วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

หลงผิดด้วยข้อมูลที่ "ไม่ผิด"


หากนักลงทุนสังเกตข้อมูลหุ้นจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์หรือจากหนังสือพิมพ์ธุรกิจ ท่านอาจพบว่า ผลตอบแทนเงินปันผล หรือ dividend yield ของบางบริษัทนั้น ดูน่าสงสัยชอบกล

ตัวอย่างเช่น 10 อันดับแรกของหุ้นในกลุ่ม SET50 ที่ให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงสุด ดังภาพจากเว็บไซต์ investing.in.th ด้านล่างนี้


เอาเข้าจริงหลังจากทบทวนดูแล้ว ผู้ที่ลงทุนหุ้น PSH หรือ INTUCH กลับรู้สึกว่าตนเองไม่เห็นจะได้รับเงินปันผลเท่าที่มีการระบุไว้

กรณีหุ้น INTUCH มีการขึ้นเครื่องหมาย XD เพื่อจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครั้งล่าสุด 1.35 บาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 และจ่ายเงินปันผลประจำปี 1.46 บาท เมื่อเดือนเมษายน 2561 และถ้าย้อนไปไกลกว่านั้น ก็มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 1.25 บาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2560

ไม่ว่าเราจะลองจับตัวเลขคู่แรกบวกกัน (1.35 + 1.46) แล้วเทียบกับราคาหุ้น 52.50 บาท ซึ่งจะได้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลเท่ากับ 5.35% หรือจับตัวเลขคู่หลัง (1.46 + 1.25) ก็จะได้อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 5.16% แต่ไม่ว่ากรณีไหนก็ไม่ใกล้เคียงกับ 7.87% ที่โชว์อยู่ในรูปเลย

ส่วนกรณีหุ้น PSH มีการขึ้นเครื่องหมาย XD เพื่อจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครั้งล่าสุด 0.55 บาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 และจ่ายเงินปันผลประจำปี 0.72 บาท เมื่อเดือนมีนาคม 2561 และถ้าย้อนไปไกลกว่านั้น ก็มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.57 บาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2560

ถ้าจับตัวเลขคู่แรกบวกกัน (0.55 + 0.72) แล้วเทียบกับราคาหุ้น 20.00 บาท จะคิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผล 6.35% และถ้าจับตัวเลขคู่หลัง (0.72 + 0.57) จะได้อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 6.45% ซึ่งก็เหมือนเดิม คือ ไม่มีกรณีไหนใกล้เคียงกับ 10.44% ที่อยู่ในรูปอีกเหมือนกัน


ตกลงรูปผิดใช่ไหม?


คำตอบ คือ ไม่ใช่ เพราะตัวเลขในรูปนั้นถูกต้องและยังตรงกับข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อยู่ในเว็บไซต์ด้วย สิ่งที่เราต้องสืบเสาะต่อไป คือ ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ผิดไหม? และถ้าไม่ผิด ตัวเลขของเขาคิดคำนวณมาอย่างไร

ต่อไปนี้เป็นสูตรคำนวณ ผลตอบแทนเงินปันผล ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามที่มีการเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์


สังเกตว่าปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้เงินปันผล "ตามรอบผลประกอบการประจำปี" ไม่ใช่เงินปันผลตามที่มีการ "ประกาศจ่าย" ในปีก่อนหรือในรอบ 12 เดือนล่าสุด

เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องเข้าไปในหัวข้อ สิทธิประโยชน์ผู้ถือหุ้น บนเว็บไซต์ Settrade.com เพื่อดูรายละเอียดการจ่ายเงินปันผล


เริ่มต้นจากคอลัมน์ "รอบผลประกอบการ" และคัดมาเฉพาะผลประกอบการในช่วงปี 2017 จะเห็นว่ามีการจ่ายเงินปันผลออกมา 3 ครั้ง คิดเป็นจำนวนเงิน 1.61, 1.25 และ 1.27 บาท ตามลำดับ [กรอบสีน้ำเงิน]

หากเรานำเงินปันผลทั้งสามครั้งมาบวกกันแล้วเทียบกับราคาหุ้น จะได้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ตรงกับตัวเลขในรูปแรก

(1.61 + 1.25 + 1.27) / 52.50 = 7.87%

ก็เป็นอันว่าเคลียร์สำหรับ INTUCH และถ้าท่านใดขยันก็สามารถลองทำแบบเดียวกันกับ PSH ด้วยก็ได้


ผิดสามัญสำนึก... หรือเปล่า?


แม้จะได้ตัวเลขที่ตรงกับข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ปัญหาที่เราพบต่อมาก็คือ การคำนวณในลักษณะนี้ดูไม่ตรงกับสามัญสำนึกสักเท่าไร

หากสังเกต กรอบสีแดง ในรูปก่อนหน้านี้ เราจะพบว่าเงินปันผลทั้งสามครั้งนั้นจ่ายออกมา "คร่อมกัน" กล่าวคือ มีการนับเงินปันผลที่จ่ายออกมาในเดือนเมษายนของปี 2560 และ 2561 ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าเป็นการจ่ายเงินปันผลประจำปี จึงเสมือนว่ามีการนับเงินปันผลประจำปีของสองปีมารวมกัน ทำให้ได้ตัวเลขที่สูงเกินจริง

การแสดงตัวเลขดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ที่ไม่ได้ติดตามหุ้น INTUCH เข้าใจไปว่า การถือหุ้นตัวนี้จะทำให้พวกเขาได้รับเงินปันผลเข้ากระเป๋าถึงปีละ 7.87% แม้ว่าเงินที่ได้รับจริงจะอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์นิด ๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะคิดจากรอบปีปฏิทินหรือจากรอบย้อนหลัง 12 เดือนก็ตาม

ส่วนกรณีหุ้น PSH ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะนักลงทุนอาจฝันหวานว่าจะได้รับเงินปันผลราว 10.4 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับได้รับเพียง 6.4 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่า ฝันสลายช็อกกันไปเลย

ในแง่บัญชีและวิธีการนำเสนอ ฝ่ายบริหารอาจระบุได้ว่าเงินปันผลในครั้งนั้น ๆ จ่ายจากผลประกอบการปีใด (เช่น เพื่อประโยชน์ทางภาษี) แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินสดก็คือเงินสด มันไม่ได้มีป้ายแปะไว้ว่าเงินแต่ละก้อนหยิบมาจากตรงไหน มุมมองเดียวที่นักลงทุนจะรับรู้จึงอยู่ที่ว่า พวกเขาได้รับเงินกี่บาท และได้รับเมื่อไหร่ ซึ่งสูตรคำนวณของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้ตอบอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้


งั้นทำอย่างไรดี


สิ่งที่นักลงทุนควรระลึกไว้ คือ "ตัวเลข" ที่คนอื่นคำนวณให้อาจมาจากสูตรที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างและไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึก กล่าวได้ว่า มันเป็นสูตรที่ถูกต้อง แต่ไม่เหมาะกับวัตถุประสงค์ของเรา ถ้ามีความสามารถมากพอ นักลงทุนควรเข้าไปดูสูตรให้เข้าใจ ก่อน ที่จะนำไปใช้ลงทุน

หรือวิธีที่ง่ายกว่าก็คือ คำนวณเองแบบง่าย ๆ ตามสูตรพื้นฐานนี่แหละ

อัตตา หิ อัตตโน นาโถ
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

เมื่อพึ่งตนเองได้ เราก็ไม่ต้องหลงผิดด้วยข้อมูลที่ "ไม่ผิด" อีกต่อไป