แต่ขณะที่นักเก็งกำไรเฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริก เราเคยคิดกันบ้างไหมว่าปรากฏการณ์แบบนี้อาจสั่นสะเทือนไปถึงนักลงทุน “เชิงรับ” ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวได้ด้วยเหมือนกัน
ตัวอย่างสมมติ
เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย สมมติเรามีดัชนี SET5 ณ ระดับ 1000 จุด ที่คำนวณขึ้นจากหุ้นขนาดใหญ่สุดในตลาด 5 ตัว ดังนี้
โดยธรรมชาติ กองทุนรวมดัชนี จะถือครองหุ้นทั้ง 5 ตัว ตามสัดส่วนมาร์เก็ตแคป เพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง (ในที่นี้ คือ ดัชนี SET5) อย่างเช่น หุ้น E ซึ่งมีมาร์เก็ตแคป 1 แสนล้านบาท ก็จะมีน้ำหนักเท่ากับ 5 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ตกองทุน
ในเวลาต่อมา หุ้น E ซึ่งอยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เกิดไปเตะตานักลงทุนกลุ่มหนึ่ง พวกเขาจึงไล่ซื้อหุ้น แบบที่ ดร.นิเวศน์ นักลงทุน VI ชื่อดังใช้คำว่า “ต้อนเข้ามุม” หรือ cornering และด้วยปริมาณหุ้นหมุนเวียน (free float) ที่มีเพียงน้อยนิด คือ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ราคาหุ้นก็พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมาร์เก็ตแคปของหุ้น E ปีนขึ้นมาอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท กลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่อันดับสองของตลาด และพลอยลากดัชนีขึ้นมาอยู่ที่ 1350 จุดด้วย
เมื่อหุ้น E ปรับตัวขึ้น 700% ขณะที่หุ้นตัวอื่นทรงตัว น้ำหนักของหุ้น E ที่มีต่อดัชนี SET5 จึงเพิ่มขึ้นเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ และกองทุนรวมดัชนีก็จะต้องถือครองหุ้น E คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ตด้วย
ดังนั้น ผู้จัดการกองทุนจะต้องจัดสรร 30 เปอร์เซ็นต์ของ เม็ดเงินใหม่ ที่ไหลเข้ามาในกองทุนรวมดัชนีภายหลังจากที่หุ้น E ปรับตัวขึ้นมาแล้ว ไปซื้อหุ้น E หรือพูดง่าย ๆ ว่า “การจุดพลุ” ของนักลงทุนดังกล่าว ทำให้ demand ของหุ้น E สูงขึ้นตามกลไกตลาด โดยเฉพาะในยุคที่กองทุนรวมดัชนีเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
ถึงตรงนี้หลายท่านอาจเริ่มกังวลใจว่า “อ้าว! แล้วถ้าหุ้น E ถูกปั่นโดยไม่มีเหตุผลรองรับล่ะ? แล้วกองทุน RMF ที่ฉันลงทุนไว้ มันจะแห่เข้าไปซื้อกับเขาด้วยไหม? นั่นมันเงินเกษียณของฉันนะ” ...
น่าเสียดายที่ผมต้องบอกว่า “อาจจะ” ครับ
ความยอกย้อนของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า กองทุนรวมหุ้นประเภท active ไม่ว่าจะเป็นกอง RMF, SSF หรือกองธรรมดาก็ตาม ผู้จัดการกองทุนสามารถใช้วิจารณญาณเลือกที่จะเข้าซื้อหรือไม่เข้าซื้อหุ้นตัวหนึ่งตัวใดได้ หากเห็นว่าราคาหุ้นแพงหรือปรับตัวขึ้นมาเร็วเกินไป
ในทางกลับกัน กองทุนรวมประเภท passive (หรือที่เราเรียกว่า กองทุนเชิงรับ) กลับมีแรงกดดันที่ผู้จัดการกองทุนจะต้องสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนี พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก ซื้อ ถึงแม้จะคิดว่าราคาหุ้นปัจจุบันค่อนข้างแพงก็ตาม เพราะถ้าไม่ซื้อแล้วหุ้นยังคงวิ่งขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายจะกลายเป็นหายนะ หากว่า “กองทุนรวมดัชนี” ของพวกเขาแพ้ดัชนีหลุดลุ่ย
ที่ผ่านมานักลงทุนชื่อดังระดับโลกหลายท่านแนะนำให้ซื้อกองทุนรวมดัชนี ด้วยเหตุผลเรื่องอัตราค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า และข้อสังเกตเรื่องประสิทธิภาพการเลือกตัวหุ้นของผู้จัดการกองทุน อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของหุ้นอภินิหารนี้ทำให้เราได้เห็นว่า บางคำแนะนำอาจใช้ได้ดีเป็นการทั่วไป แต่ไม่ใช่กับความผิดเพี้ยนที่เพิ่งจะถูกคิดค้นขึ้นมา และวิจารณญาณของผู้จัดการกองทุนก็ยังคงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบนโยบายของกองทุนรวม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น