วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ความผิดพลาด 5 ประการ


การเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเองนั้นเป็นเรื่องดี แต่การเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่นอาจเป็นวิธีที่ฉลาดกว่า

ปัญหาเพียงอย่างเดียวของเรื่องนี้ คือ คนเรามักไม่ค่อยอยากบอกคนอื่นว่าตนเองเคยทำผิดพลาดอะไร โดยเฉพาะในแวดวงการลงทุน หรือบางทีซ้ำร้ายทำผิดพลาดแล้วตัวเองยังไม่ยอมรับเลยก็มี นักลงทุนมือเก่าที่เคย "ตกท่อ" มาแล้ว พอล้างมือล้างเท้าเสร็จก็เลยมานั่งรอดูนักลงทุนเคราะห์ร้ายคนต่อไป แทนที่จะเขียนป้ายเตือนหรือคอยตะโกนบอกคนอื่น ๆ

เพราะผมเชื่อคำพูดที่ว่า "ถ้าอยากให้โลกเป็นอย่างไร ให้เริ่มต้นจากตัวเราก่อน" ผมจึงขอรวบรวม ความผิดพลาด 5 ประการ ที่เคยทำในฐานะนักลงทุนอาชีพตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับนักลงทุนรุ่นหลังแบบไม่ต้องรักษาภาพลักษณ์ใด ๆ และหวังว่าวิธีปฏิบัติเช่นนี้จะมีคนทำมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะมีนักลงทุนรุ่นหลังที่เก่งกว่ารุ่นแรก สามารถสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของตนเองและครอบครัวได้

ความผิดพลาดทั้ง 5 ประการ ได้แก่ ถือนานเกิน - ประเมินไม่ชัด - บอกปัดบางสิ่ง - ทิ้งค่าเฉลี่ย - เกลี่ยจุดดี ซึ่งบางข้อทำให้ผมสูญเสียกำไรก้อนโตที่ควรจะได้ ขณะที่บางข้อก็ถึงกับทำให้ขาดทุน ดังรายละเอียดต่อไปนี้


1. ถือนานเกิน


หลักสำคัญของการลงทุนแบบเน้นปัจจัยพื้นฐาน คือ นักลงทุนจะต้องมีการประเมินตัวกิจการ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ และเห็นว่าการเข้าซื้อหุ้น ณ ราคานั้นจะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี

หากมีการคำนวณ "มูลค่าหุ้น" อย่างเป็นจริงเป็นจังและใช้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการซื้อขายหุ้น (เช่น ให้เข้าซื้อเมื่อราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่ามาก ๆ และขายเมื่อราคาสูงกว่ามูลค่ามาก ๆ) เราก็อาจเจาะจงวิธีนี้ว่าเป็น การลงทุนแบบเน้นมูลค่า หรือ Value Investment (VI) ซึ่งแม้แนวทางนี้จะเป็นศาสตร์ที่ดี แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับศิลป์ของการนำไปใช้ด้วยเหมือนกัน

ในอดีตที่ผ่านมาผมเคยซื้อหุ้นธุรกิจการเงินตัวหนึ่งในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่า (ตามตำราเป๊ะ) เมื่อเวลาผ่านไปราคาหุ้นก็ปรับตัวสูงขึ้นตามผลประกอบการที่ออกมาดี (ตามตำราอีกเหมือนกัน) จนมีกำไรเกินกว่า 100% ขณะที่ผมก็ยังไม่ขายหุ้น เพราะเชื่อว่าเราควร "ถือมันไว้ตลอดไป" เหมือนที่บัฟเฟตต์เคยบอกว่า "Our favourite holding period is forever." ... น่าเสียดายที่มันเป็นความเข้าใจที่ตื้นเขินของผมในขณะนั้น

สมมติง่าย ๆ ว่าผมคำนวณมูลค่าหุ้นออกมาได้ 100 บาท และราคาหุ้นบนกระดานอยู่ที่ 70 บาท เมื่อเข้าซื้อหุ้น ณ ราคานี้ทำให้มี ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย หรือ Margin of Safety (MoS) เท่ากับ (100 - 70) / 100 = 30 เปอร์เซ็นต์

ต่อมาไม่นานตลาดเกิดรับรู้คุณค่าของหุ้นดังกล่าว และผลักดันให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นมาหนึ่งเท่าตัวจาก 70 บาท เป็น 140 บาท ในขณะที่มูลค่าหุ้นเพิ่งจะปรับตัวขึ้นเป็น 112 บาท ซึ่งเท่ากับว่าราคาหุ้นได้แซงมูลค่าหุ้นขึ้นไปแล้ว และ MoS ล่าสุดจะกลายเป็นติดลบ (112 - 140) / 112 = -25 เปอร์เซ็นต์

การที่ผมไม่ขายและเลือกถือหุ้นตัวนี้ต่อทำให้เสียโอกาสครั้งสำคัญ เพราะในเวลาต่อมาราคาหุ้นก็ "หด" กลับลงมาเหลือแค่ 90 บาท แม้จะไม่ทำให้ผมขาดทุน แต่มันก็เทรดกันต่ำกว่ามูลค่า (อีกแล้ว) และทำให้ผมต้องรออีกหลายปี ถ้าสมมติว่ามูลค่าหุ้นปรับตัวขึ้นปีละ 8% ตามผลประกอบการ จะต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปี กว่ามูลค่าหุ้นจะไต่จาก 112 บาท ไปเป็น 140 บาท นอกจากนั้นผมยังต้องภาวนาให้ตลาดขยับมาเทรดหุ้นตัวนี้ที่ราคา fair price ด้วย ถึงจะสามารถขายหุ้นตัวนี้ออกไปได้ในราคาที่ผมเคยพลาดไป

สรุป ถือหุ้นนานเกินไป 1 ปี อาจทำให้ต้องถือนานไปอีก 5 ปี แนวทางที่ดีตามความเห็นของผมอาจเป็นการตัดสินใจ "แบ่งขายบางส่วน" เมื่อราคาหุ้นแซงมูลค่าไปมาก หรือลองคำนวณคร่าว ๆ ดูว่าการเสียโอกาสนั้นเทียบเท่ากับ growth กี่ปี หากยอมรับได้จึงค่อยถือต่อไป


2. ประเมินไม่ชัด


หุ้นทุกตัวในโลกนี้ล้วนมีมูลค่า แต่ก็ไม่ใช่ทุกตัวที่จะสามารถประเมินมูลค่าออกมาได้อย่างน่าเชื่อถือ โดยหลักแล้วมูลค่าหุ้นจะถูกประเมินออกมาเป็นช่วง และถ้าช่วงนั้นกว้างมากเกินไปจนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทางปฏิบัติ เราก็จะบอกว่า ไม่ สามารถประเมินมูลค่าออกมาได้

ด้วยเหตุนี้มูลค่าของหุ้นแต่ละตัวจึงมีความชัดเจนอยู่ในระดับหนึ่ง หากความชัดเจนน้อย เราก็ควรเผื่อ Margin of Safety (MoS) ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าหุ้นตัวไหนมีความชัดเจนน้อยเกินไป ทางที่ดีเราก็ไม่ควรไปยุ่งกับมันเลย ตรงนี้เป็นข้อที่ผมทำผิดพลาดไปเมื่อหลายปีก่อน

โดยปกติแล้วผมไม่ค่อยนิยมซื้อหุ้นที่เพิ่งผ่านการทำ IPO (Initial Public Offering หรือการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนเป็นครั้งแรก) เพราะถือว่ามีข้อมูลย้อนหลังน้อย ในหลาย ๆ กรณี หุ้น IPO จะมีงบการเงินปีล่าสุดเทียบกับปีก่อนหน้าให้ นักลงทุนที่มีความระมัดระวังมากขึ้นอาจจะรอไปอีกสัก 2 ปี เพื่อให้มีข้อมูลเพิ่มขึ้นแล้วจึงค่อยประเมินมูลค่า

แต่ว่าจุดตายกลับอยู่ตรงนี้

ตัวเลขงบการเงินของปีที่ 1 และปีที่ 2 (หลังจาก IPO) อาจมีความน่าเชื่อถือ แต่ตัวเลขของปีที่ทำ IPO (รวมถึงปีก่อนหน้าที่เอามาเป็นตัวเทียบ) อาจจะมีปัญหาสักหน่อยด้วยเหตุผลและวิธีทางบัญชี ซึ่งก็มีทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ สรุปก็คือ แม้จะคิดว่าระมัดระวังแล้ว แต่เราก็มี "สองปีแรก" ที่เชื่อถือได้น้อย กับ "สองปีหลัง" ที่พอจะเชื่อถือได้

ในการประเมินมูลค่าหุ้น เรามักต้องประมาณอัตราการเติบโตและใช้ค่าเฉลี่ยตัวเลขหลายตัวจากงบการเงิน การมีสองปีที่เชื่อถือได้น้อยต่อด้วยสองปีที่เชื่อถือได้มาก ส่งผลให้อัตราการเติบโตที่ประมาณออกมาผิดเพี้ยน เพราะถ้า ฐานต่ำ แล้วมาโต growth ที่ป้อนเข้าไปในการคำนวณก็จะมากเกินจริง มูลค่าหุ้นก็ออกมาสูงเกินจริง เท่ากับเราซื้อหุ้นมาแพงแล้วยังคิดว่าซื้อถูกเสียอีก แบบนี้ก็เรียบร้อย

สรุป ถ้าประเมินมูลค่าหุ้นออกมาให้ชัดเจนไม่ได้ ทางที่ดีไม่ควรไปยุ่งกับมัน ความคลุมเครือเหมือนอาหารโอชะราคาแพงระยับ หากเก่งไม่พอ จ่ายเงินแล้วก็ยังไม่ได้กิน


3. บอกปัดบางสิ่ง


นักลงทุนจำนวนไม่น้อยรู้สึกชื่นชอบธุรกิจที่สามารถคาดการณ์ได้ง่าย และส่วนใหญ่แล้วที่คาดการณ์ง่ายก็เพราะธุรกิจเหล่านั้นไม่ค่อยได้รับผลกระทบจาก ปัจจัยภายนอก เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ฤดูกาล หรือราคาตลาดโลก เป็นต้น ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในนักลงทุนกลุ่มนี้ด้วยเหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้ในหลายปีที่ผ่านมาผมจึง "ปฏิเสธ" โอกาสดี ๆ จากหุ้นส่งออกไปหลายตัว ทั้งที่บางบริษัทงบการเงินก็ออกมาสวย ผลประกอบการก็ดี ราคาหุ้นก็ไม่แพง แต่ผมก็ยังรู้สึกไม่ค่อยสบายใจที่เห็นกำไรสุทธิของบริษัทต้องแกว่งไปมาตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ในแต่ละปี อย่างไรก็ดี ผมยังคงเก็บหุ้นเหล่านี้ไว้ลิสต์ส่วนตัวและคอยติดตามมันอยู่เป็นระยะ ภาพที่เห็นก็คือ กำไรสุทธิในแต่ละปีที่ยังคงขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนกับที่เป็นมาโดยตลอด

จนกระทั่งไม่นานมานี้ ผมเริ่มมีแนวคิดที่จะจำแนกผลตอบแทนจากเงินปันผล (dividend yield) และผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้น (capital gain) ออกจากกัน แล้วคิดผลตอบแทนทบต้นในแต่ละส่วนย้อนกลับไปในระยะยาว ปรากฏว่าหุ้นที่ดูไม่น่าสบายใจนี้กลับให้ผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมชนะตลาดขาดลอย

ความจริงในข้อนี้เท่ากับว่าผมได้เห็น "เพชรในตม" มานานมากแล้ว แต่ไม่ได้หยิบมันขึ้นมา เพราะมัวแต่คิดจะปฏิเสธบางสิ่งบางอย่าง (ในที่นี้ คือ ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) ทั้งที่มองในระยะยาวแล้ว ผลกระทบดังกล่าวย่อมมีบางปีเป็นบวกและบางปีเป็นลบ ถ้าถือหุ้นเอาไว้นานพอ ผลกระทบทั้งหมดควรหักล้างกันไปได้ ความกังวลที่มากเกินไปและไม่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ทำให้ผมพลาดการลงทุนที่ยอดเยี่ยมไปอีกหนึ่งรายการ

สรุป คิดให้ดีก่อนที่จะปฏิเสธบางสิ่งบางอย่าง ถ้าประเมินผลลบจากปัจจัยภายนอกคร่าว ๆ แล้วพบว่าหุ้นดังกล่าวยังน่าสนใจ อย่างนี้ก็สามารถลงทุนได้


4. ทิ้งค่าเฉลี่ย


วิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ทำให้นักลงทุนไทยระมัดระวังตัวและแสวงหา "ภูมิปัญญา" ในการลงทุนหุ้นมากขึ้น แนวทางที่แพร่หลายอย่างมากอันหนึ่ง ได้แก่ การลงทุนแบบเน้นการเติบโตตามแนวคิดของฟิลลิป ฟิชเชอร์ (Philip Fisher) และหนึ่งในนักลงทุนที่นำแนวคิดนี้ไปใช้จนสามารถสร้างความมั่งคั่งได้อย่างมหาศาลก็คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ในทศวรรษที่ผ่านมา หุ้นเติบโต จึงกลายเป็นดาวเด่น นักลงทุนไม่รู้ว่าที่จริงแล้วการเติบโตนั้นควรมีราคาเท่าไร รู้แต่ว่าหุ้นเติบโตแพงได้เรื่อย ๆ ตัวผมเองแม้จะไม่ได้ติดกับดักในมิติของการ "สู้ราคา" แต่ก็ผิดพลาดในมิติของการ "ประเมินการเติบโต" ซึ่งก็ทำเอาเกือบแย่เหมือนกัน

ท่านทั้งหลายคงทราบอยู่แล้วว่านักลงทุนจำเป็นต้องประเมินการเติบโตก่อนถึงจะประเมินมูลค่าหุ้นได้ และในการประเมินการเติบโตนั้น เราก็มักวิเคราะห์ตัวธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการดูประวัติการเติบโตย้อนหลัง เพื่อที่จะได้ อัตราการเติบโต (growth rate) ที่สมเหตุสมผลออกมาใช้

ปัญหาของเรื่องนี้ก็คือ มีหุ้นค้าปลีกอยู่ตัวหนึ่งที่ผมหาอัตราการเติบโตออกมาได้สูงเกินไป เพราะฉะนั้นราคาหุ้นที่ผมซื้อจึงค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริง ซึ่งเรื่องนี้อาจไม่เกิดขึ้นเลยหากผมลองเช็คตัวเลขกับ "ค่าเฉลี่ย" การเติบโตของเศรษฐกิจภาพใหญ่

ตัวอย่างเช่น ถ้าผมหา growth ของบริษัทออกมาได้ 18% ต่อปี ขณะที่ GDP ของประเทศไทยในเวลานั้นอยู่ที่ประมาณ 6-7% ที่จริงแล้วผมควรเผื่อใจสำหรับการเติบโตที่ต่ำกว่า 18% เอาไว้ด้วย โดยคำนึงถึงสถานการณ์ที่อัตราการเติบโตของบริษัทอาจวิ่งเข้าหาค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้น แทนที่จะใช้ตัวเลข 18% ผมก็อาจปรับลดลงมาเหลือ 12-13% แทน เป็นต้น

*** หลายท่านอาจสงสัยว่า ตัวเลขในใจ นี้มาได้อย่างไร และมันถูกต้องหรือไม่? คำตอบคือ เรา ไม่ ได้พยายามหาค่าที่ถูกต้องอยู่แล้ว เราเพียงแต่หา ค่าประมาณที่สมเหตุสมผลและปลอดภัย มากกว่าการใช้ตัวเลข growth สูง ๆ ที่บริษัทอาจทำได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง

ส่วนวิธีคิดก็คือ 1) เราอาจดู "ส่วนต่าง" ระหว่าง growth ที่หาได้ (18%) กับตัวเลข GDP (สมมติเท่ากับ 7%) ส่วนต่างก็จะเท่ากับ 18% - 7% = 11% หากคิดแบบอนุรักษนิยมให้ส่วนต่างนี้ลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว คือ 11% / 2 = 5.5% อัตราการเติบโตก็ควรจะเท่ากับ 7% + 5.5% = 12.5% หรือ

2) ประมาณการเติบโตของบริษัทให้เป็น สองเท่า ของตัวเลข GDP (สมมติเท่ากับ 7%) ซึ่ง 2 x 7% = 14% อย่างนี้ก็จะคล้ายกับวิธีประมาณเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ [แต่โดยส่วนตัวแล้วผมชอบวิธีแรกมากกว่า] ***

การประมาณ growth ของบริษัทโดยมองข้าม ค่าเฉลี่ย ไม่ว่าจะเป็นค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมหรือภาคเศรษฐกิจโดยรวม เท่ากับเรากำลังยกย่องบริษัทแห่งหนึ่งให้มีความสามารถเหนือบริษัทจำนวนมาก ซึ่งถ้ามองถูกก็อาจจะแค่เสมอตัว แต่ถ้ามองผิดก็ขาดทุนได้ง่าย ๆ

สำหรับผมเรื่องนี้โชคดีที่ไม่ได้จบลงด้วยการขาดทุน เพราะหลังจากซื้อหุ้นของบริษัทดังกล่าวไปไม่นาน ผมได้ตัดสินใจขายหุ้นออกไปทั้งหมดในขณะที่ยังมีกำไร (ด้วยเหตุผลเรื่องผู้บริหาร) ก่อนที่บริษัทจะรายงานผลกำไรที่เติบโตน้อยกว่าคาดและทำให้ราคาหุ้นทรุดตัวลงมาเกือบครึ่งหนึ่งจากราคาสูงสุดก่อนหน้านั้น ซึ่งแม้จะรอดตัวมาได้แบบโชคช่วย แต่กรณีนี้ก็ควรถือเป็นหนึ่งในความผิดพลาดของผม

สรุป ควรระมัดระวังการเติบโตหรือตัวเลขอะไรก็ตามที่ดูดีกว่าค่าเฉลี่ยมาก ๆ บางบริษัททำได้เหนือกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็อาจจะด้อยกว่าในอีกช่วงเวลา


5. เกลี่ยจุดดี


ในการเข้าลงทุนหุ้นสักตัวหนึ่ง นักลงทุนย่อมต้องมีการวิเคราะห์จุดดี-จุดด้อย จากนั้นก็เอามาชั่งใจว่าฝั่งไหนมีน้ำหนักมากกว่า อย่างไรก็ตาม ดีก็คือ ดี ด้อยก็คือ ด้อย ว่ากันไปตามเนื้อผ้าและไม่เอาฝั่งไหนมากลบอีกฝั่งหนึ่ง

หลายปีก่อนหน้านี้ผมเคยลงทุนหุ้นที่ผลิตชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรม หากจะว่าไปแล้วธุรกิจของบริษัทนี้น่าจะถือว่ามีศักยภาพ "ปานกลาง" ด้วยขีดความสามารถการทำกำไรที่มีจำกัด เนื่องจากไม่มีอำนาจต่อรองกับลูกค้ามากพอ แต่ถึงกระนั้นผมก็ยังซื้อหุ้นมาจำนวนหนึ่งด้วยเห็นว่าเป็นหุ้นที่จ่ายปันผลดี มีกำไรค่อนข้างสม่ำเสมอ งบดุลมีความแข็งแกร่ง และผู้บริหารมีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา

อย่างไรก็ตาม ข้อดีเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ข้อเสียลบเลือนหายไป เพราะในเวลาต่อมา จุดด้อยสำคัญซึ่งก็คือ  ความสามารถในการกำหนดราคาขาย (pricing power) ได้กลายมาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กำไรของบริษัทถดถอย ส่งผลให้บริษัทจ่ายเงินปันผลลดลงและราคาหุ้นก็ลดลงมาด้วย หลังจากได้ตระหนักถึงสิ่งนี้อย่างจริงจัง ในที่สุดผมก็ทยอยขายหุ้นตัวนี้ออกไปอย่างไม่เสียดาย แม้ว่าจะขาดทุนอยู่พอสมควร

เมื่อถามตัวเองว่ารู้เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นหรือไม่ คำตอบคือ "รู้!" แต่เป็นเพราะมัวนึกไปถึงข้อดีอื่น ๆ จนลืมไปว่า จุดด้อยที่สำคัญเพียงจุดเดียวสามารถเปลี่ยนความสำเร็จให้กลายเป็นความล้มเหลวในการลงทุนแต่ละครั้งได้ (อย่างที่อาจารย์นิเวศน์เคยบอก) และส่วนใหญ่แล้วเวลาพังมันก็จะพังตรงจุดอ่อนจุดเดียวนั้นจริง ๆ เสียด้วย

สรุป อย่าคิดว่าจุดดีมากมายจะกลบจุดด้อยที่สำคัญจุดเดียวลงไปได้ เรื่องนี้ ไม่ ได้หมายความว่าจะต้องค้นหาหุ้นที่ "เพอร์เฟ็กต์" หรือดีรอบด้าน เราเพียงแค่มองทั้งจุดดีและจุดด้อย แล้ววิเคราะห์ทั้งหมดนั้นให้ครบถ้วนตรงไปตรงมา แค่นี้ก็พอแล้ว

เชื่อว่าความผิดพลาดทั้งหลายที่ผมเล่ามานี้จะเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับทุกท่าน (รวมถึงตัวผมเอง) และหวังว่าจะไม่มีใคร (รวมถึงตัวผมเองอีกเช่นกัน) ทำความผิดพลาดเหล่านี้ซ้ำอีกต่อไป

อย่าปล่อยให้ ความผิดพลาดเก่า ของใครมาเป็น ความผิดพลาดใหม่ ของเราครับ มันไม่จำเป็นเลย