วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ตลาดหุ้นเมื่อสิ้นรัชกาล


ประเทศของเราว่างเว้นจากการผลัดแผ่นดินมายาวนาน นับตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์ ก่อนที่จะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอีก ๔ ปีต่อมา คือ ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นรัชกาลจึงมีความสำคัญควรค่าแก่การบันทึกไว้ 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ข่าวการประชวรของ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของคนไทยทั้งประเทศ และแน่นอนว่ารวมถึงตลาดหุ้นด้วย บางวันที่ตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด ผู้คนก็มักเล่าลือกันว่าเป็นเพราะ “ข่าวอัปมงคล” ที่มีผู้เจตนาปล่อยออกมาทุบตลาด เรื่องนี้เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในอดีต แต่ก็ไม่เคยจับตัวการที่ปล่อยข่าวได้ ตราบจนกระทั่งคำแถลงที่ไม่มีใครอยากฟังปรากฏขึ้นบนจอโทรทัศน์ เมื่อเวลา ๑๙.๐๐ น. ของวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙


ช่วงเวลาบีบหัวใจ



ประกาศสำนักพระราชวังหลายฉบับที่ออกมารายงานเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างต่อเนื่องทำให้ประชาชนไทยใจคอไม่สู้ดี หลายคนสวดมนต์อยู่กับบ้านเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ขณะที่บางคนก็ไปเฝ้าติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช

ในเวลาเดียวกันข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์ (Line) และเฟซบุ๊ก (Facebook) ก็มีข่าวลือ ออกมามากมาย ทั้งยังมีการบอกต่อให้พสกนิกรช่วยกันสวดมนต์ถวายในหลวง และมีบทสวดให้ด้วยเสร็จสรรพ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคง “ปราม” ไม่ให้ประชาชนเชื่อถือข่าวลือต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วน และให้รับฟังข่าวสารจากรัฐบาลผ่านทางสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ เป็นสำคัญ 

ำหรับตลาดหุ้นนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะนับจากวันจันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ ทันทีที่ตลาดหุ้นเปิดมาก็ร่วงลงไป ๕๑ จุด หรือลดลง ๓.๔ เปอร์เซ็นต์จากวันทำการก่อนหน้า ซึ่งถือว่ามากโขอยู่ แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับอีกสองวันต่อมา คือ วันพุธที่ ๑๒ ตุลาคม เมื่อตลาดหุ้นทรุดลงไปทำจุดต่ำสุดติดลบ ๙๙ จุด หรือลดลงถึง ๖.๘ เปอร์เซ็นต์ในช่วงระหว่างวัน


คืนที่น่าหวาดผวา



ในคืนวันพุธที่ ๑๒ ตุลาคม หลังจากได้ยินข่าวว่าพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน มีพระราชบัญชาให้จัดการสวดมนต์ตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อถวายพระพรแด่ในหลวงของเราให้ทรงหายจากพระอาการประชวร ข้าพเจ้าก็ประมวลข่าวสารจากทุกด้าน และเริ่มรู้สึกว่าสถานการณ์ล่าสุดคงจะน่าเป็นห่วงมากกว่าที่ข้าพเจ้าพยายามคิด

คืนนั้นข้าพเจ้าเข้านอนด้วยความวิตก แม้จะรวมรวมสมาธิสวดมนต์ถวายแด่ในหลวง แต่พอล้มตัวลงนอนก็นึกหวั่นขึ้นมาอยู่ดีว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าและคนไทยทั้งมวลพยายามทำ จะส่งผลมากพอให้พวกเราผ่านพ้นค่ำคืนนี้ไปได้อย่างปกติสุขหรือไม่


วันที่กลายเป็นประวัติศาสตร์



เช้าวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม ตลาดหุ้นเปิดทิ้งดิ่งลงมาทันที ๑๙ จุด ซึ่งแม้จะมากพอสมควร แต่ก็ดูเหมือนจะเป็น “ปกติ” สำหรับภาวะที่ไม่ปกติอย่างช่วงเวลานั้น และต่อมาดัชนีหุ้นก็ลงไปทำจุดต่ำสุดติดลบ ๔๖ จุดในช่วงแรกของการซื้อขายภาคบ่าย

จุดพลิกผันอยู่ที่เวลา ๑๕.๔๖ น. เมื่อมีแรงซื้อพุ่งโถมเข้ามาราว ๔,๓๐๐ ล้านบาท ภายในเวลา ๕ นาที ถือเป็นปริมาณการซื้อขายที่มากขึ้นเป็นสองเท่า เมื่อเทียบกับช่วง ๕ นาทีก่อนหน้านั้น ส่งผลให้ดัชนี SET พุ่งขึ้นทันที ๑๑ จุด ก่อนที่ช่วงเวลาที่เหลือตลอดบ่ายจะเป็นการไล่กวาดกว้านซื้อหุ้นกันอย่างไม่คิดชีวิต สรุปแล้วดัชนีดีดตัวขึ้นถึง ๕๖ จุด หรือ ๔.๑ เปอร์เซ็นต์จากจุดต่ำสุด ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง

หลังจากตลาดหุ้นปิดไม่นานก็มีข่าวลือแพร่ออกมาว่ารัฐบาลจะมีการแถลงข่าวในคืนนี้ ข้าพเจ้ายอมรับตามตรงว่าไม่อยากให้มีการแถลงข่าวอะไรเลย เพราะหวั่นใจว่าจะเป็นข่าวร้าย แม้สัญญาณที่ส่งออกมาจาก สำนักข่าวตลาดหุ้น ดูแล้วเหมือนน่าจะเป็นข่าวดีอะไรสักอย่าง (เนื่องจากในแวดวงการลงทุนเป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า หุ้นจะตกเมื่อมีข่าวร้าย และหุ้นจะขึ้นเมื่อมีข่าวดี) เพียงแต่นึกไม่ออกว่าข่าวดีจะมาในรูปแบบไหน
ข้าพเจ้าผละจากหน้าจอหุ้นและออกไปสังเกตการณ์รอบ ๆ บริเวณบ้าน ด้วยเคยได้ยินมาว่า แต่โบราณเมื่อมีเหตุแก่บ้านเมือง เช่น การสูญเสียเจ้านายชั้นสูง มักปรากฏอาเพศหรือลางบอกเหตุ ทว่าเย็นวันนั้นข้าพเจ้ามองออกไปก็ไม่เห็นเมฆหม่น ฝนพรำ ท้องฟ้าแปรปรวน หรือลมกระโชกใด ๆ ซึ่งที่จริงคงต้องบอกว่าไม่รู้สึกว่ามีลมพัดเลยเสียด้วยซ้ำ ในละแวกบ้านมีแต่ท้องฟ้าที่เป็นสีฟ้าใสและสงบนิ่งอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ก้อนเมฆใหญ่น้อยแม้แต่ก้อนเดียวก็ไม่ปรากฏ หากไม่นับความรู้สึกหวาดหวั่นที่อยู่ในใจ ท้องฟ้าวันนั้นน่าจะนับว่าสวยงามอย่างที่หาได้ยากยิ่ง

เมื่อถึงเวลา ๑๙.๐๐ น. รายการโทรทัศน์ตัดเข้าสู่แถลงการณ์ ตัวหนังสือแรก ๆ ที่ปรากฏบนจอทำให้ความหวังของข้าพเจ้าและคนไทยทั้งปวงดับสิ้นลง

“เสด็จสวรรคต”


เหตุบังเอิญ?



คืนวันนั้นตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นช่วงหัวค่ำที่ข้าพเจ้ารู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่เย็นเยียบ ท้องฟ้ามีพระจันทร์ลอยเด่น แต่ไร้ดวงดาว ซึ่งก็นับว่าพิกลอยู่ เพราะตลอดเย็นวันนั้นลมสงบจนน่าจะเรียกได้ว่าไม่มีลมพัดเสียเลย หากก้อนเมฆจะแห่แหนลอยเข้ามาปกคลุมท้องฟ้าจนมิดได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก็ควรเป็นเรื่องเหลือเชื่อและผิดหลักวิทยาศาสตร์ อีกทั้งพระจันทร์ก็ไม่น่าจะสุกสว่างดังที่ข้าพเจ้าเห็นด้วย

ในละแวกบ้านของข้าพเจ้า สุนัขทั้งหลายต่างปิดปากเงียบไม่มีเสียงเห่ากันอย่างที่เคย ราวกับว่าพวกมันได้อพยพย้ายที่อยู่กันไปเสียหมด เสียงแมวที่ปกติจะมาป้วนเปี้ยนร้องหง่าว ๆ เป็นประจำ คางคกและกบที่เคยกระโดดกันสวบสาบ รวมถึงแมลงที่เคยส่งเสียงร้องกันในเวลากลางคืนก็พากันหายไปอย่างน่าประหลาดด้วยเหมือนกัน นี่อาจไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ แต่ก็ช่างสอดคล้องอย่างพอเหมาะพอเจาะกับจิตใจอันห่อเหี่ยวของพสกนิกรไทยในห้วงเวลานั้น

ครั้นถึงรุ่งเช้าเมื่อตื่นขึ้นมาข้าพเจ้าก็ไม่ได้ยินเสียงนกร้องแม้สักตัว ทั้งที่โดยปกติแล้วพวกนกกระจอกจะชอบมาจิกเคาะอยู่ที่หน้าต่างห้องนอนและห้องน้ำของข้าพเจ้าอยู่ไม่เว้นวาย จนอดคิดไม่ได้ว่าความเศร้าสร้อยของมนุษย์เป็นหมู่ใหญ่คงจะถ่ายโอนไปสู่สัตว์ต่าง ๆ ได้ด้วยกระมัง กระทั่งช่วงสายของวันนั้นในอินเทอร์เน็ตก็มีข่าวว่ามีผู้พบปรากฏการณ์ หมอกธุมเกตุ ปกคลุมพระนคร ซึ่งตามตำราอธิบายว่ามักจะเกิดขึ้นในเวลาที่มีเหตุใหญ่ ๆ เช่น การสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดิน และเรื่องราวเช่นนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ดังเหตุการณ์ที่มีการบันทึกไว้เมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต 

ม้จะยืนยันไม่ได้ว่าหมอกธุมเกตุเกิดขึ้นในละแวกบ้านข้าพเจ้าด้วยหรือไม่ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ได้ออกไปสังเกตการณ์ในที่สูงหรือตรวจสอบทัศนวิสัยในระยะไกล แต่ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง มันก็น่าจะอธิบายปรากฏการณ์ประหลาดที่ทำให้สรรพสัตว์เงียบงัน หรือทำให้ท้องฟ้าไร้เมฆไร้ดาวได้

ความจริงแล้วปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์อื่น ๆ ยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นหมู่เมฆที่ไปรวมตัวกันบริเวณฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร (และน่าจะเป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งในละแวกบ้านของข้าพเจ้า) ทั้งยังมีแสงอาทิตย์สาดส่องจำเพาะลงมาเหนือโรงพยาบาลศิริราช ปรากฏการณ์พระจันทร์ทรงกลด มีฝูงนกบินวนรอบพระบรมมหาราชวัง หรือมีก้อนเมฆปรากฏเป็นรูปของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์เหล่านี้ข้าพเจ้าไม่ได้พบเห็นด้วยตนเอง เพียงแต่ทราบจากหนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ


ความวิปริตของตลาดหุ้น



ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ตลาดหุ้นในบ่ายวันที่ ๑๓ ตุลาคม มีการไล่ซื้อหุ้นกันอย่างผิดปกตินับตั้งแต่เวลา ๑๕.๔๖ น. ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับประกาศสำนักพระราชวังที่ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต เมื่อเวลา ๑๕ นาฬิกา ๕๒ นาที ก็ต้องถือว่าใกล้เคียงกันอย่างมาก ประกอบกับปริมาณการซื้อขายที่โถมเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเวลา ๑๕.๕๓ น. คิดเป็นเม็ดเงินกว่า ๓,๒๐๐ ล้านบาท ผลักดันให้ดัชนีพุ่งขึ้น “อีก ๑๑ จุด” ในช่วงเวลาเพียง ๓ นาที ทั้งหมดนี้ยากที่จะเป็นเรื่องบังเอิญ



เหตุการณ์นี้ทำให้หลายท่านสงสัยว่า มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในตลาดหุ้นที่มีแหล่งข่าว “วงใน” ที่รวดเร็วราวกับสายฟ้าแลบ และพร้อมที่จะตอบสนองต่อข่าวตามที่พวกเขามีมุมมองหรือไม่

นอกจากนั้นแล้วเมื่อพิจารณาจากตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งปิดทำการหลังตลาดหุ้นราว ๆ ๑๕ นาที สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้น (SET50 Index Futures) ก็ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง ๑๖-๑๗ จุด (ของดัชนี SET50) แม้ภายหลังตลาดหุ้นปิด สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุน มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ว่าดัชนีหุ้นจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อในวันรุ่งขึ้น

ในวันทำการถัดมา คือ วันศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม ดัชนี SET พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงถึง ๔๙ จุด ทันทีที่เปิดตลาด ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบตลอดทั้งวันและปิดไปบวก ๖๕ จุด หรือบวก ๔.๖ เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางความฉงนสนเท่ห์ของนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก


ผิดคาด-ตามคาด



เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนความรู้สึกของพสกนิกรไทย ข้าพเจ้าขอเรียกการตอบสนองของตลาดหุ้นภายหลังเหตุการณ์นี้ว่า ตอบสนองโดยปรับตัวสูงขึ้น แทนที่จะเรียกว่า ตอบสนองในทางบวก (แม้ดัชนีหุ้นจะปรับตัว “บวก” หรือเพิ่มขึ้นจริง ๆ ก็ตาม) เนื่องจากการบวกในเชิงตัวเลขกับการบวกในแง่ของการตีความนั้นอาจไม่ตรงกันเสมอไป และโดยแท้จริงแล้วความสูญเสียอันยิ่งใหญ่นี้ก็ไม่มีทางจะเป็นไปในทางบวกใด ๆ ได้เลย

การที่ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นภายหลังรับรู้ข่าวการเสด็จสวรรคต นับว่าขัดแย้งกับความรู้สึกและความคาดหวังของนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก เพราะพวกเขาเชื่อว่าประเทศไทยหลังจากสิ้นรัชกาลที่ ๙ น่าจะมีพื้นฐานอ่อนแอลง อย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว สิ่งที่ควรสะท้อนออกมาในตลาดหุ้นจึงน่าจะเป็นการที่หุ้นตกหนักเสียยิ่งกว่าตอนที่เพียงแค่มีข่าวพระอาการประชวร ครั้นเมื่อเหตุการณ์กลับตรงกันข้าม พวกเขาจึงรู้สึกประหลาดใจเหลือประมาณ ต่างจากนักลงทุนสถาบัน เช่น ผู้จัดการกองทุน หรือผู้บริหารเงินทุนของสถาบันการเงินต่าง ๆ

ในสถานการณ์ทั่วไป หุ้นจะตกเมื่อมีข่าวร้าย และหุ้นจะขึ้นเมื่อมีข่าวดี ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนไม่น้อยเกิดความขุ่นเคือง เมื่อเห็นหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงตามหลังการสูญเสียที่ใหญ่หลวง ดังความคิดเห็นที่ปรากฏตามเว็บบอร์ดหลายแห่ง ขณะที่บางท่านบอกว่ายอมรับได้หากหุ้นจะขึ้น แต่ไม่น่าจะเป็นการปรับตัวขึ้นอย่างเอิกเกริก ราวกับไม่มีหัวจิตหัวใจในห้วงเวลาเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนรายย่อยบางท่านเหมือนกันที่เข้ามาเยาะหยันและกล่าวหาว่านักลงทุนที่แสดงความผิดหวังเหล่านี้เป็นพวกขี้แพ้ ขายหุ้นขาดทุนไม่รู้จักเรียนรู้แล้วออกมาโวยวาย


ผู้ถูกกล่าวหา



เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้นักลงทุนสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมหรือกองทุนอื่น ๆ ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำให้หุ้นตก หลายท่านที่ใช้คำพูดรุนแรงอาจจะบอกว่า นี่เป็นเจตนา “ทุบหุ้น” โดยอาศัยข่าวอันไม่บังควร ก่อนที่จะรอช้อนซื้อกลับไปที่ราคาต่ำสุด

ข้อหาดังกล่าวนับว่าร้ายแรง และยากที่นักลงทุนสถาบันเหล่านั้นจะสามารถตอบโต้ได้อย่างถนัดถนี่ เนื่องจากผู้บริหารกองทุนแต่ละแห่งย่อมรู้เพียงพฤติกรรมของกองทุนเท่าที่ตนเองดูแลอยู่ ทำให้ไม่สามารถออกตัวหรืออธิบายแทนกองทุนอื่น ๆ ได้โดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ผู้ที่กระทำการทุบหุ้นจริง (สมมติว่ามี) ก็คงจะไม่ออกมาพูดความจริงให้ถูกลงโทษกัน ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่าน่าจะเป็นการดีหากเราจะศึกษาดูว่า พฤติกรรมการซื้อขายหุ้นที่ผ่านมาของนักลงทุนสถาบันเป็นอย่างไร และเราจะเรียนรู้อะไรได้จากเรื่องนี้

ย้อนกลับไปประมาณวันที่ ๑๑ - ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ตลาดหุ้นเคยดิ่งลงอย่างรุนแรงในลักษณะเดียวกันนี้ และในครั้งนั้นก็มีผู้กล่าวหาว่ามีการทุบหุ้นเกิดขึ้นเช่นกัน



สังเกตว่าปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยในตลาดหุ้นช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้าอยู่ที่ประมาณ ๕ - ๖ หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่ปริมาณการซื้อขายกลับพุ่งขึ้นมาเป็น ๘.๒ หมื่นล้านบาท และ ๑.๐๓ แสนล้านบาท ในวันที่ ๑๑ และ ๑๕ ธันวาคม ตามลำดับ ทั้งสองวันนั้นเป็นวันที่ตลาดหุ้นทรุดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวันที่ ๑๕ ธันวาคม ดัชนี SET ลงไปทำจุดต่ำสุดติดลบ ๑๓๙ จุด หรือลดลงถึง ๙.๒ เปอร์เซ็นต์ในระหว่างวัน

หากพิจารณาปริมาณการซื้อขายของสถาบันภายในประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวก็จะพบว่า นักลงทุน “กลุ่มเดียว” ที่ซื้อสุทธิตลอดสามวัน ได้แก่ นักลงทุนทั่วไปในประเทศ (หรือที่เรียกกันว่า นักลงทุนรายย่อย นั่นเอง) ส่วนนักลงทุนอีกสามกลุ่มล้วนขายสุทธิ มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป



จากข้อมูลนี้ข้าพเจ้ามีข้อสังเกตสำหรับข้อมูลปริมาณการซื้อขายของวันที่ ๑๑ และ ๑๕ ธันวาคม กล่าวคือ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ มียอดขายสุทธิค่อนข้างใกล้เคียงกัน (ประมาณ ๒ พันล้านบาทเศษทั้งสองวัน) และมีปริมาณธุรกรรมรวมทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขายคิดเป็นเงินราว ๆ ๑.๗ – ๑.๙ หมื่นล้านบาท ส่วน นักลงทุนต่างประเทศ มียอดขายสุทธิต่างกันอยู่บ้าง (๓.๔ พันล้านบาท เทียบกับ ๔.๒ พันล้านบาท) แต่ปริมาณธุรกรรมรวมของทั้งสองวันก็ยังคงอยู่ที่ ๓.๔ – ๓.๕ หมื่นล้านบาท

ในขณะเดียวกันนั้น นักลงทุนสถาบันในประเทศ แม้จะขายสุทธิลดลงจาก ๓.๑ พันล้านบาท เหลือ ๘ ร้อยล้านบาทเศษ ทว่ายอดธุรกรรมรวมกลับเพิ่มสูงขึ้นจาก ๑.๕ หมื่นล้านบาท กลายเป็น ๒.๑ หมื่นล้านบาท เมื่อพิจารณารูปแบบราคา หรือ price pattern ของดัชนี SET ซึ่งมีลักษณะหางยาว คือ ดิ่งลงแรงและดีดกลับแรง ก็อาจอนุมานได้ว่า นักลงทุนที่มีพฤติกรรมเทขายอย่างตื่นตระหนกและไล่ซื้อกลับอย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบันนี่เอง อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการอนุมานจากข้อมูลเท่าที่มีและไม่สามารถยืนยันรายละเอียดข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่มีข้อมูลปริมาณการซื้อขายในระหว่างวันที่แยกตามกลุ่มนักลงทุน


จากอดีตถึงปัจจุบัน



เมื่อกลับมาดูตลาดหุ้นในช่วงสิ้นรัชกาลที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ จะพบว่ามีการเทขายหุ้นอย่างหนักตั้งแต่ต้นสัปดาห์ (วงกลมหมายเลข ๑๐) แต่ดัชนี SET ลงไปทำจุดต่ำสุดในวันพุธกลางสัปดาห์พร้อมกับปริมาณการซื้อขาย ๑.๓ แสนล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ๔๑ ปีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนที่จะหุ้นจะดีดกลับอย่างรุนแรงในวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ (วงกลมหมายเลข ๑๔)



จากข้อมูลปริมาณการซื้อขายแยกตามกลุ่มนักลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่า ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ดัชนีหุ้นดิ่งลงแรงในทันทีที่เปิดตลาด และแม้จะสามารถดีดกลับขึ้นไปได้มากในระหว่างวัน แต่ที่สุดแล้วก็ยังคงติดลบถึง ๔๗ จุด โดยมี นักลงทุนสถาบันในประเทศ เป็นผู้ขายสุทธิ ๗.๓ พันล้านบาท จึงพออนุมานได้ว่าแรงขายที่มีตลอดทั้งวันน่าจะมาจากนักลงทุนกลุ่มนี้

ต่อมาในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ตลาดหุ้นสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มากในช่วงเปิดตลาด แต่ก็ต้องเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งติดลบไปเกือบ ๑๕ จุด ณ สิ้นวัน ซึ่งนักลงทุนสถาบันในประเทศก็ยังคงขายสุทธิ ๓.๓ พันล้านบาท และถือเป็นแรงขายที่สำคัญของวันนั้น แม้ว่าจะมีบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างประเทศร่วมขายสุทธิด้วยส่วนหนึ่งก็ตาม ส่วนวันพุธที่ ๑๒ ตุลาคม ตลาดหุ้นได้แสดงพฤติกรรม เปิดลบ-ดิ่งแรง-ฟื้นเร็ว คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ โดยมีบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นแรงขายที่สำคัญของวัน



ข้อสังเกตอันหนึ่งตามมุมมองของข้าพเจ้า คือ ในวันที่ตลาดทรุดลงอย่างหนัก ดังเช่นที่เกิดขึ้นในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ และ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ มักปรากฏว่านักลงทุนสถาบันในประเทศขายหุ้นออกมาในปริมาณมาก แต่แล้วเมื่อเห็นว่าไม่มีอะไร พวกเขาก็ซื้อหุ้นกลับไปในปริมาณมากเช่นเดียวกัน ทำให้ยอดขายสุทธิ ณ สิ้นวันไม่ได้มโหฬารเท่ากับที่ขายออกมาในทีแรก

ครั้นถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม ตลาดหุ้นเปิดมาในแดนลบและทรุดลงต่อ จวบจนกระทั่งเวลา ๑๕.๔๖ น. ที่มีแรงซื้อโถมเข้ามาดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้คาดได้ว่ามีนักลงทุนจำนวนหนึ่งเร่งรีบซื้อกลับอย่างรวดเร็ว และผลักดันให้ดัชนีหุ้นที่กำลังติดลบกว่า ๔๐ จุด ปรับตัวขึ้นมาปิดบวก ๖ จุดเศษ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลปริมาณการซื้อขายแยกตามกลุ่มนักลงทุน แรงซื้อดังกล่าวก็ไม่น่าจะเป็นใครไปได้นอกจาก นักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่มียอดซื้อสุทธิถึง ๙.๗ พันล้านบาท ในขณะที่บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (ที่เคยร่วมกันเป็นแรงขายสำคัญในวันก่อนหน้า) ยังคงขายสุทธิถึง ๒.๕ พันล้านบาทอยู่

ในวันทำการถัดมา ศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม ระหว่างที่ประชาชนไทยโดยทั่วไปยังอยู่ในความโศกเศร้า ตลาดหุ้นเปิดทำการด้วยการพุ่งขึ้น ๔๙ จุด และยังคงไต่ระดับต่อเนื่องจนกระทั่งปิดตลาดไปบวก ๖๕ จุด โดยมีนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิถึง ๑.๓๕ หมื่นล้านบาท


ใครทำอะไร



กล่าวได้ว่าตลอดห้าวันทำการในสัปดาห์นั้น นักลงทุนสถาบันในประเทศ เป็นแรงซื้อและแรงขายสำคัญที่กำหนดทิศทางของดัชนี SET โดยเป็นผู้ขายสุทธิในวันที่หุ้นลงแรง และเป็นผู้ซื้อสุทธิในวันที่หุ้นขึ้นแรงหรือมีการดีดกลับรุนแรง ส่วนนักลงทุนรายย่อยนั้นกลับกัน เพราะเป็นผู้ซื้อสุทธิในวันที่หุ้นลงแรง และเป็นผู้ขายสุทธิในวันที่หุ้นขึ้นแรง

คงจะไม่ผิดหากจะกล่าวว่า นักลงทุนรายย่อยเป็นผู้โอบอุ้มตลาดไม่ให้ผันผวนรุนแรงไปกว่าที่มันเป็น ขณะที่นักลงทุนสถาบันกลับกลายเป็นผู้ที่สร้างความผันผวนนั้นขึ้นมา อย่างน้อยก็ใน ๕ วันทำการที่กล่าวมานี้ ส่วนนักลงทุนอีกสองกลุ่มก็มีการเก็งกำไรอย่างมากเช่นกัน แต่ไม่ได้ส่งผลชัดเจนในช่วงเวลาที่ยกมา

สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้นักลงทุนสถาบันตกเป็นจำเลยสังคมในข้อหาพยายาม “ทุบ” และ “ลาก” หุ้นอย่างไม่มีกาลเทศะ แม้จะมีผู้บริหารกองทุนรวมออกมาชี้แจง แต่ก็ไม่สามารถขจัดข้อสงสัยได้อย่างสิ้นเชิง



ความตั้งใจที่จะเทขายและไล่ซื้อหุ้นกลับคืนดูค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นในวงกว้างหรือเกิดจากนักลงทุนสถาบันเพียงไม่กี่ราย รวมถึงเจตจำนงที่อาจเป็นไปได้ทั้งการบริหารเงินลงทุนโดยสุจริต หรืออาจเป็นความพยายามที่จะทุบและลากหุ้น เพื่อตักตวงผลประโยชน์จริง ๆ ก็เป็นได้

ในฐานะที่ข้าพเจ้าอยู่ในตลาดหุ้นเป็นเวลายาวนานพอสมควร ข้าพเจ้าไม่คาดหวังว่าผู้คนในตลาดหุ้นจะมีความสำรวมหรือมีกาลเทศะ ยอมละเว้นจากการทำกำไรเมื่อเห็นโอกาสอยู่ตรงหน้า ดังนั้น ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวโทษบรรดาผู้จัดการกองทุนหรือนักลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กับความพยายามที่จะแสวงหาประโยชน์จากข่าวสารในช่วงเวลาสิ้นรัชกาล แม้ตัวข้าพเจ้าเองจะมีความเชื่ออยู่ลึก ๆ ว่า นี่เป็นสิ่งที่คนดีดีเขาไม่กระทำกัน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะทุบหรือลากหุ้นนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะนี่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและผิดจรรยาบรรณอย่างชัดเจน ไม่เกี่ยวข้องกับกาลเทศะหรือมโนสำนึก หากผู้ใดมองพฤติกรรมทุบและลากหุ้นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็เท่ากับยอมรับความเลวให้ถือเป็นปกติของสังคม ซึ่งนับว่าเป็นอันตราย


มุมมองที่ต้องเปลี่ยนแปลง



สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าเล็งเห็นในห้วงเวลาที่ผ่านมา คือ แท้จริงแล้วนักลงทุนสถาบัน ไม่ใช่ กลุ่มนักลงทุนที่มีความหนักแน่นและช่วยบรรเทาความผันผวนของตลาดหุ้นไทย ดังที่เคยกล่าวอ้างกันเมื่อครั้งริเริ่มจัดตั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ Long Term Equity Fund (LTF) 

หลายปีก่อนหน้านี้ภาครัฐมีความคิดว่า ตลาดหุ้นไทยมี นักลงทุนต่างชาติ เป็นผู้ชี้นำ ส่วนนักลงทุนรายย่อยก็เป็นพวกที่ไหลไปตามเม็ดเงินต่างชาติ แม้จะมีสัดส่วนการซื้อขายมาก แต่ก็เน้นการเก็งกำไรระยะสั้น ไม่มีทิศทางที่แน่นอน ตลาดหุ้นไทยจึงขาดเสถียรภาพ ทำให้ภาครัฐพยายามส่งเสริมบทบาทของนักลงทุนสถาบัน รวมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปหันมาลงทุนผ่าน “มืออาชีพ” อย่างกองทุนรวมมากขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี นัยว่าเป็นการพัฒนาตลาดทุนไปในตัว

เวลาที่ล่วงเลยไปพิสูจน์ให้เห็นว่านักลงทุนสถาบันเองก็มีการเก็งกำไรอย่างสูง และตลาดหุ้นไทยที่หวังว่าจะมีเสถียรภาพก็กลับไร้เสถียรภาพเสียยิ่งกว่าเก่า นอกจากนี้การที่นักลงทุนสถาบันมีเม็ดเงินอยู่ในมือจำนวนมาก (ซึ่งที่จริงก็เป็นเงินของประชาชนทั่วไป) รวมกับความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่ “เหนือกว่า” นักลงทุนรายย่อยทั่วไป ส่งผลให้ความเสียหายที่ อาจจะ เกิดขึ้นจากนักลงทุนสถาบันเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

การเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกันส่งผลในทางลบต่อการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว บริษัทจำนวนไม่น้อยให้ข้อมูลแก่นักวิเคราะห์ผ่านการให้สัมภาษณ์หรือการจัดประชุมนักวิเคราะห์เป็นการเฉพาะ แม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขที่ฝ่ายบริหารประเมินเอาไว้โดยตรง แต่ก็ทำให้บทวิเคราะห์ต่าง ๆ สามารถคาดการณ์ตัวเลขได้ค่อนข้างแม่นยำ ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยต้องรอจนกว่าบทวิเคราะห์จะเผยแพร่ออกมา หรือบริษัทประกาศผลการดำเนินงานอย่างเป็นทางการผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้บริหารสถาบันการเงินจำนวนมากเป็นผู้กว้างขวางในแวดวงสังคม ซึ่งก็คงไม่น่าแปลกใจหากพวกเขาจะมีเส้นสายหรือช่องทางเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็วกว่าบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม


เดินหน้าต่อไป



ความรู้จากตลาดหุ้นเมื่อสิ้นรัชกาล ควรเป็นแรงผลักดันให้ตลาดทุนไทยเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน เริ่มจากภาครัฐควรทบทวนนโยบายการส่งเสริมบทบาทของนักลงทุนสถาบันผ่านกองทุน LTF เพราะที่ผ่านมาสัดส่วนนักลงทุนสถาบันก็น่าจะเพิ่มขึ้นมามากแล้ว (และที่จริงก็ชัดเจนว่าแนวทางนี้ไม่ได้ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุนไทย) โดยหากรัฐต้องการส่งเสริมการออมของประชาชนต่อไป ก็สามารถเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น ๆ เป็นการทดแทนได้

ประการต่อมา หน่วยงานกำกับตลาดทุนควรปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูล เช่น กำหนดให้มีการเผยแพร่การประชุมนักวิเคราะห์ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้แน่ใจว่านักลงทุนรายย่อยจะได้รับข้อมูลเชิงลึกไม่ช้าไปกว่านักลงทุนสถาบัน

ประการสุดท้าย นักลงทุนทุกคนควรตระหนักถึงกฎหมายและจริยธรรม ไม่ยอมเห็นการกระทำผิดกฎหมายเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนในระดับที่สูงขึ้นไปก็ควรเชิดชูผู้ที่ประกอบกิจการงานด้วยจริยธรรม ยอมมองข้ามผลกำไรสูงสุดเพื่อจรรโลงสังคม จึงจะได้ชื่อว่าปฏิบัติตามรอยเบื้องพระยุคลบาทอย่างแท้จริง


------------------------

หมายเหตุ: ขอขอบคุณข้อมูลราคาหุ้นจาก eFinance และข้อมูลปริมาณการซื้อขายย้อนหลังจากคุณ roadtrip เว็บบอร์ด Pantip.com