เป็นธรรมดาของผู้เลือกซื้อกองทุนรวมที่จะมองหากองทุนที่มีประวัติผลตอบแทนดีเยี่ยม แต่เรา ๆ ท่าน ๆ เคยคิดกันบ้างไหมว่า ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมนั้นมีอะไรอยู่เบื้องหลัง?
สมมติมีกองทุนรวมให้ท่านเลือกอยู่ 2 กอง ซึ่งมีผลตอบแทนย้อนหลัง ดังนี้
ผมค่อนข้างแน่ใจว่าหากมีเพียงข้อมูลข้างต้น คนจำนวนมากจะจิ้มกองทุน A เพราะเชื่อว่าให้ผลตอบแทนเหนือกว่ากองทุน B ชัดเจน ไม่ว่าจะมองย้อนไป 1 ปี, 3 ปี หรือ 5 ปี ซึ่งดูไปแล้วกองทุน B น่าจะไม่เคยชนะกองทุน A ได้เลย สรุปก็คือ ถ้าดูในมิติของผลตอบแทนย้อนหลัง กองทุน A ถือว่าชนะขาดแบบไม่ต้องเสียเวลาคิด
อย่างไรก็ตาม ผมอยากชี้ให้เห็นกับดักอันหนึ่งของการเลือกซื้อกองทุนรวมจากผลตอบแทนย้อนหลัง เพราะตัวเลขที่สูง "ทุกช่อง" ก็ไม่ได้แปลว่า ผลตอบแทนจะเหนือกว่า "ทุกปี" แบบไม่มีอะไรให้คิดเหมือนกัน
หากหน่วยลงทุนของกองทุนทั้งสองเริ่มต้นที่ 10 บาทเท่า ๆ กัน เมื่อห้าปีที่แล้ว ผลตอบแทนแบบทบต้นย้อนหลังห้าปีที่ 6% ต่อปีหมายความว่า ปัจจุบันมูลค่าหน่วยลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 13.38 บาท เท่ากันทั้งสองกองทุน (10 * 1.06^5 = 13.38) แต่รายละเอียดที่แตกต่างกันจะไปอยู่ตรงระหว่างทาง
กองทุน A มีผลตอบแทนปีล่าสุดสูงถึง 23.6% แต่ถ้าเราคิดย้อนกลับจากจุดนี้ มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุน A เมื่อหนึ่งปีที่แล้วจะอยู่ที่ 10.83 บาท (13.38 / 1.236 = 10.83) และนั่นก็แปลว่า กองทุนทำผลตอบแทนแบบทบต้นได้เพียง 2% ต่อปี ตลอด 4 ปีแรก (เพราะว่า (10.83/10)^(1/4) = 1.02)
กระบวนการคิดแบบย้อนกลับสามารถทำให้เราถอดตัวเลขและ "เห็นภาพ" ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นระหว่างทางดังตารางด้านล่าง สำหรับบางปีนั้น ผมจำเป็นต้องแสดงตัวเลข เฉลี่ยต่อปี ของช่วงเวลา (เช่น ปีที่ 1 ควบปีที่ 2) เนื่องจากเราไม่สามารถระบุตัวเลขรายปีได้ทั้งหมด รู้แต่เพียงว่าในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น ในปีที่ 1 และ 2 กองทุน A ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 2% ต่อปี
ท่านคงสังเกตได้ว่า กองทุน A ที่ดูเหมือนจะมีผลตอบแทนโดดเด่นในตารางแรก แท้จริงแล้วกลับ "ด้อยกว่า" กองทุน B มาตลอด 4 ปี แต่เพิ่งจะมาพุ่งพรวดราวกับโด๊ปยาแค่ในปีล่าสุดปีเดียว และถ้าเอามือปิดคอลัมน์ขวาสุด พิจารณาเพียงแค่ 4 ปีแรก ผมเชื่อว่าคงมีหลายท่านอยากเปลี่ยนใจมาซื้อกองทุน B แทนเป็นแน่
ประเด็นเรื่อง ผลตอบแทนพุ่งพรวด นั้นเป็นเรื่องที่ฟันธงได้ยาก บางทีอาจเป็นเพราะกองทุนไปซื้อหุ้นแรง ๆ และเจอ "แจ็กพ็อต" เข้าพอดี ซึ่งอาจเป็นเรื่องดวงมากกว่าฝีมือ หรืออาจมีผู้จัดการกองทุนคนใหม่ที่เก่งกาจเข้ามาบริหารในช่วงปีหลังสุดก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม โดยหลักทั่วไปแล้วนักลงทุนควรพยายามหากองทุนที่มีผลตอบแทนดีคงเส้นคงวา มากกว่าที่จะดีเลิศในบางปีแล้วก็แย่ในอีกหลาย ๆ ปี
แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ถ้าไม่ระวังให้ดี พอเห็นตัวเลข สามัญสำนึกก็หลอกเราได้เหมือนกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น