วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2562

ต้องเฉลี่ย หรือ ไม่ต้องเฉลี่ย


อัตราส่วนทางการเงิน เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการลงทุน และส่วนใหญ่ก็ได้จากการจับตัวเลขบางตัวมาหารกันนั่นเอง นักลงทุนที่อ่านหนังสือมามากจะทราบดีว่า สูตรของอัตราส่วนตัวเดียวกันอาจมีทั้งแบบเรียบง่ายและซับซ้อน ขึ้นอยู่กับ “ความเยอะ” ของผู้นิยาม รวมถึงวัตถุประสงค์การนำไปใช้

ตัวอย่างของเรื่องนี้ เช่น อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets หรือ ROA) มีสูตรคำนวณง่าย ๆ ที่เปิดหาจากเว็บไซต์ Investopedia ได้ว่า


ซึ่งก็ดูเข้าใจง่ายดี แต่นั่นก็อาจจะไม่ได้แปลว่าเราเข้าใจมันจริง ๆ


สินทรัพย์... ตอนไหน?


ปัญหาคลาสสิกของอัตราส่วนลักษณะนี้มักอยู่ที่ ตัวส่วน มากกว่าตัวเศษ เพราะตัวเศษ (กำไรสุทธิ) นั้นโกยมาทั้งปีก็มีค่าเดียว แต่ตัวส่วนอาจเป็นได้ทั้งสินทรัพย์ตอนต้นปีหรือปลายปี หรือบางแนวคิดก็ให้จับตัวเลขต้นปีกับปลายปีมาเฉลี่ยกันก็มี อย่างเช่น สูตรจากเว็บไซต์ Wikipedia


แนวคิดที่แพร่หลายสำหรับประเด็นนี้ ได้แก่

  1. ใช้สินทรัพย์ต้นปี – โดยให้เหตุผลว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่ ณ จุดตั้งต้นของการดำเนินงานทั้งหมดในปีนั้น

  2. ใช้สินทรัพย์ปลายปี – โดยอาศัยความที่เป็นตัวเลขหาง่าย เพราะข้อมูลสรุปทางการเงินของบริษัทต่าง ๆ มักรายงานกำไรประจำปีและสินทรัพย์ปลายงวดมาพร้อมกันในคอลัมน์เดียวกันอยู่แล้ว

  3. ใช้สินทรัพย์เฉลี่ย – โดยให้เหตุผลว่าสินทรัพย์ของบริษัทมักมีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างปี และการใช้ค่าเฉลี่ยก็จะสะท้อนสินทรัพย์ที่บริษัทใช้จริงได้มากที่สุด

นักลงทุนโดยทั่วไปมักเข้าใจว่าข้อ 3 เป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุด ส่วนข้อ 1 ก็ถือว่ามีเหตุผล แต่ไม่ค่อยละเอียดลออ และที่ไม่เข้าท่าที่สุดก็ดูเหมือนจะเป็นข้อ 2

อย่างไรก็ตาม หากเราทำความเข้าใจ “วัตถุประสงค์” ของการใช้อัตราส่วนทางการเงินในแต่ละรูปแบบ แต่ละข้อต่างล้วนมีข้อดีอยู่ในตัว แม้กระทั่งผมเองก็คำนวณ ROA แบบเร็ว ๆ ตามข้อ 2 อยู่บ่อยครั้ง หากต้องการมองภาพธุรกิจอย่างคร่าว ๆ รวมถึงเปรียบเทียบพัฒนาการของบริษัทในแต่ละปี ซึ่งกิจกรรมแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวเลขที่แม่นยำมากมายอะไรนัก


ว่าด้วยความถูกต้อง


ถัดจากความง่าย ถ้าเราหันมาคำนึงถึงความถูกต้องกันบ้าง คำถามที่ผุดขึ้นต่อมาก็คือ การหาค่าเฉลี่ยจะให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องกว่าจริง ๆ น่ะหรือ

หากจินตนาการถึงบริษัทแห่งหนึ่งที่มีสินทรัพย์ 100 ล้านบาทตอนต้นปี และเพิ่มขึ้นเป็น 106 ล้านบาทตอนสิ้นปี โดยในปีนั้นบริษัทมีกำไรสุทธิ 12 ล้านบาท

ถ้าเราคำนวณ ROA จากสินทรัพย์ต้นปี จะได้เท่ากับ 12 / 100 = 12 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราคำนวณจากสินทรัพย์เฉลี่ย (100 + 106) / 2 = 103 ล้านบาท ROA จะกลายเป็น 12 / 103 = 11.65 เปอร์เซ็นต์

เมื่อได้ตัวเลขดังนี้ นักลงทุนทั่วไปมักไม่ใส่ใจและสรุปทันทีว่าตัวเลขหลังถูกต้องกว่า แต่ถ้าเราเจาะเข้าไปในรายละเอียด และสมมติว่าสินทรัพย์ 6 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นในระหว่างปีเป็นการเพิ่มขึ้นโดยเท่า ๆ กันเฉลี่ยเดือนละ 0.5 ล้านบาท เราจะได้มุมมองต่อสินทรัพย์ดังแผนภาพ


เราจะสามารถบอกได้ว่า กำไรที่บริษัททำได้ในเดือนมกราคมเกิดจากสินทรัพย์ 100 ล้านบาทที่มีอยู่ในเดือนนั้น ส่วนกำไรของเดือนกุมภาพันธ์ก็เกิดจากสินทรัพย์ 100.5 ล้านบาท และกำไรของเดือนมีนาคมก็เกิดจากสินทรัพย์ 101.0 ล้านบาท อย่างนี้เป็นต้น (การใช้สีที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้อ่านสามารถมองเป็นไตรมาสและแยกเดือนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น)


เพิ่มความซับซ้อน สะท้อนชีวิตจริง


ตัวอย่างนี้จะซับซ้อนมากขึ้น หากเราพิจารณาประเด็นเรื่องการจ่ายเงินปันผลในช่วงกลางปี สมมติว่าบริษัทจ่ายเงินปันผล 6 ล้านบาท นักลงทุนจะเห็นว่าจริง ๆ แล้วสินทรัพย์ของบริษัทควรมีการเติบโตไปกับกำไรที่บริษัททำได้ เช่น เฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านบาท (แทนที่จะเป็น 0.5 ล้านบาท อย่างที่สมมติกันไปในตอนแรก) และพอสิ้นเดือนมิถุนายน บริษัทก็จ่ายปันผลออกมาเป็นเงินสด ทำให้สินทรัพย์ของบริษัทลดฮวบก่อนจะฟื้นตัวขึ้นมาใหม่อีกรอบหนึ่งจนเป็น 106 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม ดังแผนภาพ


สังเกตว่าการจ่ายเงินปันผล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ทำให้สินทรัพย์ ณ ต้นเดือนกรกฎาคม (แท่งที่ 7) ที่น่าจะเป็น 106.0 ล้านบาท ลดฮวบลงไปเหลือเพียง 100.0 ล้านบาท ก่อนจะเดินหน้าสะสมสินทรัพย์ขึ้นมาใหม่หลังจากนั้น

นอกจากการจ่ายเงินปันผลแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่นักลงทุนควรคำนึงถึงด้วย คือ กำไรที่บริษัทสร้างได้ในแต่ละเดือนอาจไม่ใช่ผลจากสินทรัพย์ของเดือนนั้น ๆ ทว่าอาจเริ่มต้นมาจากการสั่งซื้อวัตถุดิบเมื่อสองหรือสามเดือนก่อนหน้า (ระยะเวลาจะยาวหรือสั้นจำเป็นต้องศึกษาจาก วงจรเงินสด และ วงจรการดำเนินงาน ของบริษัท) เพื่อให้เข้าใจประเด็นนี้โดยไม่ต้องลงลึกมากจนเกินไป สมมติว่ากำไรของบริษัทในแต่ละเดือนเกิดจากการเริ่มต้นใช้สินทรัพย์ตั้งแต่สองเดือนก่อนหน้า สินทรัพย์ที่บริษัทใช้สร้างกำไรสำหรับปีจะเป็นไปตามแผนภาพ



กล่าวคือ กำไรของเดือนมกราคมเกิดจากการใช้สินทรัพย์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีก่อน ส่วนกำไรของเดือนกุมภาพันธ์ก็เกิดจากการใช้สินทรัพย์ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน... อย่างนี้เรื่อยไปจนถึงกำไรของเดือนธันวาคมปีปัจจุบันเกิดจากการใช้สินทรัพย์ในเดือนตุลาคม

หากจะดูสินทรัพย์ที่ใช้จริง เราก็ต้องเฉลี่ยตัวเลขทั้งหมด 12 ตัว คือ

(98 + 99 + 100 + 101 + 102 + 103 + 104 + 105 + 100 + 101 + 102 + 103) / 12

จะได้สินทรัพย์ที่ใช้จริงเฉลี่ยเท่ากับ 101.5 ล้านบาท และถ้านำตัวเลขนี้ย้อนกลับไปคำนวณ ROA ใหม่ก็จะได้เท่ากับ 12 / 101.5 = 11.82 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับตัวเลขเดิมที่เคยคำนวณไว้ตั้งแต่แรก (ลืมกันไปแล้วหรือยัง?) 12 เปอร์เซ็นต์ กับ 11.65 เปอร์เซ็นต์


สรุป


การคำนวณอัตราส่วนทั้งสองแบบ คือ แบบที่ใช้ตัวเลขต้นปี และแบบที่ใช้ค่าเฉลี่ยต้นปีกับปลายปี ล้วนมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น นักลงทุนอาจทดลองปรับเปลี่ยนสมมติฐานแล้วดูว่ากรณีของบริษัทที่เราสนใจนั้นเป็นอย่างไร เพื่อจะได้รู้ผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจงและตัดสินใจได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวอย่างนี้ ในเมื่อตัวเลขจากทั้งสองวิธีมีความผิดพลาดเล็กน้อยใกล้เคียงกัน ความเห็นโดยส่วนตัวของผม ก็คือ ไม่ต้องไปเสียเวลาหาค่าเฉลี่ยให้ยุ่งยากและสุ่มเสี่ยงที่จะคำนวณผิดพลาดมากขึ้นหรอก คำนวณด้วยตัวเลขต้นปีไปนั่นแหละ ส่วนท่านอื่นจะเลือกแบบไหนก็ตามอัธยาศัย เพราะจุดประสงค์ของบทความนี้ก็เพียงเพื่อจะบอกทุกท่านว่า การทำอะไร “เยอะ ๆ” นั้นอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญจนคุ้มค่ากับความวุ่นวายที่เพิ่มขึ้นเสมอไป

วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2562

ไฟไหม้มัดข้าว


ย้อนไป 164 ปีที่แล้วในช่วงเย็นวันหนึ่งก่อนสิ้นปี ขณะที่ชาวบ้านฮิโระมุระกำลังง่วนอยู่กับการจัดเตรียมงานเฉลิมฉลองเทศกาลเก็บเกี่ยว จนแทบไม่มีใครรู้สึกถึง "แผ่นดินไหว" ที่เพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ

โกเรียว ฮามะกุจิ ผู้นำหมู่บ้านสังเกตว่าแผ่นดินไหวครั้งนั้นแม้ไม่รุนแรง แต่การสั่นไหวก็เกิดขึ้นช้าและยาวนานผิดประหลาด เมื่อออกจากบ้านและมองมาที่ทะเล เขาพบว่าระดับน้ำได้ลดลงจนเนินหินบริเวณชายฝั่งปรากฏขึ้น โกเรียวรู้ทันทีว่าสึนามิกำลังมาแล้ว

เพื่อช่วยชีวิตผู้คนในหมู่บ้าน เขาตัดสินใจจุดไฟเผากองฟ่อนข้าวที่เก็บเกี่ยวมาโดยทันที เมื่อไฟกองใหญ่ลุกลามขึ้นประกอบกับท้องฟ้าที่ค่อย ๆ มืดลงขณะที่ตะวันตกดิน ชาวบ้านที่หอสังเกตการณ์ก็ส่งสัญญาณเรียกทุกคนให้รีบมาช่วยกันดับไฟที่บ้านของโกเรียว พวกคนหนุ่มที่วิ่งมาถึงก่อนพยายามจะเข้าไปดับไฟ แต่โกเรียวก็ตะโกนห้ามไว้ท่ามกลางความประหลาดใจของทุกคน

เมื่อชาวบ้านทยอยกันมาถึงบ้านโกเรียวที่เนินเขาจนครบแล้ว โกเรียวบอกให้ทุกคนมองไปที่ทะเล สิ่งที่ปรากฏต่อสายตา คือ แนวคลื่นยักษ์ที่ก่อตัวเป็นกำแพงทะมึนอยู่ตรงขอบฟ้า ไม่นานคลื่นสึนามิก็ถาโถมเข้าสู่หมู่บ้านและกวาดทุกอย่างจนราบเป็นหน้ากลอง อย่างไรก็ตาม โกเรียวสามารถรักษา 400 ชีวิตในหมู่บ้านเอาไว้ได้

-------------------------------------------

นี่เป็นเรื่องราวโดยย่อของเหตุการณ์ "ไฟไหม้มัดข้าว" (the fire of rice sheaves) ตามที่ปรากฏในหนังสือแบบเรียนชั้นประถมศึกษาของประเทศญี่ปุ่น โดยจุดเริ่มต้นในการค้นหาข้อมูลมาจากบทความในวารสารอินทาเนียที่ผมอ่านเมื่อไม่นานมานี้

ท่านทั้งหลายคิดอย่างไรบ้าง? ข้าวกองใหญ่แลกกับชีวิตชาวบ้านหลายร้อยคน

ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากจะบอกว่า "สุดแสนจะคุ้ม" เพราะหากใช้วิธีวิ่งไปบอกทุกคนตามบ้าน มันก็คงช้ามาก บางทีอาจมีคนมัวเก็บข้าวเก็บของไม่ยอมหนีภัยในทันที หรืออาจมีคนที่ออกไปธุระนอกบ้านจนตามหากันไม่เจอ ฯลฯ

แต่ในทางตรงข้ามคนอีกกลุ่มหนึ่งก็อาจจะอ้างว่า คนเรามีสิทธิ์เลือกรักษาทรัพย์สินของตนเองโดยชอบธรรม ส่วนการช่วยเหลือผู้คนก็เป็นความสำคัญลำดับรอง ๆ ลงมา

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ คือ โลกของเรามีทั้งคนที่ถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ (แบบโกเรียว) และคนที่ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่ การที่ใครจะเลือกเป็นแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าเขา "ให้คุณค่า" กับสิ่งใด

คนที่ให้คุณค่ากับความร่ำรวยจะใช้เงินเป็นไม้บรรทัด ถ้าท่านจนกว่าเขา เขาก็จะบอกว่าท่านด้อยกว่า หรือถ้าเอาวุฒิการศึกษาเป็นไม้บรรทัด หากท่านเรียนมาน้อยกว่าเขา เขาก็จะบอกว่าท่านด้อยกว่า

จุดสำคัญก็คือ ขอให้เราดีพอในโลกของเรา ตามไม้บรรทัดของเรา ส่วนจะยาวหรือสั้นในโลกของใครก็ไม่เป็นไร และในทางกลับกันเราก็ต้องระมัดระวังไม่ "ยัดเยียด" ไม้บรรทัดของเราให้กับคนอื่นด้วย

สุดท้ายที่ผมอยากให้ข้อสังเกตไว้ คือ การช่วยเหลือคนอื่น น่าจะเป็นไม้บรรทัดของหมู่บ้านฮิโระมุระนี้ - โกเรียวยอมสละข้าว ซึ่งอาจจะเป็นข้าวทั้งหมดของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือคนอื่น ส่วนคนอื่นที่จริงก็เร่งรีบมาเพื่อจะช่วยโกเรียวดับไฟ

และในที่สุดแล้วความคิดที่จะช่วยเหลือคนอื่นนี่เองที่ทำให้ทุกคนรอดตาย