วันพุธที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ทายผลบอลโลก


คอหุ้นที่มีความสร้างสรรค์ย่อมสามารถมองเห็นแง่คิดจากกิจกรรมต่างๆ และเอามาปรับใช้กับการลงทุนหุ้นได้เสมอ อย่างเช่นในกรณีของการ "ทายผลบอลโลก" ซึ่งมีอะไรมากกว่าเรื่องฟุตบอล

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมาก แม้จะไม่ได้ชื่นชอบหรือติดตามกีฬาชนิดนี้เป็นประจำ แต่อย่างน้อยก็น่าจะเคยเห็น หรือแม้แต่เคยมีส่วนร่วมในการทายผลฟุตบอลโลก ไม่ว่าจะเป็นการส่งไปรษณียบัตร ตัดชิ้นส่วนจากหนังสือพิมพ์ หรือส่งคูปองตามแคมเปญของร้านค้า เพราะฉะนั้น พวกเขาก็คงรู้บ้างว่าทีมชาติไหนเป็นตัวเต็งแชมป์ อย่างเยอรมนี บราซิล ฮอลแลนด์ พวกนี้เป็นต้น


Logic ของการทายผล


ในโลกนี้จะมีสักกี่คนที่เขียนทายผลไปเพียงแค่ "ชื่อเดียว" ในคูปองทุกใบที่ตัวเองมี อย่างเช่น ชอบบราซิลก็เลยเขียนบราซิลไปทุกใบ ไม่เผื่อใจให้ทีมอื่นเลย?

เท่าที่ผมเคยพบเห็นมา คนส่วนมากจะเขียนอย่างน้อยก็ 2-3 ชื่อ เหตุผลก็คือ ถ้าทีมที่พวกเขาเชียร์เกิดตกรอบ อย่างน้อยก็ยังมีลุ้นกับทีมอื่นๆ ที่เหลือ ไม่ใช่ว่าทีมรักก็ตกรอบ ตัวเองก็หมดลุ้นชิงโชคไปเสียอีก เซ็งกันสองเด้งเลยทีเดียว แล้วโลกนี้มีอะไรแน่นอนบ้าง วันดีคืนดี นักเตะตัวเก่งเกิดบาดเจ็บลงสนามไม่ได้ ทีมแกร่งอาจกลายเป็นทีมแกร่วได้ง่ายๆ

ในการทายผลนั้น ส่วนใหญ่เราจะคัดเลือก ทีมที่ตัวเองชื่นชอบ และคิดว่ามีโอกาสทะลุไปถึงรอบชิง บางคนเชียร์ ทีมชาติอังกฤษ สุดหัวใจ แต่เวลาทายผลกลับไม่เขียนลงไปในคูปองเลยสักใบ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าศักยภาพของทีมคงไม่ถึงขั้นเป็นแชมป์ นี่ก็คือ logic อย่างหนึ่ง

ตรรกะของคนทั่วไป คือ ถ้ามั่นใจทีมไหนมาก ก็เขียนชื่อทีมนั้นลงไปเยอะหน่อย ส่วนทีมที่มั่นใจรองลงมา ก็เขียนในสัดส่วนที่ลดลง เช่น หากส่งชิงโชค 20 ใบ เราอาจเขียน เยอรมนี 5 ใบ, บราซิล 5 ใบ, ฮอลแลนด์ 3 ใบ ที่เหลือก็ลดหลั่นกันลงมา ส่วนทีมไหนไม่มีโหงวเฮ้งจะได้แชมป์ ก็ไม่ต้องเขียน


Logic ของการซื้อหุ้น


ในทำนองเดียวกัน ผมคิดว่านักลงทุนหุ้นโดยทั่วไปก็คงไม่ "ตีแตก" ไปกับหุ้นตัวหนึ่งตัวใด เพราะหากพลาดพลั้งแล้ว โอกาสเละเทะมีสูงมาก

และในทางกลับกัน ผมก็ไม่คิดว่าการ "กระจายการลงทุน" ไปกับหุ้นหลายสิบตัวจะเป็นความคิดที่ดี เพราะเท่ากับว่าคุณกำลังเขียนชื่อทีมชาติที่แทบจะไม่มีลุ้นแชมป์ลงไปในคูปอง ลองคิดดูว่าคุณจะเขียนชื่อ แคเมอรูน หรือ ฮอนดูรัส ไปชิงโชคดีมั๊ย?

ไอเดียที่ดีกว่า คือ คัดสรรหุ้นที่ตัวเราชื่นชอบ และน่าจะทำผลงานได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นแต่ละตัวในสัดส่วนเท่าๆ กัน หุ้นตัวไหนมีศักยภาพมาก ก็ซื้อมากหน่อย ตัวไหนศักยภาพรองลงมา ก็ซื้อในสัดส่วนที่น้อยกว่า อย่างนี้เป็นต้น ส่วนกิจการไหนที่รักชอบเป็นการส่วนตัว แต่ทำกำไรไม่ค่อยเก่ง แบบนี้ก็ชื่นชอบไว้ห่างๆ พอ

การซื้อหุ้นในสัดส่วนที่ แปรผัน ไปตามศักยภาพ มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนดีกว่าการเฉลี่ยซื้อในจำนวนเงินที่เท่ากันทุกตัว เพราะมันเท่ากับเรากำลัง "โหลด" ใส่ตัวที่เก่งมากๆ และ "ลดโหลด" ออกจากตัวที่เก่งน้อยกว่า ส่วนตัวที่ไม่เก่งนั้น เราไม่แตะอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ในระหว่างทางเราก็ควรตรวจสอบ ฟอร์มการเล่น ของหุ้นอยู่เป็นระยะ ถ้าตัวไหนเคยเก่ง แต่เริ่มจะโชว์ฟอร์มไม่เอาไหน เช่น เริ่มคุมต้นทุนไม่ได้ หรือสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งอย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องปรับมุมมองให้สะท้อนศักยภาพล่าสุดด้วย ถึงจะเรียกว่าเป็นนักลงทุนที่ดี

กิจกรรมทายผลบอลโลกมีเริ่มต้น มีสิ้นสุด แต่การจัดพอร์ตหุ้นของเรายังคงต้องดำเนินเรื่อยไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น