วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

หุ้น IPO กับกรณี LH Bank


ปกตินักเล่นหุ้นมักให้ความสนใจกับหุ้นที่ออกใหม่หรือที่เรียกว่าหุ้นไอพีโอ (IPO: Initial Public Offering) เนื่องจากบ่อยครั้งที่นักลงทุนได้สิทธิ์ซื้อหุ้น IPO ในราคาต่ำๆ จากนั้นพอหุ้นเข้าตลาดและเริ่มมีการซื้อขาย ราคาหุ้นก็วิ่งกระจุยกระจาย

ผมคงต้องย้อนความสำหรับมือใหม่ก่อนว่า ก่อนที่หุ้นแต่ละตัวจะมาซื้อๆ ขายๆ กันในตลาดดังที่เราเห็นนี้ บริษัทจะต้องออกหุ้นมาเพื่อส่งเข้าตลาด และกิจกรรม "ออกหุ้น" นี้เราเรียกว่าการทำ IPO นั่นเอง

ในการทำ IPO นักลงทุนจะต้องจองซื้อหุ้นตามราคาที่กำหนดไว้ และเม็ดเงินที่จ่ายซื้อหุ้น IPO จะเป็นเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ตัวบริษัทจริงๆ การซื้อหุ้น IPO นี้เป็นการซื้อหุ้นใน "ตลาดแรก" หรือที่เรียกแบบไพเราะว่า primary market

จนกระทั่งถึงวันที่หุ้นตัวนี้ไปปรากฏบนกระดานซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ คนที่จองซื้อหุ้นไม่ทันหรืออยากซื้อหุ้นเพิ่มจึงสามารถไปซื้อขายกันในตลาดหุ้น และตั้งราคาซื้อขายกันเองตามหลัก demand-supply ซึ่ง วอร์เรน บัฟเฟตต์ สมมติสิ่งนี้ว่า Mr Market หรือนายตลาด

การซื้อขายหุ้นที่เราได้ยินกันทุกเมื่อเชื่อวันนั้นเป็นการซื้อขายในตลาดหุ้นซึ่งถือว่าเป็น "ตลาดรอง" หรือเรียกหรูๆ ว่า secondary market ครับ เม็ดเงินที่ซื้อขายกันนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนกันเองระหว่างนักลงทุน ตัวบริษัทไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรด้วย แต่ว่ากันตามจริงแล้วบริษัทก็จะแอบเชียร์ให้หุ้นตัวเองมีมูลค่าสูงๆ เพราะนักลงทุนจะได้พึงพอใจ เวลาประชุมผู้ถือหุ้นจะได้ชื่นชมฝ่ายบริหารและอนุมัติค่าตอบแทนงามๆ อะไรประมาณนั้น

เร็วๆ นี้ก็จะมีหุ้น IPO ที่เป็นหุ้นแบงก์ออกใหม่ คือ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH Bank ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมากแน่นอน เนื่องจากเราไม่มีหุ้นแบงก์ออก IPO มาเป็นร่วม 20 ปีแล้วและราคาที่เคาะออกมาก็ไม่สูง ผมใช้คำว่า "ไม่สูง" ไม่ใช่คำว่า "ไม่แพง" เพราะสารภาพตามจริงผมก็ไม่แน่ใจว่ามันแพงมั๊ย แต่ที่บอกได้ว่าไม่สูงเพราะราคาเสนอขายตกหุ้นละ 1.4 บาท ถ้าใครมีเงินซักหนึ่งแสนสี่หมื่นบาทก็จะได้ซื้อตั้ง 100,000 หุ้น ซึ่งฟังดูเยอะ

ทว่าผมจะต้องเตือนสติซักหน่อยว่าการออก 100 ล้านหุ้นที่ราคา 1.4 บาท ในทางเทคนิคแล้วไม่แตกต่างกับการออก 1 ล้านหุ้นที่ราคา 140 บาท เพราะเม็ดเงินที่เข้าสู่ตัวบริษัทมันเท่ากัน แต่คนทั่วไปมักเทียบแค่ว่า 1.4 บาทต่ำกว่า 140 บาท ก็เลยมักสรุปมั่วๆ แบบไม่ต้องวิเคราะห์ไปเลยว่ามันถูกกว่าด้วย ซึ่งอาจไม่จริง นักลงทุนที่สนใจควรวิเคราะห์อย่างน้อยก็ควรพิจารณาค่า P/BV หรือค่า P/E ประกอบด้วย ซึ่งการหามูลค่าหุ้นทางบัญชี (book value) และกำไร (earning) ก็ไม่ได้ยากอะไร เพียงแต่ไปเสิร์ชในอินเตอร์เน็ตแล้วเอามาเทียบกับราคาจองซื้อก็ได้แล้ว

ในช่วงที่ออก IPO ธนาคารแห่งนี้ยังคงเป็น "ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย" ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์เต็มตัว จึงมีบางกิจกรรมในทางฝั่งสินเชื่อที่ยังมีข้อจำกัด แต่ถ้าเป็นฝั่งเงินฝากนั้นทำได้หมด อย่างไรก็ตาม ทางแบงก์เองเปิดเผยว่าจะยื่นขออนุมัติเลื่อนชั้นเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มตัวเร็วๆ นี้ ซึ่งถ้าทำได้จริงก็จะเป็นผลบวกต่อ LH Bank เป็นอย่างมาก

ไหนๆ ก็เอ่ยชื่อหุ้นออกมาแล้วผมต้องออกตัวว่าผมไม่เชียร์และไม่ขัด ถ้าใครคิดจะจองซื้อหรือไม่จองซื้อ เพียงแต่มาทำความกระจ่างซักหน่อยครับ บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัท LH Financial Group จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG ซึ่งเป็นบริษัทแม่หรือโฮลดิ้งของ LH Bank หรือธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) อีกที ไม่ใช่ว่าตัวแบงก์มาเองนะครับ แต่ก็เป็นปกติอยู่แล้วที่หลายบริษัทมักเอาบริษัทโฮลดิ้งมาจดทะเบียนแทนที่จะเอาตัวบริษัทมาจริงๆ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความยุ่งยากในการรายงานต่างๆ

แม้จะจดทะเบียนด้วยบริษัทแม่ คือ LHFG แต่เวลาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะใช้ชื่อตรงไปตรงมาว่า LHBANK ใครอยากตามไปซื้อในตลาดหุ้นก็ติดตามไปได้ อย่าผิดฝาผิดตัวล่ะ แต่โดยส่วนตัวผมไม่นิยมหุ้น IPO และยอมมองเห็นคนอื่นกำไรโครมๆ ดีกว่าวิ่งเข้าลุยในสิ่งที่ตัวเองยังไม่รู้ครับ