อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้ผมตระหนักถึง “ความเปราะบาง” ของสมมติฐานและการคำนวณ จึงคิดว่าน่าจะใช้โอกาสนี้เขียนถึงมันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้คนที่ยังคงมีศรัทธาและยังคงตามหาอิสรภาพทางการเงิน
ความเดิม
ในบทความชื่อ “อิสรภาพทางการเงิน...คำนวณแบบง่ายๆ” ผมพยายามตอบคำถามว่า เราต้องมีเงินเท่าไรจึงจะมีอิสรภาพทางการเงิน ซึ่งก็เป็นที่แน่ชัดว่า จริง ๆ แล้วสิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงแค่การมีเงิน ทว่าเรายังจะต้องสามารถนำเงินไปสร้างผลตอบแทน (r) ได้สูงพอรองรับค่าใช้จ่าย (X) ที่เติบโตตามอัตราเงินเฟ้อ (f) ด้วย
เมื่อมีสมมติฐานครบถ้วนแล้ว จำนวนเงิน A ก็จะคำนวณได้ดังนี้
[หากเข้าไปในลิงก์บทความดังกล่าว ท่านจะได้เห็นที่มาที่ไปของสูตรนี้]
ตัวอย่างเช่น เราสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ และมีค่าใช้จ่ายปีละ 500,000 บาท ซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ จำนวนเงินที่จำเป็นสำหรับการมีอิสรภาพทางการเงินจะเท่ากับ 500000 / (0.08 – 0.03) = 10 ล้านบาท ...นี่เป็นตัวอย่างสั้น ๆ ที่แสดงการตั้งสมมติฐานและวิธีคำนวณ
ความเปราะบางประการที่หนึ่ง
ท่านทั้งหลายอาจพอสังเกตได้ว่า ผลตอบแทนที่เราใช้ในโมเดลนี้เป็น ค่าเฉลี่ย จากกรณีอุดมคติที่เราสามารถทำผลตอบแทนได้อย่างคงเส้นคงวา (เช่น ได้ผลตอบแทน 8 เปอร์เซ็นต์ทุกปี) อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ช่างห่างไกลจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เพราะถ้าย้อนไป 25 ปีล่าสุด จะมีจำนวนปีที่ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนอยู่ในช่วง 0 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพอจะถือว่าใกล้เคียงกับระดับค่าเฉลี่ย เพียงแค่ 4 ปี จากทั้งหมด 25 ปี เท่านั้น
ทั้งนี้ แผนภูมิข้างต้นยังไม่ได้รวมผลตอบแทนจากเงินปันผล (แม้จะรวมเข้ามาก็อาจมีการ shift หรือเลื่อนไปเพียงเล็กน้อย) สังเกตได้ว่าผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปีค่อนข้างจะห่างไกลจากค่าเฉลี่ยตามสมมติฐานของเรามากทีเดียว และเพื่อแสดงผลลัพธ์จากสิ่งที่สังเกตได้ เราจะทำการคำนวณบน Excel ตามกรณีอุดมคติ และดูว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป 4 ปี
ในกรณีอุดมคติที่เราสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ เงินต้น 10 ล้านบาท จะให้ผลตอบแทน 8 แสนบาท ในปีแรก ซึ่งเราจะดึงออกมาเป็นค่าใช้จ่าย 5 แสนบาท (ตามตัวอย่างก่อนหน้านี้) และส่วนที่เหลือ 3 แสนบาท ก็จะทบไปเป็นเงินลงทุน ทำให้เงินลงทุนของปีต่อไปกลายเป็น 10.3 ล้านบาท เมื่อคำนวณในลักษณะดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีที่ 4 พอร์ตโฟลิโอของเราจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 11.255 ล้านบาท ดังที่ไฮไลต์ไว้ด้วยสีฟ้า
นั่นหมายความว่าพอร์ตโฟลิโอขนาด 11.255 ล้านบาท ณ สิ้นปีที่สี่ จะรองรับค่าใช้จ่ายตามการคำนวณอิสรภาพทางการเงินได้เทียบเท่าพอร์ตโฟลิโอขนาด 10 ล้านบาท ณ ต้นปีที่หนึ่ง
ต่อมาเราจะทดสอบกรณีที่ผลตอบแทนรายปีห่างไกลจากค่าเฉลี่ยตามสมมติฐานของเรา โดยกรณีแรก (Volatile #1) เป็นกรณีที่ตลาดหุ้นตกต่ำก่อนที่จะฟื้นตัวในเวลาต่อมา และในกรณีที่สอง (Volatile #2) เป็นกรณีกลับกันเมื่อตลาดหุ้นพุ่งขึ้นก่อนที่จะร่วงลงอย่างหนัก ทั้งสองกรณีมีผลตอบแทนเฉลี่ยแบบเรขาคณิตเท่ากัน คือ 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
[สำหรับท่านที่ชอบคำอธิบายเจาะลึก ในการลงทุนเรามักใช้ค่าเฉลี่ยแบบเรขาคณิต ซึ่งเป็น ผลคูณ แทนที่จะเป็นผลบวก เช่น ในกรณี Volatile #1 เรานำตัวเลขจากคอลัมน์ Return มาคำนวณ (1 – 0.55) x (1 – 0.05) x (1 + 0.63) x (1 + 0.95) จากนั้นถอดรากที่สี่ ก็จะได้ 1.08 หรือก็คือ 1 + 0.08 ซึ่งก็แปลว่า ค่าเฉลี่ยเรขาคณิตเท่ากับ 8 เปอร์เซ็นต์]
ผลลัพธ์จากตารางนี้น่าสนใจ เนื่องจากกรณีแรก (ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติแล้วค่อยฟื้น) เมื่อผ่านไป 4 ปี พอร์ตของเราลดลงมาเหลือเพียง 8.86 ล้านบาท ขณะที่กรณีที่สอง พอร์ตของเรากลับเพิ่มขึ้นไปเป็น 12.23 ล้านบาท เมื่อนำขนาดพอร์ตของทั้งสองกรณีเทียบกับ 11.255 ล้านบาท ของกรณีอุดมคติ เราจะพบว่า แม้จะมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยเท่ากัน แต่ ลำดับ ของสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นก็มีความสำคัญต่ออิสรภาพทางการเงิน
ดังนั้น นักลงทุนที่โชคร้ายพบกับวิกฤติทันทีภายหลังประกาศอิสรภาพทางการเงิน (เช่น ลาออกจากงานประจำ) มักต้องพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ถึงแม้ว่าที่สุดแล้วจะสามารถสร้างผลตอบแทน "เฉลี่ย" ในระยะยาวได้ดังที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม
ความเปราะบางประการที่สอง
ความเปราะบางประการแรกที่ได้กล่าวไปเป็นกรณีที่เรายังสามารถรักษาค่าเฉลี่ยผลตอบแทนในระยะยาวเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม หากว่าเราโชคร้ายทำผลตอบแทนโดยรวมได้ ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยในระยะยาว นี่ก็จะสั่นคลอนอิสรภาพทางการเงินที่เราอุตส่าห์ฟูมฟัก และนับเป็นความเปราะบางประการที่สอง
เมื่อทดสอบเพิ่มเติมกรณีที่ตลาดหุ้นตกต่ำและกลับมาฟื้นตัว (Volatile #3) ความแตกต่างก็คือ ผลตอบแทนในปีที่ 4 เป็น 58 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนโดยรวมกลายเป็น 2.4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และขนาดพอร์ตโฟลิโอก็ฟื้นตัวขึ้นมาแค่ราว ๆ 7.08 ล้านบาท
ประเด็นที่อยากชี้ให้เห็น คือ แม้ทั้งสองกรณีจะมีปีที่ 4 ที่ยอดเยี่ยม (+95% และ +58% ตามลำดับ) ทว่าผลลัพธ์สุดท้ายกลับเป็นอิสรภาพทางการเงินที่มีความมั่นคงไม่เท่ากัน ในกรณี Volatile #1 พอร์ตโฟลิโอขนาด 8.86 ล้านบาท จะคิดเป็น 79 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ตโฟลิโอในกรณีอุดมคติ 11.255 ล้านบาท ซึ่งที่จริงก็ไม่ดีเท่าไหร่ แต่กรณี Volatile #3 พอร์ตโฟลิโอขนาด 7.08 ล้านบาท จะเทียบเท่า 63 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งถือว่าแย่กว่ากันมาก เพราะการมีเงินแค่ 63 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่ควรจะเป็น “ภายหลัง” การฟื้นตัวจากวิกฤติ อาจหมายถึงการสูญสิ้นอิสรภาพทางการเงิน และนี่ก็จะสะท้อนความเปราะบางที่เราไม่ได้คำนวณเผื่อไว้ตั้งแต่แรก
สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากประเด็นนี้ คือ ถ้าเราทดลองต่อไปโดยสมมติว่าได้จัดพอร์ตลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ “เน้นความสม่ำเสมอ” 2.4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แทนที่จะยอมรับความผันผวนสูงและเล็งผลเลิศในระดับ 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งอาจพลั้งพลาดได้เหมือนกรณี Volatile #3
ผลที่ตามมาจากความมักน้อย คือ ณ สิ้นปีที่สี่ เราจะมีพอร์ตโฟลิโอขนาด 8.84 ล้านบาท ใกล้เคียงกับกรณี Volatile #1 ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งเราเห็นกันไปก่อนหน้านี้ได้อย่างน่าทึ่ง
บทเรียนจากเรื่องนี้
เราได้เห็นความเปราะบางที่สำคัญ 2 จุด ในการคำนวณอิสรภาพทางการเงิน จุดแรก ได้แก่ การมุ่งเน้นไปที่ผลตอบแทนเฉลี่ยจนลืมรายละเอียดระหว่างทาง โดยเฉพาะลำดับของสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น ซึ่งอาจส่งผลต่ออิสรภาพทางการเงินได้ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ นักลงทุนจึงควรทดสอบสถานการณ์ให้หลากหลาย เพื่อจะได้ทราบจำนวนเงินที่ควรเผื่อเอาไว้รองรับกรณีที่เราโชคร้าย ส่วนความเปราะบางจุดที่สอง ได้แก่ การสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ต่ำกว่าที่คาดหวัง
ในแง่ของการ “ลงทุนให้รวย” ท่านอาจยอมรับความผันผวนสูง ตราบเท่าที่มันให้ผลตอบแทนดี แต่ในเชิงอิสรภาพทางการเงินที่ท่านจะต้องดึงเงินออกไปใช้จ่ายในแต่ละปี เรื่องราวนั้นแตกต่างออกไป การทำผลตอบแทนที่ไม่สูงมาก ทว่ามีความสม่ำเสมอ อาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าก็ได้
อีกสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ อิสรภาพทางการเงินไม่ใช่สิ่งตายตัว เราสามารถปรับตัวแปร เช่น เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต หรือลดค่าใช้จ่ายลง ก็ยังอาจรักษาอิสรภาพทางการเงินเอาไว้ได้ แม้ทุกอย่างจะไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวังโดยสมบูรณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น