วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ขาดทุนหุ้น 3 ระดับ


แบบแผนการลงทุนหุ้นโดยมาตรฐานเริ่มต้นจากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นและถือเอาไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นก็ขายหุ้นออกมา ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี นักลงทุนก็จะขายหุ้นได้โดยมีกำไร แต่หากอะไร ๆ ไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ ผลลัพธ์ก็อาจเป็นการขาดทุน

สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนพึงทราบ คือ การขาดทุน ไม่ได้ เกิดขึ้น ณ จุดที่พวกเขาขายหุ้นเพียงเท่านั้น แต่ความจริงการขาดทุนโดยทั่วไป (อาจไม่ใช่ทุกครั้ง!) สามารถเป็นไปได้หลายช่วงและหลายระดับ โดยแต่ละระดับมีความเชื่อมโยงต่อกัน ในที่นี้เราจะมาดูกันว่าการขาดทุนทั้ง 3 ระดับมีอะไรบ้าง และเราจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร


ขาดทุนในมิติลี้ลับ


ระดับแรกของการขาดทุนเริ่มต้นจากสิ่งที่หลายคนไม่นึกถึง นั่นคือ การขาดทุนในระดับมูลค่าหุ้น

เราอาจเคยได้ยินมาแล้วว่า มูลค่าหุ้น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งลี้ลับที่ไม่สามารถจับต้องหรือสังเกตเห็นได้ง่าย นักลงทุนโดยทั่วไปจึงไม่ค่อยให้ความสนใจ แม้จะรู้อยู่บ้างว่าตัวเลขนี้มีความสำคัญและเป็นตัวผลักดันราคาหุ้นในระยะยาว เพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพ เราลองมาพิจารณาหุ้นตัวหนึ่งซึ่งมีมูลค่าที่แท้จริง 10 บาท ซึ่งโดยหลักแล้วสิ่งนี้หมายความว่า กระแสเงินสดที่หุ้นตัวนี้จะผลิตได้ทั้งหมดในอนาคต เทียบเท่ากับจำนวนเงินปัจจุบัน 10 บาท

ถ้าท่านเอาเงินสด 10 บาท ไปแลกกับหุ้นที่มีมูลค่า 10 บาท นี่เรียกว่า “เท่าทุน” และในอีกทางหนึ่ง หากท่านเอาเงินสด 20 บาท ไปแลกกับหุ้นที่มีมูลค่า 10 บาท อย่างนี้เรียกว่า ขาดทุน และเป็นการขาดทุนในรูปแบบของมูลค่า

ทั้งนี้ โปรดสังเกตว่าการขาดทุนในเชิงมูลค่าสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ตอนซื้อหุ้น คือ ซื้อปุ๊บก็ขาดทุนเลย (เพราะอยู่ดี ๆ ไม่ว่าดี เอาเงินสด 20 บาท ไปแลกกับหุ้นที่มีมูลค่าเพียง 10 บาท) ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่า การขาดทุนนี้จะลามปามออกไปสู่รูปแบบอื่นด้วยหรือไม่


ขาดทุนอีกสองระดับ


การขาดทุนในระดับต่อมา ได้แก่ การขาดทุนทางบัญชี

หลายท่านอาจเข้าใจการขาดทุนในลักษณะนี้ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะถ้ามีการบันทึกราคาหุ้นที่ซื้อมาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามและประเมินผลการลงทุน ท่านก็จะสามารถคำนวณได้เองว่าราคาหุ้น ณ ปัจจุบันมีผลกำไรหรือขาดทุนแค่ไหน “ถ้าขาย”

เมื่อกล่าวแบบนี้ นักลงทุนจำนวนหนึ่งก็จะเกิดความคิดสว่างวาบขึ้นมาว่า งั้น “ถ้าไม่ขาย” หรือถ้าไม่บันทึกบัญชี พวกเขาก็จะไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนอันนี้ บางคนเลยบอกว่า ไม่ขาย ไม่ขาดทุน ซึ่งก็ทั้งจริงและไม่จริงไปพร้อม ๆ กัน ส่วนที่จริงก็เพราะการไม่ขายหุ้นออกไปนั้น นักลงทุนจะยังไม่ได้รับเงินค่าหุ้น (ซึ่งน้อยลงกว่าตอนซื้อ) การขาดทุนในระดับตัวเงิน จึงยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ส่วนที่ไม่จริงก็เพราะว่าการขาดทุนทางบัญชีได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าตัวนักลงทุนเองจะพยายามรับรู้หรือไม่ และแม้การขาดทุนที่เป็นตัวเงินจะยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่มันก็เซ็ตอัพเตรียมไว้เรียบร้อย เพียงแค่ “รอ” ที่จะเกิดขึ้นเท่านั้นเอง


ความสัมพันธ์ของแต่ละระดับ


การขาดทุนทั้งสามระดับที่กล่าวมาล้วนมีความสัมพันธ์ต่อกัน ตามหลักความน่าจะเป็น ราคาหุ้นที่แพงกว่ามูลค่าไปมาก ๆ มีโอกาสที่จะตกลงมามากกว่าที่จะสูงขึ้นต่อไป เพราะฉะนั้น การซื้อหุ้นในราคาที่แพงเกินมูลค่า นอกจากทำให้เราขาดทุนในเชิงมูลค่าตั้งแต่ตอนซื้อแล้ว ยังทำให้เรามีโอกาสสูงที่จะขาดทุนในทางบัญชีเป็นลำดับต่อมา ซึ่งก็แสดงว่า การขาดทุนในระดับมูลค่าหุ้นมีแนวโน้มที่จะลามไปสู่การขาดทุนในระดับบัญชี

ในกรณีหุ้นเติบโตที่มีการเพิ่มมูลค่าได้อย่างรวดเร็ว ราคาที่เหมาะสม หรือ “fair price” ของหุ้น (หมายถึง ราคาที่หุ้นไม่ถูกไม่แพง คือ เท่ากับมูลค่าหุ้น) อาจเพิ่มขึ้นเร็วจนทำให้ราคาหุ้นสามารถฟื้นกลับไปที่จุดซื้อของเราได้ โดยไม่ต้องพึ่งการมองโลกในแง่ดีของผู้คนในตลาดมากนัก การขาดทุนทางบัญชีดังกล่าวก็อาจเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม สำหรับหุ้นทั่วไปที่มีการเติบโตไม่มากหรือหุ้นที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย โอกาสที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นภายในกรอบระยะเวลาลงทุนอันจำกัด เช่น 3-4 ปี อาจมีเพียงเล็กน้อย เราก็ต้องยอมตัดใจขายหุ้นต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาและรับรู้ผลขาดทุนเป็นตัวเงิน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องขยายกรอบการถือหุ้นออกไป จนบางกรณีอาจต้องขยายไปจนถึงอนันต์ (ที่จริงถ้าคาดว่าเงินจะจมอยู่นานแบบนั้นก็ควรตีศูนย์และถือว่าขาดทุนเป็นตัวเงิน) ซึ่งก็หมายความว่า การขาดทุนนี้มีโอกาสลามไปสู่การขาดทุนในระดับตัวเงินด้วย

สังเกตว่าในการขาดทุนหุ้นทั้งสามระดับ การขาดทุนในระดับมูลค่าหุ้นถือเป็นเหตุมูลฐานสำหรับการขาดทุนในระดับอื่น ๆ แม้สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเสมอไป แต่ก็จัดว่ามีโอกาสสูง โดยเฉพาะในภาวะที่ผู้คนในตลาดหุ้นซื้อขายกันตามหลักเหตุผล ทางรอดของนักลงทุนก็คือ การระมัดระวังไม่ซื้อหุ้นที่แพงเกินมูลค่ามาก ๆ เช่น หุ้นที่มี P/E ตามปกติในระดับ 50-60 เท่า (ไม่นับหุ้นที่กำไรหดชั่วคราวจากเหตุการณ์พิเศษ) หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องภาวนาให้ตลาดหุ้นคงความบ้าคลั่งเอาไว้นาน ๆ จนกว่าเราจะขายหุ้นออกไป

ซึ่งถ้าท่านเป็นคนที่ “ต้องการกำหนดชีวิตตัวเอง” ทางแรกเป็นทางรอดที่ง่ายกว่ากันเยอะ