธีนี้ทำให้เราสามารถคิดอย่างถ้วนถี่และลดการซื้อตามอารมณ์ไปได้มาก รวมทั้งทำให้อิทธิพลของพนักงานขายลดลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปล่อยให้ยืดเยื้อไปถึงการเดินห้างครั้งที่สาม เพราะการซื้อของท่านจะมีต้นทุนทางเวลาที่สูงเกินไป ควรเอาเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง นอกจากนี้การลังเลมาก ๆ อาจเป็นสัญญาณว่า ที่จริงแล้วท่านอาจไม่จำเป็นต้องซื้อมันเลยก็ได้

เทคนิคที่สาม คือ การคิดเสมือน

การคิดเสมือนในที่นี้คล้ายคลึงกับการวิเคราะห์แบบ "what if" ซึ่งมี 2 ระดับ

ระดับแรกเป็นการคิดว่า ถ้าเราไม่มีหรือไม่ได้ซื้อของชิ้นนี้ ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร การคิดเสมือนในลักษณะนี้เป็นการทำให้เราเห็นโลกในอีกมุมหนึ่ง บ่อยครั้งมันทำให้เราสามารถจำแนกความอยาก (want) กับความจำเป็น (need) ออกจากกันได้

ส่วนระดับที่สองเป็นการคิดว่า ถ้าต้องจ่ายเต็มราคาในวันนี้ (ไม่ผ่อน) ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ถ้ารู้สึกว่าลำบากหรือเริ่มต้องบีบตัวเองมาก ๆ บางทีสินค้านั้นอาจจะแพงเกินไป

เทคนิคสุดท้าย คือ การมุ่งเน้นที่รายจ่ายก้อนใหญ่

สมมติท่านมีรายการข้าวของที่ต้องซื้อ 3-4 อย่างในเวลาไล่เลี่ยกัน และรู้สึกว่าการ "รัดเข็มขัด" กับทุกสิ่งทุกอย่างทำให้ชีวิตแร้นแค้นจนเกินไป ขอให้หันมาใส่ใจเป็นพิเศษกับรายการใหญ่

ตัวอย่างเช่น ท่านกำลังจะซื้อรถเก๋ง เครื่องซักผ้า และหม้อหุงข้าว สังเกตว่ารถเก๋งรุ่น ท็อป กับ รองท็อป มีราคาแตกต่างกันในหลักหมื่น ขณะที่เครื่องซักผ้าอาจจะแตกต่างกันในหลักพัน ส่วนหม้อหุงข้าวอาจแตกต่างกันในหลักร้อย การมุ่งเน้นควบคุมตัวเองเวลาที่เลือกซื้อรถเก๋งน่าจะเป็นความพยายามที่ให้ผลมาก และเมื่อทำได้สำเร็จ ท่านก็จะมีเงินเหลือไปซื้อของอื่น ๆ ที่มีคุณภาพดีขึ้นได้


ใช้เงินอย่างฉลาด


การใช้เงินอย่างฉลาดไม่ได้แปลว่า "ไม่ใช้" หรือ "ใช้ให้น้อยที่สุด" แต่หมายถึงว่า เราจะใช้ในสิ่งที่จำเป็น จ่ายไม่ต้องมากแต่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ และทำให้ยั่งยืนในระยะยาว ไม่ใช่บีบคั้นจนต้องกินอยู่อย่างอนาถา มีเงินเป็นเจ้านาย ขณะเดียวกันก็ไม่ฟุ่มเฟือยกินอยู่เกินฐานะ นี่เป็นเหตุผลที่ควรมีการวางงบประมาณเมื่อจะใช้จ่ายเงิน

แนวคิดทุนนิยมแบบฝรั่งมักเน้นการบริโภค คือ ยิ่งบริโภคมากก็ยิ่งเกิดความพึงพอใจ แต่ที่จริงแล้วผมคิดว่าคนเราบริโภคตามสมควร เหลือเก็บตามสมควร และแบ่งปันตามสมควร ชีวิตน่าจะมีความสุขมากกว่าครับ

วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

Frozen Capital


นักลงทุนรายย่อยจำนวนไม่น้อยมีนิสัยร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ พวกเขาไม่ชอบขายหุ้นที่กำลังขาดทุน

การขายหุ้น "ทำกำไร" ส่งผลให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ขณะที่การขายขาดทุนทำให้คนรู้สึกด้อยค่าและเป็นผู้แพ้ ... อย่างไรก็ตาม นี่คือมุมเดียวในแง่ของจิตวิทยา ซึ่งสอดคล้องกับวลีฮิตของแมงเม่าที่บอกว่า "ไม่ขาย ไม่ขาดทุน" แต่ความจริงแล้วนักลงทุนควรมองในมุมของตัวเงินด้วยว่า พฤติกรรมเช่นนี้จะส่งผลกระทบในระยะยาวอย่างไร


เงินทุนแช่แข็ง


Frozen Capital หรือ เงินทุนแช่แข็ง เป็นแนวคิดที่อธิบายผลลัพธ์จากการเก็บหุ้นที่ยังขาดทุนเอาไว้และขายหุ้นที่มีกำไรออกไป ในกรณีของหุ้นที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวและยังคงเท่าทุน นักลงทุนมักตัดสินใจเก็บเอาไว้ก่อนเพื่อรอลุ้นต่อไป สรุปได้ว่าการตอบสนองของนักลงทุนในแต่ละกรณีจะเป็นดังนี้

กำไร => ขาย
เท่าทุน => ถือไว้
ขาดทุน => ถือไว้

ในกรณีที่เราถือหุ้นไว้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถือว่าเงินทุนก้อนนั้นถูก "frozen" หรือ แช่แข็ง ไม่สามารถเอาไปซื้อหุ้นตัวอื่นหรือทำอะไรอย่างอื่นได้ ส่วนกรณีที่หุ้นมีกำไรและถูกขายออกไป เราจะถือว่าเงินทุนก้อนนั้นถูก "unfrozen" หรือ ละลายน้ำแข็ง เงินทุนดังกล่าวจึงสามารถเอาไปซื้อหุ้นตัวใหม่ ๆ ได้

หากแต่ละกรณีข้างต้นมีความเป็นไปได้พอ ๆ กัน ความน่าจะเป็น ที่เงินทุนจะถูกแช่แข็งจึงเท่ากับ 2/3 ขณะที่ความน่าจะเป็นที่เงินทุนจะเอาไปลงทุนใหม่ได้อย่างอิสระจะเท่ากับ 1/3 เพราะฉะนั้นสมมติผมเริ่มต้นด้วยการสุ่มซื้อหุ้น 9 ตัว ก็มีความเป็นไปได้ที่หุ้นเหล่านั้นจะมีกำไร 3 ตัว เท่าทุน 3 ตัว และขาดทุน 3 ตัว ตามภาพ


สังเกตว่ามีเฉพาะหุ้น "3 ตัวบน" ที่มีกำไรอยู่เท่านั้นที่นักลงทุนจะขายทำกำไร แล้วเอาเงินไปเวียนซื้อหุ้นตัวอื่นต่อไป ส่วนหุ้น "6 ตัวล่าง" จะเป็นส่วนที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ ... นี่คือ หนึ่งรอบระยะเวลาการลงทุน ซึ่งอาจจะเป็น 1 สัปดาห์, 1 เดือน หรืออะไรก็แล้วแต่

สมมติเราก้าวเข้าสู่รอบการลงทุนที่ 2 เงินก้อนที่เป็น unfrozen (3 ตัวบนในภาพก่อน ที่เป็นกล่องสีเขียว) จะถูกนำไปลงทุนในหุ้นตัวใหม่ 3 ตัวเช่นเดิม ขณะเดียวกันเงินทุนที่ถูก frozen (6 ตัวล่างในภาพก่อน) ก็จะยังคงถือเพื่อรอลุ้นต่อไป


รอบการลงทุนที่ 2


หลายท่านที่ลงทุนมานานคงทราบดีว่า การลดลงของราคาหุ้นสามารถเป็นได้ทั้งแบบชั่วคราวและแบบที่เป็นขาลงยาว ดังนั้น เมื่อเราจัดกลุ่มหุ้นตามการเคลื่อนไหวของราคาล่าสุด หุ้นในกลุ่มที่ "เพิ่งร่วง" ลงมาหมาด ๆ ก็น่าจะมีโอกาส "ลงต่อ" มากกว่ากรณีที่เราจัดกลุ่มหุ้นแบบสุ่ม

นอกจากนี้ต่อให้หุ้นในกลุ่มดังกล่าวมีการปรับตัวสูงขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังไม่แน่ว่ามันจะสูงกว่า ราคาทุน ที่นักลงทุนซื้อมาหรือไม่ ซึ่งหากยังไม่สามารถกลับไปเท่าทุนได้ นักลงทุนจำนวนมากก็มักลังเลที่จะขายขาดทุน และอาจกล่าวได้ว่า หุ้นกลุ่มที่เคยขาดทุนมาในรอบการลงทุนแรก น่าจะมีความน่าจะเป็นที่จะถูก frozen ต่อไปสูงยิ่งกว่าเดิมในรอบที่สองนี้


ในทางกลับกันการถือหุ้นที่เคยปรับตัวสูงขึ้นมาในการลงทุนรอบแรก ก็ควรมีโอกาสได้กำไรสูงขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน เพราะหุ้นดังกล่าวจะมีบางตัวที่อยู่ในขาขึ้นระยะยาว แต่เนื่องจากนักลงทุนมีการ "ขายหุ้นทำกำไร" และซื้อหุ้นชุดใหม่เข้ามา ทำให้ทุกอย่างถูก reset และกลับไปสู่ผลลัพธ์แบบสุ่ม


ในส่วนของหุ้นที่เคยเท่าทุนมาในรอบแรก หุ้นกลุ่มนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนไปในทางขาขึ้นหรือขาลง ดังนั้น ผลลัพธ์แบบสุ่มจึงเป็นสิ่งที่เราสามารถคาดหวังได้เช่นเดียวกัน


เมื่อประมวลผลลัพธ์ของหุ้นทุกกลุ่มดังภาพด้านล่างแล้ว เราจะเห็นว่า กล่องสีเขียว ซึ่งเป็นส่วนของเงินทุนที่ไม่ถูกแช่แข็ง จากรอบแรกที่มี 3 กล่อง กลับลดลงเหลือ 2 กล่องครึ่ง เมื่อผ่านมาถึงรอบที่สอง และแน่นอนว่าเมื่อผ่านไปหลาย ๆ รอบ ส่วนของเงินทุนที่ไม่ถูกแช่แข็งก็ยิ่งมีแต่จะลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่สมมาตรในฝั่งของหุ้นที่กำไรและที่ขาดทุน


ทั้งหมดนี้เป็นการอธิบายแนวคิดแค่หยาบ ๆ โดยใช้ "กล่อง" เป็นตัวแทนของหุ้น (หรือเงินทุน) โดยยังไม่ได้เข้าไปแตะรายละเอียดเรื่องกำไร/ขาดทุนรายตัวหุ้น เพียงแต่ในขั้นต้นนี้ต้องการจะให้ท่านเห็นว่า พฤติกรรมที่ขายหุ้นกำไรและเก็บหุ้นขาดทุน จะทำให้เงินทุนของท่านถูกแช่แข็ง และส่งผลให้เกิดการขาดทุนในท้ายที่สุด

ท่านที่เคยเข้าร่วมกิจกรรม "คุยหุ้นตรงจุด หยุดขาดทุน" จะได้ยินผมเล่าให้ฟังถึงต้นเหตุสำคัญของการขาดทุนหุ้น นั่นคือ "Bad" ที่มีอยู่ด้วยกัน 3 ตัว ได้แก่

1) Bad Company
2) Bad Price
3) Bad Reaction

เรื่องของ Frozen Capital ที่ผมพยายามอธิบายในที่นี้เป็นส่วนของ Bad ตัวที่สามนั่นเอง สำหรับการตอบสนองแย่ ๆ อื่นก็อย่างเช่น การซื้อหุ้นถัวเฉลี่ยขาลง ซึ่งผมเคยกล่าวถึงไปแล้วในบทความที่ชื่อ "เรขาคณิตของการเจ๊งหุ้น" นั่นเอง


ทำโมเดลเพื่อดูผลลัพธ์


สิ่งหนึ่งที่ต้องออกตัวก็คือ ผมเป็นนักคิดโมเดล (Modeller) มากกว่าที่จะเป็นนักวิจัย (Researcher) ดังนั้น ตัวเลขที่ผมใช้ต่อไปนี้จึงเป็นการ "สมมติ" ขึ้นมาให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ไม่ได้มาจากการเก็บข้อมูลอันยาวนานแบบนักวิชาการ พูดง่าย ๆ คือ ผมชอบสังเกตธรรมชาติ (โดยเฉพาะในโลกการลงทุน) และอธิบายมันออกมา มากกว่าจะวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์




ในภาพนี้เป็นผลจากการทำโมเดล โดยทดลองดูว่าหากเริ่มต้นด้วยการลงทุน 1 บาท และเลือกขายเฉพาะหุ้นที่มีกำไรหลังจากครบ 1 เดือน เพื่อนำไปซื้อหุ้นตัวใหม่ แผนภาพด้านขวาแสดงให้เห็นว่า เงินทุนที่ถูกแช่แข็งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบจะเรียกว่า สุดท้ายแล้วทั้งหมดก็คงจะถูกแช่แข็ง (ติดดอยทั่วทั้งพอร์ต)

สังเกตว่า วงสีส้ม แสดงตัวเลข 1) ความน่าจะเป็นที่หุ้น unfrozen จะรักษาสถานะ unfrozen เอาไว้ และ 2) ความน่าจะเป็นที่หุ้น frozen จะเปลี่ยนสถานะกลับไปเป็น unfrozen ซึ่งเห็นว่าในแต่ละเดือนที่ผ่านไป โอกาสที่หุ้น frozen จะฝืนกลับมาเป็น unfrozen จะยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนอย่างที่พูดถึงไปแล้วข้างต้น

ขณะที่ วงสีม่วง แสดงให้เห็นว่าผมยังไม่ได้นำเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากผลกำไรขาดทุนเข้ามารวมด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนตั้งแต่ในขั้นตอนแรก การที่เปอร์เซ็นต์กำไร/ขาดทุนถูกเซ็ตให้เป็นศูนย์ ส่งผลให้ค่าเงินทุนคงเหลือ หรือ Remaining Capital ในคอลัมน์ F ยังคงมีค่าเป็น 1.0000 ตลอดระยะเวลาลงทุน เหมือนกับตอนเริ่มแรก


เมื่อรวมผลจากกำไรขาดทุน...


หลังจากที่เห็นทิศทางการเปลี่ยนสถานะของเงินในพอร์ตแล้ว เราลองมาดูกันว่าหากรวมผลจากกำไรขาดทุนเข้าไปด้วย อะไรจะเกิดขึ้น

เพื่อความแฟร์ ผมสมมติว่าหุ้นที่มีกำไร (unfrozen) จะให้ผลตอบแทน +1.0% ต่อเดือน ขณะที่หุ้น frozen จะมีทั้งหุ้นที่เท่าทุน (+0.0%) และหุ้นที่ขาดทุน (-1.0%) ซึ่งเฉลี่ยแล้วก็น่าจะให้ผลตอบแทนรวมกัน -0.5% ต่อเดือน


ในแง่ของสัดส่วน Frozen Capital ผลลัพธ์อาจมองไม่เห็นความแตกต่างมากมายนัก แต่ถ้าดูที่ เงินทุนคงเหลือ (Remaining Capital) ในคอลัมน์ F จะพบว่ามันลดลงต่ำกว่า 1.0000 โดยเมื่อผ่านไป 12 เดือน เงินทุนจะเหลือ 0.9908 หรือหายไปประมาณ 1% และเมื่อผ่านไป 60 เดือน เงินทุนจะเหลือเพียง 0.8402 หรือขาดทุนไปราว 16%

ผลลัพธ์นี้ไม่ถือว่าน่าแปลกใจ เพราะการ "แช่เงิน" เอาไว้ในโซน Frozen เท่ากับว่าเงินส่วนใหญ่ของเรากำลังได้รับผลตอบแทนติดลบ (-0.5%) และแม้หุ้นที่มีกำไรจะทำผลตอบแทนเป็นบวก (+1.0%) แต่มันก็ถือเป็นส่วนน้อยของพอร์ต แถมยังเป็นสัดส่วนที่น้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปอีกด้วย

สถานการณ์จริงจะเลวร้ายยิ่งกว่านี้ หากเรารวมค่าคอมมิชชันในการซื้อขายหุ้นแต่ละรอบเข้าไปด้วย ทั้งนี้เงินทุนในส่วนที่เป็น Frozen จะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เพราะหลังจากที่ถูกแช่แข็ง (ติดดอย) แล้ว เราก็ไม่ได้ขายหุ้นอีก ค่าคอมมิชชันเฉลี่ยในระยะยาวจึงถือว่ามีผลกระทบน้อยมาก ขณะที่เงินทุนส่วนที่เป็น Unfrozen จะต้องถูกหักกำไรไปทุกครั้งที่มีการซื้อขาย ดังนั้น หากถือว่าค่าคอมมิชชันอยู่ที่ 0.25% เมื่อคิดไป-กลับ ก็เท่ากับว่ากำไรจะลดลงจาก 1.0% เหลือ 1.00 - 0.25 - 0.25 = 0.50%


ผลก็คือ เมื่อผ่านไป 60 เดือน เงินทุนจะเหลือเพียง 0.8054 หรือขาดทุนไปราว 19.5% ซึ่งหนักกว่าเดิมเสียอีก


แค่ Bad ตัวเดียว!


ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ต้นเหตุสำคัญของการขาดทุนมี 3 ตัว และเรื่อง Frozen Capital ก็เป็นเพียง Bad แค่ตัวเดียว แต่ถึงกระนั้นก็ยังสร้างปัญหาได้มาก ... ไม่อยากคิดเลยว่า ถ้าเราเจอ Bad อีก 2 ตัว (คือ เลือกหุ้นผิดตัว และ ซื้อผิดราคา) จะหายนะได้มากมายเพียงใด

หวังว่าทุกท่านคงได้แนวคิดดี ๆ สำหรับเรื่อง Frozen Capital กันนะครับ ส่วนการซื้อหุ้นให้ถูกตัว ถูกราคา ท่านสามารถศึกษาด้วยตนเองจากตำรา หรือเรียนลัดจากคอร์สหุ้นน้ำดีได้ตามอัธยาศัย