วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2562
LTF และความเสียเปรียบที่เราไม่เคยรู้
นับจากอดีตมาผู้ซื้อกองทุนรวม LTF หน้าใหม่มักได้รับ “คำแนะนำ” ให้ซื้อกองทุนประเภท 70/30 ซึ่งหมายถึง กองทุนจะพยายามถือครองหุ้นในสัดส่วนประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ และถือตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร/เงินฝาก ในสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ
คำแนะนำนี้ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้ขายกองทุน เนื่องจากกองทุนรวม LTF ประเภท 70/30 มักมีความผันผวนต่ำกว่ากองทุนรวม LTF ทั่วไป (ซึ่งลงทุนหุ้นเต็มที่) โอกาสที่ลูกค้าจะขาดทุนและกลับมาต่อว่าต่อขานในภายหลังก็มีน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้มีความเสียเปรียบแอบแฝงอยู่
โดยธรรมชาติแล้ว กองทุนรวมที่ลงทุนหุ้นมักคิดค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการสูงกว่ากองทุนรวมที่ลงทุนตราสารหนี้ (ต่อจากนี้เราจะเรียกค่าธรรมเนียมการจัดการ หรือ management fee แต่เพียงสั้น ๆ ว่า ค่าธรรมเนียม) เช่น อาจจะคิดค่าธรรมเนียมประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกองทุนรวมหุ้น และคิดค่าธรรมเนียมประมาณ 0.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น เพราะถือว่าการซื้อขายหุ้นจำเป็นต้องใช้ฝีไม้ลายมือและมีการวิเคราะห์ที่ซับซ้อนมากกว่า
หากคิดตามตรรกะนี้ กองทุนรวมประเภท 70/30 น่าจะคิดค่าธรรมเนียมถ่วงน้ำหนักไปตามสัดส่วนหุ้นที่ลงทุน เช่น (0.7 x 2.00) + (0.3 x 0.50) = 1.55 เปอร์เซ็นต์ สำหรับตัวอย่างข้างต้น และเราจะมาดูกันว่าในโลกความจริง ค่าธรรมเนียมของ บลจ. ต่าง ๆ เป็นไปตามนี้หรือไม่
(ต่อไปนี้เป็นข้อมูลจริงของ บลจ. สามแห่งที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ และเนื่องจากเราไม่มีกองทุนรวม LTF ประเภทตราสารหนี้ จึงใช้ข้อมูลกองทุนรวมตราสารหนี้ RMF จาก บลจ. เดียวกันมาเทียบเคียงแทน ส่วนกองทุน "Homemade" ที่อยู่ขวาสุดเป็นกองทุนสมมติ)
พึงสังเกตว่าคอลัมน์สีชมพูด้านซ้ายเป็นค่าธรรมเนียมของกองทุนประเภท 70/30 ที่เรียกเก็บจริง ส่วนคอลัมน์สีชมพูด้านขวาเป็นค่าธรรมเนียมที่ “น่าจะ” เรียกเก็บ ซึ่งก็สรุปได้ว่าทุก บลจ. ที่เรายกมาเป็นตัวอย่างล้วนเก็บค่าธรรมเนียมจากกองทุนประเภท 70/30 แพงกว่าที่ควรด้วยกันทั้งสิ้น โดยส่วนต่างที่มากที่สุดเป็นของ บลจ. C ซึ่งเรียกเก็บสูงกว่าที่ควรถึง 1.61 – 1.29 = 0.32 เปอร์เซ็นต์ (แม้ที่จริง บลจ. C จะคิดค่าธรรมเนียมกองทุนหุ้นถูกที่สุดในบรรดาตัวอย่างที่ยกมา)
ในกรณีเช่นนี้ หากเราสามารถแยกเงินไปยังกองทุนหุ้นและกองทุนพันธบัตรด้วยตัวเองในสัดส่วน 70:30 ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ได้รับจะใกล้เคียงกับการซื้อกองทุนประเภท 70/30 จาก บลจ. เดียวกัน แต่เสียค่าธรรมเนียมต่ำกว่า อย่างไรก็ดี เรา ไม่ สามารถทำสิ่งนี้ได้กับกองทุนรวม LTF เนื่องจากกฎเกณฑ์ที่ระบุให้ลงทุนหุ้นเฉลี่ยอย่างน้อย 65 เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์กองทุน (ไม่เช่นนั้นเราก็จะต้องข้ามประเภทไปหา RMF ซึ่งจะมีกองทุนรวมตราสารหนี้ให้เลือกได้)
สถานการณ์ทั้งหมดนี้จะแตกต่างไปเมื่อลดหย่อนภาษีด้วย SSF หรือกองทุนรวมเพื่อการออม เพราะแม้เงื่อนไขหลาย ๆ อย่างอาจดูด้อยกว่า LTF แต่กองทุนรวม SSF ก็ไม่มีข้อจำกัดเรื่องสินทรัพย์
หากเราซื้อกองทุนรวม SSF เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท โดยแยกเงิน 70 เปอร์เซ็นต์ หรือ 140,000 บาท ไปยังกองทุนรวม SSF หุ้น และอีก 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 60,000 บาท ไปยังกองทุนรวม SSF ตราสารหนี้ เมื่อมองในภาพรวม เรากำลังลงทุนแบบ 70/30 แต่จ่ายค่าธรรมเนียมต่ำกว่าการซื้อกองทุนรวม SSF ประเภท 70/30 โดยตรง (ภายใต้สมมติฐานว่า บลจ. จะออกกองทุนรวม SSF ประเภทต่าง ๆ และคิดค่าธรรมเนียมในแนวทางเดียวกับ LTF/RMF)
เมื่อทำแบบนี้ เราจะสามารถประหยัดค่าธรรมเนียมได้ 0.32% ต่อปี เป็นเวลา 10 ปี ค่าธรรมเนียมที่ประหยัดได้จะคิดเป็นเงิน 6,400 บาท และถ้าใช้สิทธิ์ลดหย่อนทั้งห้าปีตามแนวทางเบื้องต้นของกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2563-2567) ค่าธรรมเนียมที่ประหยัดได้ทั้งสิ้นจะเท่ากับ 32,000 บาท ซึ่งก็ไม่น้อยเลย
นี่เป็นส่วนดีเล็ก ๆ อย่างหนึ่งจากเงื่อนไขของ SSF
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ขอบคุณมากครับ
ตอบลบ