หลังจากที่ผมเขียนถึง สมการอิสรภาพทางการเงิน ในบทความเรื่อง "อิสรภาพทางการเงิน...คำนวณแบบง่ายๆ" ทำให้หลายคนเริ่มเห็นภาพของอิสรภาพทางการเงิน หรือ financial freedom ที่ชัดเจนขึ้น และเลิกตั้งคำถามเสียทีว่า "แค่ไหนถึงจะพอ" ตอนนี้ผมคิดว่าทุกคนคงพร้อมที่จะเจาะลึกลงไปแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ไปถึงอิสรภาพทางการเงินได้เร็วขึ้น
(โปรดอ่าน http://www.monkeyfreetime.com/2012/12/blog-post_30.html เสียก่อนนะครับ)
ผมขอทบทวนคร่าวๆ ว่าอิสรภาพทางการเงินของเราขึ้นอยู่กับตัวแปร 3 ตัว ได้แก่ X, r, A และ เพียงแค่ บวก-ลบ-คูณ-หาร เป็นก็คำนวณได้แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปรบเร้าถามคนอื่นอีกต่อไป เพราะอิสรภาพ "ของเรา" ก็ต้องใช้ตัวแปรของเรา
ในตอนท้ายผมได้เน้นย้ำว่าเราควรมีการเผื่อเพื่อความปลอดภัยเอาไว้ด้วย และเนื่องจากตัวแปรทั้งสามมีความสัมพันธ์ต่อกัน ดังนั้นผมจึงเพิ่มตัว Y เข้าไปเพื่อแทนที่ความเชื่อมโยงระหว่างอิสรภาพทางการเงินกับตัวแปรทั้งสาม เราจะได้ไม่ลืมว่า "ค่าเผื่อ" พวกนี้ก็มีความสำคัญ เมื่อตัวแปรตัวหนึ่งถูกท้าทาย ตัวแปรที่เหลือก็จะต้องขยับไปด้วย นอกจากนี้เราจะได้จำง่ายๆ ว่า XRAY ซึ่งก็จะไปพ้องกับการฉายรังสี นัยว่าเป็นการตรวจสอบอิสรภาพทางการเงินของเรา
การต่อสู้กับสัตว์ร้าย
ผมมักจินตนาการว่า การพิชิตอิสรภาพทางการเงิน คือ การต่อสู้กับสัตว์ที่ร้ายกาจ อาวุธ ที่เรามีก็คือ "สินทรัพย์" หรือ ตัว A ซึ่งถ้าอาวุธของเราเล็ก (อย่าคิดทะลึ่งนะครับ) โอกาสที่จะชนะเจ้าสัตว์ร้ายก็คงยาก การบ้านของเราก็คือ หาอาวุธที่ใหญ่พอที่จะต่อกรกับมัน
อย่างไรก็ตาม ดาบเล่มใหญ่หรือหอกยาวๆ คงไม่มีประโยชน์ หากว่ามันไม่คม ทักษะในการใช้อาวุธพวกนี้ก็สำคัญ เราอาจจะมีสินทรัพย์ 10 ล้าน หรือ 20 ล้านบาท แต่เราจะมีอิสรภาพทางการเงินได้อย่างไร ถ้าเราเอามันไปฝากออมทรัพย์แล้วได้ดอกเบี้ยแค่เดือนละ 6 พันบาท การรีดเอา ศักยภาพ ของอาวุธออกมาจึงเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญไม่แพ้กัน
และนี่ก็คือ ตัว r หรือ "อัตราผลตอบแทน" ในสมการอิสรภาพทางการเงินนั่นเอง
ค่าใช้จ่าย... Need vs Want
ในขณะที่หลายคนมัวแต่สาละวนหา อาวุธ และฝึกฝนทักษะเพื่อเพิ่ม ศักยภาพ ให้กับมัน พวกเขาลืมไปว่า ที่จริงแล้วพวกเขาสามารถ "เลือก" ได้ว่าจะต่อสู้กับสัตว์ร้ายตัวไหน... จะเลือกสัตว์ดุร้ายตัวใหญ่ยักษ์ หรือจะเลือกสัตว์ตัวย่อมๆ ที่ง่ายต่อการพิชิต?
ในบรรดาตัวแปรทั้งสาม "ค่าใช้จ่าย" หรือ ตัว X เป็นส่วนที่ง่ายที่สุดของการไปสู่อิสรภาพทางการเงินแล้ว แต่สำหรับบางคน มันก็เป็นสิ่งที่ยากที่สุดด้วยเหมือนกัน
เหตุที่ว่าค่าใช้จ่ายของคนเรามีทั้งที่เป็น "need" และที่เป็น "want" นี่จึงเป็นช่องว่างให้เกิดการตีความ และถ้าเรากิเลสมากสักหน่อย เราก็จะตีความเข้าข้างตัวเองแบบข้างๆ คูๆ และบอกว่า "อันนี้เป็นของใช้จำเป็นนะ... อันนั้นด้วย อันนู้นด้วย..." ที่สุดแล้วก็สำคัญไปเสียหมดทุกอย่าง
ในความเป็นจริงค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยเป็นแค่เรื่องของกิเลส ลองดูสมการง่ายๆ ต่อไปนี้
ค่าใช้จ่าย = NEED + WANT
ถ้าเราจดบันทึกค่าใช้จ่ายของเราเป็นประจำ ไม่ต้องละเอียดมาก แยกแยะออกมาว่าเป็น need จริงๆ เท่าไร และเป็น want อีกเท่าไร เราจะประหลาดใจว่าในแต่ละเดือนเราต้องเสียเงินไปกับ "ความพึงพอใจ" มากขนาดไหน และจะยิ่งประหลาดใจขึ้นไปอีกเมื่อพบว่ายิ่งนานไป ตัว want ก็จะยิ่งโตขึ้นเร็วกว่าตัว need โดยเฉพาะเมื่อเงินเดือนของเราเพิ่มสูงขึ้น
ผมเองมองว่าการมีค่าใช้จ่ายที่เป็น want ในระดับพอดีๆ ช่วยให้เรามีความสุข แต่ถ้ามากเกินไปก็จะเริ่มเป็นการ "สปอยล์" ตัวเอง สักพักนึงสิ่งที่เคยทำให้เราพอใจหรือสุขใจก็จะไม่พอเสียแล้ว
ภาวะยอมจำนน
อาจจะเป็นเพราะชอบดูรายการ Dog Whisperer ของซีซาร์ มิลลาน (Cesar Millan) กูรูผู้รู้ใจสุนัขชื่อดังเป็นประจำ ผมจึงติดใจคำหนึ่งที่เขาพูดถึง ภาวะยอมจำนน ซึ่งเป็นการที่หมายอมเชื่อฟังเจ้าของในฐานะของ "จ่าฝูง" โดยดุษฎี หรือถ้าพูดภาษาคนก็คือ ยอมเชื่อฟังแบบไม่มีการโต้เถียงใดๆ
หมาเป็นสัตว์ที่อยู่กันเป็นฝูงโดยธรรมชาติ และในฝูงก็จะมีลำดับชั้นว่าใครใหญ่กว่าใคร ดังนั้นหากเราเลี้ยงหมา มันก็จะมองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของฝูงด้วย และถ้าเราไม่ใหญ่กว่ามัน มันก็จะคิดว่ามันใหญ่กว่าเรา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นภาวะยอมจำนนก็จะไม่เกิดขึ้น
ภาวะยอมจำนนในแง่ที่ผมยกมา คือ ภาวะยอมจำนนต่อ want ของตัวเราเอง ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราอยู่เหนือกิเลสและความพึงพอใจของตัวเราเองไม่ได้ เราก็ย่อมจะตกเป็นเบี้ยล่างของมัน เมื่อเราใส่รายละเอียดนี้ลงไปในสมการค่าใช้จ่าย มันจะเปลี่ยนเป็น
ค่าใช้จ่าย = NEED + (C x WANT)
จะเห็นว่าผมแทรก ค่า C ซึ่งเป็นตัวแทนของภาวะยอมจำนนเข้าไป ถ้าเราปล่อยตัวเองล่องลอยไปตามความอยาก ค่า C ของเราก็จะเป็น 1 หรือพูดอีกอย่างก็คือ อยากได้อะไรก็ซื้อหมด ในทางกลับกันถ้าเราอดใจไปหมดเสียทุกอย่าง ค่า C ของเราก็จะเป็นศูนย์ และค่าใช้จ่ายของเราก็จะมีแต่ need เท่านั้น
ความจริงเป็นเรื่องยากที่จะระบุลงไปว่าค่า C ของเราควรเป็นเท่าไร แต่ที่แน่ๆ คือ ยิ่งใกล้ 1 ก็ยิ่งไม่ดี เพราะนอกจากจะทำให้เรามีค่าใช้จ่ายมากแล้ว การสนอง want ไปเสียหมดทุกอย่างก็จะยิ่งทำให้ want ของเราในเดือนหรือในปีต่อๆ ไปมีแต่จะสูงขึ้น และก็จะผลักดันให้ค่าใช้จ่ายรวมสูงขึ้นไปด้วย
การควบคุมตัวเองไม่ให้ไหลไปกับความอยากหรือกระแสสังคมเป็นสิ่งที่ฟังดูน่าเบื่อ แต่ถ้าคุณอยากไปถึงอิสรภาพทางการเงิน นี่คือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง อย่าลืมว่าการพิชิตอิสรภาพทางการเงิน คือ การต่อสู้กับสัตว์ร้าย และคุณเป็นคนเลือกเองว่าสัตว์ร้ายนั้นจะตัวใหญ่หรือร้ายกาจแค่ไหน
...ว่ากันแค่นี้ก่อนแล้วกัน สำหรับตัวแปรที่เหลือ ผมจะยกไปพูดในคราวหน้าครับ
ภาพ gladiator มาจากหนังสือ Gladiator: Fight for Freedom ของ Simon Scarrow
--------------------------------------
ขอทิ้งท้ายด้วยหนังสือแนว VI ที่จะทำให้คุณแยกแยะได้ว่า ใครรู้จริง และ ใครเกาะกระแส ผลงานคุณภาพเล่มล่าสุดจาก ClubVI.com
ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้อธิบายงบการเงินและเรื่องราวของหุ้นในแบบที่ว่ากันว่า "ง่ายที่สุดในโลก"... วางแผงและติดอันดับหนังสือขายดีเรียบร้อยแล้วครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น