วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

เลือกให้ดี ทำให้ได้


คราวก่อนผมบอกทางเลือกของนักลงทุนเอาไว้ ถ้าไม่ได้กะจะถือหุ้นไว้ชั่วฟ้าดินสลายแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (อันที่จริงถ้าบริษัทเริ่มไปผิดทาง บัฟเฟตต์เองก็ขายหุ้นทิ้งเหมือนกัน) เราก็คงจะต้องเป็นพวกใดพวกหนึ่งระหว่าง position trader/swing trader/day trader สุดแต่ว่าใครจะเลือกเป็นแบบไหน

ที่ผมจั่วหัวไว้ว่า "เลือกให้ดี ทำให้ได้" ก็เพราะว่าคนส่วนมากเลือกไม่ดี คือ เลือกแบบไม่รู้ใจตัวเอง พอเลือกเสร็จแล้วโดนย้อนถามกลับไปว่าแน่ใจหรือเปล่า บางคนก็อึ้งๆ กลับมาคิดทบทวนอีกรอบ นั่นแสดงว่ายังคิดไม่รอบคอบ

ขณะเดียวกันบางคนเลือกแล้วแต่ก็ทำไม่ได้ หมายความว่า รู้แล้วว่าชอบแบบไหนและจะต้องทำอะไร เสร็จแล้วพอเอาเข้าจริงๆ กลับทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ตลอด

ตัวอย่างเช่น นายอ่อน เป็นคนอ่อนไหวทั้งต่อสภาพตลาดและบุคคลรอบข้าง เขาเชื่อว่าการ "เล่นหุ้น" จำเป็นต้องเข้าเร็วออกเร็ว ตัวเขาเองอ่านสัญญาณทางเทคนิคค่อนข้างแม่น จึงตัดสินใจเลือกที่จะ day trade ... อย่างไรก็ตาม เมื่อเทรดไปเขาก็พบว่าตัวเองเข้าผิดจังหวะหลายๆ ครั้ง จึงเริ่มไม่มั่นใจ ระยะหลังเขาไม่ค่อยกล้าตัดใจ cut loss ในตอนสิ้นวัน จึงถือหุ้นข้ามวันกลายสภาพเป็น swing trader ไปโดยปริยาย

โดยปกตินายอ่อนมักจะเทรดผ่านมาร์เก็ตติ้ง การ cut loss นอกจากทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองผิดพลาดแล้ว เขาคิดว่านั่นเป็นการเผยแพร่ความผิดพลาดของเขาให้มาร์เก็ตติ้งได้รับรู้ไปด้วย ในที่สุดเขาก็เลยเก็บหุ้นขาดทุนเอาไว้มากมายจนพอร์ตแดงเถือก เขาคิดว่าเขาจะรอจนกว่าจะถึงวันที่ตลาดฟื้นตัวแล้วค่อยขายหุ้นทิ้งให้หมด (ถึงจุดนี้เขาเกินเลยไปกว่าการเป็น swing trader ไปแล้วด้วยซ้ำ)

ตัวอย่างข้างต้นนี้ คุณคิดว่านายอ่อนผิดพลาดตรงไหนครับ เลือกไม่ดี? ทำไม่ได้? หรือทั้งสองอย่าง?

ในสายตาของผมเขาอาจจะเลือกถูกแล้ว เพราะจากข้อมูลเบื้องต้นเขาอ่านสัญญาณเทคนิคค่อนข้างแม่นและเชื่อในการเข้าเร็วออกเร็ว ซึ่งไม่ได้ผิดพลาดอะไรถ้าจะ day trade ผมคิดว่าเขาอาจจะเลือกได้ดีแล้ว แต่ปัญหาไปตกอยู่ที่ "ทำไม่ได้" แทน นั่นเป็นเพราะเขา "อ่าน" ตัวเองได้ไม่หมด

ในเมื่อรู้ว่าตัวเองอาจมีปัญหาในเรื่องการตัดสินใจ เขาควรเทรดแบบมีกฏ (mechanical trading) มากกว่าที่จะเทรดแบบตัดสินใจเอง (discretionary trading) อย่างน้อยก็ในระยะแรก ส่วนเรื่องกลัวเสียหน้าหรือรู้สึก fail นั้นต้องกลับมาทำความเข้าใจใหม่ว่าการ cut loss เป็นการกระทำที่กล้าหาญ และส่งผลให้เรายังรักษากลยุทธ์ของเราเอาไว้ได้ เทรดเดอร์ระดับแนวหน้าทุกคนต่างก็ cut loss

สุดท้ายนี้ผมขอเล่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการลงทุน แต่เป็นอุทาหรณ์ที่ดีให้แก่บรรดานักลงทุนครับ

ในการแข่งรถ Formula One มีอยู่ปีหนึ่งสมัยที่ บาร์ริเคลโล่ นักขับชาวบราซิลเลียนของทีมเฟอร์รารี รับบทเป็นนักขับมือ 2 ของทีม รองจากนักขับขั้นเทพ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ (ในการแข่งแต่ละสนาม ทีมหนึ่งจะส่งรถลงแข่งได้ 2 คัน)

มีอยู่สนามหนึ่งที่นักขับเกือบทุกคน ซึ่งก็รวมทั้งชูมัคเกอร์ด้วย เข้าเติมน้ำมัน 3 ครั้ง ขณะที่บาร์ริเคลโล่ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าทีมให้เข้าเติมน้ำมันเพียง 2 ครั้ง (แต่ครั้งละเยอะๆ หน่อย) ซึ่งนั่นทำให้รถของบาร์ริเคลโล่ "หนัก" มากกว่าชาวบ้าน แต่ก็มีข้อดีคือเขาไม่ต้องชะลอและจอดรถบ่อยเท่าคนอื่นๆ บาร์ริเคลโล่รู้ว่ารถของตัวเองหนักและช้ากว่าคนอื่นจึงก้มหน้าก้มตาขับไป แม้ระหว่างแข่งจะถูกชาวบ้านแซงเป็นว่าเล่น แต่นี่คือ "different strategy" ที่เขาต้องมีวินัย

ในท้ายที่สุดเขาเข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่เท่าไหร่ผมไม่แน่ใจ แต่จำได้ว่าไม่เกิน top 3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวินัยและความอดทนของเขาสัมฤทธิ์ผลได้ในที่สุด
ขอให้นักลงทุนเข้าใจและจดจ่อกับ "YOUR OWN strategy" ไม่มัวคิดถึงแมวที่ไหน หรือสนใจว่านกกาจะว่าอะไรเรา เพราะเวลารวยหรือขาดทุน แมว-หมา-นกกา ไม่ได้มามีส่วนร่วมอะไรกับเราครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น