วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วัดพลังหุ้น



หากถามว่าเล่ม 2 ต่างจากเล่ม 1 หรือไม่? คำตอบก็คือ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงครับ

เล่มแรกเน้นไปที่การ "ปูพื้น" แนวความคิดแบบ VI ทั้งเรื่องราคาและมูลค่า, ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย, ขอบข่ายแห่งความชำนาญ, แนวคิดของวีไอระดับโลก ฯลฯ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การอธิบายงบการเงินแบบง่ายๆ ชนิดที่บางคนถึงกับบอกว่า "ง่ายที่สุดเท่าที่เคยอ่านมา" เสียด้วยซ้ำไป

คราวนี้เล่มสองมาในแบบที่ "ลึกขึ้น" และเป็น "เชิงปฏิบัติ" มากขึ้นกว่าเดิม

หนังสือเล่มนี้ให้มุมมองของ Margin of Safety อย่างเป็นรูปธรรม และตอบคำถามที่ว่า เราควรมองหาอะไรบ้างก่อนจะซื้อหุ้นสักตัว? คุณสมบัติข้อใดสำคัญ และข้อใดไม่สำคัญ? ราคาแพงหรือถูกดูจากอะไรบ้าง?

ลองเดินไปดูตามร้านหนังสือสิครับ ผมว่ามันเป็นการลงทุนที่ดีนะ :)

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วัดความสำเร็จแบบ VI


การวัดความสำเร็จในตลาดหุ้นไม่ใช่เรื่องยาก คนส่วนมากวัดจาก "กำไร" หรือไม่ก็ "ความมั่งคั่ง" ที่พวกเขามี แต่นั่นเป็นหนทางที่ถูกต้องแล้วหรือ?

เราจะมาดูกันว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จที่ไม่เหมาะสมมีส่วนสำคัญกับอนาคตทางการลงทุนของเราอย่างไร ไม่ว่าเราจะเป็นนักเล่นหุ้นเก็งกำไรรายวัน หรือนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) ก็ตาม และที่สำคัญ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้มาตรวัดความสำเร็จผิดๆ อยู่อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วย ... แต่จะเป็นเราหรือเปล่าหนอ?


ตัววัดของนักเล่นหุ้นทั่วไป


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นักเล่นหุ้นระยะสั้นที่มีความเชื่อในการ "เข้าเร็ว ออกเร็ว" มักให้ความสำคัญกับ "กำไร" มากเป็นพิเศษ และวัดความสำเร็จของตัวเองจากเจ้ากำไรนี่เอง กำไรที่ว่านี้เป็นกำไรของตัวเองนะครับ ไม่ใช่กำไรของบริษัท ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ได้สนอกสนใจว่าบริษัทจะมีความแข็งแกร่งหรือมีผลประกอบการเติบโตมากนัก ตราบเท่าที่หุ้นวิ่ง...

เมื่อพูดถึงการวิ่งของราคาหุ้น เรากำลังพูดถึง "change" เพราะฉะนั้นขอแค่ให้บริษัท "ดูดีกว่าเมื่อวาน" ราคาหุ้นก็พร้อมที่จะวิ่งแล้ว ไม่จำเป็นว่าบริษัทต้องแข็งแกร่งหรือมีศักยภาพในระยะยาวแต่อย่างใด นักลงทุนกลุ่มนี้ไม่สนใจพื้นฐานของตัวกิจการในระยะยาว เพราะถือว่ามันยาวไกลเกินไป ซึ่งถ้าคิดจากมุมของพวกเขา มันก็ถูก คุณจะสนใจผลประกอบการในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือ ในเมื่อจะขายมันอยู่รอมร่อวันนี้พรุ่งนี้แล้ว

การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นก็คือ "กำไร" ของพวกเขา จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเล่นหุ้นระยะสั้นจะเฝ้าติดตามราคาหุ้นอย่างใจจดใจจ่อ รวมทั้งคอยเช็ค "ต้นทุน" ของพวกเขาอยู่ตลอด และสิ่งที่พวกเขาคิดก็คือ

กำไร = ราคาหุ้น - ต้นทุน


จะเห็นว่ากำไรของพวกเขาจะสูงได้ ถ้า ราคาหุ้น พุ่งแรงๆ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงพยายามเข้าซื้อหุ้นตัวที่ "น่าจะวิ่ง" และกลายเป็นการเสาะแสวงหาหุ้นปั่นหรือหุ้นในกระแสไปโดยปริยาย ความพยายามนี้บีบพวกเขาให้เข้าไปจับหุ้นร้อนที่วิ่งมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสวิ่งต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้แปลว่ามีคนอีกกลุ่มหนึ่งในตลาดที่ถือหุ้นตัวนี้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าพวกเขา (ต่ำกว่ามากๆ) และพร้อมที่จะ "ปล่อย" เพื่อทำกำไรแทบจะทุกราคา

ในอีกทางหนึ่งจากระบบความคิดนี้ กำไรของพวกเขาจะสูงได้เหมือนกันถ้า ต้นทุน ของพวกเขาต่ำ เราจึงเห็นนักเล่นหุ้นจำนวนมากที่พยายามซื้อหุ้นถัวเฉลี่ย เพื่อกดให้ต้นทุนของพวกเขาลดลง ทั้งๆ ที่บางครั้งกลายเป็นการทยอยซื้อหุ้นเน่าเข้าพอร์ต และยิ่งทำให้พอร์ตของพวกเขาแย่ลงเรื่อยๆ นอกจากนี้การหมกมุ่นอยู่กับต้นทุนมีส่วนทำให้เราหลงลืมที่จะตรวจสอบว่าราคาหุ้นยังคงมีทิศทางเป็นขาขึ้นอยู่หรือไม่ บางทีเราลดต้นทุนได้จริง แต่ราคาหุ้นก็กลับทิศไปเสียแล้ว

การที่เราจับจ้องอยู่ที่ "กำไร" ย่อมทำให้เราคอยแต่จะคิดว่า กำไรเพิ่ม กำไรลด ขาดทุน ได้เงิน เสียเงิน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นความคิดที่มาเขย่าสมองส่วนที่ใช้เหตุผลทั้งสิ้น บางครั้งเราจึงตัดสินใจผิดพลาด เช่น take profit เร็วเกินไป หรือไม่ยอม cut loss แม้จะรู้ว่าผิดทาง เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ระบบความคิดที่ยึดกำไรเป็นศูนย์กลางจึงมักกลายเป็นการทำลายตัวเอง และยิ่งถ้านับต้นทุนที่ไม่ใช่เงิน เช่น ความเครียด และเวลาที่สูญเสียไป เข้ามารวมด้วยแล้ว ต้นทุนรวมของการเก็งกำไรระยะสั้นก็คงสูงกว่าที่เราเห็นมาก


ตัววัดของ VI


การยึดกำไรเป็นศูนย์กลางไม่ใช่แนวทางที่ดีสำหรับนักเก็งกำไร และแน่นอนว่าไม่ใช่สำหรับ VI ด้วย ถ้าอย่างนั้น VI ควรเอาอะไรเป็นตัวชี้วัดดีล่ะ?

เท่าที่ผมทราบมา VI หลายคนวัดความสำเร็จของตัวเองจาก "ขนาดพอร์ต" และตั้งเป้าจะมีพอร์ตสิบล้าน ร้อยล้าน ซึ่งก็ฟังดูน่าตื่นเต้นดี แต่ปัญหาคือ ขนาดพอร์ตขึ้นอยู่กับราคาหุ้น เพราะฉะนั้นตอนหุ้นขึ้นพอร์ตก็โต พอหุ้นลงพอร์ตก็แฟบ เบ็ดเสร็จแล้วเดี๋ยวโตเดี๋ยวแฟบ

ในจังหวะที่ตลาดหุ้นบูม ราคาหุ้นมักเกินมูลค่าที่แท้จริงไปมาก หากเขาคำนวณขนาดพอร์ตของเขาในตอนนั้นก็คงนั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปกับสิ่งที่ไม่มีแก่นสาร หรือในเวลาที่ตลาดตกต่ำ เขาก็อาจหดหู่ไปกับสิ่งที่ไม่มีแก่นสารอีกเหมือนกัน

กลายเป็นว่าปากบอกสนใจ "มูลค่า" แต่กลับวัดความสำเร็จจาก "ราคา" เลยเป็นพวกมือถือสาก ปากถือศีลไป แล้วเก่งกว่าแมงเม่าตรงไหนเนี่ย?!

การจดจ่ออยู่กับขนาดพอร์ตทำให้เรามัวสนใจแต่ "การเติบโตของราคาหุ้น" โดยอาจละเลยเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญไป เช่น ค่า P/E ที่สูงลิ่ว, การก่อหนี้ของบริษัท หรือเงินปันผล เป็นต้น ซึ่งบ่อยครั้งที่ราคาหุ้นเติบโตดีเฉพาะในตลาดขาขึ้น แต่พองานเลี้ยงเลิก ราคาหุ้นก็ปักหัวลง แล้วเราถึงค่อยมาคิดได้ว่า "เราไม่ได้รวยอย่างที่คิดนี่หว่า"


ตัวชี้วัดที่แนะนำ


ผมเห็นว่า VI ที่ดีไม่ควรวัดความสำเร็จของตัวเองจากขนาดพอร์ต แต่ควรวัดจากอะไรที่มีแก่นสารมากกว่านั้น หากคุณเป็น VI ที่เก่งจริงๆ และมั่นใจกับการคำนวณมูลค่า ตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ

มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น x จำนวนหุ้น


จากนั้นจับหุ้นทุกตัวบวกกัน ก็จะได้มูลค่าที่แท้จริงของพอร์ต

หรือไม่อย่างนั้นก็ใช้ตัวเลขกำไร (earning per share) ของหุ้นแต่ละตัวก็ได้ เช่น

EPS x จำนวนหุ้น


จับหุ้นทุกตัวบวกกัน ก็จะได้ total earning ของพอร์ต ซึ่งคิดเสมือนว่าคุณสามารถ "ชักส่วนแบ่ง" กำไรจากที่บริษัททำมาหาได้มาเป็นของคุณเองโดยตรง

หรือไม่ก็หาตัวเลขกระแสเงินสดจากเงินปันผล (dividend per share)  เช่น

DPS x จำนวนหุ้น


พอจับทุกตัวบวกกัน ก็จะได้กระแสเงินสดที่จะเข้ากระเป๋าของเราในแต่ละปี อันนี้จับต้องได้ด้วย หรือถ้าใครอยากใช้กระแสเงินสดอื่นๆ เช่น free cash flow ก็ได้เช่นกัน

สังเกตว่าตัวชี้วัดความสำเร็จที่ผมแนะนำมานี้ ไม่สั่นไหวไปกับราคาหุ้นหรือสภาวะตลาด จึงเหมาะสมกับ VI มากกว่าการใช้ขนาดพอร์ตแบบเสี่ยหุ้นทั่วไป ชอบแบบไหนก็ลองหยิบไปใช้ดูได้ครับ

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คิดแบบพ่อครัว


วันหนึ่งผมออกไปทานอาหารนอกบ้านกับเพื่อน ขณะที่กำลังเลือกดูเมนูอาหารอยู่นั้น ผมก็พูดขึ้นมาว่า "เอาผัดผักรวมมิตรดีมั๊ย?" เพื่อนผมซึ่งเป็นคนทำกับข้าวเก่งก็รีบบอกว่า "อย่าเลย ผักพวกนี้กำนึงไม่กี่บาท ใส่หมูนิดเดียว ทำเองโยนลงกระทะโครมๆ เดี๋ยวเดียวก็เสร็จแล้ว สั่งอะไรยากๆ ดีกว่า ของพวกนี้เอาไว้ทำกินเองเหอะ"...

ผมคิดว่าคงมีหลายคนที่มีประสบการณ์ทำนองนี้ อาหารง่ายๆ อย่างเช่น ไข่เจียว ผัดผัก หรือหมูทอดกระเทียม บ่อยครั้งที่ถูกสกัดกั้นไม่ให้โผล่ขึ้นมาบนโต๊ะอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะเมื่อไปทานกับคนที่ทำกับข้าวเป็น นั่นก็เป็นเพราะพวกเขาสวมหมวกพ่อครัวและมองว่า "ไม่คุ้ม"

เพื่อนของผมไม่เพียงสวมหมวกพ่อครัวในขณะที่เป็นลูกค้า แต่เขายังคงสวมมันในยามที่เป็นนักลงทุนด้วย เขาบอกว่าเขาชอบหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพราะถึงอย่างไรคนเราก็ต้องกิน และร้านพวกนี้ก็ขายอาหารได้แพงๆ ทั้งที่ต้นทุนจริงไม่เท่าไหร่ กำไรของร้านอาหารจึงน่าจะมากมายมหาศาล เขายังบอกอีกว่าเขาได้ซื้อหุ้นในกลุ่มอาหารบางตัวไว้และรู้สึกมั่นใจกับมันมาก


มุมมองเจ้าของร้าน


ผมไม่อยากทำให้อาหารมื้อนั้นหมดอร่อยจึงไม่ได้ว่าอะไรต่อ แต่ที่จริงแล้วผมอยากบอกเขาว่า มุมมองของ "พ่อครัว" กับมุมมองของ "เจ้าของร้านอาหาร" นั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก

มุมมองของพ่อครัวจับจ้องอยู่ที่อาหาร กำไรที่พ่อครัวคิดจึงเป็นการเอาราคาขายหักด้วยต้นทุนวัตถุดิบ หรืออย่างมากก็คิดค่าแก๊สเข้าไปด้วย (อย่างน้อยก็เพื่อนของผมคนนึงล่ะที่คิดแบบนี้) ทั้งที่จริงกิจการร้านอาหารยังมีต้นทุนอย่างอื่นอยู่อีกไม่น้อย ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในการสร้างแบรนด์ ค่าตกแต่งร้าน ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น กิจการร้านอาหารยังมีต้นทุนแอบแฝงอยู่อีก เช่น วัตถุดิบที่เหลือทิ้งหรือเสื่อมสภาพ ค่าข้าวของเสียหาย ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ เป็นต้น ส่วนการทำกำไรก็จะมีบางวันหรือบางช่วงเวลาที่ขายดี อย่างบางวันฝนตกก็อาจขายได้น้อย การประเมินกำไรต้องมองให้รอบด้านและคิดภาพรวมให้ครบถ้วน ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมต้องอยู่ในใจของเจ้าของร้านทั้งสิ้น

นักลงทุนอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของบริษัท จึงจำเป็นต้องฝึกฝนตัวเองให้รู้จักมองกิจการจากในมุมของเจ้าของ และในการที่จะทำเช่นนั้นได้พวกเขาก็ต้องมีความรู้ทางธุรกิจ แต่ที่ว่าอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องมีความรู้ฟิ๊ตเปรี๊ยะในระดับที่จะไปเปิดร้านอาหารได้เสียก่อนถึงจะตั้งต้นซื้อหุ้นกลุ่มนี้ได้ เราอาจค่อยๆ เรียนรู้ไปและสะสมหุ้นไปก็ได้ แต่คนที่ทำการบ้านมาก่อนก็จะมีความได้เปรียบและมีความปลอดภัยมากกว่าคนที่ลงทุนไปเรียนรู้ไป

การรู้ "ตื้นลึกหนาบาง" ในตัวกิจการเป็นทีเด็ดของนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI และเป็นเสมือนเกราะคุ้มครองที่ทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยในตลาดหุ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อคนทั่วไปมีความรู้แค่ "ผิวๆ" ซึ่งได้จากการอ่านบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ หรือบางคนก็ไม่อ่านอะไรเลยเสียด้วยซ้ำ

ในการลงทุนในตลาดหุ้นให้ได้ผลตอบแทนดีๆ คุณไม่จำเป็นต้องเก่งกาจผิดมนุษย์มนาแต่อย่างใด คณิตศาสตร์ที่จำเป็นก็อาจจะแค่เลขมัธยมต้น ความรู้บัญชีก็เอาแค่พื้นฐานก็พอ...

สิ่งสำคัญจริงๆ ก็คือ ขอให้รู้จัก "ลงทุนลงแรง" ใส่ความพยายามเข้าไปในจุดที่เหมาะสม และเรียนรู้ธุรกิจด้วยมุมมองเจ้าของกิจการ


มุมมองเรื่องความยากง่าย


อีกประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นจากสุดยอดพ่อครัวเพื่อนผมคือ บางทีคนเราก็มองข้ามอะไรที่มัน "ง่ายๆ แต่ได้ผล" อาหารอร่อยไม่จำเป็นต้องทำยากหรือซับซ้อน และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ "คุณจะสั่งของที่ไม่อยากกินเพียงเพื่อให้คุ้มค่าเท่านั้นน่ะหรือ?" ผมเคยเห็นคนไทยที่อยู่เมืองนอกเดินเข้าร้านอาหารไทยแล้วสั่งเมนูสุดแสนจะเบสิก เช่น ไข่เจียว หรือไก่ย่าง นั่งกินด้วยความปลาบปลื้ม

ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนหลายคนที่ผมรู้จักก็เน้นลงทุนในกิจการง่ายๆ ตัวผลิตภัณฑ์ก็ง่าย ขายแบบเดิมไปทุกปี โครงสร้างบริษัทก็ง่าย ไม่มีการควบรวมหรือถือหุ้นไขว้ไปมาให้ปวดหัว โครงสร้างหนี้สินก็ง่าย ไม่ใช่กู้หนี้ก้อนนู้นโปะก้อนนี้ แถมมีหนี้ไม่รู้กี่สกุลเงิน ... พวกเขาไม่ยอมลงทุนในกิจการ "ชั้นเลิศ" ที่โบรกเกอร์หรือใครๆ เชียร์ พวกเขาจะสั่งเฉพาะอาหารที่พวกเขาอยากกินเท่านั้น! คนอื่นจะคิดเห็นอย่างไรก็ช่างเขา

นอกจากนี้ บริษัทชั้นเลิศของเขาไม่จำเป็นต้องใหญ่โตระดับ SET50 หรือ SET100 ก็ได้ ความจริงดีเสียอีก เวลาเงินทุนต่างชาติไหลเข้าไหลออกจะได้ไม่กระทบกับบริษัทมากนัก การที่บริษัทมีขนาดเล็กทำให้กองทุนจำนวนมากไม่สนใจ ข้อดีก็คือ ไม่ต้องมีคนมาแย่งซื้อหุ้น

บางคนบอกว่าซื้อหุ้นตัวใหญ่ถึงจะดี เพราะจะได้มีกองทุนมาคอยพยุงราคาไม่ให้ผันผวนมาก แต่มันก็ไม่แน่เหมือนกันนะครับ เพราะมีหุ้นบางตัวที่ผลการดำเนินงานแย่ลง กองทุนเลยพร้อมใจกัน "ทิ้ง" แบบไม่สนกำไรขาดทุน เล่นเอารายย่อยร้องจ๊ากกันเป็นแถว ป่านนี้ยังติดดอยกันสลอนก็มีให้เห็นเยอะแยะ

สรุปก็คือ ขนาดของกิจการเป็นเรื่องรอง แม้โดยส่วนตัวผมชอบกิจการที่ไม่ใหญ่โตมากนัก แต่ที่สำคัญคือ กิจการต้องไม่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้าหรือตัวบริษัทก็ตาม


หมวกของคุณ?...


หากคุณตกลงใจซื้อกิจการร้านอาหารเพียงเพราะคิดแบบพ่อครัว บางทีมันอาจลงท้ายด้วยการเจ๊ง เพราะนับแต่วันแรกที่ก้าวเข้าสู่บทบาท "เจ้าของกิจการ" คุณจะคิดเหมือนตัวเองเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในห้องครัวไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องคิดในฐานะเจ้าของร้านที่เห็นภาพรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในร้านของคุณ และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราเห็นธุรกิจร้านกาแฟจำนวนมากเกิดขึ้นด้วยใจรัก แต่แล้วก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะเจ้าของร้านใส่หมวกผิดใบ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นเมื่อคุณซื้อหุ้น ... จริงอยู่ คุณอาจยังมีรายได้หลักมาจากงานประจำ แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณโผล่หัวเข้าไปในตลาดหุ้น บทบาทของคุณก็คือ "เจ้าของบริษัท" ไม่ใช่พนักงานตัวเล็กๆ ที่รอฟังคำสั่งจากเจ้านาย และไม่ว่าสัดส่วนการถือหุ้นจะเล็กกระจ้อยร่อยแค่ไหนก็ตาม คุณก็ควรทำมันให้ดีที่สุด

อย่าประมาทคิดว่าเงินน้อยแล้วไม่ต้องใส่ใจนะครับ คนที่รวยในวันนี้ ก็คือคนที่ดูแลเงินของเขามาตั้งแต่ต้น และเงินมันก็ฉลาดครับ ใครดูแลมัน มันก็วิ่งไปหาคนนั้น ส่วนใครชอบส่งมันไปทำงานโง่ๆ มันก็วิ่งหนี เป็นสัจธรรมในโลกการเงิน