วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

เจ้ามือหุ้น


ตำราหุ้นมักจะบอกว่า ราคาหุ้นในระยะยาวจะสอดคล้องกับผลประกอบการของบริษัท แต่ในระยะสั้นราคาหุ้นมักแกว่งไกวไปมาตามข่าวและตัวเลขเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่ามีหุ้นบางตัวเหมือนกันที่ "ดูเหมือนว่า" จะมีการทำราคา อย่างที่รายย่อยพูดกันทั่วไปว่ามี "เจ้ามือ"


เทพเจ้า

ในสมัยโบราณที่มนุษย์ยังไม่มีความรู้เรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติ พอฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า คนในยุคนั้นก็คิดกันไปว่าเป็นสิ่งที่ภูติผี เทวดา หรือเทพเจ้าเป็นผู้กระทำ ทั้งหมดนี้ไม่ได้แตกต่างจากปรากฏการณ์ในตลาดหุ้นนัก

ในแง่ของตลาดหุ้น รายย่อยจำนวนมากเชื่อว่าหุ้นแต่ละตัวจะมี "เทพเจ้า" ประจำอยู่ วันไหนที่เทพเจ้าลงมาประทับ หุ้นก็จะวิ่งปรู๊ดดด ในทางตรงกันข้าม วันไหนที่เทพเจ้าทรงพิโรธ ท่านก็จะทุบจนหุ้นไส้แตก เล่นเอาแมงเม่าแตกกระเจิงและเข็ดขยาดกันไประยะหนึ่ง จริงอยู่ว่าเทพเจ้าที่เรากล่าวถึงไม่ใช่เทพเจ้าจริงๆ ทว่าเป็น "รายใหญ่" ซึ่งอาจจะมาเดี่ยวหรือมาเป็นกลุ่มก็ได้ แต่มุมมองความเชื่อในลักษณะนี้ทำให้เราไม่คิดว่ารายย่อยจะสามารถหาญกล้าไปสู้กับเจ้ามือได้


แบบจำลองเจ้ามือหุ้น

ในตำนานเราอาจมีมนุษย์ที่หาญสู้กับทวยเทพจนได้รับชัยชนะ แต่ว่าตลาดหุ้นไม่ใช่เทพนิยาย หนทางที่เราจะเอาชนะเจ้ามือหุ้นได้ คือ เราต้องรู้จักเจ้ามือและสู้ด้วยไอเดีย

ในมุมมองของผม รายย่อย คือ นักลงทุนตัวเล็กๆ ที่มีเม็ดเงินลงทุนไม่มาก







สิ่งที่เราพบเห็นทั่วไปในตลาดหุ้น คือ รายย่อยพยายามงัดข้อกับเจ้ามือ สู้ตายทั้งที่เสียเปรียบ






สิ่งนี้เกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง และผลลัพธ์ก็เป็นไปในแบบเดียวกัน










อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูว่าเจ้ามือเป็นใคร เราจะพบว่าโดยมากแล้วเจ้ามือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีเม็ดเงินมากรวมตัวกัน ซึ่งเรามักจะมีอคติและคิดไปว่าพวกเขามีการ "ฮั้ว" และพยายามปั่นราคา ผมเองก็ไม่ทราบว่ามีกรณีเช่นนั้นมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่ารายใหญ่ที่มีความฉลาดและมองภาพคล้ายๆ กัน (เช่น ตีความข่าวได้ว่าจะมีผลต่อราคาหุ้นอย่างไร) ก็คงมีอยู่ ซึ่งนักลงทุนชั้นเซียนก็มักจะรวมอยู่ในพวกนี้ด้วย








แม้ที่มาที่ไปอาจจะไม่เหมือนกัน คือ พวกหนึ่งทุจริตปั่นหุ้น ส่วนอีกพวกหนึ่งสุจริต แต่ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะทำให้เกิดการกระจุกตัวของตลาด หรือ concentration of market เป็นผลให้เกิด demand หรือ supply ขนาดใหญ่ที่มีทิศทางเดียวกันและสามารถผลักดันราคาหุ้นให้ขึ้นหรือลงได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพยายามสู้กับกลุ่มนี้ (เจ้ามือ) เราก็จะเสียเปรียบมาก


วิธีสู้กับเจ้ามือ


ทางรอดหนึ่งของรายย่อยที่ผมมักจะเห็น ก็คือ พยายามจับทางให้ได้ว่าเจ้ามือจะมาเมื่อไหร่และมาในทิศทางไหน จากนั้นก็ตามแห่ไปกับเค้าด้วย ผมเองเห็นว่า "ถ้า" ทำได้ก็จะเป็นทางรอดอย่างหนึ่ง แต่ปัญหาที่พบคือ เรามักไม่รู้ล่วงหน้า และบ่อยครั้งที่เจ้ามือเข้าเนียนและออกไว การพยายามตีซี้และตามแห่จึงมักทำให้ติดดอย (ต้องทนถือหุ้นต้นทุนสูง)

ผมเองกลับคิดถึงอีกทางรอดหนึ่งว่า ถ้ารายย่อยอย่างเราสามารถรวมพลังกันได้ในแบบเดียวกับที่เจ้ามือทำ เราก็จะสามารถสู้กับเจ้ามือได้














ผมตั้งข้อสังเกตว่า หากเรารวมกลุ่มกันได้ใหญ่พอ บางทีอาจจะใหญ่กว่ากลุ่มเจ้ามือเดิมก็ได้ ...มาถึงตรงนี้เชื่อว่ารายย่อยน้อยใหญ่คงเริ่มสนใจ เพียงแต่ยังคิดอยู่ว่า "แล้วเราจะรวมตัวกันได้อย่างไรล่ะ?"

ความจริงแล้วเคล็ดลับนี้ปรากฏหราอยู่ที่บรรทัดแรกที่ผมเขียน...

เคล็ดลับก็คือซื้อขายหุ้นตามแนวโน้มระยะยาวของราคาหุ้นไงล่ะ! คุณอาจจะบอกว่า "ฉันจะไปรู้แนวโน้มราคาระยะยาวได้ยังไง" ไม่ยากเลยครับ เพียงแต่มองไปที่ปัจจัยพื้นฐานและตีความให้ได้ว่าหุ้นตัวนี้ดีหรือแย่ (แม้จะยังไม่คำนวณเลยด้วยซ้ำ) บริษัทมีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่องหรือไม่ การที่เรา "คาดการณ์" ผลประกอบการระยะยาวได้ ก็เท่ากับเราหาแนวโน้มระยะยาวของราคาหุ้นได้แล้ว ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่ลงทุนเลย ถ้าคาดการณ์ไม่ได้ว่าผลประกอบการของบริษัทใน 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร บริษัทพวกนั้นผมปล่อยครับ ใครอยากเล่นก็เล่นไป








ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นเป็นภาพที่รายย่อยจะเห็นได้ร่วมกัน และเป็นทีเด็ดที่จะเอาชนะเจ้ามือได้ เพราะเมื่อไหร่ที่เจ้ามือลากหรือทุบหุ้นสวนทางกับปัจจัยพื้นฐานแล้วล่ะก็ โอกาสที่เจ้ามือจะเจ็บเองก็มีเหมือนกัน

เพียงแต่เราเองอย่าไป "เล่น" หุ้นตัวเล็กที่ผลประกอบการห่วย และลาก-ทุบได้ง่ายๆ ก็แล้วกัน ไม่งั้นจะถูกเทพเจ้าลงทัณฑ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น