วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การเล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน


นักลงทุนที่มีความรู้รอบตัวมากอาจจะเคยได้ยินหนังสือเล่มพระเอกของ จอร์จ โซรอส ที่ชื่อว่า The Alchemy of Finance หรือ "การเล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน" ซึ่งเขาว่ากันว่ามันเป็นหนังสือดี แต่อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง และหนึ่งใน "เขา" ที่ว่านั้นก็คือ ดร.นิเวศน์ ปรมาจารย์วีไอของเมืองไทยเสียด้วย

เล่ามาเป็นคุ้งเป็นแคว แต่ผมเพียงจะบอกว่าผมไม่ได้เขียนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น (แป่ว...) เรื่องที่ผมจะเล่าใกล้ตัวกว่านั้นมาก เพราะมันเป็นเรื่องในตลาดหุ้นนี่เอง

นักลงทุนหลายท่านคงมีโอกาสได้เห็นพฤติกรรมแปลกๆ หลายอย่างในตลาดหุ้นไทยไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่การประกาศจ่ายเงินปันผลพิเศษแบบบ้าระห่ำของบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง การที่บริษัทเกษตรและอาหารรายใหญ่ของประเทศประกาศเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นของเจ้าสัวผู้ถือหุ้นใหญ่นั่นเอง รวมทั้งการประกาศจ่ายปันผลเป็นหุ้นของบริษัทค้าปลีกชั้นนำ รวมทั้งอีกหลายบริษัท จนเรียกว่ากลายเป็นเทรนด์ใหม่ของปีนี้ไปเสียแล้ว

ผมเองยอมรับว่างงกับพฤติกรรมเหล่านี้ และที่งงยิ่งกว่าก็คือเสียงตอบรับจากเหล่าผู้ถือหุ้นซึ่งสะท้อนออกมาเป็นราคาหุ้น เรามาว่ากันทีละกรณีเลยก็แล้วกัน ...เพื่อความเหมาะสม ผมขออนุญาตยกตัวอย่างบริษัทสมมติก็แล้วกันนะครับ


บริษัทไวกิ้งเทเลคอม - การจ่ายเงินปันผลพิเศษ

แม้นักวิเคราะห์คาดการณ์กันมาก่อนว่าบริษัทไวกิ้งเทเลคอมซึ่งมีเงินสดล้นเหลือจะประกาศจ่ายเงินปันผลพิเศษ แต่ครั้นบริษัทประกาศจ่ายขึ้นมาจริงๆ ถึง 16 บาท ก็ทำให้สาวน้อยสาวใหญ่พากันกรี๊ดกร๊าดแย่งกันซื้อหุ้นจนพุ่งขึ้นจาก 80 บาทไป 90 บาท ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมันก็ขึ้นล่วงหน้ามาก่อนนานแล้ว

ความจริงเงินปันผลที่บริษัทไวกิ้งเทเลคอมจ่ายไม่ได้มาจากเงินสดที่ตัวเองมีเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งมาจากการกู้ยืมจากธนาคาร แม้ว่าบริษัทจะระบุว่า "พ้มเอามาจากกำไรสะสม!" แต่ความเป็นจริงก็คือ เงินสดมันไม่ได้มีป้ายแปะไว้ว่ามันเอามาจากตรงไหน พอชักเอาเงินสดออกมาแล้วต้องไปกู้เพิ่มก็กระทบกับโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การที่บริษัทกู้ยืมเงินมากขึ้นแม้จะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลง แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของบริษัท โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าในอนาคตอันใกล้บริษัทจะต้องเตรียมเงินไว้ประมูลคลื่นความถึ่ 3G ก็ยิ่งน่าสงสัยว่าการกระทำนี้จะส่งผลดีต่อ "บริษัท" หรือ "ผู้ถือหุ้น" กันแน่

หรือมันเป็นแค่การดึงเงินสดกลับบ้านแบบเนียนๆ ของใครบางคน?! และผู้ถือหุ้นที่เหลือก็ "สมรู้ร่วมคิด" อวยให้แบบเต็มใจเพราะเราได้ประโยชน์ร่วมกัน

ที่น่าตลกคือ มีหลายคนไล่ซื้อหุ้นในราคาแพง เพียงเพื่อจะได้เงินสดกลับมาในรูปของเงินปันผล ทั้งที่เจ้าเงินสดนี้มันอยู่ในกระเป๋าของเราตั้งแต่แรก แทนที่จะควัก 90 บาทซื้อตอนที่มันแพงแล้ว สู้เอาเงิน 80 บาทไปมองหาหุ้นตัวอื่นที่ยังถูกอยู่จะดีกว่า และก็เก็บ 10 บาทที่เหลือเอาไว้อุ่นใจ


บริษัทเวิลด์ฟู้ดส์ - การซื้อกิจการของผู้ถือหุ้นใหญ่

บริษัทเวิลด์ฟู้ดส์อ้างว่าการเข้าซื้อกิจการจะทำให้บริษัทสามารถเข้าสู่ตลาดใหญ่ในจีนและเวียดนามได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นที่สงสัยว่าราคาที่เจ้าสัวขายยัดให้กับบริษัทนั้นแพงเกินไปหรือไม่ แล้วถ้าบริษัทมันดีจริง เขาจะขายทำไม ทำไมไม่เก็บไว้เอง

ความจริง 2-3 ปีก่อนหน้านี้บริษัทเวิลด์ฟู้ดส์เคยซื้อหุ้นคืนและมี treasury stock ค้างอยู่ในกระเป๋า บริษัทอาจจะเลือกจดทะเบียนลดทุนเพื่อทำให้จำนวนหุ้นของบริษัทลดลงและมีกำไรต่อหุ้นสูงขึ้นก็ได้ การทำเช่นนั้นจะส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง ...ทว่าบริษัทก็เลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น

หลายคนสงสัยว่ากิจการที่เจ้าสัวเอามาขายให้กับบริษัทเวิลด์ฟู้ดส์เป็นกิจการที่มีความผันผวนของผลกำไรและมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด นอกจากนี้การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวแม้จะทำให้บริษัทสามารถบุกตลาดจีนและเวียดนามได้ แต่ก็ทำให้สัดส่วนผลิตภัณฑ์ margin สูงลดลง พวกเขาไม่แน่ใจว่าอนาคตของบริษัทจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ที่แน่ๆ บริษัทเวิลด์ฟู้ดส์ต้องกู้ยืมเพิ่มขึ้น ทำให้มีฐานะทางการเงินแย่ลง ผู้ถือหุ้นอดผลดีที่จะได้จากการลดทุน แต่เจ้าสัวได้เงินสดเข้ากระเป๋าเรียบร้อย และเผลอๆ จะได้ในราคาที่ดีเสียด้วย


บริษัทซื้อสะดวก - การจ่ายปันผลเป็นหุ้น

ในบรรดาหุ้นเติบโต ผมรับรองว่าจะต้องมีหุ้นของบริษัทซื้อสะดวกเป็นหนึ่งในใจของนักลงทุน ความจริงผมเองก็ชอบบริษัทนี้ตลอดมา จนกระทั่งได้ยินว่าเขาจะจ่ายปันผลเป็นหุ้น และไม่ใช่จ่ายธรรมดาเสียด้วย เพราะเขาจ่ายในอัตรา 1:1

นั่นหมายความว่าผู้ถือหุ้นเดิม 1 หุ้น จะได้หุ้นใหม่ 1 หุ้น ซึ่งทำให้จำนวนหุ้นในตลาดเพิ่มเป็นหนึ่งเท่าตัวในทันที การทำเช่นนั้นจะทำให้มีหุ้น 4,500 ล้านหุ้นโผล่เข้ามาในตลาดและคิดเป็นเงินที่ต้องเสียภาษีถึง 450 ล้านบาท ผมมองยังไงก็ไม่เห็นว่าอยู่ๆ บริษัทจะมีเหตุผลอะไรที่จะจ่ายภาษีจำนวนนี้ (ความจริงผู้ถือหุ้นต้องเป็นคนจ่าย แต่ว่าบริษัทก็จ่ายปันผลเป็นเงินสดด้วย จึงเท่ากับว่าบริษัทจ่ายแทนให้) บริษัทอาจเลือกที่จะแตกพาร์ก็ได้ เพียงแต่ว่ามันไม่ให้อารมณ์ของการ "แจก" เหมือนกับได้หุ้นปันผล

การจ่ายปันผลเป็นหุ้นไม่ได้ทำให้มีเงินสดเข้าสู่บริษัท และไม่ได้ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน ถ้าไปถาม ดร.นิเวศน์ ผมค่อนข้างมั่นใจว่าท่านจะส่ายหัวอย่างแน่นอน ที่จริงมีบางบริษัทเหมือนกันที่พยายามสงวนเงินสดเอาไว้และจ่ายปันผลออกมาเป็นหุ้นแทน ผู้ถือหุ้นบางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเพราะเห็นว่าได้จำนวนหุ้นมากขึ้น แต่ที่จริงแล้วมันก็เป็นเพียงการเพิ่ม "ตัวหาร" และกดดันให้กำไรต่อหุ้นลดลงจากการ dilution และเป็นการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินล้วนๆ

จากมุมนี้ผมมองได้เพียงอย่างเดียวว่านี่คือการ "เล่นหุ้น" โดยตัวบริษัทเอง บริษัทซื้อสะดวกอาจจะคิดว่าตลาดจะตอบรับเงินปันผลสูงๆ + หุ้นปันผล ด้วยการผลักราคาหุ้นให้สูงขึ้น ครั้นพอเกิด dilution effect จนราคาลดลงมาราวครึ่งหนึ่ง จากนั้นพอคนเริ่มชินก็จะไล่ราคากันขึ้นมาเองตามความคุ้นชิน จนในที่สุดราคาหุ้นก็จะกลับมาแถวๆ ราคาเดิมได้ ซึ่งนั้นก็จะเท่ากับว่าทุกคน "รวยขึ้น" กันหมด

ฟังดูดีนะครับ ยกเว้นข้อเท็จจริงที่ว่าถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงราคาหุ้นวิ่งเร็วกว่ามูลค่าที่แท้จริงไปมาก และเมื่อพื้นฐานมันรองรับราคาหุ้นไม่ไหว เราก็คงทราบดีว่าอะไรจะเกิดขึ้น โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบผู้บริหารที่พยายามดูแลราคาหุ้นมากเกินไป ผมอยากให้ไปจดจ่อกับการบริหารตัวธุรกิจจริงๆ มากกว่า และอยากให้มูลค่าหุ้นเติบโตไปพร้อมกับราคาอย่างยั่งยืน แทนที่จะจงใจดันราคาราวกับว่ามันเป็นหุ้นปั่น

อย่าลืมนะครับว่า บริษัทที่ดีกับหุ้นที่ดีมันแตกต่างกัน


ส่งท้าย

มาถึงตรงนี้ผมได้ทำหน้าที่ของผมอย่างดีที่สุดแล้ว และคงบอกได้เพียงว่าหากคิดจะเกาะไปกับ "การเล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน" เหล่านี้แล้ว โปรดใช้ความระมัดระวังให้มากด้วยครับ ด้วยความปรารถนาดี

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

หุ้นนำดัชนี - ดัชนีนำหุ้น


ถ้าติดตามรายการ TV ที่เกี่ยวกับการลงทุน เราอาจเคยได้ยินผู้ประกาศหรือนักวิเคราะห์พูดถึง "หุ้นนำดัชนี" แล้วก็สงสัยว่าอะไรคือหุ้นนำดัชนี และมันมีความสำคัญอย่างไร

ในตลาดหุ้นไทยมีหุ้นอยู่ราว 400-500 ตัว การจะบอกได้ว่า "ภาพรวม" ของตลาดเป็นอย่างไรในวันนี้ทำได้โดยการอ้างถึงดัชนี ไม่ว่าจะเป็น

ดัชนี SET (บอกภาพรวมของหุ้นทั้งตลาด)
ดัชนี SET50 (บอกภาพรวมของหุ้นตัวใหญ่ที่สุด 50 ตัวแรก)
ดัชนีรายอุตสาหกรรม (บอกภาพรวมของอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น กลุ่มแบงก์ กลุ่มพลังงาน ฯลฯ)

ผมคงไม่ต้องไล่ย้อนไปถึง Charles Dow กับ Edward Jones (ที่มาของดัชนีดาวโจนส์) แต่ขอบอกสั้นๆ เพียงว่าดัชนีที่ใช้กันอยู่ในเมืองไทยนั้นเป็น "ตัวเลข" ที่คำนวณจากมูลค่าตลาด (market cap) ของหุ้นแต่ละตัว ดังนั้นหุ้นไหนตัวใหญ่ เช่น ปตท. หรือ ปูนใหญ่ ก็จะเป็นหุ้นที่มีผลต่อดัชนีค่อนข้างมาก เมื่อราคาหุ้นพวกนี้มีการเคลื่อนไหวจะส่งผลโดยตรงต่อดัชนีทันที

เราอาจไม่เคยได้ยินใครพูดตรงๆ ว่าดัชนีนำหุ้น แต่ในความเป็นจริง เมื่อตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวลง (เช่น ดัชนี SET ลดลง) นักลงทุนก็จะเริ่มกังวลและคิดไปเองว่า "เฮ้ย! หุ้นที่เราถือนี่เดี๋ยวมันจะตกแล้วอ่ะ" พอคิดอย่างนี้หลายคนเข้า หุ้นมันก็เลยตกไปด้วยจริงๆ


ความสัมพันธ์แบบสะท้อนกลับไปมา

เราจะเห็นว่าราคาหุ้นและดัชนีมีผลกระทบที่สะท้อนกลับไปมา ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ทำให้เกิดแรงกระแทกที่เกินจริงเมื่อตลาดหรือหุ้นบางตัวมีการเคลื่อนไหวแรงๆ ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ

เมื่อหุ้นขนาดใหญ่ตัวหนึ่ง สมมติว่าชื่อหุ้น A มีข่าวมากระทบอย่างรุนแรง ส่งผลให้ราคาหุ้นตัวนี้ทรุดลงอย่างรวดเร็ว แรงกระแทกดังกล่าวอาจสะท้อนไปที่เพื่อนบ้าน (หุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน สมมติว่าชื่อหุ้น B และหุ้น C) ในเวลาใกล้เคียงกันด้วย และสะท้อนต่อไปที่ภาพรวมของอุตสาหกรรม (ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรม สมมติว่าชื่อ ABC)

ภาพรวมของอุตสาหกรรม ABC นอกจากจะได้รับผลทางตรงจากหุ้น A แล้ว ยังได้รับผลทางตรงจากหุ้นเพื่อนบ้าน คือ หุ้น B และหุ้น C ไปพร้อมๆ กันด้วย (ผลกระทบจากหุ้น A ไปหาหุ้นเพื่อนบ้านจัดเป็นผลกระทบทางอ้อม แต่การที่หุ้นเพื่อนบ้านส่งผลต่อดัชนีของกลุ่มจัดเป็นผลกระทบทางตรง) คงพอจะนึกภาพออกนะครับ

เราอาจนึกว่าแรงกระแทกนี้จบแล้ว แต่ที่จริงมันกำลังขยายไปสู่สเกลที่ใหญ่ขึ้น การทรุดลงของอุตสาหกรรมดังกล่าวทำให้นักลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ หันมาสนใจ โดยเฉพาะถ้าอุตสาหกรรมนั้นมีน้ำหนักอย่างมากต่อดัชนีตลาด พวกเขาเริ่มตั้งคำถามและเตรียมขาย ขณะที่บางคนไม่ตั้งคำถาม แต่ว่าขายเลย แรงขายจึงเริ่มแผ่ไปทั่วทั้งตลาดและกดดันให้พวกคนที่เตรียมขายหันมาขายทันทีไปกับเขาด้วย

ดัชนีตลาด นอกจากจะได้รับผลทางตรงจากอุตสาหกรรม ABC ยังได้รับผลทางตรงจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย ต่อจากนี้นักลงทุนทั่วทั้งตลาดเห็นแล้วว่าดัชนีตลาดกำลังปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว จึงพากันเทขายหุ้นตามไปด้วย ไม่เว้นแม้แต่หุ้น beta ต่ำ


กลับสู่ภาวะปกติ

หลังจากที่ตลาดทรุดลงได้พักหนึ่ง (คนอยากขายขายได้หมดแล้ว) คนอยากซื้อก็เริ่มกลับมาเก็บหุ้นในราคาที่ต่ำลง ทำให้ดัชนีเริ่มประคองตัวได้ ภาวะของการตื่นขายก็ค่อยๆ หมดไป หากภาพใหญ่ของตลาดในระยะยาวยังเป็น "ขาขึ้น" แรงซื้อก็จะเริ่มกลับมา สุทธิแล้วหุ้น A อาจจะตกลงแต่ก็ไม่มากเท่ากับทีแรก ส่วนหุ้นตัวอื่นๆ ก็อาจกลับมาเสมอตัวหรือพลิกกลับมาบวกเสียด้วยซ้ำ

ตัวอย่างดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพียงแต่กลไกของมันไม่ค่อยมีใครรู้ สิ่งที่เราสังเกตได้มีเพียงการตอบสนองที่เกินจริงในลักษณะเดียวกับการ "overshoot" ในทางวิศวกรรม และถ้าใครอยู่ในตลาดนานพอก็จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ


ภาพจาก Wikipedia

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

หุ้นเติบโต


เชื่อว่าหลายคนคงมีประสบการณ์เวลาจะซื้อหุ้นเติบโตเร็ว หรือ growth stock แต่แล้วก็ออกอาการ "จดๆ จ้องๆ" ไม่กล้าซื้อเสียที ใจหนึ่งก็อยากได้เพราะรู้ว่าหุ้นมันโต แต่อีกใจหนึ่งก็กลัวว่านี่เราจะซื้อแพงไปรึเปล่า?!

สมมติหุ้นค้าปลีกตัวหนึ่ง ราคาของมันป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ 11-12 บาท ต่อมามันก็พุ่งขึ้นไปเท่าตัว จนผู้คน (แม้กระทั่งกูรูในทีวี) บอกว่า 24 บาทเป็นราคาที่แพงมาก และหุ้นตัวนี้คงจะต้องตกกลับลงมาที่เดิม ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือราคาหุ้นกลับยังคงเพิ่มขึ้นวันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ผ่าน 30 ผ่าน 40 ผ่าน 50 บาท ... โดยไม่เหลียวกลับมามองอดีตของมันอีกเลย


ทำไมต้องแพงขึ้นทุกวัน
หากเราตัดเรื่องหุ้นออกไปเลย แล้วย้อนกลับมาดูที่ตัวกิจการ เราจะพบว่าในแต่ละวันที่ผ่านไป บริษัทเพิ่มยอดขายและทำกำไรได้อย่างไม่หยุดหย่อน สมมติวันที่ 1 มกราคม บริษัทนี้มีมูลค่า 8,000 ล้านบาท และเติบโตได้ในอัตรา 30% ต่อปี ถามว่าถึงสิ้นปีมันควรจะมีมูลค่าเท่าไหร่?

ถ้าคำนวณแบบง่ายๆ มูลค่าที่เพิ่มขึ้นในระหว่างปีเท่ากับ 8,000 x 30% = 2,400 ล้านบาท หรืออีกนัยหนึ่งบริษัทนี้ควรมีมูลค่า 10,400 ล้านบาท ณ สิ้นปี

ย้อนกลับมาที่ตัวหุ้นกันบ้าง หากต้นปีราคาหุ้นอยู่ที่ 80 บาทต่อหุ้น เทียบกับค่า P/E เท่าเดิม ถึงสิ้นปีหุ้นตัวนี้ "น่าจะ" มีราคา 104 บาทได้ไม่ยาก เราจึงมีโอกาสเห็นราคาหุ้นวิ่งจาก 80 ไป 85 ไป 90 ไป 95 แล้วก็คิดว่านี่มันบ้าไปแล้ว ...เพียงเพราะเรามัวแต่เทียบกับราคาตั้งต้น 80 บาท?!

ที่จริงถ้าเราเอามูลค่าที่เพิ่มขึ้นทั้งปี 24 บาทต่อหุ้น หารด้วย 12 จะพบว่ามูลค่าของมันสมควรอย่างยิ่งที่จะเพิ่มขึ้นเดือนละ 2 บาท ดังนั้นเมื่อเรามองมันในเดือนมิถุนายน เราต้องเทียบราคาขณะนั้นกับ 92 บาท ไม่ใช่ 80 บาท แต่ด้วยกลไกของสมอง เราจะเทียบมันกับจุดอ้างอิงอันใดอันหนึ่ง เช่น ราคาตอนต้นปี ราคา high หรือ low ล่าสุด ฯลฯ แทนที่จะปรับมูลค่าให้กับหุ้นตลอดเวลาที่ผ่านไป


ถ้าหุ้นเติบโตไม่แพงขึ้น

ผมมักเห็นนักลงทุนบ่นเวลาที่ราคาหุ้นไม่ไปไหน ทั้งที่จริงแล้วการที่ราคาของหุ้นเติบโตยังอยู่ที่เดิมน่าจะถือเป็นข่าวดีเสียด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นโอกาสในการซื้อที่ดีเยี่ยม

ในขณะที่มูลค่าของกิจการเพิ่มขึ้นทุกวัน การที่ราคาหุ้นย่ำอยู่กับที่เท่ากับว่า "มันถูกลง" ส่อให้เห็นว่านักลงทุนในตลาดละเลยผลของการเติบโตและเปิดช่องให้เราซื้อของดีในราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ ผมไม่อาจการันตีได้ว่านั่นคือราคาที่ถูกแล้วหรือไม่ แต่อย่างน้อยมันก็ถูกลง

จากตัวอย่างที่ผ่านมา หากคุณมองว่าราคาหุ้น 80 บาทตอนต้นปีเป็น fair price ผมก็คงต้องบอกว่าราคา 80 บาทตอนเดือนมิถุนายนถือได้ว่าเป็นราคา "on sale" และยิ่งผู้คนเบื่อหน่ายขายหุ้นทิ้งก็ยิ่งดี เพราะมันจะได้ลดราคาหนักขึ้นไปอีก


แต้มต่อของหุ้นเติบโต

การซื้อหุ้นเติบโตมีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ แม้คุณจะเข้าซื้อผิดจังหวะและซื้อแพงไปบ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป (ไม่นาน) มูลค่าหุ้นจะเติบโตขึ้นมาจนทันราคาที่คุณซื้อในที่สุด สำหรับหุ้นเติบโตแล้วยิ่งถือนานเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น การพยายาม "เล่นรอบ" กับหุ้นเติบโตจึงมักจบลงด้วยการต้องไล่ซื้อกลับมาในราคาที่แพงกว่าเดิม หรือไม่ก็ยืนมองมันพุ่งทะลุฟ้าตาปริบๆ

เหตุผลเดียวที่คุณจะขายหุ้นเติบโตก็คือ มันกำลังจะหยุดโต หรือโตน้อยลงกว่าเดิม

ส่วนเหตุผลที่คุณจะซื้อหุ้นเติบโตก็คือ มันจะยังเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง และมีราคาไม่สูงจนเกินไป

การบ้านของนักลงทุนก็คือ วิเคราะห์ออกมาให้ได้ว่าการเติบโตที่คุณเห็นนั้นมันจะยืนยาวได้สักกี่ปี ถ้าการเติบโตเกิดจากกลยุทธ์หรือความสามารถของกิจการจะจัดเป็นการเติบโตระยะยาว ทำให้เรามีแต้มต่อในการถือหุ้นได้อย่างสบายใจ และนี่คือสิ่งที่เราควรมองหามากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ระยะสั้น พอจบข่าวก็ต้องย้ายหาหุ้นตัวใหม่เรื่อยไป

อย่างนั้นไม่ใช่แต้มต่อและไม่ใช่หุ้นเติบโตครับ!

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

6 พฤติกรรมละลายเงิน


พอดีไปอ่านเจอข้อเขียนของ Rose Raymond จาก Bankrate.com เห็นว่าน่าสนใจดี

http://finance.yahoo.com/news/6-ways-conventional-wisdom-wastes-080048041.html

เรื่อง "6 Ways Conventional Wisdom Wastes Money" มีใจความประมาณนี้

หลายอย่างที่เราเชื่อหรือฟังตามกันมาทำให้เงินในกระเป๋าของเราหายไปโดยไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งได้แก่

1. เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถยนต์บ่อยเกินจำเป็น - ตามบทความเขาบอกว่าคนจำนวนมากเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุก 3,000 ไมล์ หรือถ้ากรณีของคนไทยก็คงประมาณ 5,000 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันเกรดน้ำมันเครื่องรวมทั้งสเปกเครื่องยนต์ดีขึ้นมากแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเปลืองเงินเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องบ่อยขนาดนั้น รถยนต์รุ่นหลังๆ สามารถอยู่ได้ถึง 10,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ไปศึกษาคู่มือประจำรถของเราก่อนเพื่อความแน่ใจ

2. ใช้ชุดเครื่องนอน เช่น ผ้าปูเตียง ปลอกหมอน ซึ่งมีจำนวนเส้นด้าย (thread count) มากเกินไป - เขาบอกว่าคนทั่วไปมักคิดว่ายิ่งมากยิ่งดี แต่ที่จริงจำนวนเส้นด้ายที่ไม่มากเกินไปกลับมีข้อดีทั้งในแง่ของการซักและตาก เพราะซักง่ายแห้งไว เวลานอนก็สบายตัวกว่าเพราะมีช่องว่างให้อากาศผ่าน แต่คนก็มักซื้อแบบที่ทอถี่เพราะเห็นว่ามีราคาแพงเลยคิดว่าดี

3. เปิดพัดลมเพดานทิ้งไว้ในห้องที่ไม่มีคนอยู่ - พัดลมไม่ได้ทำให้มวลอากาศเย็นลง มันเพียงแต่พัดให้ลมเคลื่อนที่และทำให้เรารู้สึกสบาย ดังนั้นการเปิดพัดลมทิ้งไว้ในห้องที่ไม่มีคนอยู่จึงไม่เกิดประโยชน์แถมยังเปลืองไฟ

4. ดื่มน้ำบรรจุขวดแทนที่จะดื่มน้ำประปา - อันนี้คงหมายถึงเมืองนอกซึ่งน้ำประปามีมาตรฐานดี สำหรับเมืองไทยคิดว่าน้ำกรองตามบ้านก็น่าจะโอเค หมั่นเปลี่ยนไส้กรองก็แล้วกัน

5. จัดโปรแกรมเที่ยวสุดหรู - การนั่งเครื่องบินไปเที่ยวต่างประเทศเป็นตัวสูบเงินชั้นดี ทั้งค่าตั๋ว ค่าที่พัก ค่าอาหาร ลองเปลี่ยนมาเป็นเที่ยวใกล้ๆ แล้วแวะเยี่ยมญาติมิตรก็ได้ความสุขไม่แพ้กัน

6. ดูเคเบิลทีวีแพงๆ - ค่ารายเดือนของเคเบิลทีวีที่สูงเกินจำเป็นเป็นตัวดูดเงินชั้นดีอีกตัวหนึ่ง เทียบกับในเมืองไทยสมมติเราดู T___Visions แพ็คเกจที่มีบอลพรีเมียร์ลีก ตกเดือนละ 1,500-1,600 บาท หรือปีละร่วมๆ สองหมื่นบาท ซึ่งถ้าบ้านไหนดูคุ้มก็แล้วไป แต่ถ้าดูไม่คุ้มก็น่าจะลองทบทวนดูว่าเปลี่ยนเป็นแพ็คเกจอื่นหรือเป็นจานที่ขายขาดดีกว่าหรือไม่

ทั้งนี้ออกตัวก่อนว่าเนื้อหาผมปรับให้เข้ากับบริบทในเมืองไทยบ้าง ไม่ใช่การแปลหรือเรียบเรียงมา

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ


ไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้แวะเวียนไปเยี่ยม Mind Investing Blog (MIB) เห็นทฤษฎีเกี่ยวกับการคัดเลือกโดยธรรมชาติและประยุกต์กับโลกของการลงทุนด้วย เลยขอเอามาคิดต่อครับ

ใน MIB กล่าวถึงการคัดเลือกในแง่ของ "บริษัท" และในแง่ของ "นักลงทุน"


การคัดเลือกในแง่บริษัท

ในแง่ของบริษัท ธรรมชาติมีการคัดเลือกบริษัทที่มีความเข้มแข็งและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เราจึงเห็นว่ามีข่าวบริษัทเก่าแก่ล้มหายตายจากกันไปเรื่อยๆ ล่าสุดก็คือ Kodak ที่เพิ่งประกาศล้มละลายไป ในขณะที่บริษัทเก่าแก่หลายแห่งก็ยังคงอยู่รอดและทำกำไรได้ หากว่ามีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้อย่างทันท่วงที

บริษัทที่จะอยู่รอดในระยะยาวได้ต้อง 1) อยู่ในอุตสาหกรรมที่มี demand สูงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว 2) รู้จักปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม 3) มีจุดเด่นที่เหนือกว่าคู่แข่ง ...นี่คือสิ่งที่ MIB กล่าวไว้ และเป็นคุณสมบัติของหุ้นที่เราควรมองหาหากต้องการเป็นนักลงทุนระยะยาว

ตามทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ บริษัทที่อ่อนแอน่าจะตกอยู่ในสถานะ "แพ้คัดออก" นั่นคือประสบปัญหาขาดทุนเรื้อรังและต้องปิดกิจการไปในที่สุด ต่างจากบริษัทที่เข้มแข็งซึ่งนอกจากจะอยู่รอดแล้วยังมีโอกาสตีกินส่วนแบ่งตลาดของบริษัทที่อ่อนแอ ทำให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ลองนึกดูครับว่ามีอุตสาหกรรมไหนบ้างมั๊ยที่บริษัทผู้นำไล่กินส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่งอย่างไม่ลดละ โดยที่คู่แข่งแทบไม่มีโอกาสสู้ได้เลย และนี่ก็คือโอกาสในการลงทุนชั้นเยี่ยมนั่นเอง

เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว หุ้นของบริษัทแย่ๆ น่าจะทยอยกันล้มหายตายจาก ส่วนบริษัทที่อยู่รอดในตลาดก็น่าจะมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ บางทีนี่อาจเป็นสาเหตุที่นักลงทุนชั้นเซียนจำนวนมากพยายามลงทุนในหุ้นที่มีประวัติอันยาวนาน และหลีกเลี่ยงหุ้นเกิดใหม่แม้ว่ามันจะเป็นหุ้นที่โตเร็วก็ตาม

อย่าลืมว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรา "คัดเลือก" ในสิ่งที่ธรรมชาติ "ไม่ได้คัดเลือก" เมื่อนั้นก็จะเป็นหายนะของเรา


การคัดเลือกในแง่นักลงทุน

ในฐานะของนักลงทุน สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักไว้ คือ ธรรมชาติมีการคัดเลือกในฟากของนักลงทุนด้วยเช่นกัน

นักลงทุนที่มีความเข้มแข็งและมีการวางแผนที่ดีย่อมอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานการณ์คับขัน พวกเขาเรียนรู้จากความผิดพลาด โดยไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดขยายตัวจนเกินควบคุม ขณะเดียวกันก็มีการปรับตัว และทำตัวเองให้อยู่ในฐานะ "ผู้เลือก" เช่น VI อาจเลือกว่าเขาจะเข้าซื้อในจังหวะนี้หรือไม่ ส่วนนักเทคนิคก็เลือกว่าควร take profit หรือยัง เป็นต้น การประพฤติตัวเป็นผู้เลือกอย่างรอบคอบทำให้พวกเขาเป็น "ผู้ถูกเลือก" โดยธรรมชาติ และเป็นผู้อยู่รอดในระยะยาว

ขณะเดียวกันนักลงทุนแมงเม่ามีแนวโน้มที่จะตกเป็นเบี้ยล่างของตลาด ตลาดเป็นผู้กำหนดว่าพวกเขาจะติดดอยหรือไม่ ตกรถหรือไม่ และเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเมื่อเกิดความผิดพลาด พวกเขาเกิดความกลัวและไม่กล้าที่จะ cut loss จึงยอมติดดอยไปอย่างนั้น หรือไม่ก็เกิดความโลภคิดว่าจะตกรถ จึงรีบร้อนซื้อโดยไม่รอให้ตัวเองอยู่ในฐานะได้เปรียบเสียก่อน

ดูเผินๆ เหมือนว่านักลงทุนเก่งๆ เป็นผู้ที่ถูกธรรมชาติคัดเลือกให้อยู่ต่อ ส่วนนักลงทุนแมงเม่าก็ควรจะทยอยกันหายไปจากตลาด แล้วทำไมเราจึงยังเห็นแมงเม่าบินกันให้ว่อนไม่ว่าจะยุคสมัยไหน

หากตลาดหุ้นเป็นระบบปิด คือ ไม่มีการเทเงินเข้าหรือดึงเงินออก ตลาดควรเต็มไปด้วยนักลงทุนเก่งๆ และแมงเม่าก็ควรหมดไป แต่ในความเป็นจริง แมงเม่าจำนวนมากมีรายได้หลักมาจากทางอื่น เช่น เงินเดือน เงินจากธุรกิจ ฯลฯ แมงเม่าจึงไม่เคยตายไปจากตลาดจริงๆ แต่กลับไปขนเงินจากที่อื่นมาลงในตลาดต่อ ทำให้ตลาดหุ้นยังคงเป็นสวรรค์ของนักลงทุนชั้นเซียนต่อไป


ส่งท้าย

เมื่อทราบดังนี้แล้ว สิ่งที่เราควรทำคือ "ยืนอยู่ฝั่งเดียวกับธรรมชาติ" ในเมื่อธรรมชาติคัดเลือกบริษัทที่เข้มแข็ง เราก็ลงทุนกับบริษัทที่เข้มแข็ง และเมื่อธรรมชาติคัดเลือกนักลงทุนที่เก่ง เราก็ต้องเรียนรู้ว่าจะเป็นนักลงทุนที่เก่งได้อย่างไร

---------------------------------------

ขอขอบคุณ http://pongsakorne.blogspot.com/2012/01/natural-selection.html