วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พูดอย่างทำอย่าง


หลายสิ่งหลายอย่างที่แวดล้อมชีวิตเรามีลักษณะที่เรียกว่า "พูดอย่างทำอย่าง" ซึ่งนึกดูแล้วผมก็เห็นว่าแปลกดี บางทีก็น่าขำเสียด้วยซ้ำ

ตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นที่เราเห็นๆ กันอยู่ ปากก็บอกปาวๆ ว่าให้ผู้ลงทุนเน้นการออม อย่าเล่นรอบ (เข้าเร็ว-ออกเร็ว และเข้าออกเพื่อทำกำไรเป็นรอบๆ) แต่ครั้นเวลาจัดกิจกรรมก็มักจะส่อไปในทาง "เล่น" หุ้นอยู่เสมอ อย่างการจัดแข่งขัน Click2Win อย่างนี้เป็นต้น

การแข่งขัน Click2Win เป็นการแข่งขันซื้อขายหุ้นโดยเน้นไปที่กำไรสูงสุด ซึ่งดูเผินๆ ก็ไม่น่าจะผิดอะไร แต่ที่จริงได้มองข้ามคุณภาพของกำไรไปเสียหมด สมมติว่าแบ่งผู้แข่งขันออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นนักลงทุนแบบลิงปาเป้า คือ มั่วมันเข้าไปเหอะ ในแต่ละเดือนลิงตัวที่เคราะห์ร้ายก็จะขาดทุนจนหมดตูดและออกจากการแข่งขันไป ส่วนลิงตัวที่โชคดีก็จะได้กำไรและผ่านเข้าสู่เดือนต่อไป จนกระทั่งครบกำหนดการแข่งขันลิงตัวที่โชคดีที่สุดก็จะชนะการแข่งขัน

แล้วผู้เข้าแข่งขันกลุ่มที่สองไปไหน? กลุ่มที่สองเป็นนักลงทุนมดงาน เข้าซื้อขายหลังจากทำการบ้านมาอย่างดี พอร์ตของนักลงทุนกลุ่มนี้จะค่อยๆ เติบโตงอกงาม แต่แล้ว...เวลาการแข่งขันก็หมดเสียก่อนที่จะได้เห็นผลงามๆ ในระยะยาว ผมคิดว่าถ้าแข่งกันซัก 3-4 ปี เราจะได้เห็น "มดงาน" ขึ้นมายืนแป้นรับรางวัลบ้าง แต่ถ้าแข่งกันไม่กี่เดือนก็คงได้เห็นแต่ "ลิงผู้โชคดี" เท่านั้นแหละครับ สังเกตสิว่าลิงผู้โชคดีในแต่ละครั้งมักไม่ใช่ตัวเดิม

อีกตัวอย่างหนึ่งของการพูดอย่างทำอย่าง ได้แก่ สถาบันการเงิน ผมเชื่อว่าเราๆ ท่านๆ ส่วนมากจะเคยโดนธนาคารบางแห่งโทรมาขายประกัน ขายบัตรเครดิต หรือถ้าไปเดินงาน Money Expo ก็อาจจะเจอขายกองทุนอีกต่างหาก แต่สังเกตนะครับว่าเวลาเราไปขอกู้เงิน ธนาคารกลับขอดูหลักฐานแต่บัญชีเงินฝาก ไม่เคยขอดูบัญชีกองทุนรวม ไม่เคยถามว่าเรามีการออมผ่านประกันชีวิตมั๊ย คือ ไม่เคยให้น้ำหนักกับการออมในรูปแบบเหล่านี้ แต่พอจะปฏิเสธคำขอกู้ดันบอกว่า "คุณมีบัตรเครดิตเยอะมากแล้ว เกรงว่าจะก่อหนี้มากชำระหนี้ไม่ไหว เงินออมก็น้อย" (ฮา)

ตัวเองขาย คะยั้นคะยอ ตื๊อ ... เสร็จแล้วกลับบอกว่า เฮ้ย มันไม่ดี

นี่เป็นอีกหนึ่งความน่าละเหี่ยใจของคนที่ "พูดอย่างทำอย่าง" ครับ

วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Derivative Warrant แล้วจะลงทุนหรือพนัน


ห่างหายไปนานจากบล็อกเลยเพราะปัญหาด้านสุขภาพนะครับ กลับมาคราวนี้มีเรื่องราวดีๆ มาฝากเช่นเดิม

ผมมีโอกาสได้เข้าไปอ่านบล็อกของคุณกวี นำพาเจริญ ที่แปะอยู่ใน Settrade.com เขียนไว้เกี่ยวกับ derivative warrant (DW) และก็เห็นว่าน่าสนใจโดยเฉพาะในส่วนที่มีคนมาคอมเมนต์

คุณกวีกล่าวถึงราคาของ DW ในทางทฤษฎี และบอกว่าในบางจังหวะตลาดก็ "บ้าคลั่ง" ซื้อขายกันโดยไม่สนใจทฤษฎี แต่ก็โดนผู้เล่นหลายคนเข้ามา "สอย" เอาดื้อๆ เช่น
"ในเมื่อ DW เกิดมาเพื่อเก็งกำไรอย่างเดียว จะมาอ้างหลักการหรือทฤษฎีอะไร ? ผมอ่านหนังสือ DW ที่คุณเขียน ก็ไม่ได้ย้ำเรื่องการลงทุน เรื่องการออม เพื่อการร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจตามที่ตลท.เชิญชวนให้ประชาชนมาลงทุนในหุ้นเลย ... ไม่มีหลักการครับ ใจล้วนๆ"

อีกอันหนึ่ง
"เมื่อ DW เป็นหุ้น (ที่คุณบอกว่า) เพื่อลงทุนหรือเก็งกำไรระยะสั้น แล้วก็ต้องมาคอยเตือนว่า อย่าเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่ง ไม่มีใครฟังหรอกครับ เมื่อเป็นหุ้นเก็งกำไร ก็ต้องเก็งกำไร ใครออกช้าก็โชคร้ายไป ไว้ไปเก็งตัวใหม่ ... ที่คุณเขียนว่า "จำกัดขาดทุน กำไรไม่จำกัด" บนปกหนังสือ ใครๆฟังก็ตาลุกครับ"

อ่านข้อความพวกนี้แล้วนึกๆ ดูก็แอบยินดีว่า โชคดีที่เราไม่ได้เขียนหนังสือด้วยความตั้งใจดี เขียนบล็อกเพื่อเตือนสติ แต่แล้วก็มีคนมากัดมาว่า เหมือนเตือนคนเมาว่าอย่าเหยียบอ้วก คนเมาก็หันมาด่าพ่อ เสร็จแล้วก็หันกลับไปเหยียบอ้วกเอาเสียอีก สำหรับท่านที่อยาก "เล่น" ผมแนะนำอย่างนี้แล้วกันครับ

1. มันไม่ใช่การลงทุน! DW เป็นตราสารอนุพันธ์คล้ายๆ กับ option ชนิดหนึ่ง คือ ให้สิทธิในการซื้อหรือขายหุ้น(หุ้นแม่)ที่ราคาใดราคาหนึ่ง ตัว DW เองมีอายุ พอสิ้นอายุ สิทธินั้นก็สูญไป เราต้องแข่งกับเวลา ไม่เหมือนกับหุ้นที่ถือ-ยื้อ-รอได้

2. สำรวจให้ดีว่าใครเป็นคนออก DW ตัวนั้นๆ โดยปกติผู้ออก DW จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่รายใดรายหนึ่ง สังเกตจากชื่อ DW ก็ได้ครับ เช่น TOP08CA มีเลข 08 หราอยู่กลางชื่อ อันนี้เป็นหมายเลขของ บล.เอเชียพลัส ความน่าเชื่อถือของผู้ออก DW ก็เป็นปัจจัยหนึ่งว่าเราจะซื้อ DW ตัวนั้นดีมั๊ย

3. ราคาใช้สิทธิและวันครบกำหนดต้องสมเหตุสมผลด้วย ถ้าหุ้นแม่อยู่ที่ 80 บาท แต่ราคาใช้สิทธิอยู่ที่ 100 บาท ในขณะที่ DW จะหมดอายุใน 1 เดือน คุณคิดว่าหุ้นจะขึ้นไป 25% ได้ภายใน 1 เดือนไหวมั๊ย ถ้าไม่ไหวทุกอย่างจบศูนย์ทันที

4. ประเด็นสุดท้าย ผมอยากให้ดูอัตราใช้สิทธิกับราคาของตัว DW เอง ถ้าราคา DW อยู่ที่ 2 บาท แต่ต้องใช้ DW 10 ตัวเพื่อซื้อหุ้นแม่ 1 ตัว คุณจ่าย 20 บาทเพื่อสิทธิในการซื้อหุ้น 1 ตัวนะครับ บางคนเทียบ 2 บาท (ราคา DW) กับ 80 บาท (ราคาหุ้นแม่) แล้วบอกว่าลงทุนน้อย อันนั้นโดนหลอก 555

อยากรู้ลึกกว่านี้ไปหาหนังสือมาอ่านกันต่อได้ครับ ของคุณกวีก็เขียนใช้ได้ ดีทุกอย่าง ...ยกเว้นชื่อหนังสือ

วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อย่าตั้งเป้าหมายเป็นที่หนึ่ง


ในบรรดาหนังสือสไตล์จิตวิทยาหรือจิตวิทยาการบริหารส่วนมากจะต้องบอกให้เราเป็นที่หนึ่งให้ได้ ฝรั่งเองโดยเฉพาะอเมริกันก็มีค่านิยมว่าต้องเป็นที่หนึ่ง เชื่อว่าใครฟังแล้วก็ต้องชอบ

แต่เราต้องเป็นที่หนึ่งจริงหรือเปล่า

โดยส่วนตัวผมคิดว่าการไม่ได้เป็นที่หนึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะขาดความทะเยอทะยานหรือไม่มีการพัฒนา ในทางตรงกันข้ามการยึดติดอยู่ที่การเป็นที่หนึ่งกลับทำให้พลาดสิ่งสำคัญไป ถามว่าถ้าในห้องเรียนคุณสอบได้ที่หนึ่งทุกปี อยู่มาปีหนึ่งมีนักเรียนใหม่เข้ามาแล้วเขาเก่งกว่า คุณก็จะหมดความสุขในการเรียนหรือ? หรือว่าจะตั้งใจเรียนให้มากขึ้นเพื่อกลับมาเป็นที่หนึ่งอีกครั้ง

แล้วถ้านักเรียนใหม่นั้นเขายังคงเป็นที่หนึ่งอยู่อีก คุณจะไม่มีวันเป็นสุขหรือเปล่า?

หรือในทางกลับกันหากนักเรียนเก่งๆ ในชั้นออกไปเรียนต่อที่โรงเรียนอื่นกันหมด คุณเป็นที่หนึ่งโดยแทบไม่ต้องพยายาม ก็เลยนั่งๆ นอนๆ ไม่ต้องขยันหมั่นเพียรอย่างนั้นหรือ ...หรือคุณจะบอกว่าถึงอย่างไรเราก็ควรขยันเอาไว้ก่อนแม้ว่าจะเป็นที่หนึ่งอยู่แล้ว

ถ้าอย่างนั้นการเป็นที่หนึ่งก็คงไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดใช่มั๊ย?

ปรัชญาของผมข้อนี้คิดได้ระหว่างที่มองเห็นผู้คนเร่งรีบเดินขึ้นบันไดรถไฟฟ้าใต้ดินในตอนเช้า ผมเห็นคนที่รีบที่สุด เดินเร็วจนแทบวิ่ง เพื่อขึ้นไปถึงประตูทางออกเป็นคนแรก เพื่อจะได้ไม่ต้องรอคิวแตะบัตรตอนออกจากสถานี แต่สิ่งที่ผมพบก็คือคนที่เดินเร็วเป็นอันดับ 4 - 5 เขาก็ไม่ต้องรอคิวเหมือนกันเพราะประตูทางออกก็มีอยู่หลายช่อง ในความเป็นจริงคิวจะเริ่มก่อตัวเมื่อมีคนมากองอยู่ที่ประตูทางออกตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป

ผมก็เลยคิดว่าในบางครั้ง "Being the first ones is as good as being the first one" ผมจึงไม่คิดขัดข้องหากใครอยากสร้างพลังใจ อยากเป็นเลิศ อยากเป็นที่หนึ่ง เพียงแต่เราอาจไม่ต้องเหนื่อยมากก็ได้ผลลัพธ์เท่ากัน ขอให้ฉลาดคิดหน่อยก็พอ