วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พิชิตใจพ่อแม่ - พิชิตตลาดหุ้น


ไม่นานมานี้ผมได้อ่านงานเขียนของคุณนวพล วิริยะกุลกิจ เรื่อง กลยุทธ์ 5 ชนะ ซึ่งลงไว้ในนิตยสารการเงินธนาคาร และเห็นว่ามีเนื้อหาดี ทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนหุ้นเพื่อสร้างความมั่งคั่งได้อย่างน่าสนใจ

ส่วนของเดิมเป็นอย่างไร และผมจะเอามาประยุกต์ได้ว่าอย่างไร เราจะมาดูกันครับ


กลยุทธ์พิชิตใจพ่อแม่


ในบทความดั้งเดิมกล่าวถึงการ "สืบทอดธุรกิจ" จากรุ่นพ่อแม่ ซึ่งแน่นอนว่านอกจากรุ่นลูกจะต้องต่อสู้เพื่อชนะในธุรกิจแล้ว พวกเขายังต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะใจพ่อแม่อีกด้วย กลยุทธ์เด็ดที่ผู้เขียนแนะนำมีอยู่ด้วยกัน 5 ข้อ ได้แก่

1. มองหางานสำคัญที่พ่อแม่ไม่ถนัด - วิธีนี้จะทำให้พ่อแม่ยอมรับความสามารถของเราได้ง่ายขึ้น ทั้งยังมีอิสระในการโชว์ฝีมือมากกว่าจะไป "เจาะ" ในส่วนที่พ่อแม่แกร่งทั่วแผ่นกันอยู่แล้ว

2. ไม่ตั้งเป้าหมายเริ่มแรกสูงเกินไป - การที่เราตั้งเป้าสูงแล้วทำไม่ได้อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเรายังอ่อนประสบการณ์และมีความมั่นใจเกินตัว การสะสมความสำเร็จเล็กๆ ให้บ่อยครั้ง แล้วจึงขยับเป้าขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นหนทางที่ดีกว่า

3. แสดงออกถึงความมุ่งมั่น - นี่เป็นค่านิยมสำคัญของคนรุ่นก่อน ถ้าเราทุ่มเทแล้วแต่ไม่สำเร็จ พ่อแม่อาจยอมรับได้ว่ามันยากจริง แต่ถ้าไม่ทุ่มเทตั้งแต่แรก ต่อให้สำเร็จเขาก็อาจมองว่า "ฟลุ้กมั้ง!?"

4. เปิดใจรับฟัง - การฟังเป็นการซื้อใจลูกน้องที่ถูกมาก ใน 1-2 ปีแรกของการสืบทอดธุรกิจเหมาะเป็นช่วงเวลาแห่งการรับฟังและเรียนรู้ของเดิม ไม่ใช่การรีบร้อนเปลี่ยนแปลง (ตรงนี้เป็นสิ่งที่คนหนุ่มสาวไฟแรงพลาดกันมาก)

5. รู้จักยืดหยุ่น - โดยเฉพาะในการทำงานร่วมกับผู้บริหารรุ่นพ่อแม่ บางองค์กรมีวัฒนธรรม "เลี้ยงคน" ด้วยความเอื้ออาทร เราอาจจำเป็นต้องลดความคาดหวังลงบ้าง และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป


กลยุทธ์พิชิตตลาดหุ้น


ต่อให้ท่านไม่ใช่ทายาทธุรกิจ กลยุทธ์ 5 ข้อข้างต้นก็ยังมีประโยชน์อยู่ดี อย่างน้อยก็ในตลาดหุ้น








คนละเรื่อง... เดียวกัน


แม้สองเรื่องนี้ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน แต่บางครั้งผมก็พบความขัดแย้งเรื่องหุ้นระหว่างพ่อแม่กับลูก เนื่องจากคนรุ่นก่อนมักมีภาพจำที่ไม่ค่อยดีกับตลาดหุ้น เช่น เคยเห็นข่าวคนกระโดดตึกหรือยิงตัวตายเพราะขาดทุนหุ้น ส่วนคนรุ่นใหม่ก็เด็กเกินกว่าจะเห็นวิกฤติหุ้นขั้นหายนะแบบปี 2540 และมีแต่ภาพจำของตลาดขาขึ้นอย่างยาวนาน

คำแนะนำของผมก็คือ ให้เอาฝั่งขวาของตารางมา manage ตัวเอง และเอาฝั่งซ้ายมา manage คุณพ่อคุณแม่

หวังว่าจะมีประโยชน์นะครับ

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ชีวิตใหม่หลังถูกเลิกจ้าง


หากพูดถึงการถูกเลิกจ้างหรือ Lay Off ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านอาจคิดว่าเป็นเรื่อง "ไกลตัว" และคนที่ถูกเลิกจ้างนั้นน่าจะ "บังเอิญซวย" เหมือนกับการถูกสิ่งปฏิกูลของนกตกลงมาใส่หัว

ที่สำคัญสิ่งนี้คงไม่เกิดขึ้นกับเราง่ายๆ หรอกน่า!

ความคิดนี้ใกล้เคียงกับเรื่อง ปรากฏการณ์ขอบฟ้า ที่ผมเคยกล่าวถึง นั่นคือเราจะไม่มีวันเห็นหายนะที่รออยู่พ้นไปจากขอบฟ้า ไม่ว่ามันจะใหญ่โตมโหฬารเพียงใด ความเข้าใจอันฉาบฉวยและปราศจากการเตรียมรับมือส่งผลให้หลายคนเกิดอาการช็อก เมื่อรู้ว่าตัวเอง (หรือคนใกล้ตัว) ต้องพบเจอกับสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งที่จริงแล้วการถูกเลิกจ้างสามารถนำเราไปสู่ความยากไร้ หรือชีวิตบทใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ ขึ้นอยู่กับการเลือกของตัวเราเอง


เศรษฐศาสตร์ของการจ้างงาน


ไม่ว่าท่านจะอยากเป็นลูกจ้างชั้นดีไปตลอดชีวิต หรือคิดจะพลิกบทบาทไปเป็นนายจ้างเข้าสักวัน ท่านควรเข้าใจเศรษฐศาสตร์ของการจ้างงานเสียก่อน จะได้รับมือกับ นายจ้าง/ลูกจ้าง ได้อย่างเหมาะสม

ตามมุมมองของทฤษฎีเกม การจ้างงาน จะเกิดขึ้นถ้าผลลัพธ์ของมันเป็นบวกต่อตัวบริษัท เช่น พนักงานสามารถผลิตสินค้า สร้างยอดขาย หรือดูแลระบบภายในบริษัทให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย หากต้นทุนของการจ้างงาน (ค่าจ้าง) ถูกกว่าผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้ มันก็มีความคุ้มค่าและการจ้างงานก็จะเริ่มขึ้น



เมื่อการจ้างงานเกิดขึ้นแล้ว ปัญหาที่ตามมาในแต่ละเดือน คือ บริษัทจะจ้างเราต่อไปหรือไม่? ตรงนี้เป็นสิ่งที่หลายท่านหลงลืม เพราะส่วนใหญ่แล้วเราก็จะรับเงินเดือนแล้วก้มหน้าทำงานต่อไป แต่ในความเป็นจริงที่บริษัทจ้างเราต่อเป็นเพราะว่า "ความคุ้มค่า" ของการจ้างงานนั้นยังคงมีอยู่ เขาจึงยังจ้างเราต่อไป

ในบางกรณีความคุ้มค่าอาจลดน้อยลง เช่น พนักงานได้รับการขึ้นเงินเดือนจนเริ่มมีค่าตัวแพงกว่าผลงานที่ทำได้ หรือพนักงานเริ่มออกอาการงอแงไม่อยู่ในระเบียบวินัย ทว่าบริษัทก็ยังคงเลี้ยงคนคนนั้นต่อไปอีก เพราะ ต้นทุนของการเลิกจ้าง (เช่น เงินชดเชย ค่าใช้จ่ายในการสรรหาและฝึกพนักงานใหม่ ชื่อเสียงของบริษัท ฯลฯ) มีสูง และยังไม่คุ้มที่จะแยกทางกันเดิน แต่เมื่อไรที่ความคุ้มค่าเกิดขึ้น การเลิกจ้างก็จะมาถึง



ด้วยมุมมองนี้ หากท่านทำประโยชน์ให้บริษัทได้มาก แถมยังมีต้นทุนการเลิกจ้างสูง เช่น ทำงานในตำแหน่งที่หาคนมาทดแทนได้ยาก หรือเป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบริษัท ไม่ว่าจะเป็นงานขายที่ทำเงินให้บริษัทโดยตรง หรืองานหลังบ้านประเภทปิดทองหลังพระ โอกาสถูกเลิกจ้างก็น่าจะน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ผมขอให้ข้อสังเกตว่าตัวแปรต่างๆ ในอสมการนี้มีบางอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ บางครั้งเราทำงานดีเท่าเดิม แต่สภาพอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป คุณค่าที่เป็นตัวเงินของผลงานเราอาจน้อยลงจนเกิดความไม่คุ้มค่าที่จะจ้างงานต่อ หรือมีกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นทำให้ต้นทุนการเลิกจ้างลดลง เช่น มีแรงงานหน้าใหม่ที่เก่งและไม่แพงไหลเข้ามาในระบบ หรือแม้แต่การที่บริษัทใจดีขึ้นเงินเดือนให้เรามากจนค่าตัวของเราแพงเกินไปเองก็ตาม ทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้เราถูกเลิกจ้างได้

แต่อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นล่ะครับ การถูกเลิกจ้างไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป


เรื่องเล่าของเพื่อนรักสี่คน


ในบริษัทแห่งหนึ่งมีวิศวกร 4 คนถูกเลิกจ้างในเวลาไล่เลี่ยกัน เนื่องจากพิษเศรษฐกิจ

สรพงศ์ เป็นคนที่เศร้าที่สุด เขารู้สึกมืดแปดด้านเพราะยังต้องผ่อนทั้งบ้านและรถ เงินเก็บก็แทบไม่มี ด้วยความกลุ้มอกกลุ้มใจเขาจึงกินเหล้าและเที่ยวเตร่แก้เครียด ได้แต่หวังว่าจะมีงานดีๆ วิ่งชนเข้ามาในอนาคต สภาพของเขาไม่หลงเหลือวี่แววของคนหนุ่มอนาคตไกลอย่างที่เคยเป็น

ขณะที่ สัญญา ทำใจรับสภาพ และตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหลายอย่างเพื่อความอยู่รอด เขานั่งๆ นอนๆ อยู่กับบ้านด้วยความเบื่อหน่าย พร้อมกับร่อนจดหมายสมัครงานไปตามบริษัทต่างๆ และเดินทางไปมาเพื่อสัมภาษณ์งานอยู่หลายรอบ จนในที่สุดเขาก็ได้งานใหม่ ถึงแม้จะกินเวลาเกือบหนึ่งปีและได้รับเงินเดือนที่น้อยลงกว่าเดิมมาก แต่เขาก็คิดว่าสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ได้แค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง สุวัฒน์ เชื่อว่าการเลิกจ้างนี้จะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ในมุมมองของเขาการรีบร้อนสมัครงานในช่วงเวลานี้ยากที่จะได้งานดีๆ เพราะบริษัทแต่ละแห่งต่างก็พยายามลดคนกันทั้งสิ้น ดังนั้น แทนที่จะรีบร่อนใบสมัครเหมือนกับสัญญา เขากลับถอยออกมามองภาพกว้างพร้อมกับวางเป้าหมายว่าจะต้องขึ้นไปเป็นผู้บริหารให้ได้หลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัว และนี่ก็คือช่วงเวลาดีที่เขาจะ "อัพเกรด" ตัวเอง

สุวัฒน์มองหัวหน้าเก่าของเขาเป็นต้นแบบ เขาพบว่าทักษะที่จำเป็นต่อการก้าวขึ้นไปเป็นหัวหน้าคือ ความรู้เรื่องการบริหารจัดการและทักษะการนำเสนองาน นอกจากนี้ เขาสังเกตว่าบริษัทเดิมของเขาต้องติดต่องานกับบริษัทญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง การเรียนภาษาญี่ปุ่นในระดับเบื้องต้นอาจช่วยให้เขามีความโดดเด่นขึ้นมาได้ หลังจากคิดได้ดังนี้แล้วเขาก็เริ่มเรียนรู้และฝึกฝนตัวเองอย่างมีวินัย

เมื่อเวลาผ่านไปเกือบสองปี ตำแหน่งผู้บริหารระดับต้นเริ่มกลับมาเป็นที่ต้องการ สุวัฒน์ก็ได้รับข้อเสนอให้เป็นรองผู้จัดการฝ่ายผลิตของบริษัทอีกแห่งหนึ่งสมอย่างที่ตั้งใจ

ขณะที่เพื่อนรักสามคนกำลังสาละวนอยู่กับการเป็นลูกจ้าง สมบัติ ถือได้ว่าแตกต่างจากคนอื่น เพราะแทนที่จะมองหางานใหม่เหมือนกับเพื่อนๆ เขากลับนำเงินเก็บที่อดออมไว้ รวมกับเงินชดเชยจากการเลิกจ้าง มาเปิดกิจการของตัวเอง โดยรับวิศวกรจบใหม่มาฝึกงานและรับเหมาก่อสร้างเล็กๆ น้อยๆ กิจการของเขาดำเนินไปด้วยดีเนื่องจากค่าตัวของวิศวกรไร้ประสบการณ์ในขณะนั้นถือว่าถูกมาก นอกจากนี้ลูกค้าก็เชื่อถือฝีมือและความซื่อตรงของสมบัติและทีมงาน ทำให้บริษัทค่อยๆ เจริญขึ้นพร้อมกับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว

ในความเห็นของเขา การถูก Lay Off เป็นการ "ช่วยตัดสินใจ" ให้เขาออกมาทำตามความฝันของตัวเอง เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้วตัวเขาเองคงไม่กล้าออกมาทำกิจการส่วนตัวแบบนี้ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในสายตาของเขา คือ การอดออมและเก็บเงินตั้งแต่เริ่มต้นทำงานพร้อมกับเพื่อนๆ ส่งผลให้เขามีเงินทุนในยามที่จำเป็น และมันก็คุ้มค่ากับความพยายามจริงๆ


คุณ ... คือ ใคร


เมื่อคนสี่คนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน และตอบสนองกับมันแตกต่างกันไป นั่นนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่มีทางจะเหมือนกัน แล้วคุณคิดบ้างหรือไม่ว่า ถ้าเป็นคุณจะทำอย่างไร

จมปลักกับความมืดมนเหมือนกับ สรพงศ์ ?

คิดแค่ประคองตัวรอดเหมือน สัญญา ?

หรือใช้โอกาสนี้พัฒนาตัวเองอย่าง สุวัฒน์ ในจังหวะที่คนอื่นๆ กำลังทอดอาลัยกับโชคชะตา?

หรือว่าบางทีคุณอาจใช้จังหวะนี้ "เปลี่ยนชีวิต" ตัวเองเหมือนกับ สมบัติ ก็ได้

ชีวิตหลังถูกเลิกจ้างคือ ชีวิตใหม่ ทั้งสิ้น ชีวิตใหม่นี้อาจดีขึ้นหรือเลวลง หรือบางทีมันอาจเหมือนเดิม แต่ทั้งหมดนี้อยู่ที่การออกแบบของตัวเราเอง โปรดจำไว้ว่า การถูกเลิกจ้างอาจไม่ใช่สิ่งที่คุณเลือกได้ แต่ชีวิตหลังถูกเลิกจ้างนั้น คุณเป็นคนเลือกเองแน่นอน