ฟังชื่อแล้วหลายคนอาจสงสัยว่าคราวนี้ผมจะมาเล่าอะไรเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาหรือเปล่า ความจริงแล้วไม่ใช่หรอกครับ ผมยังคงวนเวียนอยู่กับ "หุ้น" และต้นทางของเรื่องนี้ก็ไม่ได้มาจากตลาดหุ้นอีกเช่นเคย เพราะเรื่องสนุกๆ รอบตัวเราสามารถเอามาโยงเข้าตลาดหุ้นได้อยู่เสมอ ส่วนคราวนี้ผมคิดไปถึงเกมครับ
นึกย้อนไปถึงกิจกรรมในสมัยก่อน เกมโปรดอันหนึ่งของผมและเพื่อนๆ ก็คือ "หมากรุก" ไม่ว่าจะเป็นหมากรุกไทย จีน หรือฝรั่ง ใครขนอะไรมาให้เล่นก็เล่นหมด แต่นั่นก็คืออดีต เนื่องจากสมัยนี้เราหาคนมาเล่นหมากรุกด้วยค่อนข้างยากแล้ว แต่ถ้าคุณไม่รังเกียจที่จะเล่นกับคอมพิวเตอร์แล้วล่ะก็ มันก็ไม่มีปัญหาหรอก เพราะโปรแกรมฟรีให้ดาวน์โหลดก็มีเยอะแยะ
อย่างไรก็ตาม คนส่วนมากไม่ค่อยอยากเล่นหมากรุกกับคอมฯ แม้แต่เพื่อนผมที่เป็นเซียนหมากรุกยังบอกว่า "คอมฯ มันเก่งเกินไป เล่นกี่ทีก็แพ้"
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์โลกส่วนมากจึงยอมศิโรราบให้กับหมากรุกคอมพิวเตอร์แต่โดยดี แม้แต่ผมเองก็ยังเรียกโปรแกรมขึ้นมาเล่นแค่พอแก้ขัดยามที่หาคนเล่นด้วยไม่ได้ แล้วก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะอะไร จนกระทั่งเวลาผ่านไป และได้รู้ "ทีเด็ด" ที่จะใช้ต่อกรกับมัน
ทราบหรือเปล่าครับว่า ทำอย่างไรถึงจะ "คว่ำ" เจ้าสมองกลนี้ได้?!
วิธีชนะคอมพิวเตอร์
เซียนหมากรุกทราบกันดีว่า คู่แข่งสมองกลของเขานั้นฉลาดปราดเปรื่องเพียงใด คอมพิวเตอร์ไม่มีการเผลอหรือลืม สำหรับพวกมัน รู้ก็คือรู้ และเมื่อรู้แล้วก็ไม่มีลืม มันสามารถ "จดจำ" รูปแบบการเดินหมากได้สารพัด แถมยังคิดไปล่วงหน้าได้อีกหลายตาในลักษณะของ "what-if" analysis ด้วย
ข่าวดีก็คือ การคิดล่วงหน้าของคอมพิวเตอร์นั้นถูกจำกัดด้วยหน่วยความจำและความเร็วในการประมวลผล มันจึงอาจคิดมองไปข้างหน้าได้ "แค่ในระดับหนึ่ง"
สมมติคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งสามารถคำนวณล่วงหน้าได้ 4 ตาเดิน ก็หมายความว่า มันจะเช็คมาเรียบร้อยแล้วว่าภายใน 4 ตาเดินนี้ เราอาจเดินหมากตอบโต้กับมันอย่างไรได้บ้าง จากนั้นเครื่องก็จะเลือกเอา "ทางเลือกที่ดีที่สุด" สำหรับมันออกมา
หลายคนอาจเริ่มคิดขึ้นมาว่า อ้าว แล้วตาที่ 5, 6 หรือ 7 ล่ะ?...
ใช่แล้วครับ นั่นคือสิ่งที่คอมพิวเตอร์ "มองไม่เห็น" และนั่นก็คือ Horizon Effect หรือ ปรากฏการณ์ขอบฟ้า นั่นเอง ลองจินตนาการถึงตัวเราเองก็ได้ เราอาจขึ้นไปยืนบนยอดเขากวาดสายตามองไปไกลจนสุดลูกหูลูกตา ไกลจนถึงขอบฟ้า เราเห็นทุกอย่าง ... ยกเว้นสิ่งที่อยู่ถัดไปจากขอบฟ้า (horizon: อ่านว่า ฮอ-ไร-ซอน)
วิธีเอาชนะคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน หากเราวาง "กับดัก" เอาไว้ให้ไกลกว่าขอบฟ้า จากนั้นก็หลอกให้มันเดินเข้าไปติดกับได้ เพียงเท่านี้เราก็สามารถคว่ำคอมพิวเตอร์ที่ใครๆ ประหวั่นพรั่นพรึงได้แล้ว
Horizon ในเกมหุ้น
ปรากฏการณ์ขอบฟ้ามีอยู่ในโลกของการลงทุนเช่นเดียวกัน นักเล่นหุ้นที่มองสถานการณ์วันต่อวันย่อมมี horizon ที่สั้น (เช่น 2-3 วัน) พวกเขาจะไม่เห็นสิ่งที่อยู่ไกลกว่านั้น ไม่ว่ามันจะใหญ่โตมโหฬารแค่ไหน หากมีข่าวร้ายออกมา เช่น แบงก์ชาติญี่ปุ่นเตรียมลดจำนวนเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ พวกเขาก็จะ "ตีความ" เอาง่ายๆ แค่ว่า มันเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย ถ้าเป็นข่าวร้ายก็หุ้นลง ... ขาย!
นักลงทุนที่มี horizon ยาวไกลกว่านี้อาจมองแนวโน้มที่ใหญ่ขึ้น พวกเขาดูภาพรวมของเศรษฐกิจ และถ้าเป็นบริษัทก็จะดูว่าแนวโน้มธุรกิจยังดีอยู่หรือไม่ แน่นอน พวกเขายังคงรับฟังข่าวสารเหมือนกับคนอื่นๆ เพียงแต่พวกเขา "ตีความ" ด้วยมุมมองและความใส่ใจที่แตกต่างออกไป และที่คนกลุ่มนี้มองเห็นสิ่งที่คนกลุ่มแรกไม่เห็น ก็เนื่องจากพวกเขามี horizon ที่ยาวกว่านั่นเอง
อาจพูดได้ว่า คนที่มี horizon ยาวกว่าย่อมมีความได้เปรียบเหนือคนที่มี horizon สั้น คิดเอาง่ายๆ สมมติผมจัดแมตช์หมากรุกให้คอมพิวเตอร์ 2 ตัวแข่งขันกัน ตัวหนึ่งมี horizon 4 ตาเดิน ส่วนอีกตัวมี horizon 20 ตาเดิน ไม่ต้องบอกก็คงรู้ใช่ไหมครับว่าคอมฯ ตัวหลังจะไล่ยำตัวแรกเละเทะขนาดไหน
ในทำนองเดียวกัน หากนักลงทุนที่มี horizon สั้นปะทะกับนักลงทุนที่มี horizon ยาว (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น) คนกลุ่มแรกก็จะหยิบฉวยผลประโยชน์สั้นๆ เมื่อหยิบได้มาแล้วก็เอาไปแจกจ่ายให้โบรกเกอร์ ส่วนที่เหลือเก็บไว้เองก็มีแค่เพียงเล็กน้อย บางครั้งพลาดไปโดน "กับดัก" ที่รออยู่ไกลกว่า horizon เท่าที่พวกเขามองเห็น ก็เจ็บเนื้อเจ็บตัวกันไป
ขณะที่นักลงทุนกลุ่มที่สองก็อาจหยิบฉวยผลประโยชน์ระยะสั้นด้วยเหมือนกัน แต่พวกเขาก็จะเลือกเฉพาะอันที่ไม่มีกับดักรออยู่ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเจ็บตัวก็มีน้อยลง นอกจากนี้การที่พวกเขามี horizon ที่ยาวไกลขึ้นก็เปิดโอกาสให้หยิบฉวยประโยชน์จาก "ภาพใหญ่" ได้ด้วย กล่าวคือ พวกเขาไม่ได้มองแค่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงในวันพรุ่งนี้ แต่มองภาพใหญ่ว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัว อัตราภาษีต่ำ ผลประกอบการของบริษัทน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ และตามหลักเหตุผลแล้วราคาหุ้นก็น่าจะยังเป็นขาขึ้นต่อไป เป็นต้น
มิติอื่นของ Horizon
นอกจาก horizon ในมิติของเวลาแล้ว ยังมี horizon ในมิติอื่นๆ ที่เราควรคำนึงถึงอีกด้วย
ตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่ง ได้แก่ horizon ในมิติของกลยุทธ์ บริษัทบางแห่งมีผลประกอบการดีมาอย่างต่อเนื่อง สินค้าได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี มีสถานะทางการตลาดเข้มแข็ง ซึ่งนักลงทุนที่มี horizon สั้นๆ ก็จะเห็นแค่นี้
อย่างไรก็ตาม หากมองให้ลึกลงไปก็จะเห็นว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทที่เติบโตอย่างน่าพอใจนั้น มีกุญแจหลักอยู่ที่ความร่วมมือทางธุรกิจ กล่าวได้ว่า ความร่วมมือกับพันธมิตรเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จอันนี้ และเมื่อเจาะลึกเข้าไปที่พันธมิตร เราอาจพบว่าพันธมิตรรายนี้กำลังดำเนินงานบางอย่างที่คล้ายคลึงกันกับบริษัทที่เราสนใจ และมีความเป็นไปได้ที่เขาจะ "เลิกความสัมพันธ์" และหันมาแข่งขันด้วยในอนาคต
นี่คือ "กับดัก" ที่อยู่ไกลกว่า horizon ของนักลงทุนบางราย และแน่นอนว่าพวกเขาจะต้องโดนดักตีหัวเข้าสักวัน หากว่ายังคงมองแค่สั้นๆ
อีกตัวอย่างหนึ่งเป็น horizon ในมิติของผู้บริหาร บางบริษัทมีภาพลักษณ์ที่ดูดี ผู้บริหารสูงสุดเป็นคนมีความสามารถ สุภาพ และจริงใจ เมื่อใดที่เขาออกงานสังคม ทุกคนก็ล้วนแต่ชื่นชม และก็ไม่แปลกหากนักลงทุนที่มี horizon สั้นๆ จะเห็นเพียงเท่านี้
ทว่านักลงทุนที่รอบคอบจะเจาะลึกลงไปถึงฝ่ายบริหาร "ทั้งทีม" พวกเขาคอยติดตามผู้บริหารท่านอื่นๆ ด้วยว่าใครรับผิดชอบอะไร ท่าทีของทีมบริหารเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ใครเป็นผู้มีอิทธิพลชี้นำ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญและเป็นความรู้ที่ต้องรวบรวมจากหลายแหล่ง โดยเฉพาะจากการประชุมผู้ถือหุ้น งานพบปะนักลงทุน และการให้สัมภาษณ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ (แน่นอนว่าไม่มีในสรุปข้อมูลทางการเงิน หรือในบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์)
การที่เรารู้จักฝ่ายบริหารเป็นอย่างดีจะทำให้สามารถคาดเดาได้ว่า พวกเขาจะตัดสินใจอย่างไร และการกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อบริษัทในแง่บวกหรือแง่ลบ หากผู้บริหารหลายคนเป็นพวกคร่ำครึหัวโบราณ พวกเขาอาจทำให้การบริหารงานของบริษัทฝืดกว่าที่ควร และนี่ก็เป็นกับดักที่คน horizon ยาวเท่านั้นที่จะเห็น
ไม่ใช่แค่ "มุมมอง" และ "ความรู้"
แม้มุมมองและความรู้จะเป็นตัวหลักที่กำหนด horizon ของเรา แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า "อคติ" ที่เรามี ก็มีส่วนสำคัญในการกำหนด horizon ด้วย บางครั้งเราอาจพรั่งพร้อมด้วยความรู้และความสามารถ แต่มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากเราเต็มไปด้วยอคติ
"คนเรามักเห็นอย่างที่อยากจะเห็น"
เพราะฉะนั้นถ้าเรามีจิตใจฝักใฝ่ไปแล้วว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้เป็นอย่างไร อคติของเราก็จะตามไปบิดเบือนการตีความและบั่นทอน horizon จนทำให้มองไม่เห็นระเบิดเวลาที่วางอยู่โต้งๆ เรามองไม่เห็นสิ่งที่ควรจะเห็น!
ลองนึกทบทวนดูก็ได้ครับ ที่เราเคยเจ๊งหุ้นมาในอดีตเกิดจาก Horizon Effect กันบ้างหรือไม่
หมายเหตุ ภาพประกอบจาก colourbox.com