ถ้าลองนึกๆ ดูจะพบว่ามี "กูรู" จำนวนมากคอยบอกคอยสอนเราว่าหุ้นแบบไหนที่ควรซื้อ วิธีการดู "หุ้นดี" เป็นอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าคนฟังก็อยากฟัง เพราะใครๆ ก็อยากรวยใช่มั๊ยครับ
ในทางกลับกัน ไม่ค่อยมีใครออกมาสอนเราว่าหุ้นแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง หรือถ้ามีก็คงคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ากันมาก ทั้งที่ผมเองมองว่าการ "ไม่เสียเงิน" สำคัญยิ่งกว่าการ "ทำเงิน" เสียด้วยซ้ำ
และนี่ก็เป็นที่มาของ หุ้นไม่น่าซื้อ 5 จำพวก ซึ่งได้แก่ หุ้นที่...
เพิ่มทุน - อ่อนแอ - โตช้า - ซ่าผิดวิธี - CG ต่ำ
ต่อจากนี้เราจะมาว่ากันทีละตัว ดูว่ามัน "ห่วย" จริงหรือไม่ และเราสังเกตหุ้นเฮงซวยพวกนี้ได้อย่างไร
หุ้นที่มีการเพิ่มทุน
สำหรับบริษัทที่ขาดทุนจนกระทั่ง "ส่วนของผู้ถือหุ้น" ถูกกัดกินไปจนหมด การเพิ่มทุนก็ถือว่าเป็นภาคบังคับของบริษัท แต่ไม่ใช่ภาคบังคับของนักลงทุน เพราะนักลงทุนสามารถเลือก "ถมเงิน" ลงไปในกิจการที่ขาดทุน หรือเพียงแต่ "ขายทิ้งแล้ววิ่งหนี" ก็ได้
โดยมากผู้บริหารจะออกมาชวนเชื่อว่า บริษัทจะพลิกกลับมาทำกำไรได้ภายหลังการเพิ่มทุน แต่นั่นก็เป็นแค่ความคาดหวังเท่านั้น ขณะที่เรื่องจริงที่พิสูจน์แล้วก็คือ บริษัทขาดทุนเรื่อยมาจนถึงขั้นเข้าตาจน และโดยส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าปัญหาของบริษัทมันแก้ได้ง่ายๆ มันก็คงถูกแก้ไปนานแล้ว
ถ้าให้ชั่งใจระหว่าง "ความคาดหวัง" กับ "ความจริง" ผมคงเทใจให้อย่างหลังมากกว่า
ในทางตรงข้าม สำหรับบริษัทมีกำไรดีและต้องการเพิ่มทุนเพื่อนำไปสร้างการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการขยายกิจการของตัวเองหรือเข้าซื้อกิจการอื่นก็ตาม แม้จะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดี แต่ผู้ถือหุ้นก็ต้องคิดดูก่อนว่าจะดีจริงหรือไม่ ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ
ซีฟู๊ดส์ เป็นบริษัทในธุรกิจอาหารที่มีแบรนด์แข็งแกร่งและทำกำไรดีมาก ซีฟู๊ดส์ต้องการขอเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเพื่อเอาไปซื้อกิจการอาหารสัตว์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นธุรกิจต้นน้ำ อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์ดูเราก็พบว่ากิจการที่จะถูกซื้อมีส่วนต่างกำไร (profit margin) ต่ำกว่าของซีฟู๊ดส์เป็นอย่างมาก เนื่องจากอาหารสัตว์เป็น "สินค้าโภคภัณฑ์" ที่ไม่ต้องอาศัยแบรนด์ การซื้อกิจการนี้ย่อมดึงให้ส่วนต่างกำไรโดยรวมของซีฟู๊ดส์ลดลงไปด้วย
ว่ากันตามตรง มีความเป็นไปได้สูงที่ ROE ของซีฟู๊ดส์จะถูกฉุดให้ต่ำลง เท่ากับว่า "เม็ดเงิน" ของผู้ถือหุ้นจะทำเงินได้คุ้มค่าน้อยลง เมื่อเทียบกับก่อนซื้อกิจการ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วการเพิ่มทุนไปซื้อกิจการในครั้งนี้ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็ต้องชั่งใจระหว่าง "ความคุ้มค่าของเม็ดเงิน" ที่ลดลง กับ "ประโยชน์เกื้อหนุน" (synergy) ที่บริษัทอาจได้รับหลังซื้อกิจการ ว่าควรค่าแก่การควักเงินเพิ่มทุนหรือไม่
แต่ถ้าพูดแบบทั่วๆ ไป การเพิ่มทุนก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์ เพราะเราต้องการกิจการที่ "ผลิตเงิน" ไม่ใช่มา "ขอเงิน"
หุ้นอ่อนแอ
คำหนึ่งที่ผมคิดว่า "น่าเบื่อ" เวลาเปิดทีวีดูรายการหุ้น คือ คำว่า "หุ้นพื้นฐานดี" ซึ่งนักวิเคราะห์มักยกขึ้นมาอ้างลอยๆ เวลาจะเชียร์หุ้นตัวใดตัวหนึ่ง แต่ไม่เคยบอกว่าอะไรคือพื้นฐานดี อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ถ้าเราระบุได้ว่า หุ้นอ่อนแอ และ หุ้นโตช้า เป็นอย่างไร "หุ้นพื้นฐานดี" ก็คือ สิ่งที่ตรงกันข้ามนั่นเอง (หุ้นแข็งแกร่ง + โตเร็ว)
มาว่ากันด้วย หุ้นอ่อนแอ ก่อนก็แล้วกัน เราต้องตรวจดูว่าหุ้นที่เราสนใจมีความอ่อนแอในแง่มุมต่างๆ หรือไม่ ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่
- ความอ่อนแอที่โครงสร้างเงินทุน - บริษัทมีหนี้มาก เมื่อเทียบกับทุน
- ความอ่อนแอที่โครงสร้างรายได้ - บริษัทพึ่งพารายได้จากลูกค้ารายใดรายหนึ่งมาก หรือ "รายได้หลัก" ของบริษัทมีแนวโน้มลดลง
- ความอ่อนแอในตัวธุรกิจ - สินค้าของบริษัทสู้ของคู่แข่งไม่ได้ หรือ บริษัทไม่มี pricing power
- ความอ่อนแอของฝ่ายบริหาร - ผู้บริหารไม่เก่ง ไม่รู้จักปรับตัวและแก้ไขสถานการณ์
หุ้นโตช้า
ภาพหนึ่งที่หลายคนไม่เข้าใจ คือ "บริษัทดี" อาจเป็นการลงทุนที่แย่
ตัวอย่างสมมติของผม ได้แก่ บริษัท Paper & Pencil (P&P) ซึ่งทำธุรกิจขายเครื่องเขียน เราอาจพบว่าบริษัท P&P ทำรายได้อย่างมั่นคงมาเป็นเวลาช้านาน และที่ผ่านมาก็กำไรทุกปี ฟังดูเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งดีมากเลยใช่ไหมครับ
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของยอดขายในสาขาเดิม (same store sale growth) มีการเติบโตน้อยประมาณ 3-4% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งถ้าเราคิดเทียบกับเงินเฟ้อก็จะพบว่าที่จริงแล้ว "มันแทบไม่โตเลย" ส่วนสาขาใหม่ๆ ก็ทำยอดขายเพิ่มได้ใน "เฮือกแรก" ที่เปิดตัว หลังจากนั้นยอดขายก็ทรงตัวเหมือนกับสาขาอื่นๆ ที่ผ่านมา
ที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะสินค้าอย่างเครื่องเขียนมันก็ไม่มีอะไรหวือหวาอยู่แล้ว คนที่ซื้อบ่อยจริงๆ ก็คงจะเป็นนักเรียน นักศึกษา บางคนตั้งแต่เรียนจบมาก็ซื้อดินสอ ปากกา ยางลบ แทบจะนับครั้งได้
บริษัท P&P จึงเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่เราไม่หวังอะไรมากไปกว่า "เงินปันผล" ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ ส่วนเรื่องการเติบโตหรือโอกาสที่มันจะกลายเป็นหุ้น "หลายเด้ง" นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
หุ้นในจำพวกโตช้าอาจไม่ถึงกับ "เลวร้าย" แต่ก็ทำให้คุณรวยช้าลง หรือถ้าพูดแบบแรงๆ ก็คือ "มันการันตีได้ว่าคุณจะไม่รวย!" คุณอาจพอใจกับเงินปันผลในวันนี้ แต่มันก็จะไม่เพิ่มขึ้นไปกว่านี้มากนักเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งก็เป็นเพราะว่าตัวธุรกิจในเนื้อแท้มันไม่โตนั่นเอง ดังนั้นถ้าเราเปลี่ยนไปมองหาหุ้นปันผลที่เติบโตพอสมควรด้วยก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
พวกซ่าผิดวิธี
แม้แต่คนไม่ติดตามฟุตบอลก็ยังน่าจะเคยได้ยินชื่อของ "คริสเตียโน่ โรนัลโด้" นักฟุตบอลระดับโลก อดีตซุปเปอร์สตาร์ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ...แต่ถามว่าถ้าให้ โรนัลโด้ มาเล่น "บาสเกตบอล" เขาจะทำได้ดีเท่ากับเล่น "ฟุตบอล" มั๊ย? ก็ไม่น่า...ใช่มั๊ยครับ
ในทำนองเดียวกันเวลาที่เราคิดจะถือหุ้นยาวๆ อย่างสบายใจ เราคงไม่อยากให้บริษัทโผล่ไปจับธุรกิจใหม่ที่ตัวเองไม่ได้ถนัดมาก่อน ผมเรียกบริษัททำนองนี้ว่า "พวกซ่าผิดวิธี" จริงอยู่ว่าบริษัทอาจไปได้ดีกับธุรกิจใหม่ก็ได้ แต่มันก็ไม่แน่นอน ผมมองว่ามันคงดีกว่าหากบริษัทจะไปมุ่งเน้นกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีอยู่แล้ว แทนที่จะพยายามทดลองหาอะไรใหม่ๆ ทำไปเรื่อยเปื่อย
ผมไม่อยากตื่นขึ้นมาทุกเช้าแล้วต้องมาลุ้นว่า วันนี้บริษัทจะแลบไปหาอะไรแปลกๆ ทำอีกหรือไม่ แล้วคนเก่งๆ ในบริษัทเขาจะทำอย่างไร ถอดความเชี่ยวชาญที่ตัวเองมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมวางไว้ จากนั้นก็ไปศึกษาเรื่องใหม่ๆ "เผื่อว่า" จะทำได้ดีบ้าง หรือไม่ก็ลงทุนจ้างคนใหม่เพื่อมารองรับธุรกิจใหม่ จากนั้นก็จ้างคนใหม่เพื่อมารองรับธุรกิจใหม่อีก สุดท้ายแล้วองค์กรนี้จะเป็นอย่างไร แค่นึกก็เหนื่อยแล้ว
มีเพื่อนของผมถือหุ้นบริษัทขายสินค้าเทคโนโลยี ปรากฏว่ามีอยู่วันหนึ่งบริษัทส่งจดหมายแจ้งข่าวมาว่า บริษัทได้เข้าซื้อที่ดินไว้ผืนหนึ่งเตรียมก่อสร้างช้อปปิ้งมอลล์ ผมจึงให้คำปรึกษาเขาไปว่า "ถ้าชอบเรื่องเซอร์ไพร้ส์และไม่สนใจกำไร ก็ถือหุ้นตัวนี้ไว้ต่อไป" ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจขายหุ้นทิ้ง ซึ่งแสดงว่าเขาคงไม่ชอบให้ โรนัลโด้ ผันตัวมาเล่นบาสเกตบอลเหมือนกัน
พวก CG ต่ำ
เมื่อพูดถึง บรรษัทภิบาล หรือ Corporate Governance (CG) เราคงนึกถึงกิจการที่มีคุณธรรม รับผิดชอบสังคม และแสวงหากำไรอย่างยั่งยืน
เคยมีคนรวบรวมสถิติเอาไว้และพบว่า บริษัทที่มีธรรมาภิบาลดีมีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ดีอย่างต่อเนื่องมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ผมจำที่มาของเรื่องนี้ไม่ได้แล้ว แต่ฟังดูก็น่าจะเป็นไปได้มาก เข้าทำนองว่า "ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน" บางบริษัทที่มี CG ต่ำ เผลอแป๊บเดียวก็มีข่าวโกงบัญชี ฝ่ายผู้บริหารก็บินหนีไปต่างประเทศตามระเบียบ ปล่อยให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ส่วนผู้ถือหุ้นก็ตีอกชกหัวกันไป
สัญญาณเตือนภัยของพวก CG ต่ำ ได้แก่ การส่งรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์มีความล่าช้าหรือแก้ไขหลายครั้ง ผู้สอบบัญชีไม่ยอมรับรองงบการเงิน กรรมการอิสระลาออก ประชุมผู้ถือหุ้นไม่โปร่งใส มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างไม่เท่าเทียมกัน เป็นต้น
ในด้านของ "ราคาหุ้น" บริษัทที่มี CG ต่ำ มักมีการปล่อยข่าวลือทำราคาหุ้น ผู้บริหารสนใจ "เล่น" กับราคาหุ้นมากกว่าที่จะไปจดจ่อกับการบริหารงาน ขณะเดียวกันก็มักเอาเปรียบผู้ถือหุ้นด้วยการใช้ข่าววงในดักซื้อ-ดักขาย ก่อนที่จะมีการประกาศข่าวบริษัทอย่างเป็นทางการ และพอใกล้จะประกาศผลประกอบการรายไตรมาสทีไร "งบรั่ว" ฉุดราคาขึ้นลงก่อนเสียทุกครั้ง รวมไปถึงบริษัทที่ชอบ "เล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน" ด้วย ลองอ่านดูนะครับ http://www.monkeyfreetime.com/2012/02/blog-post_26.html
...และนี่ก็คือ "หุ้นไม่น่าซื้อ 5 จำพวก" ซึ่งผมคิดว่าอย่าไปยุ่งกับมันตั้งแต่ต้นจะดีกว่า หุ้นอื่นดีๆ มีอีกถมไป