วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

ดอยสูง - ดอยต่ำ - ดอย VI


สำหรับคอหุ้นแล้วการเที่ยวดอยเที่ยวภูเขาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากไป ไม่ใช่ว่านักเล่นหุ้นเป็นพวกขาดอารมณ์สุนทรีย์ แต่เพราะการ "เที่ยวดอย" หรือ "ติดดอย" ในภาษาหุ้นแล้วหมายถึง ซื้อหุ้นแพงแล้วพอหุ้นตกก็เลยขายไม่ได้ (ที่จริงก็ขายได้เหมือนกัน แต่ส่วนมากจะไม่ยอมขายเอง)

หากถามผมว่าถ้าเห็นแววจะติดหุ้นติดดอยแล้ว ควรจะตัดใจขายเลยดีหรือไม่ เพราะเห็นบางคน cut loss แล้วก็ดี แต่บางคนทนถือแล้วก็ได้ดีเหมือนกัน ผมขอแนะนำอย่างนี้ครับ


ดอยสูง-ดอยต่ำ
หากเราจินตนาการกราฟหุ้นให้เป็นภูเขา คนที่จะซื้อ "ยอดดอย" จริงๆ นั้น ต้องเป็นพวกที่ชอบไล่ซื้อ ประมาณว่าหุ้นตัวไหนวิ่งแรงและทำ new high เป็นว่าเล่นนี่สเปกเค้าเลย ผมเรียกการติดหุ้นในลักษณะนี้ว่า "ดอยสูง" ส่วนมากคนที่ติดดอยแบบนี้มักจะว้าเหว่และเหน็บหนาว เพราะซื้อที่ราคาเกือบๆ จะสูงสุด หาเพื่อนยาก

ขณะเดียวกันมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ชอบซื้อตอนที่หุ้นย่อตัวลง แต่บางครั้งซื้อเสร็จมันก็ยังคงย่อลงไปอีก กลายเป็นพวกติดดอยอีกเหมือนกัน แต่คราวนี้ยังเป็น "ดอยต่ำ" เรียกว่าสถานการณ์ดีกว่าพวกแรกนิดนึง แต่ก็ขาดทุนนะ

ในเชิงของการเก็งกำไร พวกดอยต่ำถือว่ามีความได้เปรียบพวกดอยสูงอยู่อย่างหนึ่ง คือ ตลาดได้เห็นแล้วว่าหุ้นตัวนี้มีศักยภาพที่จะไปต่อได้ถึงราคาไหนเป็นอย่างน้อย (ซึ่งก็คือตำแหน่งที่เป็นยอดดอยนั่นเอง) และหากราคาหุ้นวกกลับไปที่ยอดดอยอีกครั้งหนึ่ง พวกดอยต่ำก็มีทางเลือกว่าจะทำอะไรดีระหว่าง

1) ขายทำกำไร
2) let profit run
3) ซื้อเพิ่ม (มีกำไรสะสมแล้วบางส่วน)

ขณะที่พวกดอยสูงมีทางเลือกคล้ายกัน แต่ต่างกันที่ผลลัพธ์

1) เสมอตัวแล้ว รีบเผ่นดีกว่า
2) let profit begin
3) ซื้อเพิ่ม

จะเห็นว่าคนที่ติดดอยสูงมีทางเลือกที่แย่กว่า ผมเห็นว่าสำหรับนักเก็งกำไรทั่วไปที่ใจไม่กล้าพอจะ cut loss ควรหลีกเลี่ยงการติดดอยสูง ด้วยการรอซื้อหุ้นในจังหวะที่มันพักตัวมากกว่าจะวิ่งใส่ในจังหวะที่มันทำ new high

ส่วนในสายตาของนักลงทุนระยะยาวนั้น "ซื้อถูกกว่า" ก็ย่อมดีกว่า "ซื้อแพงกว่า" อยู่แล้ว


ดอย VI

ผมเคยเห็นนักเล่นหุ้นหลายรายวิจารณ์ทำนองว่า พอหุ้นตกใครๆ ก็ติดดอย ไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI บางคนหนักกว่านั้น บอกว่าตัวเองติดดอยแล้วจึงต้องทนถือหุ้นเป็น VI

เอาเรื่องแรกก่อน VI ติดดอยจริงหรือไม่?

โดยวิสัยของ VI แล้ว เขาจะไม่ซื้อหุ้นที่มีราคาแพงกว่ามูลค่า ในภาวะตลาดกระทิงหรือตลาดขาขึ้นเต็มตัว เราจะไม่ค่อยเห็น VI ตัวจริงเข้ามาไล่ซื้อหุ้น เว้นแต่จะมีหุ้นตัวไหนที่ถูกตลาดมองข้ามไปจริงๆ ซึ่งก็หายากเต็มที แต่ว่ากันตามจริงแล้ว หากตลาดหุ้นตกแรงๆ VI เองก็อาจขาดทุนได้เหมือนกัน เพียงแต่เขาจะไม่นิยามตัวเองว่า "ติดดอย" เท่านั้น

VI แต่ละคนจะมีระดับความพอใจไม่เท่ากัน บางคนอดทนมากและรอจนหุ้นถูกสุดๆ จึงค่อยซื้อ ขณะที่บางคนใช้วิธีทยอยซื้อ ดังนั้นการที่ราคาหุ้นลดลงจึงกลับเป็นความชอบอกชอบใจของคอ VI ทั้งหลายมากกว่า พูดง่ายๆ ก็คือ ระหว่างที่นักเล่นหุ้นทั่วไป "เสียใจ" ที่ติดดอย เหล่า VI อาจกำลังซื้อหุ้นอยู่หรือไม่ก็กำลัง "เสียดาย" ที่เงินหมดแล้ว

เรื่องที่สอง ติดดอยแล้วถือยาวกลายเป็น VI

อันนี้ขัดใจสาวก VI น้อยใหญ่เป็นอย่างมากครับ เพราะการถือยาวหุ้นดีๆ ที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วอย่างหนักด้วยความตั้งใจและต้นทุนต่ำ มันช่างแตกต่างกับการถือยาวหุ้นที่ไม่รู้ว่าดีหรือเปล่า ด้วยความจำใจและต้นทุนสูง การถือยาวแบบ VI เป็นการถือยาวแบบมีแต้มต่อ หากเขาวิเคราะห์ได้ถูกต้อง ยิ่งถือนานก็ยิ่งมีโอกาสได้กำไรมากขึ้น ในทางกลับกันการถือยาวแบบติดดอยเป็นการเสียโอกาสที่จะไปเก็งกำไรหุ้นตัวอื่น บ่อยครั้งผลกำไรของบริษัทก็ย่ำแย่จนพาให้หุ้นตกและยิ่งถือยาวก็ยิ่งขาดทุนหนักจนเกินเยียวยา

ในความเห็นของผม การเก็งกำไรเป็นวิธีทำเงินแบบหนึ่งและไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เมื่อไหร่ที่เรานิยามตัวเองว่าเป็นนักเก็งกำไร เราก็ต้องปฏิบัติตัวให้เป็นนักเก็งกำไรที่ดีด้วย และนักเก็งกำไรที่ดีก็จะไม่มีทางปล่อยให้ตัวเองติดดอย โดยเฉพาะดอยสูง

ในส่วนของ VI ก็มีวิธีคิดในแบบฉบับของพวกเขา แม้เราจะเห็นพวกเขา "ทน" ถือหุ้นในจังหวะหุ้นตก แต่ที่จริงพวกเขาไม่ได้ทน พวกเขากำลัง "enjoy" นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น