วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พรานบัฟเฟตต์ นิทาน VI


วอร์เรน บัฟเฟตต์ ตำนานนักลงทุนแนว VI (Value Investment) ระดับโลกเคยเปรียบเทียบสไตล์การลงทุนของตนเองว่าเป็นเหมือนสิงโตที่ซุ่มอยู่ในพงหญ้า (a lion in the tall grass) เพื่อรอตะครุบเหยื่อเมื่อมันเข้ามาใกล้ แต่ผมเองกลับคิดว่าบัฟเฟตต์มีความคล้ายคลึงกับนายพรานในนิทานต่อไปนี้เสียยิ่งกว่า...


พราน VI

บนภูเขาสูงที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ การหาของป่าหรือล่าสัตว์เป็นเรื่องยากสำหรับนายพรานทั้งหลาย และหนึ่งในนั้นก็คือพรานหนุ่มแววดีผู้มีนามว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์

พรานบัฟเฟตต์เรียนรู้ศาสตร์แห่งการล่าสัตว์จากพรานเบนซึ่งเปรียบเสมือนอาจารย์ของเขา อาจารย์บอกบัฟเฟตต์ว่า "เจ้าเห็นพรานไร้ฝีมือพวกนั้นมั๊ย พวกเขาเสียเวลา เสียกระสุน แต่กลับล่าได้เพียงกระต่ายป่าตัวกระจ้อย"

เบนสอนบัฟเฟตต์ว่า กระต่ายตัวเล็กและว่องไว ยิงถูกยาก และต่อให้ยิงได้ พอเอาไปขายในเมืองก็ไม่ค่อยได้ราคา พรานส่วนมากได้เงินมาเล็กๆ น้อยๆ แค่พอซื้อกระสุนล็อตใหม่กับเงินติดตัวอีกหน่อย จากนั้นก็ขึ้นเขามาล่ากระต่ายอีก นายพรานพวกนี้ไม่ยิงกวาง เพราะกวางหายาก ขณะที่กระต่ายมีเยอะกว่ามาก และพวกเขาไม่อดทนพอที่จะรอให้กวางผ่านมา

"เราต้องล่ากวาง" พรานเบนย้ำ "และกวางต้องตัวไม่ใหญ่มาก ไม่เช่นนั้นเจ้าจะต้องใช้กระสุนหลายนัดเพื่อหยุดมัน"

คำสอนนี้บัฟเฟตต์ปฏิบัติตามมาระยะหนึ่ง แต่เมื่อเรียนรู้เพิ่มจากพรานฟิลซึ่งเป็นนายพรานที่มีชื่อเสียง บัฟเฟตต์ก็พบว่าหากเขายอมเสียกระสุนหลายนัดล่ากวางตัวโต เมื่อเอาไปขายจะได้ราคากว่ากวางผอมๆ ตัวเล็กมากมายนัก

"เราพบหนทางรวยแล้ว!" พรานบัฟเฟตต์กล่าวกับตัวเองด้วยความเชื่อมั่น


Circle of Competence

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่พรานต่างๆ เดินผ่านไปพร้อมกับลังบรรจุกระต่ายป่า บัฟเฟตต์ยังคงซุ่มรอให้กวางผ่านมา บางครั้งเขาซุ่มรออยู่ทั้งวันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เขาก็ไม่คิดจะเปลี่ยนไปล่ากระต่ายป่า

วันหนึ่งมีม้าป่าหลุดเข้ามาในบริเวณที่พรานบัฟเฟตต์และเพื่อนซุ่มอยู่ เพื่อนสะกิดเขาบอกว่า "เราล่ากวางยังไม่ได้ ตอนนี้จับม้าป่านี่ไปขายเสียก่อนดีกว่า น่าจะได้เงินดีเหมือนกัน" บัฟเฟตต์ตอบโดยทันที "ไม่มีทาง เราชำนาญแต่การล่าสัตว์ ตอนนี้จะให้โดดออกไปจับม้าป่า เดี๋ยวโดนม้าเตะคางเหลืองไปจะว่าไง" ว่าแล้วพรานบัฟเฟตต์ก็ซุ่มอยู่ในพุ่มไม้เช่นเดิม ขณะที่เพื่อนไม่ฟังเสียวิ่งออกไปพร้อมเชือก กะว่าจะจับม้าไปขาย ทันไดนั้นเขาก็โดนม้าดีดเข้าให้ โครม! แล้วมันก็วิ่งหนีเข้าป่าไปอย่างรวดเร็ว

"บอกแล้วไม่ฟัง" บัฟเฟตต์ส่ายหัวอย่างระอา


นายพรานผู้ร่ำรวย

พรานบัฟเฟตต์ล่ากวางไปขาย ได้เงินมาก็เอาไว้ใช้สอยเพียงเล็กน้อย ที่เหลือก็เอาไปซื้อกระสุนล็อตใหม่ แล้วก็กลับมาล่ากวางไปขายอีก วนเวียนเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เขาร่ำรวยขึ้นมาเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่เขาไปซื้อกระสุนในเมือง มิตรสหายที่เจอต่างพร่ำบอกให้เขาซื้อเสื้อใหม่บ้าง รองเท้าใหม่บ้าง นาฬิกาใหม่บ้าง

"มีเงินแล้วแต่งตัวให้มันสมฐานะหน่อย" ใครบางคนพูด แต่บัฟเฟตต์ตอบว่า "ของพวกนั้นมันช่วยให้ผมล่าสัตว์ได้มากขึ้นหรือเปล่าล่ะ เสื้อผ้าและรองเท้าของเดิมก็อุ่นดี นาฬิกาก็ยังเดินตรง ตอนนี้ผมแฮปปี้มากพออยู่แล้ว" ก่อนจะวางกระป๋องเชอร์รี่โค้กของโปรดลงและหยิบวอชิงตันโพสต์ขึ้นมาอ่าน

การใช้ชีวิตของเขาแตกต่างกับพรานคนอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง พรานส่วนมากได้เงินมาเล็กๆ น้อยๆ ก็เอามาซื้อกระสุนส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็เอาไปซื้อรองเท้าใหม่ เสื้อคลุมใหม่ หรือไม่ก็เอาไปกินไปเที่ยวจนหมด พวกเขาจึงไม่เคยสร้างเนื้อสร้างตัวได้อย่างแท้จริง


วิธีล่าสัตว์ระดับเทพ

แม้วิธีล่าสัตว์ในช่วงต้นของพรานบัฟเฟตต์จะเน้นไปที่กวางตัวผอมๆ ตามแบบฉบับของพรานเบนผู้เป็นอาจารย์ ซึ่งสอนให้เขากะประมาณขนาดเขากวางเทียบกับส่วนสูง สัดส่วนระหว่างหัวกับลำตัว ฯลฯ เพราะพรานเบนให้ความสำคัญกับเชิงปริมาณอยู่ค่อนข้างมาก แต่เมื่อชำนาญมากขึ้นบัฟเฟตต์กลับเลือกที่จะให้ความสำคัญกับเชิงคุณภาพมากกว่า ตามแนวทางของพรานฟิล ผู้เป็นเสมือนอาจารย์อีกคนหนึ่งของเขา

เคล็ดลับของพรานบัฟเฟตต์ คือ

1. ล่ากวางเท่านั้น ไม่ล่ากระต่ายป่า
2. กวางต้องตัวโต ขายได้ราคาดี
3. ใช้กระสุนอย่างคุ้มค่า
4. ไม่ซื้อข้าวของไร้สาระ
5. อดทนเฝ้ารออย่างใจเย็น ถ้าไม่มีกวางที่ตรงตามเกณฑ์ก็จะไม่ยิงเด็ดขาด และไม่ทำนอกแผน (เช่น จับม้าป่ามาขาย) เป็นอันขาด

และที่สำคัญ ต้องแยกแยะให้เป็นว่าตัวไหนเป็นกวาง ตัวไหนเป็นกระต่าย ...แล้วเราล่ะ แยกแยะเป็นไหมครับ?

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หุ้นสัมมาอาชีวะ


เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าอริยมรรคมีองค์ 8 และหนึ่งในนั้นก็คือ "สัมมาอาชีวะ" หรือการเลี้ยงชีพชอบ ซึ่งหมายถึงการทำมาหากินด้วยอาชีพสุจริต จากมุมมองของนักลงทุน ผมเห็นว่าในตลาดหุ้นก็มีหุ้นสัมมาอาชีวะและหุ้นมิจฉาอาชีวะด้วยเหมือนกัน

เราต้องสนใจด้วยหรือ?

เราอาจจะทำเป็นไม่สนใจก็ได้ เพียงแค่ลงทุนแล้วให้มันได้กำไรก็พอ แต่เราจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นหรือว่าบริษัทที่เราลงทุนนั้นกำลังประกอบธุรกิจสีเทาๆ หรือไปเบียดเบียนใคร แต่ว่ากำไรที่มาจากการเบียดเบียนคนอื่นคงไม่ทำให้เรามีความสุขได้อย่างเต็มที่หรอกใช่ไหมครับ

ความจริงผมจำแนกบริษัทในตลาดหุ้นออกเป็น 1. หุ้นสัมมาอาชีวะ 2. หุ้นเบียดเบียน 3. หุ้นก้ำกึ่ง ถ้าเป็นไปได้ผมจะเลือกลงทุนในหุ้นพวกแรกที่มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง แต่ถ้าหาได้ยากหรือจำเป็นจริงๆ ผมก็จะข้ามมาลงทุนในพวกที่สาม แต่จะไม่ลงทุนในพวกที่สองเป็นอันขาด

เราสามารถจำแนกหุ้นสัมมาอาชีวะออกมาได้ไม่ยาก แต่การหาหุ้นที่เป็นสัมมาอาชีวะและมีผลการดำเนินงานดีจริงๆ ในตลาดนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายเหมือนกัน ตัวอย่างหุ้นที่เลี้ยงชีพชอบได้แก่


  • หุ้นในหมวดเกษตรและอาหาร เป็นกิจการที่ผลิตและจำหน่ายอาหารเลี้ยงปากท้องให้ผู้คน แต่ก็ยกเว้นพวกที่ไปฆ่าสัตว์มาขายนะครับ

  • หุ้นในกลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ผลิตเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องครัว

  • หุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อย่างพวกที่ปลูกบ้านขายหรือขายวัสดุก่อสร้าง

  • หุ้นในกลุ่มค้าปลีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก

  • หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล

ที่จริงยังมีอีกมาก ผมอยากให้เห็นว่าหุ้นที่เราคุ้นหูคุ้นตานั้นส่วนมากก็สามารถเป็นหุ้นสัมมาอาชีวะได้ แต่ก็จะมีบ้างเหมือนกันที่ตัวบริษัทเองประพฤติไม่ดี เลยพาให้กิจการไม่เป็นสัมมาอาชีวะไป เป็นต้นว่าเบียดเบียนลูกจ้างของตัวเอง เอาเปรียบลูกค้าผู้มีพระคุณ ตบแต่งบัญชี หรือรังแกคู่แข่งที่ตัวเล็กกว่า ถ้าไม่อุกฉกรรจ์มากเกินไปผมก็จะนิยามบริษัทพวกนี้ว่าเป็นพวกก้ำกึ่ง และหากพอรับได้ก็ "อาจจะ" ลงทุนด้วยเหมือนกัน


ส่วนหุ้นที่ไปเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่รักษาศีล 5 ที่ชัดเจนก็อย่างเช่น บริษัทเหล้า บริษัทบุหรี่ บริษัทพนัน (เมืองไทยไม่มี แต่ที่เมืองนอกเขามีนะครับ) พวกนี้ผมไม่เอาด้วยแน่นอน สำหรับบริษัทที่เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร อันนี้ก็ลำบากใจ เพราะทางหนึ่งเขาก็ผลิตอาหารเลี้ยงผู้คน แต่อีกทางหนึ่งเขาก็เบียดเบียนชีวิตสัตว์ แนะนำว่าถ้าใครธัมมะธัมโมก็อย่าลงทุนกับบริษัทพวกนี้เลย ถือหุ้นแล้วไม่สบายใจ

คำถาม

หุ้นธนาคารเป็นหุ้นสัมมาอาชีวะหรือไม่? - ผมคิดว่าเป็นครับ ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้คนเอาไปทำธุรกิจหรือใช้สอยในสิ่งที่จำเป็น แต่บางธนาคารที่ล่อหลอกให้คนกู้เงินไปใช้ไร้สาระ อันนั้นถือว่าไม่ดี

หุ้นบริษัทอัญมณีเป็นหุ้นสัมมาอาชีวะหรือไม่? - กิจการไม่เบียดเบียนใคร แต่ก็สร้างกิเลสให้กับผู้คน ก็ถือว่าไม่ดีนักครับ ยกเว้นบริษัทที่ผลิตอัญมณีเพื่ออุตสาหกรรม อันนั้นไม่มีปัญหาอะไร

หุ้นบริษัทหนังสือเป็นหุ้นสัมมาอาชีวะหรือไม่? - เป็นแน่นอนครับ ส่งเสริมการอ่านและให้ความรู้กับผู้คน

หุ้นเก็งกำไรเป็นหุ้นสัมมาอาชีวะหรือไม่? - การเก็งกำไรเป็นเรื่องของนักลงทุนเอง ตัวบริษัทเขาไม่เกี่ยวด้วย อย่าไปโทษเขาครับ

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ออมเงินถึงชาติหน้า...


ผมเคยมีความสงสัยว่า ถ้าเราเก็บเงินออมปีแล้วปีเล่าไปจนถึง infinite (ชั่วนิรันดร์) จะสามารถสู้คนที่เอาเงินไปลงทุนได้หรือไม่ แน่นอนว่าถ้าเราเทียบกับคนที่ลงทุนเก่งๆ อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร คำตอบที่ได้คือ "ลงทุนรวยกว่า" แหงๆ อยู่แล้ว ...แต่ถ้าเป็นการลงทุนแบบชิลล์ๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ไม่ยากล่ะ?? คนที่ออมอย่างมีวินัยจะสู้ได้หรือเปล่า

ออมเงินถึงชาติหน้า ปะทะ ลงทุนแบบชิลล์ๆ

หนังสือจำพวกบริหารเงินส่วนบุคคลมักบอกให้คนลงทุน โดยยกตัวอย่างการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 20% (หรืออย่างน้อยๆ ก็ 10-15%) แล้วก็บอกว่า "นี่ไง เห็นมั๊ย! ลงทุนแล้วมีเงินเยอะ" ซึ่งผมเห็นว่าไอเดียก็ดี แต่มันออกจะดีเกินจริงไปสักหน่อย เพราะคนทั่วไปคงทำผลตอบแทนไม่ได้ถึงขนาดนั้น เพราะแม้กระทั่ง วอร์เรน บัฟเฟตต์ เองยังทำผลตอบแทนได้ในระดับ 20 เปอร์เซ็นต์ต้นๆ เท่านั้นเอง (ปี 1965-2005 ทำได้เฉลี่ย 21.5% ต่อปี)

งั้นถ้าผลตอบแทนซัก 8% ล่ะ พอไหวมั๊ย? ผมดูสถิติของตลาดหุ้นไทยบวกกับเงินปันผลก็พบว่าน่าจะเป็นไปได้ค่อนข้างมาก สมมติว่าเราซื้อหุ้นดีๆ ที่จ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอในอัตราปีละ 5% ซึ่งน่าจะหาได้ไม่ยาก และคาดหวังให้ราคาหุ้นขยับขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% แค่นี้ก็เข้าทางเราแล้ว เริ่มเลยดีกว่า

ออมเงินแบบมด

ผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางของมด โดยบอกว่าหากเราเดินช้าๆ ไปเรื่อยแบบที่มดทำ เผลอแป๊บเดียวก็จะไปได้ไกลอย่างไม่น่าเชื่อแล้ว งั้นถ้าผมออมเงินแบบมดบ้างล่ะ? สมมติว่าเก็บเงินได้เดือนละ 4,000 บาท หรือปีละ 48,000 บาท แล้วออมในระดับนี้ไปเรื่อยๆ ชั่วนิรันดร์ (ผมปรับเพิ่มการออมด้วยนิดหน่อยตามภาวะเงินเฟ้อปีละ 4%)

ปีแรกผมเก็บได้ 48,000 บาท พอปีที่สองผมเก็บ 49,920 บาท คือ บวกชดเชยเงินเฟ้อเข้าไปหน่อย แล้วออมแบบนี้ไปเรื่อยๆ เงินออมของผมจะเป็นไปตามภาพด้านล่างครับ จบ 40 ปีจะมีเงินออมประมาณ 4.56 ล้านบาท

ลงทุนแบบชิลล์ๆ

เทียบกันแบบสมน้ำสมเนื้อ ผมเก็บเงินปีละ 48,000 บาทเหมือนกัน แต่คราวนี้เอาไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 8% ต่อปี พอปีที่สองก็เก็บ 49,920 บาทแล้วเอาไปลงทุนเพิ่มอีก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ พอจบ 8 ปีผมก็ไม่ต้องใส่เงินออมเพิ่มแล้ว แค่ปล่อยให้เงินลงทุนโตด้วยตัวของมันเองต่อไป ...จบ 40 ปีผมจะมีเงินทั้งสิ้น 6.79 ล้านบาท



สังเกตนะครับว่าในกรณีที่เราลงทุน กราฟจะหักเล็กน้อยตอนปีที่ 8 นั่นเป็นเพราะเราเลิกใส่เงินออม แต่ถึงกระนั้นพอร์ตการลงทุนของเราก็ยังโตชนะการออมแบบมดโดยตลอด และถ้าเราลากกราฟต่อไปจนถึง infinite ก็คงเดาได้ว่าพอร์ตลงทุนจะยิ่งทิ้งการออมแบบมดแทบไม่เห็นฝุ่น ผมเจตนาเขียนแบบสั้นๆ ไม่ซับซ้อน เพื่อชี้ให้เห็นว่าแม้เราจะลงทุนแบบพื้นๆ ก็ยังดีกว่าออมเงินไปเฉยๆ แบบไม่ใช้สมอง

ทีนี้ก็ขึ้นกับคุณแล้วล่ะครับ ว่าอยากเหนื่อยเดินแบบมดไปชั่วชีวิต หรือทำการบ้านหน่อยแล้วเหนื่อยแค่ 8 ปี และที่สำคัญ แนวทางนี้ไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย ใครๆ ก็ทำได้ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หมู่บ้านของมะลิน


ล้อมรอบด้วยขุนเขาในหมู่บ้านห่างไกลความเจริญ มะลินเติบโตขึ้นมาพร้อมกับสังเกตว่าหมู่บ้านของเธอค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป วันหนึ่งเด็กน้อยจึงถามแม่ว่า “แม่คะ ทำไมหมู่บ้านเราถึงได้แห้งแล้งนัก”

“ก็หมู่บ้านเราไม่มีต้นไม้ใหญ่นี่ลูก พอเที่ยงก็แดดร้อน ลมไม่ค่อยมี ฝนก็ไม่ค่อยตก” แม่ตอบ

“แต่หนูจำได้ว่าแต่ก่อนเรามีต้นไม้เยอะกว่านี้” มะลินแย้ง

“เราเคยมีจ้ะ” แม่นิ่งไปนิดหนึ่งก่อนจะว่าต่อ “สมัยก่อนบนเขามีต้นไม้ใหญ่มาก แต่ก็มักจะถูกชาวบ้านตัดไปขายอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งเราตกลงกันว่าจะไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ ...ถึงวันนี้เราจึงไม่มีต้นไม้ใหญ่อีกแล้ว”

“เกิดอะไรขึ้นหนอ... ก็เราไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ แล้วจะไม่มีต้นไม้ใหญ่ได้ยังไง” เด็กน้อยรำพึง “หรือมีใครแอบมาตัดต้นไม้นะ”

มะลินเดินออกมานอกชาน เห็นต้นไม้ต้นเล็กต้นน้อยกิ่งก้านเหี่ยวเฉากระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม่มีต้นไม้ใหญ่จริงๆ ด้วย ทันใดนั้นเด็กน้อยตาโต “โอ้โห! ฉันนึกออกแล้ว” มะลินวิ่งเข้าไปหาแม่อย่างลิงโลด “แม่ขา หนูรู้แล้ว! ชาวบ้านเขาไม่ตัดต้นไม้ใหญ่หรอก เขาตัดต้นเล็ก!!”

-----------------------------------------

บ่อยครั้งที่การแก้ปัญหากลับเป็นการซ้ำเติมปัญหา ชาวบ้านคิดว่าเขาต้องรักษาต้นไม้ใหญ่จึงตกลงกันว่าจะไม่ตัดมัน แต่ตรรกะนี้ไม่ครบถ้วน จำนวนต้นไม้ใหญ่อาจไม่ได้ลดลงจากการตัดไม้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้นไม้อาจยืนต้นตายเอง เป็นโรค หรือโดนฟ้าผ่า ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้คิดถึงการเพิ่มจำนวนของต้นไม้ใหญ่ ซึ่งก็ต้องมาจากต้นไม้เล็กนั่นเอง

ชาวบ้านรักษาสัญญาด้วยการเลี่ยงไปตัดไม้ต้นเล็กแทน แต่กิจกรรมดังกล่าวก็ไม่ได้ให้ผลดีกับใคร พวกเขาได้ไม้เพียงน้อยนิดที่ขายไม่ได้ราคา ขณะที่ป่าก็สูญเสียต้นไม้ใหญ่ในอนาคต เมื่อสิ่งต่างๆ ดำเนินไปเช่นนี้ ต้นไม้ใหญ่ก็มีแต่จะลดลง แต่ทำให้ต้นไม้ใหญ่ที่เหลือต้องแบกรับภาระที่หนักขึ้นๆ และทยอยล้มตายกันไป

-----------------------------------------

เงินของคุณก็เหมือนกัน

ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นกับเงินในกระเป๋า รวมไปถึงพอร์ตการลงทุนของคุณด้วย

หากว่าคุณเป็นสาว (หรือหนุ่ม) นักช้อป คุณอาจคิดว่า "เฮ้ เราไม่เห็นได้เอาเงินไปทำอะไรเลย แล้วมันหายไปไหนหมดฟะ" จากนั้นก็ เฮ้อ เมื่อยจัง เดินช้อปมา 6 ชั่วโมงแล้ว กินสตาร์บัคส์ดีกว่า...

อาจจะจริงครับ เราไม่ได้ซื้อของแพงหรือที่ผมมักเรียกว่า "ไอเท็มใหญ่" อย่างเช่น ทีวี ตู้เย็น คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ นั่นคือเราไม่ได้ตัดต้นไม้ใหญ่ แต่เราลืมไปหรือเปล่าว่าเราตัดต้นไม้เล็กด้วยการซื้อรองเท้าส้นสูง 199 บาท กระเป๋าถือ 1,499 บาท ถ้าเป็นผู้ชายก็อาจไปดูหนังกับแฟน 340 บาททุกสัปดาห์ แวะสตาร์บัคส์ทุกวัน ฯลฯ เดือนแล้วเดือนเล่าผ่านไป แล้วก็มาสำรวจดู อ้าว ไม่เห็นมีเงินก้อน (ต้นไม้ใหญ่) เลย

หรือในแง่ของพอร์ตการลงทุน เราเลื่อมใส ดร.นิเวศน์ และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ รวมทั้งแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่า จึงวิเคราะห์หุ้นอย่างตั้งอกตั้งใจและซื้อหุ้นสุดเจ๋งมาไว้ในพอร์ตจนได้ ผ่านไปไม่นานหุ้นเริ่มทำกำไร ด้วยความกลัวว่ากำไรจะหดหายหรือพลิกกลับไปขาดทุน เราเลยขายหุ้นที่ได้กำไรนั้นออกไป (ตัดต้นไม้เล็ก) โดยไม่รู้เลยว่าหากปล่อยให้หุ้นมันโตต่อไปอีก 2-3 ปี มันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าหรือกลายเป็นหุ้น 10 เด้ง อย่างที่ ปีเตอร์ ลินช์ เรียก

ผลก็คือในพอร์ตของเรามีแต่ต้นไม้เล็กที่แคระแกร็น เพราะเราตัดต้นเล็กที่มีแววดีไปเรียบร้อยแล้ว ต้นที่เหลืออยู่ไม่อยู่ในสภาพที่จะกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาหรือดอกผล หรือแม้บางต้นจะฟื้นกลับมาได้แต่ก็ต้องสิ้นเปลืองน้ำ-ปุ๋ย และการดูแลอีกมาก วิธีสังเกตก็ไม่ยาก ถ้าในพอร์ตของเราดูไปแล้วเขียว (กำไร) อยู่เสมอ นั่นแสดงว่าต้นไม้กำลังเติบโตขึ้นเป็นต้นใหญ่ และถ้าอยากได้ต้นใหญ่เราก็ต้องรอ หากตัดต้นเล็กไปแล้วจะมีต้นใหญ่ได้อย่างไร??

หวังว่าคงได้แง่คิดดีๆ ไปบ้างนะครับ