แม้ผมจะไม่เคยลงมือสำรวจอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่เท่าที่ได้พูดคุยกับนักลงทุนก็พอจะสังเกตได้ไม่ยากว่า คนส่วนใหญ่พุ่งความสนใจไปที่กำไรหุ้นจากการซื้อๆ ขายๆ เป็นหลัก ส่วนเงินปันผลนั้น พวกเขามักจะบอกว่า "ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่รู้สึกอะไร"
ดังนั้น ผมจึงขอหยิบยกเรื่องราวของ เงินปันผล ขึ้นมา เพื่อให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า "พระเอกที่ถูกลืม" คนนี้มีดีอย่างไร รวมทั้งวิธีที่จะดูว่าพระเอกแบบไหนที่หล่อจริง เก่งจริง ไม่ใช่เป็นตัวโกงที่สวมรอยมา
เหตุใดพระเอกจึงถูกลืม
ท่านที่เคยดูซีรีส์เกาหลีอาจเคยเห็นว่า มีบ่อยครั้งที่ "พระรอง" ดูหล่อเร้าใจ และเด่นกว่าพระเอกที่หล่อแบบเรียบๆ ซึ่งผมคิดว่ามันก็คล้ายกับในตลาดหุ้นอยู่เหมือนกัน
ในตลาดหุ้น กำไรจากส่วนต่างราคา หรือ Capital Gain เป็นผลตอบแทนที่ดูเป็นเนื้อเป็นหนัง กำไรครั้งหนึ่งอาจจะ 10% หรือ 20% บางทีทะลุไปเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ก็มี ขึ้นอยู่กับว่าเราจะกินคำโตหรือกินคำเล็ก ขณะที่ผลตอบแทนจาก เงินปันผล อาจอยู่ที่ 4-5% ต่อปี พอเทียบกันแล้วจึงดูไม่น่าตื่นเต้นสักเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ เมื่อพูดถึงกำไรจากส่วนต่างราคา 10-20% นั้น เรากำลังพูดถึงเฉพาะการซื้อขายครั้งที่ได้กำไร แต่ในความเป็นจริงเราอาจมีหุ้นอีกหลายตัวที่ยัง "ติดดอย" และบางตัวก็ต้องตัดใจขายขาดทุน หากต้องการเห็นภาพที่แท้จริง เราก็จะต้องมองภาพของทั้งพอร์ตในระยะเวลาที่ยาวเพียงพอ
สมมติ ชาลี เป็นนักลงทุนหุ้นตัวหน้าใหม่ ในระยะเวลา 2 ปี เขาซื้อขายหุ้นไป 10 ตัว ในจำนวนนี้...
มี 2 ตัวที่ได้กำไร 20%
มี 2 ตัวที่ได้กำไร 10%
มี 4 ตัวที่ติดดอย แล้วกลับมาขายเท่าทุน
มี 2 ตัวที่ติดดอย แล้วยอมตัดใจขายขาดทุน -20%
แม้ว่าผลตอบแทนรวมของพอร์ตจะอยู่ที่ 11.5% (ต่อ 2 ปี) แต่เมื่อคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้น จะเหลือเพียง 5.6% ซึ่งว่าไปแล้ว Capital Gain ที่ชาลีได้รับ ก็ไม่ได้หล่อเร้าใจไปกว่าเงินปันผลสักเท่าไหร่เลย
แต่แน่ล่ะ ถ้าคุณไม่คำนวณก็ไม่มีทางรู้เรื่องนี้
Payout Ratio
หลายคนทราบอยู่แล้วว่า อัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) หรือบางทีก็เรียกสั้นๆ ว่า Payout Ratio นั้น คำนวณได้ง่ายๆ โดยเอา "เงินปันผลต่อหุ้น" หารด้วย "กำไรต่อหุ้น"
ตัวอย่างเช่น บมจ. มังกี้ฟรีไทม์ มีกำไรต่อหุ้น 2.5 บาท และจ่ายเงินปันผล 1.5 บาท ก็จะคำนวณได้ว่า Payout Ratio = 1.5 / 2.5 = 60%
ปัญหาที่ซับซ้อนจะเกิดขึ้นเมื่อมีการจ่ายปันผลเป็นหุ้น สมมติ บมจ. มังกี้ฟรีไทม์ จ่ายปันผลเป็น "เงินสด" 1.5 บาท และจ่ายเป็น "หุ้น" อีก 1 บาทล่ะ เราจะคำนวณ Payout Ratio อย่างไร?
เท่าที่ผมเห็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มักตีขลุม นับรวมทั้งหุ้นทั้งเงินสดเข้าไปด้วยกัน ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนที่ไม่สืบสาวราวเรื่องเข้าใจไปว่า บริษัทแห่งนี้มีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงมาก แต่พอเช็คเงินปันผลมาจริงๆ กลับเป็นตัวเลขกระจิ๊ดเดียว
ในหนังสือ Fundamentals of Corporate Finance ซึ่งเขียนโดย Stephen Ross ปรมาจารย์ด้านการเงินแห่งสถาบัน MIT และทีมงาน ระบุไว้ชัดเจนว่า อัตราการจ่ายเงินปันผลควรคำนวณจาก "เงินสดปันผล" ครับ
เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ (ตามความเห็นของผมนะครับ) คือ เงินสดปันผล เป็นสิ่งที่บริษัทจ่ายออกมาจริงๆ เมื่อจ่ายออกมาแล้วบริษัทก็จะ "แฟบลง"
พูดง่ายๆ ว่าสมมติเราประเมินมูลค่าของบริษัทเอาไว้ 1,000 ล้านบาท พอบริษัทจ่ายเงินปันผลออกมา 50 ล้านบาท มูลค่าของบริษัทก็จะลดลงเหลือ 950 ล้านบาท เพราะว่า 50 ล้านบาทนั้นได้ถูกกระจายออกมาให้ผู้ถือหุ้นแล้ว
ในทางตรงข้าม หากบริษัทตัดสินใจออกหุ้นใหม่ เพื่อเอามาจ่ายเป็น หุ้นปันผล ให้เรา บริษัทก็จะมีจำนวนหุ้นมากขึ้น ขณะที่มูลค่าของตัวกิจการยังคงเดิม ดังนั้น มูลค่า "ต่อหุ้น" ก็จะต้องลดลง อย่างที่เราเรียกกันว่า Dilution Effect นั่นเอง
หลายท่านคำนวณไม่เป็นว่า เมื่อบริษัทออกหุ้นปันผล (เช่น 7 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่) แล้ว มูลค่าหุ้นควรจะไดลูทเหลือเท่าไร วิธีคิดคร่าวๆ ก็คือ ให้เอา X หารด้วย X + 1
อย่างเช่น ออก 7 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ เราก็เอา 7 หารด้วย (7+1) ... ก็จะได้ 7/8 ของมูลค่าหุ้นเดิม ง่ายๆ แค่นี้เอง
สำหรับการจ่ายปันผลเป็นหุ้น บริษัทไม่ได้ไขก๊อกผ่องถ่ายความมั่งคั่งออกมาให้กับผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด เพราะเราเพียงแต่มีหุ้น "เล็กลง" ในจำนวนที่มากขึ้น ดังนั้น Payout Ratio ก็ไม่ควรจะเอาตรงนี้มาคิด สรุปว่าผมเห็นด้วยกับหนังสือของอาจารย์ Ross
Dividend Cover
ในสายตาของนักลงทุน เราอาจบอกว่ายิ่งจ่ายเงินปันผลมากยิ่งดี แต่มันจะมีประโยชน์อะไร หากบริษัทจ่ายหนัก จ่ายเยอะ แต่จ่ายได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง?
ประเด็นที่เราควรพิจารณา ได้แก่ ความสามารถในการจ่ายเงินปันผลได้อย่างยั่งยืน ที่วัดผ่านอัตราส่วนที่เรียกว่า Dividend Cover ซึ่งได้จากการเอา "กำไรต่อหุ้น" หารด้วย "เงินปันผลต่อหุ้น"
ตัวอย่างเช่น บมจ. มังกี้ฟรีไทม์ มีกำไรต่อหุ้น 2.5 บาท และจ่ายเงินปันผล 1.5 บาท ก็จะคำนวณได้ว่า Dividend Cover = 2.5 / 1.5 = 1.67 เท่า
หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็น "ส่วนกลับ" ของ Payout Ratio นั่นเอง
ถึงแม้ว่านักลงทุนจำนวนไม่น้อยจะชื่นชอบบริษัทที่จ่ายเงินปันผลในอัตราสูงๆ เช่น 80-90 เปอร์เซ็นต์ของกำไรสุทธิ แต่การกระทำเช่นนั้นก็มีความเสี่ยง โดยเฉพาะถ้ากำไรของบริษัทไม่ได้คงเส้นคงวาจริงๆ
ความจริงแล้วหากปีไหนบริษัทมีกำไรน้อย แต่ยังอยากจ่ายเงินปันผลหนักๆ บริษัทสามารถควักเอา "กำไรสะสม" ออกมาจ่ายประทังไปก่อนได้ นักลงทุนอาจจะยังแฮปปี้ แต่ก็ต้องระมัดระวังเอาไว้ด้วย เพราะมันเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน
โดยหลักทั่วไปเรามักจะมองว่า Dividend Cover ที่ต่ำกว่า 1.5 เท่า (เทียบเท่า Payout Ratio ประมาณ 67 เปอร์เซ็นต์) ถือว่าไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไรนัก ส่วนตัวแล้วผมชอบให้จ่ายเงินปันผลพอประมาณ แต่จ่ายได้ยาวๆ และค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนจะดีกว่า
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของ "เงินปันผล" พระเอกที่ไม่ควรจะถูกลืม เพราะแม้จะไม่เร้าใจอะไรมากมาย แต่ก็กินไปได้เรื่อยๆ ครับ