วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

วิเคราะห์หุ้น 2 แบบ


ใครวิเคราะห์หุ้นก่อนซื้อถือได้ว่าเป็น "นักลงทุน" ใครไม่วิเคราะห์หุ้นก่อนซื้อถือได้ว่าเป็น "นักเสี่ยงโชค" ไม่อยากให้ใครครหาว่าเล่นหุ้นเป็นการพนันก็ต้องรู้จักวิเคราะห์หุ้น

เป็นที่ทราบกันว่าแนวทางการวิเคราะห์หุ้นมีอยู่ 2 แบบ คือ การวิเคราะห์แบบ top-down และการวิเคราะห์แบบ bottom-up ผมจะขอเล่าให้ฟังว่าแต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร นักวิเคราะห์ส่วนมากใช้วิธีไหน แล้วมันเป็นวิธีที่ดีกว่าจริงหรือไม่! ลองติดตามดูนะครับ


การวิเคราะห์แบบ top-down
การวิเคราะห์แบบ top-down เป็นการมองจากบนลงล่าง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการมองจากภาพใหญ่ไล่ลงมาสู่ภาพเล็ก โดยอาศัยการตัดตัวเลือกออกไปทีละขั้น ตัวอย่างเช่น เราเป็นผู้จัดการกองทุนที่ลงทุนไปทั่วโลก เราอาจจะเริ่มจากการวิเคราะห์ภูมิภาคที่เราสนใจ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เป็นต้น สมมติว่าเราวิเคราะห์แล้วเศรษฐกิจยุโรปยังย่ำแย่ อเมริกาก็ยังไม่แน่ว่าจะฟื้น พิจารณาดูแล้วเอเชียมีภาษีกว่าเพื่อน เราก็วิเคราะห์ย่อยลงมาในระดับประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย ฯลฯ โดยพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจ การเมือง และโครงสร้างพื้นฐานประกอบกัน

จากตัวอย่างนี้สมมติว่าเราชอบประเทศไทย เราก็วิเคราะห์ต่อไปโดยอาจมองว่าเศรษฐกิจของประเทศยังคงขยายตัวได้ดี อัตราดอกเบี้ยยังน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง กำลังซื้อของประชาชนโดยรวมน่าจะสูงขึ้นจากมาตรการปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาล รวมทั้งเหตุการณ์อุทกภัยที่เพิ่งผ่านพ้นไปน่าจะส่งผลให้ผู้คนจำเป็นต้องจับจ่าย ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตามที ภาพนี้ทำให้เราพอจะมองเห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะสูงขึ้น เป็นต้น เมื่อวิเคราะห์ได้ดังนี้แล้ว เราก็มองต่อว่ากลุ่มอุตสาหกรรมไหนบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อได้กลุ่มอุตสาหกรรมแล้วก็ค่อยมาดูว่ามีบริษัทอะไรในนั้น แล้วก็ขุดงบการเงินมาดูต่อไป ...จนเมื่อได้ตัวบริษัทที่เราพอใจก็เริ่มลงเม็ดเงินซื้อหุ้นได้

การวิเคราะห์หุ้นแบบ top-down เป็นที่นิยมกันในหมู่นักวิเคราะห์ หากเราเปิดทีวีช่องเศรษฐกิจอย่าง Money Channel หรือ TNN24 เราจะพบว่าผู้ดำเนินรายการมักถามนักวิเคราะห์ที่เชิญมาว่า "ลงทุนในหุ้นกลุ่มไหนดี?" ซึ่งมองให้ลึกๆ แล้วนี่คือการบอกเราทางอ้อมว่าเขาใช้การวิเคราะห์แบบ top-down นั่นเอง


การวิเคราะห์แบบ bottom-up

นอกจากการวิเคราะห์จากบนลงล่างแล้ว เรายังวิเคราะห์หุ้นจากล่างขึ้นบนได้ด้วย ความแตกต่างอยู่ที่การวิเคราะห์แบบ top-down เราไล่มองในภาพใหญ่ก่อนแล้วค่อยไล่เรียงเจาะไปทีละขั้นๆ กว่าจะมาถึงตัวหุ้น ในขณะที่การวิเคราะห์แบบ bottom-up นั้น เราโผล่มาถึงก็ตัวหุ้นเลย จากนั้นค่อยวิเคราะห์ออกไปที่คู่แข่งและอุตสาหกรรม แล้วเลยต่อไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและดูว่าบริษัทจะได้รับผลดีหรือผลเสียอย่างไร พูดแบบชาวบ้านๆ ก็คือมีปัญญาที่จะอยู่รอดและเติบโตต่อไปหรือไม่ เมื่อวิเคราะห์อย่างรอบคอบแล้วก็ลงมือซื้อหุ้นได้

ในมุมมองของคนใส่สูทผูกไทด์นั่งทำงานวิเคราะห์อยู่ในออฟฟิศ แน่นอนว่าการวิเคราะห์แบบ bottom-up ย่อมจะเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะเขาไม่รู้ว่าจะเริ่มวิเคราะห์หุ้นตัวไหนดีในเมื่อหุ้นในตลาดมีอยู่ร่วมๆ 500 ตัว ต่างจากนักลงทุนทั่วไปที่สามารถเอาชีวิตประจำวันมาใช้ในการคัดเลือกหุ้นที่ตนเองสนใจ เช่น ผมอาจจะเดินผ่านโฮมโปรทุกสัปดาห์และสังเกตเห็นว่ามีคนซื้อของเยอะทุกที ทำให้ผมรู้สึกสนใจกิจการของเขาและเริ่มค้นคว้า ซึ่งอาจจะลงท้ายด้วยการซื้อหรือไม่ซื้อหุ้นก็ได้ ลักษณะแบบนี้แหละครับที่เรียกว่าการวิเคราะห์แบบ bottom-up


มืออาชีพใช้ top-down โคตรเศรษฐีใช้ bottom-up

เมื่อผมเรียนเรื่องการวิเคราะห์หุ้น ผมรู้สึกว่าตำราค่อนข้างจะเอนเอียงไปทางชื่นชอบวิธี top-down มากกว่าวิธี bottom-up ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าตำราหรือหลักสูตรนั้นเขาฝึกคนให้ไปเป็นนักวิเคราะห์หรือผู้จัดการกองทุน อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวผมกลับชื่นชอบวิธี bottom-up มากกว่าครับ

ประการแรก วิธี bottom-up เริ่มจากเรารู้จักตัวหุ้นหรือตัวบริษัทมาก่อนเป็นเบื้องต้น นั่นแปลว่าขอแค่เรารู้จักบริษัทเจ๋งๆ ซัก 2-3 บริษัทอย่างลึกซึ้งก็เพียงพอแล้วที่เราจะถือหุ้นเหล่านั้นและทำกำไร ส่วนหุ้นอีก 400-500 ตัวในตลาดเราไม่จำเป็นต้องรู้จักหรือใส่ใจเลยก็ได้ เพราะเราไม่ใช่นักวิเคราะห์ชื่อดังที่จะต้องคอยตอบนักข่าวว่า "ลงทุนหุ้นกลุ่มไหนดี?"

ประการที่สอง วิธี top-down ค่อนข้างขึ้นกับทิศทางและสภาวะเศรษฐกิจ เมื่อทิศทางลมเปลี่ยน ข้อสรุปก็เปลี่ยน ดังนั้นตัวหุ้นที่แนะนำก็เปลี่ยนได้เรื่อยๆ และอาจจะบ่อยด้วย การเปลี่ยนตัวหุ้นบ่อยๆ ทำให้เราไม่สามารถทำความรู้จักหุ้นได้อย่างลึกซึ้งและทำให้เราก้าวข้าม "ขอบข่ายแห่งความชำนาญ" หรือ circle of competence ของเราเอง

ประการที่สาม อย่าลืมว่านักลงทุนระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์, ฟิลลิป ฟิชเชอร์ หรือแม้แต่ ปีเตอร์ ลินช์ ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน ต่างก็ใช้วิธี bottom-up ในการเลือกหุ้น พวกเขามีความเชื่อร่วมกันว่ากิจการชั้นเยี่ยมนั้นจะดูแลตัวเองได้ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดำเนินไปอย่างไร ดังนั้นหากหุ้นตัวใดมีความโดดเด่นจน "เตะตา" เราได้ มันย่อมมีดีพอที่เราจะลงทุนลงแรงและศึกษามัน

ประการสุดท้าย การอ่านสภาวะเศรษฐกิจเป็นเรื่องยาก 2-3 เดือนผ่านไป แนวโน้มก็เปลี่ยนไปแล้ว การพยายามคาดการณ์เศรษฐกิจอาจเป็นความพยายามที่สูญเปล่า อีกทั้งภาพที่เราเห็น คนอื่นๆ เขาก็เห็น ในจังหวะที่เราวิเคราะห์แบบ top-down แล้วไล่ตามหุ้นกลุ่มแบงก์ คนจำนวนมากก็กำลังวิ่งไล่ตามอยู่เช่นกัน จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะได้ซื้อหุ้นที่ราคาต่ำและมี margin of safety

ทั้งหมดนี้เป็นแค่ความเห็นส่วนตัว แต่ก็อาจมีประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่กำลังเลือกแนวทางการวิเคราะห์หุ้น ถึงอย่างไรผมก็เชื่อว่า ไม่ว่าเราใช้วิธีใด อย่างน้อยก็ยังดีกว่าคนที่ไม่วิเคราะห์ครับ

วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

ฉีกตำราเรื่องความเสี่ยง


เมื่อเราตั้งคำถามกับนักลงทุนว่า "อะไรคือความเสี่ยงของคุณ?"

ก) สูญเสียเงินลงทุน (ขาดทุน)
ข) ราคาหุ้นผันผวน

หากต้องเลือกจริงๆ เพียง 1 ข้อ ผมคิดว่าเกิน 90% จะเลือกข้อ ก

จริงอยู่ว่าราคาหุ้นที่แกว่งไกวไปมาอาจทำให้เรารู้สึกกลัว แต่ถ้าเรามีประสบการณ์มากพอก็อาจจะกล้าถือหุ้นต่อไปและได้ผลตอบแทนที่ดีในที่สุด และแท้ที่จริงแล้ว ความกลัวที่มีต่อความผันผวนในข้อ ข ก็มีรากเหง้ามาจากความกลัวที่จะขาดทุน (ข้อ ก) นั่นเอง

แต่เชื่อหรือเปล่าครับว่าในทางวิชาการแล้ว "ความเสี่ยง" คือ คำตอบในข้อ ข !!! ไม่เชื่อไปถามคนที่สอบ CFA หรือ CISA ก็ได้


หุ้น X เสี่ยงกว่าหุ้น Y

การนิยามความเสี่ยงให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเราในฐานะของนักลงทุน หากเราเชื่อว่าความเสี่ยงคือความผันผวนของราคาหุ้น เราจะลดความเสี่ยงด้วยการถือหุ้นที่ราคาไม่ค่อยแกว่ง หรือที่เราเรียกว่าหุ้น low-beta โดยไม่ได้สนใจว่าผลประกอบการของบริษัทมีการเติบโตอย่างโดดเด่นหรือไม่ หรือเราอาจจะหันไปถือหุ้น high-beta หรือหุ้นที่มีความผันผวนมากกว่าตลาด เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น อย่างที่ได้ยินกันมาว่า high risk, high return

นั่นหมายความว่า หากเราต้องการผลตอบแทนสูงๆ สิ่งเดียวที่เราจะทำคือ "เพิ่ม" ความเสี่ยง เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

งั้นเราลองคิดถึงนักลงทุนระดับเซียนอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ทั้งสองคนนี้กล้าเสี่ยงลุยไฟเพื่อให้ได้ผลตอบแทนงามๆ หรือเปล่า ... คำตอบคือ เปล่าเลย

ในทางตรงกันข้าม นักลงทุนทั้งสอง "ลด" ความเสี่ยงให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ยังได้ผลตอบแทนงดงาม ทั้งสองคนไม่ได้เชื่อว่า หุ้น X เสี่ยงกว่าหุ้น Y ทั้งสองคนไม่ได้เชื่อว่าความเสี่ยงอยู่ที่ตัวหุ้น หรือ instrument และนี่คือกรอบความคิดที่ทำให้ลงทุนแล้วรวย


ความเสี่ยงอยู่ที่วิธีลงทุน

ในทางวิชาการ คนที่ถือหุ้น X ต่างก็มีความเสี่ยงเท่าๆ กัน เพราะเขานิยามความเสี่ยงเอาไว้ที่ตัว instrument แต่ในชีวิตจริง คนที่ซื้อหุ้น X ที่ราคา 20 บาท ย่อมมีความเสี่ยงน้อยกว่าคนที่ซื้อที่ราคา 40 บาท จะเห็นว่าคุณมีโอกาสทำกำไรได้เป็นเท่าตัวทั้งที่ถือหุ้นตัวเดียวกัน และไม่ต้องเพิ่มค่า beta ให้กับพอร์ตของตัวเองเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่รอจังหวะซื้อในขณะที่หุ้นมีราคาถูกเท่านั้น และนี่ก็คือวิธีที่บัฟเฟตต์และ ดร.นิเวศน์ ทำ

ที่จริงเซียน VI ทั้งสองท่านไม่เคยให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นอยู่แล้ว ค่า beta (ซึ่งมาจากราคาหุ้น) จึงไม่เคยอยู่ในหัวสมองของทั้งคู่เลยแม้แต่น้อย และแทนที่จะเลือกหุ้นที่มีค่า beta สูงหรือต่ำ พวกเขากลับพิจารณาศักยภาพการเติบโตของบริษัท รวมทั้ง "ส่วนลด" ที่ได้จากราคาตลาด ที่เราเรียกกันว่า margin of safety

ผมมีโอกาสได้ฟังเสวนาเซียนหุ้น VI งานหนึ่ง คุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข ได้ให้ข้อคิดที่ตรงใจผมมากๆ ว่า "มันไม่มีหรอก หุ้น VI มันมีแต่วิธีการลงทุนแบบ VI" หุ้นตัวเดียวกัน เซียนหุ้น VI เข้าซื้อตอนที่มัน undervalued แต่นักเล่นหุ้นทั่วไปมักเพิ่งมาสนใจตอนที่รู้ว่าเซียน VI ถืออยู่ ซึ่งกว่าพวกเขาจะได้ข่าวนี้ มันก็อาจไม่เข้าเกณฑ์การลงทุนแบบเน้นคุณค่าแล้วก็ได้

วิธีที่ถูกต้อง คือ อย่าซื้อหุ้นตามใคร แม้กระทั่งเซียนหุ้น VI ก็ตามที


สรุป

หากคุณต้องการรวยตู้มต้ามแบบบัฟเฟตต์ โซรอส หรือแม้แต่ ดร.นิเวศน์ ผมแนะนำให้โยนความคิดเรื่อง high risk, high return ทิ้งออกไปนอกหน้าต่างซะ ลืมเรื่องค่า beta ลืมเรื่องการเพิ่มความเสี่ยง แล้วหันมาเพิ่มผลตอบแทนด้วยการ "ลด" ความเสี่ยงในแบบเดียวกับที่ทั้งสามคนทำจนประสบผลมาแล้ว

สถานที่เดียวที่ผมเอาแนวคิดเรื่อง high risk, high return มาใช้ก็คือในห้องสอบ ไม่ใช่ในตลาดหุ้นครับ

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

ดอยสูง - ดอยต่ำ - ดอย VI


สำหรับคอหุ้นแล้วการเที่ยวดอยเที่ยวภูเขาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากไป ไม่ใช่ว่านักเล่นหุ้นเป็นพวกขาดอารมณ์สุนทรีย์ แต่เพราะการ "เที่ยวดอย" หรือ "ติดดอย" ในภาษาหุ้นแล้วหมายถึง ซื้อหุ้นแพงแล้วพอหุ้นตกก็เลยขายไม่ได้ (ที่จริงก็ขายได้เหมือนกัน แต่ส่วนมากจะไม่ยอมขายเอง)

หากถามผมว่าถ้าเห็นแววจะติดหุ้นติดดอยแล้ว ควรจะตัดใจขายเลยดีหรือไม่ เพราะเห็นบางคน cut loss แล้วก็ดี แต่บางคนทนถือแล้วก็ได้ดีเหมือนกัน ผมขอแนะนำอย่างนี้ครับ


ดอยสูง-ดอยต่ำ
หากเราจินตนาการกราฟหุ้นให้เป็นภูเขา คนที่จะซื้อ "ยอดดอย" จริงๆ นั้น ต้องเป็นพวกที่ชอบไล่ซื้อ ประมาณว่าหุ้นตัวไหนวิ่งแรงและทำ new high เป็นว่าเล่นนี่สเปกเค้าเลย ผมเรียกการติดหุ้นในลักษณะนี้ว่า "ดอยสูง" ส่วนมากคนที่ติดดอยแบบนี้มักจะว้าเหว่และเหน็บหนาว เพราะซื้อที่ราคาเกือบๆ จะสูงสุด หาเพื่อนยาก

ขณะเดียวกันมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ชอบซื้อตอนที่หุ้นย่อตัวลง แต่บางครั้งซื้อเสร็จมันก็ยังคงย่อลงไปอีก กลายเป็นพวกติดดอยอีกเหมือนกัน แต่คราวนี้ยังเป็น "ดอยต่ำ" เรียกว่าสถานการณ์ดีกว่าพวกแรกนิดนึง แต่ก็ขาดทุนนะ

ในเชิงของการเก็งกำไร พวกดอยต่ำถือว่ามีความได้เปรียบพวกดอยสูงอยู่อย่างหนึ่ง คือ ตลาดได้เห็นแล้วว่าหุ้นตัวนี้มีศักยภาพที่จะไปต่อได้ถึงราคาไหนเป็นอย่างน้อย (ซึ่งก็คือตำแหน่งที่เป็นยอดดอยนั่นเอง) และหากราคาหุ้นวกกลับไปที่ยอดดอยอีกครั้งหนึ่ง พวกดอยต่ำก็มีทางเลือกว่าจะทำอะไรดีระหว่าง

1) ขายทำกำไร
2) let profit run
3) ซื้อเพิ่ม (มีกำไรสะสมแล้วบางส่วน)

ขณะที่พวกดอยสูงมีทางเลือกคล้ายกัน แต่ต่างกันที่ผลลัพธ์

1) เสมอตัวแล้ว รีบเผ่นดีกว่า
2) let profit begin
3) ซื้อเพิ่ม

จะเห็นว่าคนที่ติดดอยสูงมีทางเลือกที่แย่กว่า ผมเห็นว่าสำหรับนักเก็งกำไรทั่วไปที่ใจไม่กล้าพอจะ cut loss ควรหลีกเลี่ยงการติดดอยสูง ด้วยการรอซื้อหุ้นในจังหวะที่มันพักตัวมากกว่าจะวิ่งใส่ในจังหวะที่มันทำ new high

ส่วนในสายตาของนักลงทุนระยะยาวนั้น "ซื้อถูกกว่า" ก็ย่อมดีกว่า "ซื้อแพงกว่า" อยู่แล้ว


ดอย VI

ผมเคยเห็นนักเล่นหุ้นหลายรายวิจารณ์ทำนองว่า พอหุ้นตกใครๆ ก็ติดดอย ไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI บางคนหนักกว่านั้น บอกว่าตัวเองติดดอยแล้วจึงต้องทนถือหุ้นเป็น VI

เอาเรื่องแรกก่อน VI ติดดอยจริงหรือไม่?

โดยวิสัยของ VI แล้ว เขาจะไม่ซื้อหุ้นที่มีราคาแพงกว่ามูลค่า ในภาวะตลาดกระทิงหรือตลาดขาขึ้นเต็มตัว เราจะไม่ค่อยเห็น VI ตัวจริงเข้ามาไล่ซื้อหุ้น เว้นแต่จะมีหุ้นตัวไหนที่ถูกตลาดมองข้ามไปจริงๆ ซึ่งก็หายากเต็มที แต่ว่ากันตามจริงแล้ว หากตลาดหุ้นตกแรงๆ VI เองก็อาจขาดทุนได้เหมือนกัน เพียงแต่เขาจะไม่นิยามตัวเองว่า "ติดดอย" เท่านั้น

VI แต่ละคนจะมีระดับความพอใจไม่เท่ากัน บางคนอดทนมากและรอจนหุ้นถูกสุดๆ จึงค่อยซื้อ ขณะที่บางคนใช้วิธีทยอยซื้อ ดังนั้นการที่ราคาหุ้นลดลงจึงกลับเป็นความชอบอกชอบใจของคอ VI ทั้งหลายมากกว่า พูดง่ายๆ ก็คือ ระหว่างที่นักเล่นหุ้นทั่วไป "เสียใจ" ที่ติดดอย เหล่า VI อาจกำลังซื้อหุ้นอยู่หรือไม่ก็กำลัง "เสียดาย" ที่เงินหมดแล้ว

เรื่องที่สอง ติดดอยแล้วถือยาวกลายเป็น VI

อันนี้ขัดใจสาวก VI น้อยใหญ่เป็นอย่างมากครับ เพราะการถือยาวหุ้นดีๆ ที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วอย่างหนักด้วยความตั้งใจและต้นทุนต่ำ มันช่างแตกต่างกับการถือยาวหุ้นที่ไม่รู้ว่าดีหรือเปล่า ด้วยความจำใจและต้นทุนสูง การถือยาวแบบ VI เป็นการถือยาวแบบมีแต้มต่อ หากเขาวิเคราะห์ได้ถูกต้อง ยิ่งถือนานก็ยิ่งมีโอกาสได้กำไรมากขึ้น ในทางกลับกันการถือยาวแบบติดดอยเป็นการเสียโอกาสที่จะไปเก็งกำไรหุ้นตัวอื่น บ่อยครั้งผลกำไรของบริษัทก็ย่ำแย่จนพาให้หุ้นตกและยิ่งถือยาวก็ยิ่งขาดทุนหนักจนเกินเยียวยา

ในความเห็นของผม การเก็งกำไรเป็นวิธีทำเงินแบบหนึ่งและไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เมื่อไหร่ที่เรานิยามตัวเองว่าเป็นนักเก็งกำไร เราก็ต้องปฏิบัติตัวให้เป็นนักเก็งกำไรที่ดีด้วย และนักเก็งกำไรที่ดีก็จะไม่มีทางปล่อยให้ตัวเองติดดอย โดยเฉพาะดอยสูง

ในส่วนของ VI ก็มีวิธีคิดในแบบฉบับของพวกเขา แม้เราจะเห็นพวกเขา "ทน" ถือหุ้นในจังหวะหุ้นตก แต่ที่จริงพวกเขาไม่ได้ทน พวกเขากำลัง "enjoy" นะครับ

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

เจ้ามือหุ้น


ตำราหุ้นมักจะบอกว่า ราคาหุ้นในระยะยาวจะสอดคล้องกับผลประกอบการของบริษัท แต่ในระยะสั้นราคาหุ้นมักแกว่งไกวไปมาตามข่าวและตัวเลขเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่ามีหุ้นบางตัวเหมือนกันที่ "ดูเหมือนว่า" จะมีการทำราคา อย่างที่รายย่อยพูดกันทั่วไปว่ามี "เจ้ามือ"


เทพเจ้า

ในสมัยโบราณที่มนุษย์ยังไม่มีความรู้เรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติ พอฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า คนในยุคนั้นก็คิดกันไปว่าเป็นสิ่งที่ภูติผี เทวดา หรือเทพเจ้าเป็นผู้กระทำ ทั้งหมดนี้ไม่ได้แตกต่างจากปรากฏการณ์ในตลาดหุ้นนัก

ในแง่ของตลาดหุ้น รายย่อยจำนวนมากเชื่อว่าหุ้นแต่ละตัวจะมี "เทพเจ้า" ประจำอยู่ วันไหนที่เทพเจ้าลงมาประทับ หุ้นก็จะวิ่งปรู๊ดดด ในทางตรงกันข้าม วันไหนที่เทพเจ้าทรงพิโรธ ท่านก็จะทุบจนหุ้นไส้แตก เล่นเอาแมงเม่าแตกกระเจิงและเข็ดขยาดกันไประยะหนึ่ง จริงอยู่ว่าเทพเจ้าที่เรากล่าวถึงไม่ใช่เทพเจ้าจริงๆ ทว่าเป็น "รายใหญ่" ซึ่งอาจจะมาเดี่ยวหรือมาเป็นกลุ่มก็ได้ แต่มุมมองความเชื่อในลักษณะนี้ทำให้เราไม่คิดว่ารายย่อยจะสามารถหาญกล้าไปสู้กับเจ้ามือได้


แบบจำลองเจ้ามือหุ้น

ในตำนานเราอาจมีมนุษย์ที่หาญสู้กับทวยเทพจนได้รับชัยชนะ แต่ว่าตลาดหุ้นไม่ใช่เทพนิยาย หนทางที่เราจะเอาชนะเจ้ามือหุ้นได้ คือ เราต้องรู้จักเจ้ามือและสู้ด้วยไอเดีย

ในมุมมองของผม รายย่อย คือ นักลงทุนตัวเล็กๆ ที่มีเม็ดเงินลงทุนไม่มาก







สิ่งที่เราพบเห็นทั่วไปในตลาดหุ้น คือ รายย่อยพยายามงัดข้อกับเจ้ามือ สู้ตายทั้งที่เสียเปรียบ






สิ่งนี้เกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง และผลลัพธ์ก็เป็นไปในแบบเดียวกัน










อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูว่าเจ้ามือเป็นใคร เราจะพบว่าโดยมากแล้วเจ้ามือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีเม็ดเงินมากรวมตัวกัน ซึ่งเรามักจะมีอคติและคิดไปว่าพวกเขามีการ "ฮั้ว" และพยายามปั่นราคา ผมเองก็ไม่ทราบว่ามีกรณีเช่นนั้นมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่ารายใหญ่ที่มีความฉลาดและมองภาพคล้ายๆ กัน (เช่น ตีความข่าวได้ว่าจะมีผลต่อราคาหุ้นอย่างไร) ก็คงมีอยู่ ซึ่งนักลงทุนชั้นเซียนก็มักจะรวมอยู่ในพวกนี้ด้วย








แม้ที่มาที่ไปอาจจะไม่เหมือนกัน คือ พวกหนึ่งทุจริตปั่นหุ้น ส่วนอีกพวกหนึ่งสุจริต แต่ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะทำให้เกิดการกระจุกตัวของตลาด หรือ concentration of market เป็นผลให้เกิด demand หรือ supply ขนาดใหญ่ที่มีทิศทางเดียวกันและสามารถผลักดันราคาหุ้นให้ขึ้นหรือลงได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพยายามสู้กับกลุ่มนี้ (เจ้ามือ) เราก็จะเสียเปรียบมาก


วิธีสู้กับเจ้ามือ


ทางรอดหนึ่งของรายย่อยที่ผมมักจะเห็น ก็คือ พยายามจับทางให้ได้ว่าเจ้ามือจะมาเมื่อไหร่และมาในทิศทางไหน จากนั้นก็ตามแห่ไปกับเค้าด้วย ผมเองเห็นว่า "ถ้า" ทำได้ก็จะเป็นทางรอดอย่างหนึ่ง แต่ปัญหาที่พบคือ เรามักไม่รู้ล่วงหน้า และบ่อยครั้งที่เจ้ามือเข้าเนียนและออกไว การพยายามตีซี้และตามแห่จึงมักทำให้ติดดอย (ต้องทนถือหุ้นต้นทุนสูง)

ผมเองกลับคิดถึงอีกทางรอดหนึ่งว่า ถ้ารายย่อยอย่างเราสามารถรวมพลังกันได้ในแบบเดียวกับที่เจ้ามือทำ เราก็จะสามารถสู้กับเจ้ามือได้














ผมตั้งข้อสังเกตว่า หากเรารวมกลุ่มกันได้ใหญ่พอ บางทีอาจจะใหญ่กว่ากลุ่มเจ้ามือเดิมก็ได้ ...มาถึงตรงนี้เชื่อว่ารายย่อยน้อยใหญ่คงเริ่มสนใจ เพียงแต่ยังคิดอยู่ว่า "แล้วเราจะรวมตัวกันได้อย่างไรล่ะ?"

ความจริงแล้วเคล็ดลับนี้ปรากฏหราอยู่ที่บรรทัดแรกที่ผมเขียน...

เคล็ดลับก็คือซื้อขายหุ้นตามแนวโน้มระยะยาวของราคาหุ้นไงล่ะ! คุณอาจจะบอกว่า "ฉันจะไปรู้แนวโน้มราคาระยะยาวได้ยังไง" ไม่ยากเลยครับ เพียงแต่มองไปที่ปัจจัยพื้นฐานและตีความให้ได้ว่าหุ้นตัวนี้ดีหรือแย่ (แม้จะยังไม่คำนวณเลยด้วยซ้ำ) บริษัทมีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่องหรือไม่ การที่เรา "คาดการณ์" ผลประกอบการระยะยาวได้ ก็เท่ากับเราหาแนวโน้มระยะยาวของราคาหุ้นได้แล้ว ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่ลงทุนเลย ถ้าคาดการณ์ไม่ได้ว่าผลประกอบการของบริษัทใน 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร บริษัทพวกนั้นผมปล่อยครับ ใครอยากเล่นก็เล่นไป








ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นเป็นภาพที่รายย่อยจะเห็นได้ร่วมกัน และเป็นทีเด็ดที่จะเอาชนะเจ้ามือได้ เพราะเมื่อไหร่ที่เจ้ามือลากหรือทุบหุ้นสวนทางกับปัจจัยพื้นฐานแล้วล่ะก็ โอกาสที่เจ้ามือจะเจ็บเองก็มีเหมือนกัน

เพียงแต่เราเองอย่าไป "เล่น" หุ้นตัวเล็กที่ผลประกอบการห่วย และลาก-ทุบได้ง่ายๆ ก็แล้วกัน ไม่งั้นจะถูกเทพเจ้าลงทัณฑ์

วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

คนตัดไม้กับนักเล่นหุ้น


ในโลกของพนักงานประจำ บ่อยครั้งเราต้องก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างหนักจนแทบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน แต่ทราบหรือไม่ครับว่าชีวิตของนักเล่นหุ้นเองก็เป็นเช่นนั้นอยู่บ่อยๆ


พักก่อนมั๊ย? วางแผนก่อนมั๊ย?
เมื่อผมเห็นเพื่อนถูกบีบให้ต้อง "ปั่นงาน" ส่งหัวหน้าให้ทันเวลา บอกให้พักก็ไม่พัก เสร็จแล้วงานก็ออกมาผิดๆ พลาดๆ ต้องแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งที่จริงหากเขาเพียงแต่จะหยุด... และวางแผนสักหน่อย เขาอาจจะพบวิธีบริหารเวลาและทำงานให้เสร็จเรียบร้อยตามเวลาได้ไม่ยากเลย

ผมเปรียบเทียบเรื่องนี้กับคนตัดไม้ที่ไม่ยอมลับขวานก่อนตัดไม้ ด้วยความที่มีเวลาจำกัด คนตัดไม้รีบคว้าขวานวิ่งเข้าไปฟันๆๆๆ ต้นไม้อย่างไม่คิดชีวิต แม้ชาวบ้านที่เดินผ่านมาจะท้วงว่าขวานของเขาทื่อจนไม่กินเนื้อไม้ คนตัดไม้ก็ไม่สนใจ เขาให้เหตุผลว่าหากเขาหยุดแม้เพียงหนึ่งนาที งานของเขาก็อาจไม่เสร็จ ในสมองของเขารู้แต่เพียงว่ายิ่งเขาเร่งมือเท่าไหร่ งานก็ยิ่งเสร็จเร็วเท่านั้น

ระบบความคิดของคนตัดไม้ คือ

[งาน] = [ความเร็วในการทำงาน] x [เวลา]

จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะรีบร้อน (เพิ่มความเร็วในการทำงาน) และไม่ยอมหยุดพัก (เพิ่มเวลาทำงาน) ทั้งที่จริงแล้วหากเขาเพิ่ม "ประสิทธิภาพ" ในการทำงานด้วยการคิดและวางแผน เขาอาจเพิ่มความเร็วในการทำงานขึ้นได้หลายเท่าและทำงานเสร็จได้โดยไม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ น่าเสียดายที่เขาไม่ได้ทำ

ผ่านไปครึ่งชั่วโมง สภาพของคนตัดไม้เหงื่อโทรมกาย แต่รอยขวานยังกินเนื้อไม้ไปไม่ถึงไหนเลยด้วยซ้ำ เขาหยุดดูผลงานตัวเองเพียง 2-3 วินาทีด้วยความระทดท้อ แต่ก็กลับมาเหวี่ยงขวานอย่างเดิมอีก


ยิ่งเล่นหุ้น ยิ่งเจ๊ง

ราวกับคนตัดไม้กลับชาติมาเกิด นักเล่นหุ้นมือใหม่หลายคนคิดว่าถ้าเขาทำกำไรจากหุ้นด้วยการ "เล่นรอบ" ซื้อถูกขายแพงรอบแล้วรอบเล่า ยิ่งเวียนซื้อได้บ่อยเท่าไหร่ก็ยิ่งรวยเร็วเท่านั้น พฤติกรรมนี้ไม่ต่างอะไรกับคนตัดไม้ที่ในใจคิดแต่จะเหวี่ยงขวานทื่อๆ

ระบบความคิดของนักเล่นหุ้นเหล่านี้ คือ

[กำไร] = [กำไรต่อรอบ] x [จำนวนรอบ]

พวกเขาจึงพยายามเล่นหุ้นทุกวันหรือเล่นรอบสั้นๆ บ่อยๆ และเข้าออกอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากนักเก็งกำไรมือโปรที่ระบบความคิดของพวกเขา คือ

[กำไร] = [กำไรเฉลี่ย] x [จำนวนครั้งที่กำไร] - [ขาดทุนเฉลี่ย] x [จำนวนครั้งที่ขาดทุน]

สังเกตว่าพวกมืออาชีพเขาคิดทั้งกำไรและขาดทุน จึงมักอยู่รอดได้ในระยะยาว นอกจากนี้พวกเขายังคิดต่อว่าจะเพิ่มกำไรเฉลี่ยได้อย่างไร และพยายามไม่เทรดบ่อยครั้ง เพราะโจทย์ไม่ได้อยู่ที่ความบ่อย แต่อยู่ที่ความแม่น พวกเขาจึงมักอ่านหนังสือและใช้เวลาค้นคว้าอย่างจริงจังที่จะตีโจทย์เหล่านี้

ผิดกับนักเล่นหุ้นมือสมัครเล่นที่มักพร่ำสอนกันและกันว่า อ่านหนังสือไปก็ไม่มีประโยชน์ สู้ลงมือเล่นหุ้นจริงๆ ไปเลยดีกว่า ถึงขาดทุนก็ถือว่าเป็น "ค่าเรียนรู้" ก็แล้วกัน ...แนวคิดนี้ส่งเสริมให้คนหลับหูหลับตาเล่นหุ้นต่อไปอย่างเมามันด้วยความหวังว่าการขาดทุนที่พวกเขาพบเจอจะทำให้ได้เรียนรู้

ในทำนองเดียวกับคนตัดไม้ที่หยุดลับขวานก่อนลงมือตัดไม้ นักเล่นหุ้นก็ควรเพิ่มพูนความรู้ก่อนซื้อหุ้นด้วยเช่นกัน ลองถามตัวเองดูก่อนว่า ถ้าเราสามารถเรียนรู้ความผิดพลาดของคนอื่นด้วยการอ่าน แล้วมีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องไปเปลืองเงินทองละลายไปในตลาดหุ้น เพียงเพื่อให้ได้เนื้อหาเดียวกันนั้น?

จริงอยู่ว่าความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดไม่ได้อยู่อย่างสมบูรณ์ในหนังสือ แต่ถ้าเราจะหา shortcut เรียนรู้ไปก่อนระดับหนึ่ง เราย่อมประหยัดเงินทองที่จะต้องเป็น "ค่าเรียนรู้" ไปได้มาก หนังสือ 200-300 บาท อาจเทียบเท่าค่าเรียนรู้ในตลาดหุ้นเป็นหมื่นเป็นแสนบาทนะครับ คนที่ประหยัดค่าหนังสือ (ที่จริงไปยืมห้องสมุดมารวยอ่านก็ได้) จึงมักจะเล่นหุ้นเจ๊ง ยิ่งเล่นก็ยิ่งเจ๊ง


คำแนะนำ

ผมแนะนำให้นักลงทุนทุกท่าน "ลับขวานก่อนตัดไม้" เพื่อให้แน่ใจว่าขวานที่คุณมีจะทำให้คุณตัดไม้ได้ง่ายและเร็วขึ้น อย่าลังเลที่จะหยุดเพื่อคิดและวางแผน รวมทั้งลับขวานอยู่เป็นระยะๆ แล้วปริมาณไม้ที่คุณตัดได้จะตามมาเอง