วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563

หัวใจของมูลค่าหุ้น


แนวคิดสำคัญอย่างหนึ่งของการประเมินมูลค่าหุ้น คือ มูลค่าหุ้นควรเท่ากับผลรวมของ “กระแสเงินสด” ทั้งหมดที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับในอนาคต หรืออาจพูดอีกอย่างว่า กระแสเงินสดเป็นตัวสำคัญที่กำหนดมูลค่าหุ้น

แม้ดูเผิน ๆ เหมือนกระแสเงินสดจะเป็นตัวสำคัญหนึ่งเดียว แต่เอาเข้าจริงกระแสเงินสดก็มีหลายแง่มุมที่เราต้องทำความเข้าใจ และบางครั้งอาจจะง่ายกว่า หากเราคิดเสมือนว่ามูลค่าหุ้นมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ดังที่ผมจะขอยกสูตรของกอร์ดอน ซึ่งเป็นสมการง่าย ๆ แต่ระบุองค์ประกอบได้ครบถ้วนขึ้นมาอธิบายแบบกะทัดรัด โดยไม่มีการคำนวณ

ตามโมเดลของศาสตราจารย์ไมรอน กอร์ดอน หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในนาม Gordon Growth Model มูลค่าหุ้นสามารถคำนวณได้ตามสมการ


จะเห็นได้ว่ามูลค่าหุ้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ตัว ได้แก่


1. ปริมาณกระแสเงินสด (cash flow หรือ CF)


นักลงทุนจำนวนมากจับจ้องอยู่ที่ “กำไร” ของบริษัท เนื่องจากเข้าใจว่ากิจการที่มีกำไรมากน่าจะมีมูลค่าสูง แต่นั่นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่ากิจการนั้น ๆ สามารถเปลี่ยนกำไรทางบัญชีให้กลายเป็นกระแสเงินสดได้ด้วย หากบริษัท ไม่ จำเป็นต้องเก็บเงินสดเอาไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือลงทุนกับเครื่องจักรราคาแพงมาก ๆ ปริมาณกระแสเงินสดที่สามารถแจกจ่ายให้ผู้ถือหุ้นก็จะมากตามไปด้วย

กระแสเงินสดที่เราพูดถึงอาจเป็นส่วนที่ จ่ายออกมาจริง ได้แก่ เงินปันผล หรือเป็นส่วนที่ผู้ถือหุ้น มีสิทธิ์ได้รับ อย่างกระแสเงินสดอิสระ (free cash flow) สำหรับผู้ถือหุ้นก็ได้ ในทางทฤษฎี มูลค่าหุ้นที่คำนวณจากกระแสเงินสดทั้งสองตัวจะให้ผลลัพธ์ตรงกัน อย่างไรก็ตาม เราไม่ใช้กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน แม้มันจะเป็นตัวที่ปรากฏอยู่ในงบการเงิน เนื่องจากกิจการมักติดภาระในการลงทุน ทำให้ไม่สามารถแจกจ่ายกระแสเงินสดดังกล่าวให้กับผู้ถือหุ้นได้ทั้งจำนวน


หลักการก็คือ ถ้ากระแสเงินสดมีปริมาณมาก มูลค่าหุ้นก็จะมาก


2. อัตราการเติบโตของกระแสเงินสด (growth หรือ g)


เนื่องจากสูตรของกอร์ดอนมาจากการคิดลดกระแสเงินสด (ซึ่งก็คือ เงินปันผล) เมื่อพูดถึงการเติบโตหรือตัว g ที่อยู่ในสูตร จึงต้องหมายถึง การเติบโต ของกระแสเงินสด ไม่ใช่การเติบโตของกำไร สังเกตได้ว่าองค์ประกอบนี้ยังคงอยู่ที่เรื่องของกระแสเงินสดเช่นกัน เพียงแต่ขยับมาที่แง่มุมของการเพิ่มขึ้น (เติบโต)

ในทางปฏิบัติ นักลงทุนอาจแทนค่า g ด้วยอัตราการเติบโตของกำไร แต่ขอให้เข้าใจว่านั่นเป็นค่าที่ถูกต้องโดยอนุโลม ภายใต้สมมติฐานว่ากำไรและกระแสเงินสดมีอัตราการเติบโตที่สอดคล้องกัน สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมอีกอย่างหนึ่ง คือ ตัว g ต้องเป็นการเติบโตในระยะยาว (มาก ๆ) เพราะสูตรนี้คิดการเติบโตไปชั่วนิรันดร์


หลักการก็คือ ถ้ากระแสเงินสดมีการเติบโตสูง มูลค่าหุ้นก็จะสูง


3. ระดับผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นอยากได้ (required return หรือ r)


โดยทั่วไปนักลงทุนจะต้องการ (หรือเรียกร้อง) ผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามระดับความเสี่ยงที่สูงขึ้น องค์ประกอบนี้จึงคล้ายจะเป็นเรื่องของความเสี่ยง ซึ่งฟังดูเป็นนามธรรมเหลือเกิน แต่ที่จริงหากเรานึกถึงความเสี่ยงดังกล่าวในแง่ ความแน่นอนของกระแสเงินสด หรือทำนองว่าเราสามารถคาดการณ์กระแสเงินสดได้อย่างมั่นอกมั่นใจหรือไม่ องค์ประกอบนี้ก็จะเป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งของกระแสเงินสดเช่นเดียวกัน

เมื่อบริษัทมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งและมีผลประกอบการคงเส้นคงวา นักลงทุนจะสามารถคาดการณ์กระแสเงินสดได้ง่าย ในประเด็นแรก ฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าบริษัทจะไม่ล้มหายตายจาก (ถ้าบริษัทเกิดเจ๊งในอนาคต กระแสเงินสดส่วนของผู้ถือหุ้นอาจกลายเป็นศูนย์) และในประเด็นที่สอง ผลประกอบการที่คงเส้นคงวาทำให้นักลงทุนมั่นใจกับประมาณการกระแสเงินสดในอนาคต



หลักการก็คือ ถ้ากระแสเงินสดมีความแน่นอน/ผู้ถือหุ้นไม่เรียกร้องผลตอบแทนมาก มูลค่าหุ้นก็จะสูง

--------------------------

นี่คือองค์ประกอบทั้งสามของมูลค่าหุ้น ซึ่งแม้จะเกี่ยวพันกับแง่มุมต่าง ๆ ของกระแสเงินสด แต่ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อกันโดยตรง เช่น การเติบโตสูงอาจมาพร้อมกับความไม่แน่นอนในการเติบโต หรือบางบริษัทมีปริมาณกระแสเงินสดมาก ทว่ามีการเติบโตต่ำ อย่างนี้เป็นต้น แม้นักลงทุนจะเห็นความสัมพันธ์โดยอ้อมขององค์ประกอบต่าง ๆ แต่ก็ควรประเมินองค์ประกอบทั้งสามแยกจากกัน จากนั้นค่อยนำข้อมูลต่าง ๆ ประมวลออกมาเป็นมูลค่าหุ้น

ข้อสังเกต: ในที่นี้เรายกโมเดลของกอร์ดอนมาแสดงเพื่อเป็นตัวอย่างในการบ่งชี้องค์ประกอบสำคัญของมูลค่าหุ้น ในทางปฏิบัติ นักลงทุนอาจเลือกประเมินมูลค่าหุ้นตามโมเดลหรือวิธีใด ๆ ที่เหมาะสม 

นักลงทุนพึงสังเกตว่ากิจการที่กระแสเงินสด 1) มีปริมาณมาก 2) มีการเติบโตสูง และ 3) มีความแน่นอนสูง ควรนับเป็น “กิจการชั้นยอด” อย่างไรก็ตาม การซื้อกิจการชั้นยอดจะถือเป็น “การลงทุนชั้นยอด” ต่อเมื่อเราได้ซื้อในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าของมัน อาจกล่าวได้ว่า การลงทุนแบบเน้นมูลค่ามีหัวใจอยู่ที่ มูลค่าหุ้น และมูลค่าหุ้นก็มีหัวใจอยู่ที่แง่มุมต่าง ๆ ของ กระแสเงินสด หรือก็คือ องค์ประกอบทั้งสามที่ได้กล่าวไป

หากนักลงทุนมีความมั่นใจกับองค์ประกอบทั้งสาม พวกเขาจะมั่นใจกับมูลค่าหุ้น และในขณะเดียวกันพวกเขาก็จะมั่นใจกับการลงทุนไปด้วย ทางออกสำหรับนักลงทุนที่ยังขาดประสบการณ์และไม่มั่นใจกับการประเมินของตนเอง คือ ถ้ามั่นใจน้อย พวกเขาก็จะต้องเผื่อให้มาก (ซื้อที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นมาก ๆ) และถ้ามั่นใจมาก ก็อาจจะเผื่อน้อยหน่อยได้ นี่เป็นเคล็ดลับในส่วนของการเข้าซื้อ ซึ่งหวังว่าจะมีประโยชน์ต่อนักลงทุนทุกท่าน

วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563

Margin of Safety ของตลาดหุ้น - เมื่อเกิดวิกฤติ


ก่อนหน้านี้ผมเคยอธิบายวิธีหา ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย หรือ Margin of Safety (MoS) ในระดับตลาดหุ้นกันไปแล้ว บทความนี้เราจะมาทำให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยสะท้อนผลจากวิกฤติเข้าไปในการคำนวณด้วย (หากท่านใดยังไม่เคยอ่าน ขอแนะนำให้อ่าน “Margin of Safety ของตลาดหุ้น” ก่อนนะครับ)


ปูพื้นของเก่าเล็กน้อย


ในบทความก่อน เราทราบกันไปแล้วว่าสามารถแปลงสมการ และหา Margin of Safety ของตลาดหุ้นได้จาก


หากเราเชื่อว่า อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่เหมาะสม (yd*) ของตลาดหุ้น แม้หลังจากวิกฤติโคโรนาไวรัส จะยังคงเท่ากับ 3 เปอร์เซ็นต์ งานของเราก็จะเหลือเพียงแค่หา อัตราผลตอบแทนเงินปันผลปัจจุบัน (yd) เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้ยากอะไร เพราะนี่เป็นตัวเลขที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยต่อสาธารณะมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ณ สิ้นวันที่ 10 เมษายน 2563 ดัชนี SET อยู่ที่ 1,228 จุด และค่า yd อยู่ที่ประมาณ 4.2 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น MoS ของตลาดหุ้นก็น่าจะเท่ากับ 1 – (0.03 / 0.042) = 0.286 หรือพูดง่าย ๆ ว่าตลาดหุ้นไทย “ดูเหมือน” จะมีส่วนลดจากมูลค่าประมาณ 28.6 เปอร์เซ็นต์


เพิ่มเติมของใหม่ 


อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก yd คำนวณจากเงินปันผลจริงที่ย้อนหลังไปหนึ่งปี แต่เมื่อวิกฤติเกิดขึ้น นักลงทุนอาจ “ค่อนข้างมั่นใจ” ว่าเงินปันผลในอนาคตคงจะต้องลดลง และหากนำค่า yd ดังกล่าวมาใช้ตรง ๆ โดยไม่ปรับปรุงอะไรเลย ก็น่าจะทำให้เราได้ภาพที่ดูดีเกินจริง

เพื่อสะท้อนความจริงข้อนี้ ผมขอยกงานวิจัยของ Niels Gormsen และ Ralph Koijen จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่ศึกษาการเติบโตของเงินปันผลคาดหวังในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาผ่านดัชนี S&P 500 (เส้นสีฟ้า) มาหาผลกระทบหลังจากที่เกิดวิกฤติโคโรนาไวรัส ตามภาพ



หากประเมินมูลค่าด้วยโมเดลคิดลดเงินปันผล (DDM: Dividend Discount Model) ระดับการเติบโตของเงินปันผลที่น้อยลงในแต่ละปีย่อมส่งผลต่อมูลค่าหุ้น ในที่นี้เราจะคำนวณดูว่าผลกระทบนั้นมากน้อยแค่ไหน

ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวทางเทคนิค ซึ่งท่านใดอ่านแล้วมึนงง สามารถข้ามไปอ่านผลลัพธ์ด้านล่างโดยไม่พลาดสาระสำคัญ

----------------------------

1. เราใช้โมเดล DDM แบบสองขั้นกับตลาดหุ้นโดยรวม โดยขั้นที่หนึ่งเป็น ช่วงเติบโต 10 ปีแรก และขั้นที่สองเป็น ช่วงอิ่มตัว นับตั้งแต่ปีที่ 11 เป็นต้นไป

2. คาดการณ์การเติบโตปกติของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น 3.6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี (แบ่งเป็นการเติบโตที่แท้จริงปีละ 2.8 เปอร์เซ็นต์ และเงินเฟ้อปีละ 0.8 เปอร์เซ็นต์) และใช้ตัวเลขนี้กับช่วงเติบโต ส่วนช่วงอิ่มตัวถือว่ามีการเติบโตในระยะยาว 2 เปอร์เซ็นต์

3. กำหนดสมมติฐานว่านักลงทุนในตลาดหุ้นโดยรวมต้องการผลตอบแทน 9 เปอร์เซ็นต์ โดยนำอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล บวกด้วย ส่วนเพิ่มสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น (market risk premium)

----------------------------

ด้วยสมมติฐานดังกล่าว ถ้า หุ้นเสมือน ที่เป็นตัวแทนของตลาดหุ้นโดยรวม จ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.6094 บาท มูลค่าหุ้นที่ได้จากการคิดลดเงินปันผลจะเท่ากับ 10 บาท พอดี


หากเราตั้งต้นจากจุดนี้ จากนั้นก็ปรับลดเงินปันผลลงโดยอิงตามงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโก เพียงแต่ว่าในงานวิจัยเขาระบุตัวเลขเพียงแค่ 10 ปีแรก และเผยแพร่ lower bound (ตัวเลขที่ปรับลดลงต่ำสุด) ซึ่งก็อาจจะอนุรักษนิยมมากไปหน่อย ผมจึงปรับใช้เพียงแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ของตัวเลขดังกล่าว และกำหนดตัวเลขเพิ่มเติมหลังจาก 10 ปีแรก

เมื่อคิดลดใหม่ โดยหักเงินปันผลที่น่าจะลดลง (สีส้ม) ออกไป ก็จะได้มูลค่าหุ้นภายหลังจากที่เกิดวิกฤติโคโรนาไวรัส 8.22 บาท หรือลดลงจากเดิม 17.8 เปอร์เซ็นต์



ผลกระทบจาก หุ้นเสมือน ที่เป็นตัวแทนของตลาดหุ้น แสดงให้เห็นว่า มูลค่าของตลาดหุ้นโดยรวมน่าจะหายไปในวิกฤติครั้งนี้ 17.8 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้สมมติฐานว่า (1) มูลค่าหุ้นและเงินปันผลมีความสอดคล้องกัน และ (2) ผลกระทบต่อเงินปันผลในตลาดหุ้นไทย ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา


คำนวณ MoS ใหม่


จากสมการของเรา


ด้วยสมมติฐานที่ว่ามูลค่าหุ้นและเงินปันผลมีความสอดคล้องกัน (ในฐานะที่ เงินปันผล เป็นตัวแทนที่ดีสำหรับมูลค่าหุ้น เหมือนอย่างที่หลาย ๆ ท่านเชื่อว่า กำไร หรือ มูลค่าทางบัญชี เป็นตัวแทนที่ดีสำหรับมูลค่าหุ้น) มูลค่าหุ้นและเงินปันผลโดยรวม (aggregate dividend) ควรลดลงในอัตราที่ใกล้เคียงกัน คือ 17.8 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุนี้ yd* = D / P* จึงน่าจะมีค่าใกล้เคียงกับก่อนวิกฤติ (กล่าวคือ yd* = 3%) เพราะว่าตัวเศษและตัวส่วน ต่างก็ลดลงในสัดส่วนเดียวกัน

ในทางตรงข้าม สำหรับ yd = D / P ตัวเศษหรือเงินปันผล D ลดลง 17.8 เปอร์เซ็นต์ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ทว่าตัวส่วนหรือราคาหุ้นปัจจุบัน เป็น input ที่มาจากตลาดหุ้นโดยตรง (จึงไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน) ดังนั้น ถ้าจะใช้ yd ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงาน เราก็แค่เอา 0.822 ไปคูณ (เพราะ 1 – 0.178 = 0.822)

สรุปก็คือ


ย้อนกลับไป 10 เมษายน 2563 ซึ่งค่า yd อยู่ที่ 4.2 เปอร์เซ็นต์ ค่า 0.822 yd จึงเท่ากับ 0.822 x 0.042 = 0.0345 ดังนั้น Margin of Safety ของตลาดหุ้นจึงน่าจะเท่ากับ 1 – (0.03 / 0.0345) = 0.13 หรือจริง ๆ แล้ว เมื่อคำนึงถึงผลกระทบจากวิกฤติภายใต้สมมติฐานข้างต้น ตลาดหุ้นไทยล่าสุดน่าจะมีส่วนลดจากมูลค่า (MoS) ประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ 28.6 เปอร์เซ็นต์ อย่างที่เราคิดครับ


หมายเหตุ
 - ข้อสรุปและการคำนวณข้างต้นเป็นผลมาจากสมมติฐานตามที่ได้ระบุไว้ หากนักลงทุนมีสมมติฐานเป็นอย่างอื่น ผลลัพธ์และข้อสรุปอาจแตกต่างไปจากนี้
 - ไม่ว่าจะเชื่อหรือมีข้อสรุปอย่างไร นักลงทุนควรรู้จักบริหารความคาดหวัง และวางแผนรองรับกรณีที่ตนเองคิดผิดเอาไว้เสมอ