"งบประมาณ" เป็นสิ่งที่เราควรใส่ใจอยู่เสมอ
เมื่อท่านกำลังตัดสินใจควักเงินซื้อข้าวของบางอย่าง ผู้ขายมักพยายามชักชวนให้ท่านจ่าย "แพงกว่า" งบประมาณที่มีอยู่ เช่น สมมติท่านอยากซื้อเครื่องออกกำลังกายด้วยงบ 2 หมื่นบาท สุดท้ายมักไปจบที่ 3-4 หมื่นบาท หรืออาจจะมากกว่านั้น พร้อมกับเหตุผลดี ๆ ที่ทำให้ท่านละเมิดงบประมาณของตนเอง
เหตุผลดี ๆ
เหตุผลจูงใจที่พบบ่อย คือ เรื่องสุขภาพ โดยพนักงานขายมักชี้ให้ท่านเห็นว่า สุขภาพของเราสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด (โดยเฉพาะเงินทอง) ดังนั้น ท่านควรจ่ายแพงขึ้นอีกหน่อยเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องออกกำลังกาย เครื่องกรองน้ำ เครื่องสำอาง หรือเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ทั้งที่จริงท่านเองก็ไม่แน่ใจว่า สินค้ายี่ห้อหรือรุ่นถัดลงมาที่มีราคาถูกกว่าจะทำร้ายสุขภาพของท่าน หรือมันแค่เพียง "เทพ" น้อยกว่ากันอีกนิด
เหตุผลยอดฮิตอันต่อมา คือ เรื่องความคุ้มค่า พนักงานขายมักไม่ปฏิเสธหากสินค้าของเขามีราคาแพงกว่าคู่แข่งจริง ๆ แต่พวกเขามักหยิบยกความคุ้มค่าในระยะยาวขึ้นมาต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการดูแลรักษาที่ต่ำกว่า ค่าซ่อมแซมที่น้อยกว่า หรือบริการที่รวดเร็วกว่า ซึ่งหลาย ๆ เรื่องก็พิสูจน์ได้ยาก หรือกว่าจะพิสูจน์ได้ (ว่าไม่จริง) ท่านก็จ่ายเงินไปนานโขหรือจนพ้นระยะรับประกันไปเรียบร้อยแล้ว
เหตุผลยอดนิยมอันสุดท้าย (ที่ไม่ถูกหลักสักเท่าไหร่) คือ มันผ่อนได้!! ประเด็นนี้เป็นวิธีคิดที่ไม่ค่อยจะเข้าท่านักในสายตาของผม เพราะแม้การผ่อนจะช่วยให้ท่าน "มีปัญญาจ่ายได้" แต่สุดท้ายเราก็ต้องจ่ายจำนวนเงินทั้งหมดอยู่ดี ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าอย่างไร แถมยังเป็นจำนวนเงินที่เกินไปกว่างบประมาณที่ตั้งเอาไว้แต่แรกด้วย
พูดง่าย ๆ ก็คือ มันทำให้เรา "มีปัญญาจ่ายในสิ่งที่ไม่ควรจ่าย" และที่ไม่ควรจ่ายก็เพราะว่าที่จริงแล้วมันแพงเกินไปสำหรับเรา
หลุดพ้นจากกับดัก
หลายท่านมีสโลแกน "เต็มที่กับชีวิต" หรือ "ชีวิตของเรา ใช้ซะ" ซึ่งผมคงไม่ต่อต้าน เพียงแต่เห็นว่าถ้าคนเรา เต็มที่ กับทุกสิ่งทุกอย่าง (โดยเฉพาะเรื่องเงิน) อนาคตก็คงจะไม่สบายเท่าไหร่นัก อย่าลืมว่าสำหรับคนส่วนใหญ่แล้วเงินเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด และช่วงเวลาของการหาเงินก็มีจำกัดด้วยเช่นกัน บางทีอาจต้องเลือกว่าจะเต็มที่กับอะไรและเมื่อไหร่บ้าง
นั่นคือเหตุผลที่เราควรกำหนดงบประมาณเวลาจะไปซื้อของ โดยเฉพาะของชิ้นใหญ่ พร้อมทั้งมีเทคนิคที่จะผ่านพ้นกับดักต่าง ๆ ด้วย
เทคนิคแรก ได้แก่ การตั้งงบประมาณให้ต่ำกว่างบจริงเล็กน้อย
ตัวอย่างเช่น หากตั้งใจซื้อเครื่องกรองน้ำในราคา 8,000 บาท ลองบอกพนักงานขายว่าท่านมีงบ 6,000 บาท บางทีท่านอาจแปลกใจว่าไป ๆ มา ๆ สุดท้ายหวนกลับไปจบที่ 8,000 บาทได้ยังไงก็ไม่รู้
เทคนิคที่สอง คือ ให้ซื้อในการเลือก "ครั้งที่สอง" เท่านั้น
ความหมายก็คือ ท่านไปดูสินค้าครั้งแรกเพื่อเก็บข้อมูลและเปรียบเทียบ จากนั้นก็กลับไปคิดทบทวน ปรึกษาครอบครัวหรือเพื่อนฝูง แล้วค่อยกลับไปชี้ตัวและจ่ายเงินในการเดินห้างครั้งที่สอง วิธีนี้ทำให้เราสามารถคิดอย่างถ้วนถี่และลดการซื้อตามอารมณ์ไปได้มาก รวมทั้งทำให้อิทธิพลของพนักงานขายลดลงไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปล่อยให้ยืดเยื้อไปถึงการเดินห้างครั้งที่สาม เพราะการซื้อของท่านจะมีต้นทุนทางเวลาที่สูงเกินไป ควรเอาเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง นอกจากนี้การลังเลมาก ๆ อาจเป็นสัญญาณว่า ที่จริงแล้วท่านอาจไม่จำเป็นต้องซื้อมันเลยก็ได้
เทคนิคที่สาม คือ การคิดเสมือน
การคิดเสมือนในที่นี้คล้ายคลึงกับการวิเคราะห์แบบ "what if" ซึ่งมี 2 ระดับ
ระดับแรกเป็นการคิดว่า ถ้าเราไม่มีหรือไม่ได้ซื้อของชิ้นนี้ ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร การคิดเสมือนในลักษณะนี้เป็นการทำให้เราเห็นโลกในอีกมุมหนึ่ง บ่อยครั้งมันทำให้เราสามารถจำแนกความอยาก (want) กับความจำเป็น (need) ออกจากกันได้
ส่วนระดับที่สองเป็นการคิดว่า ถ้าต้องจ่ายเต็มราคาในวันนี้ (ไม่ผ่อน) ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ถ้ารู้สึกว่าลำบากหรือเริ่มต้องบีบตัวเองมาก ๆ บางทีสินค้านั้นอาจจะแพงเกินไป
เทคนิคสุดท้าย คือ การมุ่งเน้นที่รายจ่ายก้อนใหญ่
สมมติท่านมีรายการข้าวของที่ต้องซื้อ 3-4 อย่างในเวลาไล่เลี่ยกัน และรู้สึกว่าการ "รัดเข็มขัด" กับทุกสิ่งทุกอย่างทำให้ชีวิตแร้นแค้นจนเกินไป ขอให้หันมาใส่ใจเป็นพิเศษกับรายการใหญ่
ตัวอย่างเช่น ท่านกำลังจะซื้อรถเก๋ง เครื่องซักผ้า และหม้อหุงข้าว สังเกตว่ารถเก๋งรุ่น ท็อป กับ รองท็อป มีราคาแตกต่างกันในหลักหมื่น ขณะที่เครื่องซักผ้าอาจจะแตกต่างกันในหลักพัน ส่วนหม้อหุงข้าวอาจแตกต่างกันในหลักร้อย การมุ่งเน้นควบคุมตัวเองเวลาที่เลือกซื้อรถเก๋งน่าจะเป็นความพยายามที่ให้ผลมาก และเมื่อทำได้สำเร็จ ท่านก็จะมีเงินเหลือไปซื้อของอื่น ๆ ที่มีคุณภาพดีขึ้นได้
ใช้เงินอย่างฉลาด
การใช้เงินอย่างฉลาดไม่ได้แปลว่า "ไม่ใช้" หรือ "ใช้ให้น้อยที่สุด" แต่หมายถึงว่า เราจะใช้ในสิ่งที่จำเป็น จ่ายไม่ต้องมากแต่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ และทำให้ยั่งยืนในระยะยาว ไม่ใช่บีบคั้นจนต้องกินอยู่อย่างอนาถา มีเงินเป็นเจ้านาย ขณะเดียวกันก็ไม่ฟุ่มเฟือยกินอยู่เกินฐานะ นี่เป็นเหตุผลที่ควรมีการวางงบประมาณเมื่อจะใช้จ่ายเงิน
แนวคิดทุนนิยมแบบฝรั่งมักเน้นการบริโภค คือ ยิ่งบริโภคมากก็ยิ่งเกิดความพึงพอใจ แต่ที่จริงแล้วผมคิดว่าคนเราบริโภคตามสมควร เหลือเก็บตามสมควร และแบ่งปันตามสมควร ชีวิตน่าจะมีความสุขมากกว่าครับ