วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วงจรเงินสดแบบสรุป


เอาสั้นๆ ง่ายๆ แบบ common sense ไม่ต้องท่องจำนะครับ

"วงจรเงินสด" มีไว้สำหรับตามดูการ "ใช้" เงินสดในกิจการของเรา โดยดูว่าแต่ละกิจกรรมมีการใช้เงินสดไปกี่วันบ้าง



จัดซื้อ


ในการจัดซื้อวัตถุดิบ ถ้าจ่ายสดแบบหมูไปไก่มาก็ถือว่า "ไม่มีหนี้การค้า" (ระยะเวลาชำระหนี้ = 0 วัน) แต่โดยทั่วไปเราจะซื้อเป็นเงินเชื่อ คือ ได้ของมาก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินตามหลัง การซื้อของเป็นเงินเชื่อจึงเหมือนกับการที่เรา "ถือเงิน" ของคู่ค้าเอาไว้เป็นการชั่วคราว เพราะของก็ได้มาแล้ว เงินก็ยังถืออยู่

ดังนั้น เมื่อพิจารณาในวงจรเงินสดจึงกลายเป็นว่าเรา "ได้เงิน" แทนที่จะ "ใช้เงิน"

สรุป ระยะเวลาชำระหนี้ ยิ่งนานก็ยิ่งดี แต่อย่านานเกิน เดี๋ยวไม่มีใครอยากค้าขายด้วย


ผลิตสินค้าและรอขาย


นับตั้งแต่วันที่เราได้วัตถุดิบจนถึงวันที่เราขายสินค้าได้ นี่คือช่วงเวลาที่เงินของเรา "เปลี่ยนสภาพ" ไปเป็นสินค้าคงเหลือ และมันจะไม่เปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสดจนกว่าเราจะขายสินค้าได้

ในวงจรเงินสด นี่คือการ "ใช้เงิน" ที่ชัดเจนมาก และยิ่งขายช้า เงินของเราก็ยิ่งจม ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน

สรุป ระยะเวลาขายสินค้า ยิ่งสั้นยิ่งดี ผลิตเร็ว-ขายไว ... เยี่ยม!


ขายสินค้าได้


เมื่อเราขายสินค้าได้ เงินลอยมาแล้ว... แต่เดี๋ยวก่อน! เราจะยังไม่ได้เงินก้อนนี้จนกว่าจะตามเก็บหนี้จากลูกค้าได้สำเร็จ (ยกเว้นบางกิจการที่ขายสินค้าแล้วได้รับเงินสดทันที เช่น ค้าปลีก) ซึ่งเท่ากับว่าลูกค้าได้ถือเงินแทนเราเป็นการชั่วคราว

และกิจกรรมนี้ก็ถือเป็นการ "ใช้เงิน" ในวงจรเงินสดด้วย

สรุป ระยะเวลาเก็บหนี้ ยิ่งสั้นยิ่งดี แต่ถ้าไปบีบคอมากๆ ลูกค้าจะไม่แฮปปี้นะครับ





หมายเหตุ ภาพประกอบจาก www.strategy-at-risk.com ครับ ภาพนี้อาจจะ advance ขึ้นมาอีกหน่อย "วงจรเงินสด" ที่เราพูดถึงก็คือ Cash Conversion Cycle ในภาพ ซึ่งผมคิดว่าแผนภาพนี้ให้รายละเอียดไว้ดีมาก เลยขอนำมาให้ดูกัน


วงจรเงินสด


วงจรเงินสด (วัน) = [ระยะเวลาขายสินค้า] + [ระยะเวลาเก็บหนี้] - [ระยะเวลาชำระหนี้]


ทั้งนี้ต้องไม่ลืมด้วยว่ากิจกรรมจัดซื้อนั้น เรา "ได้เงิน" จึงต้องใช้เครื่องหมายลบ

สมการนี้จะบอกได้ว่า "เงินสด" ของเราหายหน้าไปกี่วัน ถึงจะออกมาสร้างเป็นผลกำไรให้กับกิจการได้ และเงินสดก็เหมือนคนรักครับ หายหน้าไปนานๆ ก็ถือว่าไม่ดี

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

X-RAY อิสรภาพทางการเงิน (R)


ว่ากันต่อจากคราวที่แล้วนะครับ

(ถ้า "งง" ว่าอะไรคือ "คราวที่แล้ว" โปรดอ่าน
http://www.monkeyfreetime.com/2012/12/blog-post_30.html และ
http://www.monkeyfreetime.com/2013/01/x-ray.html เสียก่อน)

ดังที่ผมเปรียบเทียบเอาไว้ว่า การพิชิตอิสรภาพทางการเงิน คือ การต่อสู้กับสัตว์ที่ร้ายกาจ ถึงตอนนี้คุณคงเห็นแล้วว่า "สัตว์ร้าย" หรือ "ค่าใช้จ่าย" (ตัว X) เป็นสิ่งที่เราเลือกเองได้ ซึ่งผมก็เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มคิดแล้วล่ะว่าจะลดค่าใช้จ่ายลง เพื่อให้พิชิตอิสรภาพทางการเงินได้ง่ายและเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม คนเรายังไงก็ต้องกินต้องใช้ครับ ค่าใช้จ่ายอาจจะลดลงได้ประมาณนึง เหมือนการที่เราเลือกสัตว์ร้ายที่ตัวเล็กลง แต่ที่สุดแล้วก็คงต้องต่อสู้กับมันอยู่ดี นั่นเป็นเหตุผลที่เราจะมาพูดถึง อาวุธ และ ทักษะการใช้อาวุธ กัน


ทักษะที่เฉียบขาด


ในเกมคอมพิวเตอร์ที่เราต้องใช้อาวุธต่อสู้และปราบศัตรูไปเรื่อยๆ สังเกตว่าในช่วงแรกเกมมักจะให้อาวุธเรามาแบบ "ตามมีตามเกิด" เช่น มีดสั้นห่วยๆ เล่มหนึ่ง จากนั้นเมื่อเกมดำเนินไปสักระยะ เราก็จะค่อยๆ อัพเกรดอาวุธของเราให้ดีขึ้น อาจจะเป็นมีดยาว ต่อจากนั้นจึงเป็น ดาบ หอก ธนู ฯลฯ ... ซึ่งก็คล้ายกับปัญหาอิสรภาพทางการเงินของเราเช่นกันครับ

ในช่วงต้นของชีวิตเรายังมีเงินเก็บน้อยอยู่ ทักษะด้านการลงทุนก็ไม่ค่อยมี เปรียบไปก็เหมือนกับการมีอาวุธเป็นมีดสั้น (เงินน้อย) แถมยังใช้ไม่คล่อง (ลงทุนไม่เป็น) อีกด้วย ถามว่าเราจะทำอย่างไรกับปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้?

แน่นอน การอัพเกรดอาวุธยังทำไม่ได้ในตอนนี้ สิ่งเดียวที่เราทำได้ก็คือ ฝึกฝนการใช้อาวุธ "เท่าที่มี" ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การนั่งปลดปลงกับชีวิตว่าเรามีแค่มีดสั้นจะสู้ใครเขาได้ อย่างนี้ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมา ถ้าเราฉลาดพอก็จะรู้ว่า เมื่อเราฝึกฝนและรีดเอาศักยภาพของมีดสั้นออกมาได้แล้ว เดี๋ยวเราก็จะต่อสู้ได้เก่งขึ้นและอัพเกรดอาวุธได้เอง

ดังนั้น ฝึกฝนทักษะให้เฉียบขาดเข้าไว้ ไม่ว่าอาวุธของคุณจะเป็นอะไรก็ตาม มีเงินน้อยไม่เป็นไร เพราะถ้าลงทุนเก่ง มันก็จะเติบโตและกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้


"ตัว r" กำหนดชะตาชีวิต


เมื่อเราย้อนกลับไปดู สมการอิสรภาพทางการเงิน ก็จะเห็นว่า "ตัวหาร" ของสมการดังกล่าว คือ ผลต่างระหว่าง อัตราผลตอบแทน (ตัว r) และ อัตราเงินเฟ้อ (ตัว f)

ด้วยเหตุนี้ หากเราต้องการไปถึงอิสรภาพทางการเงินได้เร็ว เราก็จะต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทน สูงกว่า อัตราเงินเฟ้อมากๆ ถ้าเราลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ ตัวหารก็จะกลายเป็นศูนย์ และทำให้สินทรัพย์ที่เราจำเป็นต้องมีพุ่งทะลุฟ้า หรือพูดง่ายๆ ก็คือ อิสรภาพทางการเงินจะไม่มีวันเกิดขึ้น

สรุปก็คือ เราต้องหาการลงทุนให้ผลตอบแทนสูงพอที่จะชนะเงินเฟ้อได้อย่างมีนัยสำคัญ และถ้าจะให้ดีก็ควร float หรือลอยตัวไปตามอัตราเงินเฟ้อด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน จะเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผมตัดทิ้ง เนื่องจากพันธบัตรส่วนมากให้ผลตอบแทนคงที่ และแทบจะไม่มีทางชนะเงินเฟ้อได้เลย

ดูจากข้อสรุปของเราแล้ว "หุ้น" ดูจะเป็นตัวเลือกที่เข้าท่าและเหมาะสมกับอิสรภาพทางการเงิน เนื่องจากผลตอบแทนของหุ้นสามารถชนะเงินเฟ้อได้ในระยะยาว นอกจากนี้เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น บริษัทก็มักทำยอดขายได้สูงขึ้นตามไปด้วย อันนี้หุ้นทั่วไปในระดับกลางๆ ก็ทำได้ไม่ยากครับ

อย่างไรก็ตาม มักมีคนถามผมอยู่เหมือนกันว่า ทองคำล่ะใช้ได้ไหม? แล้วกองทุนอสังหาฯ หรือประกันชีวิตล่ะ?

ตอบสั้นๆ ทองคำ "ใช้ไม่ได้" ในความเห็นของผม เพราะปัจจุบันทองคำกลายเป็นการเก็งกำไรไปมากแล้ว นอกจากนี้ทองคำไม่สามารถจ่ายเงินปันผลออกมาให้เราได้ คุณค่าของมันจึงถูกแขวนอยู่ที่ตลาดโลก ซึ่งยากต่อการทำนาย ถ้าเป็นผมคงไม่อยากฝากอนาคตไว้กับสินทรัพย์ทำนองนี้

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ผมถือว่า "เกือบใช้ได้" เพียงแต่ต้องเข้าใจว่า upside ของมันมีจำกัด เพราะพื้นที่เช่าถูก fix ไว้แล้วตั้งแต่ต้น ส่วนค่าเช่าก็ปรับเพิ่มได้ในระดับหนึ่ง แต่จะหวังกำไรโตพรวดพราดแบบหุ้น อันนั้นคงไม่ได้

ประกันชีวิตก็ถือว่า "ไม่โอเค" สำหรับผม เพราะให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้ไม่มาก ถ้าจะซื้อประกันก็ควรเป็นเพราะต้องการ "ความคุ้มครอง" มากกว่าจะหวังอย่างอื่น บางคนซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีและสร้างผลตอบแทน โดยไม่ได้สนใจเรื่องของความคุ้มครองเลยแม้แต่น้อย ผมว่ามันเหมือนการซื้อรถยนต์เพราะอยากได้เครื่องเสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่แนะนำ


คำตอบอยู่ที่ "หุ้น"


หลายคนแค่ได้ยินคำว่า "หุ้น" ก็ร้องจ๊าก นึกไปถึงคนที่เจ๊งหุ้นหมดตัว หมดอนาคต แต่ผมจะชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในหุ้นเพื่ออิสรภาพทางการเงินไม่เหมือนกับการเล่นหุ้นเพื่อเก็งกำไร

ในการเล่นหุ้นเก็งกำไร คุณพยายามซื้อขายเล่นรอบ ทำกำไรครั้งละนิดๆ หน่อยๆ ถ้าผิดทางก็ถือหุ้นติดดอยไปก่อน ด้วยคติว่า "ไม่ขาย ไม่ขาดทุน" ด้วยเหตุนี้กำไรของคุณในแต่ละครั้งจึง "จิ๊บจ๊อย" และเงินทุนบางส่วนกลายเป็นต้นทุนจม (ติดดอย) อยู่กับหุ้นไร้อนาคต

ขณะที่การลงทุนเพื่ออิสรภาพทางการเงินเน้นไปที่การทำความเข้าใจธุรกิจ และเข้าซื้อหุ้นต่อเมื่อมี "แต้มต่อ" ที่น่าสนใจเท่านั้น

หากเราซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว 10% โดยไม่มีแต้มต่อใดๆ (เช่น ราคาหุ้นเท่ากับมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นพอดี หรือถ้าเราซื้อเฉลี่ยแบบ Dollar Cost Averaging: DCA) และอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 4% ค่า r - f ที่จะแทนค่าเข้าไปในสมการอิสรภาพทางการเงินของเราจะเท่ากับ 0.10 - 0.04 = 0.06

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราอดทนรอคอยแต้มต่อที่น่าสนใจ เช่น สามารถซื้อหุ้นได้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง 40% (มี Margin of Safety 40%) นั่นหมายความว่า แทนที่จะควักเงินซื้อหุ้นแบบไร้แต้มต่อ 100 บาท เรากลับควักเงินเพียง 60 บาทเท่านั้น อัตราผลตอบแทนของเราจึงพุ่งกระฉูดจาก 10% ไปเป็น 16.7% ทันที ทั้งที่เป็นหุ้นตัวเดียวกันแท้ๆ

แม้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นนี้จะดูน่าสนใจ แต่คุณจะยิ่ง "ทึ่ง" ขึ้นไปอีกถ้ารู้ว่า มันสามารถช่วยให้อิสรภาพทางการเงินของคุณมาถึงเร็วขึ้นอย่างมาก

สมมติซื้อหุ้นแบบไม่มีแต้มต่อ (ค่า r - f = 0.06) และต้องการมีเงินใช้จ่ายเดือนละ 50,000 บาท คุณต้องใช้เงินลงทุน 10 ล้านบาท ทว่าแต้มต่อจากการซื้อหุ้นด้วย Margin of Safety 40% ในตัวอย่างข้างต้น (ค่า r - f = 0.127) จะช่วยลดเงินลงทุนลงจาก 10 ล้านบาทเหลือเพียง 4.7 ล้านบาทได้!

นี่เพียงแค่การซื้อหุ้น "ดาดๆ" แบบมีแต้มต่อนะครับ ถ้าเป็นหุ้น "เทพๆ" ที่มีแต้มต่อจะขนาดไหน