คนที่หอบเงินเข้ามา "ถม" ลงในตลาดหุ้นต่างคาดหวังว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จและร่ำรวยด้วยกันทั้งนั้น หากเราสังเกตให้ดี คนเหล่านี้แม้จะมีความฝันคล้ายๆ กัน แต่พวกเขาก็มีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันไป
ผมคงไม่เก่งกล้าสามารถขนาดที่จะไปตัดสินใคร หรือบอกว่าวิธีของใคร "ได้เรื่อง" หรือ "ไม่ได้เรื่อง" (เว้นเสียแต่ผมจะอยาก "หาเรื่อง" ใส่ตัว) แต่ที่แน่ๆ ก็คือ มีแนวทางหนึ่งที่สามารถสร้างความได้เปรียบในตลาดหุ้น ซึ่งผมขอเรียกมันว่า 3 ได้ 1 เสีย และนี่เป็นเคล็ดลับที่หลายคนไม่นึกถึง
ความไม่แน่นอน
ก่อนที่เราจะไปดูกันว่าอะไรคือ 3 ได้ และอะไรคือ 1 เสีย คงต้องเท้าความถึงตลาดหุ้นกันเสียก่อน
ตลาดหุ้นเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน นักลงทุนหรือนักเก็งกำไรที่ "เคลม" ว่าตนเองสามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้ชัวร์ 100% จึงตกเป็นผู้ต้องสงสัยในฐานที่ขี้โม้เกินจริง การชนะร้อยเปอร์เซ็นต์ส่วนมากเป็นแค่การฟลุ้ก หรือไม่ก็เป็นเรื่องโกหกเพื่อทำให้ตัวเองดูดี
ความจริงแล้ว ทุกๆ คนในตลาดหุ้นล้วนต้องการ เวลา ให้เป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนระยะยาวหรือระยะสั้น เพื่อยืนยันว่าผลตอบแทนยอดเยี่ยมที่เราได้รับไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือการฟลุ้ก ในส่วนของนักลงทุนระยะยาวนั้น เราทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า พวกเขาจำเป็นต้องรอเวลาให้ธุรกิจสะท้อนมูลค่าและผลักดันราคาหุ้นให้ขยับสูงขึ้น แต่ในส่วนของนักลงทุนระยะสั้น หรือที่เรามักเรียกว่า "นักเก็งกำไรระยะสั้น" หลายคนอาจไม่ทราบว่า พวกเขาเองก็ต้องการเวลาเหมือนกัน
นักเก็งกำไรระยะสั้นมากๆ อาจทำกำไรภายในชั่วข้ามวัน หรือไม่กี่นาที แต่นั่นก็คือการเทรด 1 ครั้ง นักเก็งกำไรมืออาชีพจะไม่เอาการเทรดไม่กี่ครั้งมาคุยโว เพราะพวกเขาวัดฝีมือของตัวเองจากความได้เปรียบที่พวกเขามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการอ่านอารมณ์ตลาด รูปแบบราคาหุ้น ตัวชี้วัดทางเทคนิค แนวโน้ม fund flow ฯลฯ ว่าสามารถแปรเปลี่ยนเป็นกำไรได้ตรงตามที่คาดหวังหรือไม่
สรุปก็คือ คนเก่งจะตระหนักถึงความไม่แน่นอนของตลาด และวัดผลสำเร็จจากผลลัพธ์ในระยะยาว ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครก็ตาม
ความได้เปรียบ 3 ประการ
หากมองการลงทุนหุ้นให้เป็น "ภาพ" เราอาจเห็นภาพของ คน ที่หอบ เงิน ไปซื้อ หุ้น และนี่ก็คือ 3 องค์ประกอบของความได้เปรียบ
ความได้เปรียบเรื่อง "เงิน"
ความได้เปรียบในเรื่องของ "เงิน" คือ การนำเงินที่สมควรซื้อหุ้นไปซื้อหุ้น เรื่องนี้ฟังดูเหมือนง่าย แต่เป็นข้อที่คนละเมิดและมองข้ามกันบ่อยที่สุด
แล้วอะไรคือ "เงินที่สมควรซื้อหุ้น" ล่ะ? ... แน่นอนว่าไม่ใช่เงินที่คุณเตรียมเอาไว้จ่ายค่าเทอมลูกในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ไม่ใช่เงินที่คุณเตรียมเอาไว้จ่ายค่าประกันชีวิตตอนปลายปี และก็ไม่ใช่เงินที่คุณกดออกมาจากบัตรกดเงินสดด้วย
เมื่อเราซื้อหุ้นด้วยเม็ดเงินที่เต็มไปด้วยภาระหรือแรงกดดัน แรงกดดันอันนั้นจะติดตามเราเข้าไปในตลาดหุ้นด้วย อย่างที่ผมเกริ่นมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ความสำเร็จในตลาดหุ้นล้วนต้องการ เวลา และถ้าไม่มีเวลาพอ ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นหรือแรงกดดันใดๆ เราก็อาจต้องยอมถอยออกมาจากตลาดหุ้นก่อนที่ความได้เปรียบอื่นๆ รวมทั้งความพยายามของเราจะบังเกิดผล ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย
เงินที่สมควรซื้อหุ้น ควรเป็นเงินของเราเอง ไม่ใช่หยิบยืมมาจากคนอื่น และเป็นเงินที่แยกต่างหากออกมาจากค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเทอมลูก ค่าผ่อนบ้าน ค่าเบี้ยประกัน ฯลฯ เพราะการลงทุนด้วยเม็ดเงินที่มีภาระผูกพันมีความเสี่ยงที่เราจะต้องเทขายหุ้นในจังหวะแย่ๆ คือ รู้ทั้งรู้ว่านี่เป็น action ที่ไม่ดี แต่ก็จำใจต้องทำ
ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ มันควรเป็นเงินที่เราพร้อมจะสูญเสียไป ที่ผมว่าอย่างนี้ไม่ใช่ว่าเราตั้งใจจะมาพนันหรือเสี่ยงโชค แต่เพราะว่าในระยะสั้น เรามีโอกาสที่จะขาดทุนเป็นการชั่วคราวได้ หากเราเดินเข้าสู่ตลาดด้วย "ใจที่ไม่พร้อม" เม็ดเงินนั้นจะถูกแรงกดดันจากใจของเราเองนั่นแหละ แล้วเราก็อาจตัดสินใจโง่ๆ ด้วยการขายหุ้น ณ จุดต่ำสุด เพียงเพราะไม่สามารถทนกับแรงกดดันจากสภาวะตลาดได้ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าผลขาดทุนนั้นอาจจะเป็นแค่เรื่องชั่วคราว
การซื้อหุ้นด้วยเม็ดเงินที่ถูกที่ควร จัดได้ว่าเป็นความได้เปรียบขั้นแรกของคนที่จะลงทุนหุ้น
ความได้เปรียบเรื่อง "คน"
คนในที่นี้ก็คือ ตัวเรา ซึ่งเป็นนักลงทุน และเป็นผู้สั่งซ้ายหันขวาหัน เปรียบไปก็เหมือนกับ "นายทัพ" ที่กำลังจะนำกองทัพ (เงิน) เข้าสู่สมรภูมิ
แม่ทัพที่ไร้ความสามารถไม่อาจจัดสรรกำลังพลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รู้ว่าเมื่อไรควรบุกหรือถอย ไม่รู้ว่าสถานการณ์ไหนควรใช้ทหารม้าหรือทหารราบ เช่นเดียวกับนักลงทุนที่ไม่มีความรู้ พวกเขาไม่รู้ว่าควรซื้อหุ้นตัวไหน ตอนไหน แล้วจะขายเมื่อไหร่ ไม่รู้แม้กระทั่งว่าจะลงทุนหุ้นควรต้องรู้อะไรบ้าง หรือตัวเขาเองเป็นนักลงทุนสไตล์ไหนก็ยังมึนอยู่...
การเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองควรเริ่มต้นจากการ "ค้นหาตัวเอง" ให้เจอ
นักเล่นหุ้นจำนวนไม่น้อยพยายามขวนขวายที่จะเป็น "วีไอ" หรือ value investor เนื่องจากรู้สึกว่ามันรวยดีและดูมีความรู้ โดยไม่ได้สำรวจตัวเองก่อนว่ามีทัศนคติและอุปนิสัยสอดคล้องกับแนวทางนี้หรือไม่ เพราะฉะนั้นทุกขณะที่พยายามแสวงหาความรู้และฝึกฝนตัวเอง พวกเขาก็จะต้องต่อสู้กับธรรมชาติภายในตัว ครั้นเมื่อลงสนาม จิตใต้สำนึกของพวกเขาก็ไม่ต่างอะไรกับสุนัขลากเลื่อนที่คอยแต่จะวิ่งลงข้างทาง และผลก็คือ "เละ"
หลังจากที่เราค้นหาตัวเองเจอแล้ว สิ่งที่ควรทำเป็นลำดับต่อไปก็คือ การแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องอย่างชาญฉลาด ผมขอดึงถ้อยคำออกมาเพื่อความชัดเจนนะครับ สิ่งที่เราหา ได้แก่ "ความรู้ที่ถูกต้อง" แต่เราก็ต้องแสวงหามันอย่างชาญฉลาดด้วย
ความหมายก็คือ เราจะไม่ไปทางอ้อม เช่น กระโดดเข้าไปบู๊แหลกในตลาดหุ้น และหวังจะได้รู้เจ็บรู้จำจากบทเรียนจริง ทำนองว่าเป็น "ค่าเทอม" หรือค่าความรู้จากประสบการณ์ตรง ... เพราะเท่าที่ผมเห็นมา แมงเม่าในตลาดหุ้นล้วนใช้วิธีนี้ แต่ก็ไม่เห็นจะเคยเจ็บจำอะไร และถึงแม้จะมีบางคนเรียนรู้จากวิธีนี้ได้ ผมก็ไม่เห็นว่ามันคุ้มค่าตรงไหน เราจำต้องเอามือไปรูดคมมีดเพื่อเรียนรู้ว่ามันจะบาดมือด้วยหรือ?
การแสวงหาความรู้อย่างชาญฉลาดควรมาจากหลายทิศทาง บางอย่างอ่านหนังสือได้ บางอย่างเรียนจากอาจารย์เก่งๆ ได้ บางอย่างเรียนรู้จากการลงมือทำและสั่งสมประสบการณ์ หากมี shortcut ดีๆ ให้ใช้ เราก็ควรจะใช้มัน อย่าไปขี้เหนียวกับการเรียนรู้ ที่สำคัญก็คือ ความรู้นั้นจะต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้อง!
หนังสือที่คุณอ่าน อาจารย์ที่คุณเรียนด้วย เว็บไซต์ที่คุณเปิดดู ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนของคุณ และนำมาซึ่งความได้เปรียบข้อที่สอง ไม่ว่าสไตล์การลงทุนของคุณจะเป็นอย่างไร
ความได้เปรียบเรื่อง "หุ้น"
แม้ตัวหุ้นจะถูกเลือกขึ้นมาโดยคน แต่พวกมันก็ถือเป็นตัวสร้างความได้เปรียบในตัวเองด้วยเช่นกัน
เราสามารถจำแนกหุ้นออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ หุ้นที่สร้างมูลค่า (value creation) กับ หุ้นที่ทำลายมูลค่า (value destruction) ความจริงเราสามารถบอกได้ว่ามีหุ้นบางตัวที่ไม่ได้สร้างหรือทำลายมูลค่าอย่างชัดเจนนัก พอจะเรียกได้ว่าอยู่ "กลางๆ" แต่ผมขอละไว้ก็แล้วกัน เพราะถ้าเข้าใจความแตกต่างของหุ้น 2 จำพวกนี้แล้ว เราก็จะสามารถจินตนาการถึงหุ้นกลางๆ พวกนั้นได้ไม่ยาก
และแน่นอนว่า ถ้าเลือกได้ คุณก็คงอยากเลือกหุ้นที่สร้างมูลค่า ไม่ใช่แค่หุ้นกลางๆ หรือหุ้นที่ทำลายมูลค่า ... ถูกไหมครับ?
หากจะอธิบายให้สั้นและกระชับที่สุด หุ้นที่สร้างมูลค่าก็คือ หุ้นที่มีผลกำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม แม้จะฟังดูไม่ซับซ้อน แต่คนจำนวนมากก็หลงประเด็นอยู่เสมอ ดังนั้นผมจะขอดึงถ้อยคำสำคัญ (key words) ออกมา 3 คำ นั่นคือ "เติบโต", "สม่ำเสมอ" และ "ความเสี่ยง"
การเติบโตของผลกำไร ที่เรามองหาต้องอยู่ในระดับที่สูงพอสมควรด้วย หากกำไรของบริษัทเติบโตในระดับ 2-3% หรือแทบจะไม่ชนะเงินเฟ้อ อย่างนี้ถือว่าไม่โต และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ ต้องเป็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ หรือที่หลายคนเรียกว่า organic growth ด้วย ไม่ใช่โตด้วยภาพลวงทางบัญชี หรือว่าโตเพียงเพราะไปซื้อกิจการอื่นๆ มา
ความสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยากกว่าการเติบโต คนส่วนมากเปิดดูข้อมูลทางการเงินแค่ 3-4 ปีล่าสุด แล้วก็สรุปทันทีว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้ดี ทั้งที่จริงแล้วการศึกษาข้อมูลย้อนหลังไปเป็นสิบปีจะช่วยให้เราเห็นภาพที่แท้จริงในระยะยาวได้ ลองเปรียบเทียบระหว่างหุ้นตัวหนึ่งที่มีผลกำไรเติบโตมาตลอด 10 ปี กับหุ้นอีกตัวหนึ่งที่ตกต่ำมาตลอดและเพิ่งจะฟื้นตัวเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ถ้าดูข้อมูลย้อนหลังแค่ 3-4 ปี คุณก็จะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างหุ้นสองตัวนี้ได้
ประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่องของ ความเสี่ยง ผมไม่ได้บอกว่าบริษัทควรบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด อันที่จริงแล้วบางบริษัทมีความสามารถในการ "เสี่ยงแบบฉลาดๆ" และแปรเปลี่ยนมันให้เป็นผลกำไรที่สม่ำเสมอ นี่ต่างหากที่เป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม มีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่พยายามสร้างการเติบโตสูงๆ ด้วยกลยุทธ์ที่สุ่มเสี่ยง หรือไม่เช่นนั้นก็อาจใช้การกู้ยืมเงินมากๆ ราวกับเป็นเงินที่ได้มาฟรี บริษัททำนองนี้อาจโตพรวดพราดและดึงดูดความสนใจของนักลงทุนได้ แต่หากสะดุดหรือพลาดพลั้งขึ้นมาเมื่อไหร่ บริษัทก็อาจถึงขั้นเจ๊งได้ทันทีเหมือนกัน
ทั้งสามประเด็นนี้มีความเกี่ยวพันกับการสร้างมูลค่าของหุ้น และแน่นอนว่าหุ้นที่อยู่ในฝั่งตรงข้าม (ขาดทุนเป็นประจำ มีกำไรลุ่มๆ ดอนๆ หรือชอบเสี่ยงแบบโง่ๆ) ก็เป็นหุ้นที่ทำลายมูลค่า
ความได้เปรียบที่มาจากตัวหุ้นเกิดจากการซื้อหุ้นที่สร้างมูลค่า เพราะแม้เราจะซื้อในราคาที่แพงไปเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มูลค่าของหุ้นตัวนั้นก็จะค่อยๆ วิ่งขึ้นมาเอง ตรงข้ามกับการซื้อหุ้นที่ทำลายมูลค่า ซึ่งยิ่งนานไปบริษัทก็ยิ่งขาดทุน และกัดกิน "กำไรสะสม" ของบริษัทให้เล็กลงเรื่อยๆ หุ้นแบบนี้ยิ่งถือก็ยิ่งจน
ความเสียเปรียบ 1 ประการ
หลังจากพูดถึงความได้เปรียบ 3 ประการ คือ เงิน - คน - หุ้น เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เราจะมาว่ากันถึง "ความเสียเปรียบ" กันบ้าง ความเสียเปรียบอันนี้เป็นสิ่งที่เราควรเต็มใจรับไว้ หากต้องการที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว
หลายคนอาจเริ่มขมวดคิ้วและคิดในใจว่า ความเสียเปรียบนี้คืออะไรหรือ และถ้ามันเป็นการเสียเปรียบ ทำไมผมถึงบอกว่าเราควรรับมันไว้?
ความเสียเปรียบอันนี้เป็นสิ่งที่ "นักลงทุนระดับโลก" ไม่ว่าจะเป็น วอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์ หรือ ฟิลลิป ฟิชเชอร์ ยินดีรับไว้ด้วยความเต็มใจ เพราะมันคือ การยอมเสียโอกาสทำกำไรระยะสั้น เพื่อหวังกำไรก้อนใหญ่ในระยะยาว!
ปีเตอร์ ลินช์ ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลกเคยกล่าวไว้ว่า เราจะไม่มีวันมี "หุ้นหลายเด้ง" หรือ หุ้นที่ทำกำไรได้หลายๆ เท่าได้เลย ถ้าเราคอยแต่จะขายมันออกไปเพื่อทำกำไรระยะสั้น
โอ๊ะ! มีใครชอบทำแบบนี้หรือเปล่าครับ
ปกติคนเรามักรู้สึกเจ็บปวดที่จะขายหุ้นในจังหวะที่ยังขาดทุน ขณะเดียวกันก็รู้สึกลังเลที่จะถือหุ้นต่อไปในจังหวะที่มีกำไร การ "let profit run" เป็นสิ่งที่ฝืนความรู้สึกและยากกว่าการ "take profit" เพราะพวกเขาอยากขายหุ้นออกมาเร็วๆ จะได้รับรู้กำไรก่อนที่มันจะหายไป การขายหุ้นทำกำไรนอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเองแล้ว พวกเขายังมีสตอรี่เอาไว้คุยกับคนอื่นๆ ได้อย่างไม่อายใคร และที่สำคัญมันเป็นการการันตีด้วยว่าพวกเขาจะไม่กลับไปขาดทุน (อย่างน้อยก็ในการเทรดคราวนี้)
แต่ก็เหมือนกับที่ ปีเตอร์ ลินช์ บอกนั่นแหละ ถ้าเราถอนต้นถั่วงอกมากินทุกครั้ง ชาตินี้จะเห็น "เมล็ดถั่ว" ได้อย่างไร
อย่าลืมว่าการลงทุนหุ้นครั้งหนึ่งๆ นั้น อย่างแย่เราก็ขาดทุน 100% คือ หุ้นมีราคาลดลงจนเหลือศูนย์ แต่โดยมากมันก็จะไม่แย่ขนาดนั้น โดยเฉพาะถ้าเรารู้จักใช้ความได้เปรียบ 3 ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ขณะที่การซื้อหุ้นถูกตัว เราอาจได้กำไร 700-800% หรือสูงกว่านั้น เรียกว่า "เกินคุ้ม" และชดเชยกับผลขาดทุนจากหุ้นตัวอื่นได้สบายๆ
การยอมเสียโอกาสทำกำไรระยะสั้น จึงเป็นความเสียเปรียบที่น่าอภิรมย์สำหรับคนที่อยากรวยหุ้นแบบยั่งยืน
3 ได้ 1 เสีย
สรุปก็คือ เราควรมองหาความได้เปรียบ 3 ประการ ได้แก่ "เงิน", "คน" และ "ตัวหุ้น" รวมทั้งยอมรับความเสียเปรียบ 1 ประการ ได้แก่ "กำไรระยะสั้น" ทั้งหมดนี้เพื่อกินยาวๆ และสร้างความร่ำรวยแบบยั่งยืนครับ