วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ธนาคารจะล้มด้วยเหตุใด


ในช่วงเวลานี้หลายคนจับตามอง "ธนาคารเฉพาะกิจ" แห่งหนึ่ง ซึ่งบางคนบอกว่าจะไปถอนเงินออกมา บ้างก็ด้วยอารมณ์ไม่พอใจ บ้างก็ด้วยความเป็นห่วงเงินของตนเอง ขณะที่บางคนก็เยาะเย้ยว่าการถอนเงินแค่ไม่กี่ร้อยล้านหรือพันล้านบาทจะไปมีผลให้ธนาคารล้มได้อย่างไร

สิ่งที่ผมต้องการสื่อตรงนี้ ... ไม่ขอเชื่อมโยงไปหาการเมือง แต่จะขอ "เตือน" และ "ให้ความรู้" เท่าที่ผมมี


การรุมถอนเงินสามารถทำให้ธนาคารล้มได้



คนจำนวนไม่น้อยคิดว่า แบงก์จะล้มก็เมื่อปล่อยกู้แล้วกลายเป็นหนี้เสียจำนวนมากๆ ทำนองเดียวกับที่คิดว่า "บริษัท" จะล้มก็ต่อเมื่อขาดทุนหนักๆ ทั้งที่จริงแล้ว บริษัทที่ขาดทุนยังคงสามารถยืนหยัดอยู่ได้ แต่บริษัทที่ขาดสภาพคล่องหรือ "เงินสด" ต่างหาก ที่จะล้มภายในเวลาไม่กี่วัน

ธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจแห่งความเชื่อถือ การขาดเงินสดจะยิ่งนำไปสู่การขาดเงินสด และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

แม้หลายท่านจะหัวร่อ บอกว่าธนาคาร A ออกจะใหญ่โต มีเงินฝากตั้ง 1.6 ล้านล้านบาท ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ธนาคารต่างๆ มีสินทรัพย์สภาพคล่องน้อยกว่านั้นมาก ในแง่ของระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารจะต้องดำรง "สินทรัพย์สภาพคล่อง" ไม่น้อยกว่า 6% ของเงินฝาก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเงินฝากที่ ธปท. อย่างน้อย 1% และเป็นเงินสดที่อยู่ตามสาขาต่างๆ อีก 2.5% ส่วนที่เหลืออาจจะเป็นพันธบัตร

พูดง่ายๆ ก็คือ มีความเป็นไปได้ว่าธนาคาร A อาจมีเงินสดติดตัวจริงๆ แค่ 4 หมื่นล้านบาท (2.5% ของ 1.6 ล้านล้านบาท) ถ้าธนาคาร A มีจำนวนสาขาทั่วประเทศ 800 สาขา เฉลี่ยแล้วก็จะมีเงินสดอยู่สาขาละ 50 ล้านบาท

หากธนาคารต้องคอยกังวลกับ "ขาใหญ่" ที่จะมาถอนเงินตามสาขา แม้จะแค่หลักสิบล้าน พวกเขาก็ต้องสำรองเงินเพิ่ม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมาถอนกันที่สาขาไหนบ้าง และการขนส่งเงินสดก็ต้องใช้เวลา ธนาคารจึงอาจต้องสำรองเงินสดเพิ่มเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ทั้งที่คนถอนเงินทั่วประเทศรวมกันแล้วอาจจะมาแค่หลักพันล้าน

การหา "เงิน" หมื่นล้านไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การหา "เงินสด" ในระดับหมื่นล้าน และต้องเร็วด้วย อันนี้เป็นเรื่องใหญ่แน่ ธนาคารอาจจำเป็นต้องขาย ขาย ขาย พันธบัตรและตราสารต่างๆ ที่มีอยู่อย่างรีบด่วน สร้างความปั่นป่วนไปทั่วทั้งระบบ

ถึงตรงนี้เราคงพอจะนึกออกว่า การระดมถอนเงินจากธนาคาร A ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ธนาคาร A แต่อาจกระทบไปถึงธนาคาร B, C หรือ D ที่ทำธุรกรรมอยู่กับธนาคาร A ได้ และยิ่งถ้าถึงกับต้องผิดนัดชำระหนี้ อันนี้ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะคนจะยิ่งแห่มาถอนเงินมากขึ้นและเผลอๆ จะพาลไปถอนเงินจากธนาคารอื่นๆ กันด้วย

ดังนั้น แม้แต่คนที่ไม่มีเงินฝากกับธนาคาร A ก็จะพากันได้รับแรงกระแทกนี้ เอาง่ายๆ ถ้านายจ้างของคุณฝากเงินหรือทำธุรกิจผ่านธนาคาร A, B หรือ C คุณก็อาจไม่ได้รับเงินเดือน เนื่องจากสภาพคล่องหดหายกันไปทั้งระบบ คุณจะทำอย่างไร?!

หลายคนพยายามโต้กลับด้วยการบอกว่า งั้นใช้หลักตรงข้าม คือ "ถ้าแกถอน ฉันฝากเพิ่ม" แต่ในความเป็นจริง การกระทำเช่นนั้นอาจยิ่งทำให้สถานการณ์ดูแย่ลง เพราะเมื่อสื่อมวลชนไปถ่ายภาพตามสาขา แทนที่จะเห็นคน 30-40 คนยืนต่อคิว พวกเขาอาจเห็นคนร่วมๆ ร้อยคนต่อแถวทำธุรกรรม ผู้ชมที่อยู่ทางบ้านอาจยิ่งคิดไปว่า "ซวยแล้ว ถ้าไปถอนช้า เงินเราต้องสูญแน่" ไปๆ มาๆ คนที่ฝากเพิ่มอาจต้องโร่มาถอนเงินออกมากกว่าที่ฝากเพิ่มเข้าไปเสียด้วยซ้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น หากธนาคาร A มีลูกค้าที่เป็นรายย่อยมากๆ ภาพที่ออกมาจะยิ่งดูแย่ เพราะข่าวจะตีไปว่ามีลูกค้ามาต่อคิวถอนเงินกี่คน และยิ่งถ้ามีสาขาใดสาขาหนึ่งไม่สามารถส่งมอบเงินให้ลูกค้าได้ คนก็จะยิ่งตื่นตระหนก แล้วก็ตระเวนไปถอนเงินตามสาขาอื่นที่ยังมีเงินสดเหลือ ซึ่งก็ยิ่งทำให้การบริหารเงินสดของธนาคารทำได้ยากลำบากขึ้น แล้วภาพที่รถขนเงินวิ่งกันให้ทั่วเมืองก็จะยิ่งทำให้คนแตกตื่นกันเข้าไปอีก

แน่นอน นี่ไม่ใช่ภาพที่ผมหรือคนไทยคนใดอยากเห็น เพราะ "แบงก์ล้ม" จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และมันกระทบกับทุกคน

คนส่วนใหญ่ถือคติว่า "ถอนเร็วได้เงิน ถอนช้าได้ลม" เพราะฉะนั้นถ้าแบงก์จะล้ม ก็ไม่ควรมีเงินเราอยู่ในนั้น แต่มันก็คงดีกว่าหากจะไม่มีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเลย เพราะถ้าโดมิโนเริ่มล้ม แบงก์ไหนๆ ก็ไม่ปลอดภัย