เคยสังเกตสิ่งของที่อยู่รอบตัวเราบ้างไหมครับ บางชิ้นยิ่งอยู่นานยิ่งมีมูลค่า แต่บางชิ้นอยู่ไปนานๆ ก็กลายเป็นขยะ แม้เรื่องแบบนี้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ความฉลาดและรู้เท่าทันก็ช่วยให้เรา "รวยเร็วขึ้น" ได้ง่ายๆ ครับ
ทั้งนี้ ผมจะยกตัวอย่างของใช้ที่มูลค่าของมันมีความอ่อนไหวกับเวลา และมีรูปแบบ (pattern) ที่แตกต่างกันไป จากนั้นจะชี้ให้เห็นว่าความมั่งคั่งของคุณหายไปไหน ซึ่งถ้าเข้าใจแนวคิดนี้ คุณก็ย่อมรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะอุดช่องว่างและรวยได้เร็วขึ้น ในตอนท้ายผมจะบอกว่าซื้ออะไร ยิ่งซื้อยิ่งรวย และเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
เรามาเริ่มกันที่ของใช้ก่อนเลย
รถยนต์
รถยนต์เป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะรถยนต์ใหม่ เพราะทันทีที่คุณถอยรถออกมาจากโชว์รูม รถยนต์ราคา 600,000 บาท จะมีราคาลดฮวบลงในบัดดล และยิ่งคุณใช้งานมันนานไป มูลค่าของมันก็ยิ่งลดลง แต่จะเป็นอัตราที่ไม่เร็วมากนักเมื่อเทียบกับตอนที่ออกรถใหม่
สิ่งหนึ่งที่คุณอาจลืมไป คือ รถยนต์ของคุณจะยิ่งมีมูลค่าลดลง ถ้ามันชนบ่อยหรือเคยเกิดอุบัติเหตุรุนแรง นั่นเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความมั่งคั่งของคุณลดลงเร็วกว่าที่ควร ลองเทียบเส้นประสีน้ำเงินกับสีแดงดูนะครับ
เมื่อควักเงินซื้อรถยนต์ คุณเอาความมั่งคั่งของตัวเองส่วนหนึ่งไปฝากไว้ที่รถ (และสำหรับคนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดเป็นสัดส่วนที่มากด้วยเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งทั้งหมด) ดังนั้น ถ้าตัวคุณหรือญาติมิตรมีความรู้หรือเปิดร้านซ่อมรถ ก็อาจเลือกซื้อรถมือสองสภาพดีและไม่เก่ามากนัก ซึ่งจะทำให้หลีกเลี่ยงการสูญเสียความมั่งคั่งหลังออกรถใหม่ได้
ในขณะเดียวกัน คุณก็ควรรู้ว่าเมื่อรถเก่ามากๆ ค่าซ่อมก็จะแพง เพราะฉะนั้น กลยุทธ์ที่ดีจึงอาจเป็นการซื้อรถมือสองสภาพดีอายุ 2-3 ปี และขายทิ้งเมื่ออายุรถขึ้นไปถึง 12-13 ปี ระหว่างนั้นก็พยายามขับอย่างระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงในการเฉี่ยวชน
การเฉี่ยวชนนอกจากเป็นการลดมูลค่าของรถยนต์แล้ว ยังอาจต้องจ่ายค่าซ่อม และยังทำให้ค่าเบี้ยประกันแพงขึ้นอีกด้วย คิดไปคิดมาแล้วเสียหลายเด้งเลยนะครับ
สินค้าเทคโนโลยี
ความจริงสินค้าเทคโนโลยีในยุคนี้กินความหมายค่อนข้างกว้าง เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า กล้องถ่ายรูปดิจิตอล ฯลฯ แต่ผมขอเน้นไปที่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีการเปลี่ยนรุ่นกันค่อนข้างเร็ว
คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเป็นสินค้าที่เปลี่ยนรุ่นเร็ว การซื้อโน้ตบุ๊ก "รุ่นล่าสุด" เป็นการซื้อเทคโนโลยี ถ้าคุณไม่มีความจำเป็นต้องใช้ชิพเซ็ตใหม่สุดๆ หรือตัวเครื่องที่เบาสุดๆ ก็น่าจะหลีกเลี่ยงการจ่ายแพงเกินควรด้วยการขยับจุดซื้อจากจุด A ไปเป็นจุด B หรือพูดอีกอย่างก็คือ ซื้อรุ่นใหม่ แต่ไม่ต้องซื้อรุ่นล่าสุด
นอกจากนี้ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ชอบโหลดนู่นโหลดนี่มาเก็บไว้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อหน่วยความจำเยอะๆ มาเพิ่ม เพราะมีโอกาสสูงที่ซื้อเพิ่มแล้วก็ไม่ได้ใช้
ทั้งนี้รวมถึงข้อเสนอที่ให้ซื้อประกันเพิ่ม เช่น จ่ายเพิ่ม 2,000 บาท เพื่อประกันโน้ตบุ๊กเพิ่มอีก 1 ปี ซึ่งมีโอกาส "ไม่คุ้ม" สูงมาก เมื่อเทียบกับราคาเครื่องและโอกาสที่จะได้ใช้บริการ อย่าลืมว่ากรอบเวลาของความคุ้มครองมีแค่ 1 ปี และที่จริงคุณสามารถเก็บเงินนั้นไว้กับตัว แล้วค่อยจ่ายถ้าโน้ตบุ๊กพังจริงในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้
ถ้าไม่อยากสูญเสียความมั่งคั่งโดยไม่จำเป็น ผมแนะนำให้เก็บมันไว้ในรูปเงินสด ดีกว่าเก็บไว้ในรูปของสินค้าเทคโนโลยี
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะสินค้าในตระกูล ไอ...
Pattern หรือรูปแบบของสินค้าตระกูลไอ มีความแตกต่างจากสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ เพราะมันเป็นอุปกรณ์กึ่งเทคโนฯ กึ่งแฟชั่น วงจรชีวิตของมันสั้นกว่าขีดความสามารถที่แท้จริงของตัวฮาร์ดแวร์ เนื่องจากระยะเวลาวางขายขึ้นอยู่กับการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ๆ ตลอดจนระบบปฏิบัติการที่ขยับให้ทันสมัยขึ้นไปเรื่อยๆ มากกว่า
สมมติคุณซื้อโทรศัพท์ "ไอคอล 4" มาใช้ ในช่วงแรกมูลค่าของมันจะลดลงช้าๆ แต่ทันทีที่บริษัทผู้ผลิตเปิดตัวโทรศัพท์ "ไอคอล 4S" มูลค่าโทรศัพท์ของคุณก็จะลดฮวบทันที ค่าที่คนหันไปสนใจและอยากซื้อโทรศัพท์รุ่นใหม่มากกว่า และยิ่งต่อมามีการเปิดตัว "ไอคอล 5" คราวนี้มูลค่าก็ยิ่งตกลงไปอีก
นี่ยังไม่นับแผ่นกันรอย เคสกันกระแทก และสินค้ากระจุกกระจิกอื่นๆ ที่คุณจะต้องเตรียมเงินไว้ซื้อตามไป โดยเฉพาะถ้าคุณชอบ "อัพเดต" ตัวเองให้ทันสมัยและใช้ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา
ยิ่งซื้อยิ่งรวย
ของใช้ที่ลดความมั่งคั่งบางอย่างเป็นของ "จำเป็น" หรือไม่ก็ช่วยให้ประหยัดในด้านอื่นได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนมากแล้วมันก็เป็นแค่ของที่เรา "อยากได้" เสียมากกว่า
มีของบางอย่างเหมือนกันที่เรา "ยิ่งซื้อยิ่งรวย"... นั่นก็คือ สินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าได้ตามเวลา หรือสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดได้ ตัวอย่างชัดๆ คือ อสังหาริมทรัพย์ กับอีกอย่างก็คือ หุ้น
อสังหาริมทรัพย์
เริ่มจากอสังหาริมทรัพย์ ผมแบ่งออกเป็น ที่ดิน และ สิ่งปลูกสร้าง
ในส่วนของที่ดินจัดว่ามีค่าดูแลรักษาต่ำ อาจจะมีค่าล้อมรั้ว จ้างคนมาเฝ้า จ้างคนมาตัดหญ้า ฯลฯ แต่ก็ต้องถือว่าน้อยกว่าการบำรุงรักษาบ้านหรืออาคารอยู่มาก และโดยปกติถ้าเราไม่ทะลึ่งไปซื้อตอนฟองสบู่จริงๆ เมื่อซื้อมาแล้วราคาก็มักจะมีแต่สูงขึ้น
ที่ดินเปล่ามีโอกาสสร้างกระแสเงินสดได้น้อย ปล่อยเช่าก็ไม่ค่อยคุ้ม ส่วนมากเราจึงมองที่ดินเป็นสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าตามเวลาเป็นหลัก
หันมาดูสิ่งปลูกสร้างกันบ้าง แม้ใครหลายคนจะบอกว่า "บ้าน" นับวันมีแต่จะแพงขึ้น แต่ที่จริงแล้ว ส่วนที่แพงขึ้นนั้นเป็นเพราะ "ที่ดิน" ที่บ้านไปยืนอยู่เสียมากกว่า ลำพังตัวอาคารเองเมื่อเวลาผ่านไปก็ย่อมเก่าลง หรือพูดแบบนักบัญชีก็บอกว่ามีการ "เสื่อมราคา" อีกทั้งต้องมีค่าบำรุงรักษาอีกด้วย
สิ่งปลูกสร้างที่เป็นอาคาร ไม่ว่าจะเป็นตึกแถว บ้าน คอนโดมิเนียม โชว์รูม ฯลฯ สามารถปล่อยเช่าเพื่อสร้างกระแสเงินสดได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน และส่วนมากจะชนะค่าเสื่อมราคากับค่าบำรุงรักษาได้ด้วย จะมีก็แต่สิ่งปลูกสร้างที่เราใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ (แต่ก็ต้องมีไว้!) และบ้านที่เราอยู่อาศัยนั้น แม้ที่ดินจะมีราคาสูงขึ้นเราก็มักจะไม่ขาย มีแต่จะนั่งทับความมั่งคั่งไว้เฉยๆ ผมจึงบอกกับญาติมิตรเสมอว่า ซื้อบ้านอยู่เองไม่ต้องหรูมาก เอาให้อยู่สบายก็พอ
เมื่อผนวกเอาคุณสมบัติของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าด้วยกัน เราก็จะเห็นว่า อสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าตามเวลาและสร้างกระแสเงินสดได้ด้วย
หุ้น
หุ้นก็เช่นเดียวกัน หุ้นของบริษัทที่มีผลกำไรเติบโตในระยะยาวก็จะมีราคาสูงขึ้น นี่คือคุณสมบัติของการเพิ่มมูลค่าตามเวลา และในขณะเดียวกันหากมันเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผล มันก็มีคุณสมบัติของการสร้างกระแสเงินสดควบคู่ไปด้วย
สิ่งที่เป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ คือ พวกเขาคิดว่าตลาดหุ้นมีความไม่แน่นอน ราคาหุ้นมีขึ้นมีลง แล้วคุณสมบัติ "การเพิ่มมูลค่าตามเวลา" ของหุ้นจะยังเป็นจริงอยู่หรือ?
คีย์เวิร์ดของเรื่องนี้อยู่ที่คำว่า "ระยะยาว" ครับ
จริงอยู่ในระยะสั้นหุ้นอาจตกฮวบฮาบหรือวิ่งทะลุฟ้า แต่เชื่อไหมว่าการเคลื่อนไหวที่ไร้เหตุผลนั้นคงอยู่ได้ไม่นานหรอก การผลักดันราคาหุ้นที่ฝืนธรรมชาติหรือสวนทางกับผลประกอบการ ในไม่ช้าก็ต้องพ่ายแพ้ เหมือนกับการพยายามกดลูกปิงปองให้จมน้ำ ถ้าคุณเคยทำก็จะรู้ว่ามวลอากาศที่อยู่ในลูกปิงปองมัน "สู้" กับคุณขนาดไหน
เพราะฉะนั้นถ้าผลกำไรของบริษัทดีจริง ในระยะยาวมันจะกดดันให้ราคาหุ้นต้องสูงขึ้น ระวังแค่ว่าอย่าไปซื้อตอนที่มันแพงอย่างบ้าคลั่งเท่านั้นเอง
กลับมาดูในแง่ของการสร้างกระแสเงินสด คนจำนวนไม่น้อยตกหลุมพรางของบริษัทที่จ่ายเงินปันผลหนักๆ แต่จ่ายไม่สม่ำเสมอ ถ้าเป็นเรื่องนี้ คีย์เวิร์ดอยู่ที่ความ "สม่ำเสมอ" ครับ
การที่บริษัทจะจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอนั้นขึ้นอยู่กับ 2 ประเด็น ซึ่งอย่างแรกคือ นโยบาย การจ่ายเงินปันผลว่าจะจ่ายกี่เปอร์เซ็นต์ของกำไรสุทธิ เราก็ต้องย้อนกลับไปดูว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา บริษัทจ่ายได้ตามที่ระบุไว้หรือไม่ จากนั้นก็มาดูประเด็นที่สองว่า บริษัทมี ผลกำไร ที่สม่ำเสมอดีหรือไม่ ต่อเมื่อผ่านทั้งสองประเด็น จึงจะวางใจได้ว่ากระแสเงินสดมีความมั่นคง
และนี่ก็คือสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าตามเวลาและสร้างกระแสเงินสดอีกประเภทหนึ่ง หุ้นลักษณะนี้มีอยู่ในตลาดเกือบตลอดเวลา เพียงแต่มันอาจจะไม่เร้าใจหรือเตะตาสักเท่าไหร่
ต่อจากนี้...
มาถึงตรงนี้ก็คงเห็นกันแล้วว่า มีช่องว่างให้อุดมากมายรอบๆ ตัวเรา และแนวคิดของการ "รวยขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป" ก็ต้องอาศัยการลงมือทำ ไม่ใช่ว่าแค่ฟังๆ แล้ว เออ ดีนะ แต่ไม่ลงทุนลงแรงอะไรเลย ถ้าแบบนั้นมันไม่รวยน่ะครับ
เริ่มจากก้าวแรกช้าๆ ...แต่มุ่งสู่เป้าหมาย อย่าปล่อยให้กิเลสหรือความขี้เกียจดึงเราไว้