วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเดินทางของมด


หลังจากน้ำท่วมโผล่มาขู่เข็ญแถวบ้านผมอยู่พักหนึ่ง สิ่งที่ผมสังเกตได้คือบ้านของผมมีมดเยอะขึ้น และเริ่มมารังควานตั้งแต่ครัวไปจนถึงห้องนั่งเล่น ไม่ได้โอเว่อร์นะครับ ขณะเขียนบล็อกอยู่นี่มันยังเดินผ่านมาขึ้นมาแสดงตัวบนหน้าจอตัวนึงเลย อายุยืนจริงๆ มันทำให้ผมนึกไปถึงวันหนึ่งที่มองลงมาจากตึกสูงและนึกถึงปรัชญาการลงทุนได้ ...จะเล่าให้ฟังครับ

ผมมองลงมาจากตึกและเห็นชายสองคนกำลังเดินอยู่บนถนนข้างล่าง (อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นคู่เกย์นะครับ นั่นไม่ใช่ประเด็น) สองคนที่ว่านั้นตัวเล็กราวกับมดเดินต้วมเตี้ยมไปทีละน้อย เผลอแป๊บเดียวที่ผมละสายตาไปมองอย่างอื่น หันกลับมาอีกที อ้าว เดินไปไหนแล้วเนี่ย ไกลเชียว ไม่น่าเชื่อเลยว่าคนตัวเล็กๆ (จากมุมมองของคนบนตึกสูง) จะเดินไปได้ไกลถึงขนาดนั้นในชั่วเวลาไม่นาน นึกเทียบกับ "มด" ซึ่งเดินทางออกหาอาหารเป็นระยะทางยาวไกลมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับขนาดตัวของพวกมัน แล้วพานคิดไปว่าการเดินทางของมดนั้นเป็นเรื่องน่าทึ่งจริงๆ

ความพยายามของมดในการเดินทางเมื่อเทียบกับความพยายามของหลายคนในการสร้างฐานะแล้ว ผมคิดว่าไม่แตกต่างกัน แม้คุณจะลงทุนไม่เป็นเลย เอาแต่เก็บออมอย่างเดียว แต่ตั้งหน้าตั้งตาเก็บออมไม่วอกแวก เผลอไม่นานคุณก็จะมีเงินเก็บเยอะแยะเสียแล้ว เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับตัวผมเองครับ

ในช่วงแรกของชีวิตการทำงาน ผมไม่มีภาระอะไรมากมาย ทำงานเสร็จก็กลับบ้าน นานๆ ทีจึงจะแวะห้างซื้อของ ชีวิตก็มีความสุขดี ไม่จำเป็นต้องคอยซื้อมือถือรุ่นใหม่มาประดับบารมีหรือไปนั่งเท่จิบกาแฟแพงๆ ในร้านเก๋ๆ สมัยนั้นผมไม่รู้เรื่องลงทุนเลย เงินเดือนไม่มาก แต่ได้มาก็อยู่ในธนาคารทั้งหมด ผมเองไม่ค่อยได้ใส่ใจกับมันมากนัก เพียงแต่กดออกมาใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น

ผ่านไปสองปีกว่า เงินกองอยู่ในธนาคารเป็นแสนๆ จนแม่ต้องไล่ให้ไปเปิดบัญชีฝากประจำและบอกว่าบัญชีบัตร ATM ไม่ควรมีเงินสดมากเกินไป ว่าไปแล้วการเก็บออมดังกล่าวสำหรับผมแล้วถือว่าเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะไม่ต้องทำอะไรเลยมันก็ออมแล้ว การใช้จ่ายเสียอีกเป็นเรื่องยาก เพราะต้องคิดว่าจะซื้ออะไรดีแถมยังต้องเดินทางไปซื้ออีก

การเก็บออมของผมเหมือนกับมดน้อยตัวหนึ่งที่เดินทางทีละก้าวอย่างช้าๆ จนไม่มีใครสังเกต แม้กระทั่งตัวของผมเอง แต่เมื่อหันกลับมาดูอีกที อ้าว เก็บได้ขนาดนี้แล้วหรือนี่ ทุกวันนี้ยังนึกเสียใจว่าถ้ารู้เรื่องลงทุนตั้งแต่สมัยนั้นแล้วแบ่งเงินไปลงทุนบ้างคงจะมีตังค์มากกว่านี้ เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น มีภาระมากขึ้น ก็มีรายจ่ายมากขึ้น จริงอยู่ ผมยังใช้ชีวิตไม่ต่างไปจากเดิม แต่การจะเก็บออมให้ได้ขนาดนั้นคงทำได้ยากเสียแล้ว

ข้อคิดที่ผมต้องการบอกคือ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ เก็บออมไว้ก่อนเถอะครับ นี่เป็นช่วงชีวิตที่ดี และยิ่งถ้าคุณรู้จักลงทุนอย่างถูกวิธีด้วย ชีวิตข้างหน้าจะสวยสดงดงามขึ้นมาก แต่ใครที่ทำงานมานานก็อย่าเพิ่งท้อใจนะครับ การลงทุนเริ่มต้นได้เสมอ ไม่มีวันที่สายเกินไป เพียงแต่เริ่มเร็วก็ดีกว่า ก็เท่านั้น

ปรัชญาการลงทุนที่ผมขอนำเสนอคือ "ลงทุนให้ถูกวิธี และลงทุนไปเรื่อยๆ" เหมือนกับมดที่เดินทีละก้าว กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็มีเงินงอกเงยขึ้นมาไม่รู้เท่าไหร่ ส่วนลงทุนอย่างไรให้ถูกวิธี ลงทุนอย่างไรให้ฉลาด ผมจะนำเสนอเป็นระยะๆ และถ้าใครชอบการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ value investment (VI) ผมร่วมกับเพื่อนทำเว็บ ClubVI.com ขึ้นมาเป็นช่องทางให้ความรู้ ลองแวะเข้าไปดูกันได้ครับ

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โมเดลการรวยด้วยแก้ว 3 ประการของ ดร.นิเวศน์


คงจะไม่ผิดถ้าจะบอกว่าคนส่วนใหญ่มีความ "อยากรวย" อยู่ในใจ คนจนที่หาเช้ากินค่ำก็อยากมีเงินล้าน พนักงานออฟฟิศก็อยากสุขสบายมีรถหลายคันมีเงินหลายล้าน ส่วนคนที่รวยอยู่แล้วก็อยากรวยยิ่งขึ้น แต่ความอยากเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เราจะต้องรู้วิธี และเมื่อรู้วิธีแล้วก็จะต้องทำด้วย

ผมเคยอ่านบทความของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ซึ่งนอกจากจะเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าชั้นแนวหน้าของเมืองไทยแล้วยังเป็นบุคคลต้นแบบหรือ idol ของนักลงทุนรุ่นใหม่จำนวนมาก ท่านกล่าวถึง "แก้ว 3 ประการของการลงทุน" ไว้ได้อย่างดีตามลิงก์ด้านล่างนี้ ผมจึงไม่ขอพูดซ้ำมากมาย ถ้าใครยังไม่เคยอ่านผมแนะนำให้ลองอ่านดูก่อน แล้วเดี๋ยวเรามาว่ากันต่อว่าแก้วแต่ละดวงมันมาได้อย่างไร แต่สิ่งที่ผมอยากเน้นย้ำมากๆ คือ โปรดอ่านอย่างตั้งใจ ถ้าอยากอ่านซ้ำหรือ print ไปแปะฝาบ้านได้ยิ่งดี เพราะยิ่งคุณทุ่มเทให้กับแนวคิดนี้มากเท่าไหร่ โอกาสรวยก็มีมากขึ้นเท่านั้น

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2011/02/28/992


แก้ว 3 ประการ

สรุปสั้นๆ ว่าแก้วทั้งสามดวง ได้แก่


  1. เงินลงทุนเริ่มแรก (amount หรือ A)

  2. อัตราผลตอบแทนที่ทำได้ (rate of return หรือ r)

  3. ระยะเวลาที่ลงทุน (time หรือ t)
ผมอาจจะใช้เลขง่ายๆ มาคำนวณให้ดู คนเกลียดคณิตศาสตร์อาจจะไม่ดูก็ได้ แต่ท่านก็จะเสียโอกาสทราบเคล็ดลับของความร่ำรวยซึ่งจะอยู่กับท่านไปชั่วชีวิต และที่สำคัญมันใช้ความรู้แค่เลข ม.ต้น เท่านั้น

คนทั่วไปทราบวิธีคิดดอกเบี้ยพื้นฐานอยู่แล้ว เช่น ถ้าเราเอาเงินต้น A = 1 ล้านบาท ไปฝากธนาคารแล้วได้อัตราดอกเบี้ย r = 8% เมื่อผ่านไปหนึ่งปีเงินในบัญชีของเราจะเป็น 1 ล้านบาท (เงินต้น) บวกด้วย 8 หมื่นบาท (ดอกเบี้ย)

A (1 + r) = 1000000 x (1 + 0.08) = 1.08 ล้านบาท

และเงิน 1.08 ล้านบาทนี้จะกลายเป็นเงินต้นของปีต่อไป ถ้าฝากเงินหลายปี ผมก็เอาเทอม (1 + r) คูณกันเท่ากับจำนวนปีที่ฝากเงิน เช่น ฝากเงิน t = 5 ปี เงินในบัญชีของผมจะเป็น


หรือ 1000000 x (1 + 0.08)^5 = 1.47 ล้านบาท ซึ่งเราเอาวิธีคิดนี้ไปใช้คำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนได้เช่นกัน


ทำอย่างไรให้เงินก้อนนี้โต

ตอบแบบกำปั้นทุบดิน เราก็เพิ่ม A (เพิ่มเงินลงทุน) เพิ่ม r (ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น) และเพิ่ม t (ลงทุนให้นานหรือเริ่มลงทุนตั้งแต่ยังเด็ก) แต่การเพิ่มแต่ละตัวก็มีข้อคิดและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เราลองมาดูกันทีละตัวดีกว่า

การเพิ่มเงินลงทุน

การเพิ่มเงินลงทุนเป็นวิธีที่ชัดเจนที่สุด สมมติว่าเรามีเงิน 1 ล้าน เอาไปลงทุนได้กำไร 5% หรือ 5 หมื่นบาท ถ้าอยากได้กำไร 2 แสนหรือครับ ก็เพิ่มเงินลงทุนเป็น 4 ล้านบาทสิ! การเพิ่มความมั่งคั่งด้วยการเพิ่มเงินลงทุนเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เราทำทุกอย่างเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนสเกลให้ใหญ่ขึ้นเท่านั้นเอง ข้อด้อยอย่างเดียวของวิธีนี้คือ กำไรที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มแบบเชิงเส้นครับ เพราะตัว A เป็นเพียง "ตัวคูณ" ที่แปะอยู่ข้างหน้าของสมการ ดังนั้นอยากรวย 10 เท่าก็ต้องลงเงินเพิ่มเป็น 10 เท่า

คนส่วนใหญ่มักจะอ้างว่าตัวเองไม่รวยและก็ไม่ใช่ลูกคนรวยด้วย จะไปหาเงินที่ไหนมาลงทุน ความจริงทริกมันก็มีอยู่เหมือนกันครับ อย่างแรกคือพยายามเอาเงินเก็บมาลงทุน อย่าปล่อยให้เงินนอนว่างงานอยู่เฉยๆ ถ้าสำรวจให้ดีจะพบว่ามีเพียงเสี้ยวหนึ่งของความมั่งคั่งของเราเท่านั้นที่เป็นเงินลงทุนและสามารถงอกเงยได้ ลองคิดดูว่าความมั่งคั่งของคุณจมอยู่กับบ้านขนาดใหญ่ที่ยังต้องผ่อนอีก 30 ปีหรือหมดไปกับรถคันโตหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นโอกาสรวยคงจะน้อยลง เพราะทรัพย์สินเหล่านั้นไม่สามารถงอกเงยในลักษณะเดียวกับเงินลงทุนได้ครับ

อย่างที่สอง พยายามลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือเก็บสำหรับการลงทุนมากขึ้นโดยแทบไม่กระเทือนการกินอยู่ตามปกติของคุณ สำรวจตัวเองดูว่าทุกครั้งที่โบนัสออก คุณเอาเงินนั้นไปทำอะไร? ซื้อมือถือใหม่ กล้องถ่ายรูปรุ่นเจ๋งๆ หรือหมดไปกับกระเป๋า-รองเท้าแบรนด์ดัง? การที่เราเอาเงินโบนัสไปซื้อ นั่นแสดงว่ามันไม่ใช่ "ของจำเป็น" ต่อการดำรงชีพจริงๆ แต่เป็นของชิ้นพิเศษหรือ extra ที่เป็นส่วนเพิ่มให้กับชีวิต ผมเสนอว่าซื้อแค่หอมปากหอมคอก็พอ เก็บเงินส่วนที่เหลือไปลงทุน แล้วมันจะออกลูกออกหลานให้คุณได้จับจ่ายในวันข้างหน้ามากกว่านี้อีกหลายเท่านัก

อย่างที่สาม เมื่อได้เงินปันผลมาอย่าเพิ่งเอาไปกินไปใช้หมด แต่ให้เก็บเอาไว้ลงทุนซ้ำบ้าง ผมเคยแนะนำให้ญาติผู้ใหญ่แบ่งเงินไปลงทุนในกองทุนอสังหาฯ พอได้เงินปันผลมาเขาก็เอาไปกินไปใช้เสียเกือบหมดผมพยายามแนะนำต่อว่าหากเราแบ่งเงินนี้บางส่วนไปซื้อหน่วยลงทุนเพิ่ม เงินปันผลคราวหน้าจะมากขึ้นไปอีก ภาษาเก๋ๆ คือให้เก็บเงินปันผลไป reinvest ... เป็นอย่างไรบ้าง การเพิ่มเงินลงทุนทั้ง 3 ข้อนี้ไม่ยากใช่มั๊ยครับ

การลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น

การลงทุนที่ว่าอาจเป็นอะไรก็ได้ หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การเปิดร้านค้าของคุณเอง แต่สิ่งที่ควรจำไว้คือ พยายามมองเงินของคุณเป็น portion หรือเป็นส่วนๆ ส่วนที่ฝากธนาคารให้ผลตอบแทนน้อยแต่มีสภาพคล่องจึงควรมีแต่น้อยเท่าที่จำเป็น ส่วนลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงและคุณมีความเชี่ยวชาญควรมีไว้มากๆ ส่วนลงทุนที่ช่วยประหยัดภาษีก็มีประโยชน์ แต่ต้องชั่งน้ำหนักว่าภาษีที่ประหยัดได้คุ้มกับผลตอบแทนหรือไม่

ผลตอบแทนที่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยจะให้ผลอย่างมากในระยะยาว เช่น ถ้าเราลงทุน 10 ล้านบาทเป็นเวลา 20 ปี และทำผลตอบแทนได้ 12% จะมีเงิน 96.5 ล้านบาท แต่ถ้าทำผลตอบแทนได้ 13% จะมีเงินถึง 115.2 ล้านบาท และถ้าทำผลตอบแทนได้ 15% จะมีเงินถึง 163.7 ล้านบาท!

หลายคนไม่รู้ (และไม่สนใจจะรู้) ช่องทางที่จะสร้างผลตอบแทนให้ได้สูงๆ หรืออาจจะเรียกว่า "ขี้เกียจ" ก็คงไม่ผิด อย่างนี้ผมต้องบอกว่าคนเหล่านั้น "ขี้เกียจรวย" ครับ น่าเสียดายตรงที่มีช่องทางการลงทุนหลายทางที่ใช้ความพยายามเพิ่มน้อยมาก อย่างเช่น การเอาเงินไปซื้อกองทุนหุ้น ซื้อ LTF หรือ RMF หรือแม้แต่กองทุนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งให้ผลตอบแทนค่อนข้างมั่นคงและมีความผันผวนต่ำ ถ้าคนขี้เกียจเหล่านี้ switch เงินไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ บ้างก็จะเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างไม่ลำบาก

ที่น่าเสียดายหนักเข้าไปอีกคือ อัตราผลตอบแทนหรือ r ในสมการนั้นไม่ได้ส่งผลต่อกำไรในลักษณะเชิงเส้นในแบบเดียวกับการเพิ่มเงินลงทุน หรือพูดให้ง่ายคือ เพิ่ม r นั้นได้ผล "แรง" กว่าการเพิ่มเงินลงทุน เพราะการเพิ่ม r นั้น พจน์ (1 + r) จะถูกเอาไปยกกำลังด้วยจำนวนปี ดังนั้นผลกำไรจะเพิ่มขึ้นแบบเร่งตัวหรือที่เรียกว่า exponential และนี่คือความลับที่ทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ร่ำรวยขึ้นมาได้ถึงทุกวันนี้ครับ

การลงทุนให้นาน

เราไม่สามารถย้อนเวลาได้ การเริ่มลงทุนให้เร็วที่สุดก็คือ เริ่มเลย! และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ พยายามอยู่ในการลงทุนชั้นเยี่ยมให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ คุณอาจมีเงินลงทุนมาก คุณมีหุ้นเด็ดอยู่ในมือและสร้างผลตอบแทนได้สูงๆ แต่ถ้าคุณ "เล่นรอบ" คือทำกำไรสั้นๆ เป็นรอบไป ผลตอบแทนของคุณจะไม่ต่อเนื่องและผิดหลักของการลงทุนให้นาน นั่นเป็นเหตุผลที่เราไม่ค่อยเห็นคนเล่นหุ้นระยะสั้นแบบสุจริตแล้วรวย

สมมติว่าผมมีหุ้นแจ๋วแหววอยู่ตัวหนึ่งซึ่งทำผลตอบแทนให้ผมได้ถึง 120% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากผมไม่ได้วิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ ถัดมาอีกสามปีตัวธุรกิจก็ทรงตัวและราคาของมันก็ไม่ไปไหน เบ็ดเสร็จห้าปีผมได้ผลตอบแทน 120% เท่าเดิมซึ่งถ้าคิดต่อปีแล้วเท่ากับผมได้ผลตอบแทน 17% ต่อปีเท่านั้น ทั้งที่จบปีที่สองดูท่าจะทำได้ดีกว่านี้ ดังนั้นการลงทุนให้นาน ต้องเป็นการลงทุนในผลตอบแทนสูงๆ ให้นานด้วยครับ

ระยะเวลาการลงทุนหรือตัว t ในสมการก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นเชิงเส้นเหมือนกันกับอัตราผลตอบแทนหรือตัว r ในสมการ ผลลัพธ์ของมัน "แรง" เหมือนๆ กับตัว r เพียงแต่ว่าแรงกันคนละลักษณะ

ขอให้ทุกท่านศึกษารูปข้างล่างนี้ไว้ให้ลึกซึ้ง แล้วความรวยจะตามมาเอง ส่วนจะรวยเร็ว-รวยช้า รวยมาก-รวยน้อย ก็คงต้องแล้วแต่ฝีมือและความมุ่งมั่นของแต่ละคนล่ะครับ







วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ส่องการกักตุนสินค้าผ่านทฤษฎี Reflexivity ของโซรอส


ขอออกตัวก่อนว่าต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดขึ้นมาโดยอาศัยทฤษฎีการสะท้อนกลับหรือ Reflexivity Theory ของ จอร์จ โซรอส ไม่ได้เป็นคำอธิบายของโซรอสเองหรอกนะครับ ผิดถูกประการใดก็มาจากผมเองนี่แหละ

จอร์จ โซรอส (George Soros) คนไทยรู้จักดีในฐานะของคนที่โจมตีค่าเงินบาทก่อนที่จะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 แต่มีกี่คนที่ทราบว่าเขาเป็นนักคิด นักทฤษฎีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ทฤษฎีการสะท้อนกลับของเขาถูกนำมาใช้อธิบายวิกฤติซับไพรม์ หรือ Subprime Crisis ในอเมริกาอย่างได้ผล แต่อาจเป็นเพราะว่ามันอธิบายด้วยการเกี่ยวพันต่อเนื่องและเข้าใจยาก ทำให้คนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจและข้ามผ่านมันไป ทั้งที่สามารถนำมาประยุกต์อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมได้มากมาย รวมทั้งในวิกฤติน้ำท่วมที่คนไทยประสบกันอยู่นี้ด้วย

เนื่องจากในวิกฤติน้ำท่วมมีหลายมิติเหลือเกิน แทบจะเอาไปสอนในวิชาการจัดการภาวะวิกฤติได้เต็มๆ เทอมเลยด้วยซ้ำไป จึงขอยกมากล่าวถึงเฉพาะมิติของการกักตุนสินค้าก็แล้วกันนะครับ


มิติการกักตุนสินค้า

ผมได้ยินเรื่องราวของน้ำท่วมภาคกลางมาเป็นเดือนๆ แล้ว ก่อนที่กองทัพน้ำจะยกมาประชิดเมืองหลวงของเรา สิ่งแรกๆ อันหนึ่งที่ผมสังเกตได้ก็คือ การกักตุนสินค้า ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากบรรดาห้างไฮเปอร์มาร์ท เช่น โลตัส บิ๊กซี โฮมโปร ก่อนที่จะลามมาถึงเซเว่นฯ ใกล้บ้าน ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

แรกเริ่มคนกรุงเทพฯ คิดว่าภาวะน้ำท่วมเกิดขึ้นกับต่างจังหวัดจึงยังไม่ค่อยมีใครลุกขึ้นมาเตรียมการอะไรมากนัก (no trend recognition) แต่หลังจากมีข่าวตามทีวีและหนังสือพิมพ์มากขึ้นก็มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นพวกที่ค่อนข้างตื่นตูมกว่าคนอื่นๆ เริ่มซื้ออาหารแห้ง เครื่องกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ สินค้าบางอย่างที่มี supply มากและมีราคาถูก เช่น ปลากระป๋อง มาม่า ยังมีจำหน่ายพอเพียง แต่สินค้าที่ปกติขายไม่ค่อยได้ เช่น เตาแก๊สปิคนิค จะเริ่มพร่องไปจากชั้นวางขายบ้าง (recognising the trend)

ขณะที่ "ชาวตื่นตูม" เริ่มซื้อของไปตุน คนทั่วไปจะมองว่าเป็นการตื่นตกใจมากเกินไป อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวตื่นตูมซื้อของไปตุนแล้วก็จะบอกกล่าวญาติมิตรให้เตรียมตัวบ้าง อาจมีบางคนซื้อตาม แต่บรรดาผู้ขายก็จะเอาของไปเติมที่ชั้นได้เพียงพออยู่ (testing the trend) เป็นการสู้กันระหว่าง demand และ supply ในช่วงนี้ผู้ผลิตยังคงผลิตสินค้าด้วยกำลังการผลิตเท่าเดิม แต่ผู้ซื้อกลับขยายตัวมากขึ้นจากการบอกกันปากต่อปาก รวมทั้งข่าวจากสื่อ ทำให้ demand เริ่มเหนือกว่า supply

จากการที่ demand เพิ่มขึ้นในขณะที่ supply ไม่เพิ่มหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ทำให้ภาพของการกักตุนสินค้าเริ่มปรากฏ ในตอนนี้แม้กระทั่งคนที่ไม่ใช่ชาวตื่นตูมก็เริ่มหาซื้อของบางอย่างยาก คนเหล่านี้จึงต้อง "รีบซื้อ" ทันทีที่เห็นสินค้าเช่นกัน กระบวนการนี้ทำให้การกักตุนสินค้ายิ่งขยายตัว และยิ่งมันขยายตัวคนก็ยิ่งต้องรีบซื้อโดยแทบจะไม่สนใจเรื่องของราคา เท่ากับเป็นการเสริมแรงให้กับตัวของมันเอง เรียกว่า กระบวนการ self-reinforcement

แม้ผู้ผลิตจะพยายามเพิ่มกำลังการผลิต แต่ก็ยังคงไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญแม้แต่คนที่ซื้อของไปเพียงพอแล้ว (แต่ยังมีเงินเหลือนี่) ก็ยังแห่มาซื้อเข้าไปอีกทั้งน้ำดื่ม มาม่า ปลากระป๋อง ถ่านไฟฉาย ข้าวสาร ฯลฯ จนไม่แน่ว่าถ้าเอามาม่าทั้งหมดที่ซื้อไปมากินจะกินไปได้ถึงปีหน้าหรือไม่ ส่วนข้าวสารก็ซื้อไป 2 - 3 ถุง ทั้งๆ ที่บ้านอยู่กันแค่ 2 คน แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้ทำให้ไม่มีสินค้าเหลือโดยเฉพาะในไฮเปอร์มาร์ท เพราะคนมักจะซื้อกันทีละมากๆ

ในเมื่อหาซื้อที่ไฮเปอร์มาร์ทไม่ค่อยได้ คนก็เริ่มหันมาซื้อที่เซเว่นฯ ใกล้บ้านบ้าง และแน่นอนว่าเซเว่นฯ เขาไม่ได้มีสินค้าเก็บไว้มากมายอะไร คนซื้อไปไม่เท่าไหร่ก็ของหมด ทีนี้ภาพของสินค้าเกลี้ยงชั้นก็ยิ่งกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ ขณะเดียวกับที่ศูนย์กระจายสินค้าตามรอบนอกของกรุงเทพฯ ก็เริ่มถูกน้ำท่วมไปเรื่อยๆ บางบริษัทก็ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ก็เอวัง ไม่มีสินค้าให้ซื้อ ไม่ว่าคุณจะมีเงินมากแค่ไหน


จุดจบของเรื่อง

เมื่อน้ำเข้ามาท่วมจริง ผมเชื่อว่าคงมีน้อยคนที่นอนกินมาม่าไปเป็นเดือนๆ และจะมีหลายคนที่ยอมอพยพออกจากบ้าน จนไม่รู้ว่าเสร็จแล้วจะตุนของเอาไว้มากมายทำไม ทั้งที่จริงเก็บสำรองไว้ให้พอสำหรับซัก 1 สัปดาห์ก็น่าจะพอ หากบ้านน้ำท่วมสูงเกินกว่า 1 สัปดาห์ก็น่าจะอพยพออกมาได้แล้ว

ในตอนท้าย (หากยังคงอดทนอยู่ในบ้านได้จนถึงที่สุด) "ชาวตื่นตูม" กลับกลายเป็นคนที่คิดถูก เพราะพวกเขาจะได้ซื้อสินค้าอย่างครบถ้วน และซื้อในจังหวะที่ของยังไม่แพงหูฉี่เหมือนกับคนที่เพิ่งตื่นตัวมาซื้อตอนหลังๆ ไม่อยากจะบอกว่าเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในตลาดหุ้นเหมือนกัน เพียงแต่คนที่วิ่งตามชาวตื่นตูม (ซื้อหุ้นช้ากว่า) ก็มักจะติดดอยแล้วก็ขาดทุน

เพียงต่างกันตรงที่ในตลาดหุ้น คุณไม่ต้องวิ่งตามเขาไปก็ได้ มันเป็นหุ้น ไม่ใช่ของกินของใช้ครับ