วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

Comparative Advantage ในงานสัมมนา


ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ผมได้ไปงานสัมมนามา(อีกแล้ว) และได้มีอะไรสนุกๆ มาเล่าสู่กันฟัง

งานสัมมนานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง โดยเชิญเอาคนที่มีประสบการณ์จากบริษัทและมหาวิทยาลัยต่างๆ มาพูดคนละ session เรียงต่อกันไป งานจัดขึ้นในโรงแรมหรูใจกลางกรุงเทพฯ ค่าสัมมนาก็แพงทีเดียวในสายตาของผม (xx,xxx บาท) ทั้งนี้บริษัทที่ผมทำงานเขาออกให้ก็ขอขอบพระคุณด้วยครับ

แง่คิดที่ได้จากสัมมนาในครั้งนี้ คือ เนื้อหาสำคัญกว่าตัวบุคคล ผมสังเกตว่าผมจะได้หรือไม่ได้อะไรในแต่ละ session ก็ขึ้นอยู่กับวิทยากรท่านนั้นๆ เตรียมเนื้อหามาดีแค่ไหน บางคนมาจากสถาบันหรือบริษัทดังๆ แต่ดูเหมือนไม่ค่อยได้เตรียมตัวมา ว่ากันตรงๆ ก็คือ "คว้า" เอาเนื้อหาอะไรที่เกี่ยวข้องมาได้ก็เอามาพูด

ดังนั้นในสถานการณ์ปกติ ถ้าวิทยากรไม่ได้มีทักษะในการพูดดีเหมือนโอบามาหรือโทนี่ แบลร์ ผมเชื่อว่าการเตรียมตัว วิเคราะห์ผู้ฟัง และจัดวางเนื้อหาให้ "เนื้อนุ่ม น้ำอร่อย" ย่อมจะสำคัญกว่าโปรไฟล์หรือความดังของวิทยากร และอย่างหลังนี่แหละที่ทำให้ผู้จัดงานสัมมนาต้องจ่ายเงินแพงเพื่อเป็นค่าตัวของวิทยากร และแปลว่าผู้ฟังต้องจ่ายเงินสำหรับความ "ดูดี" ของงานเท่านั้น ซึ่งน่าเสียดายครับ

อันนี้คือแง่คิดที่เป็นน้ำจิ้มที่ผมได้จากงานสัมมนานี้ โอเค แล้วแง่คิดหลักของผมคืออะไร

สถานการณ์เป็นอย่างนี้ครับ นอกจากบริษัทจะได้ส่งผมไปในงานแล้ว ยังได้ส่งน้องๆ ในแผนกอื่นไปฟังอีก 4 คนด้วย ซึ่งผมและทุกคนก็รู้จักกันบ้างไม่ถึงกับสนิท ในช่วงที่พักทานบุฟเฟต์อาหารกลางวัน เรา 5 คนก็จองโต๊ะขนาด 6 ที่นั่งไว้ จึงเหลือที่ว่างในโต๊ะอีก 1 ที่ จากนั้นต่างคนต่างออกไปหาอาหาร (ฟังแล้วนึกถึงช่อง Animal Planet)

แต่ปรากฏว่าพอผมกลับมาก็มีชายอีก 2 คนมานั่งที่โต๊ะเราเสียแล้ว จะไล่ก็ไม่ได้ พวกเราก็เดินถือจานกลับมาทีละคนจนเต็มโต๊ะ 6 ที่เรียบร้อย น้องคนสุดท้ายที่มาก็เลย... อึ้งครับ

แน่นอนว่าท่ามกลางคนที่เราไม่รู้จัก ไม่มีใครอยากไปนั่งร่วมโต๊ะกับคนอื่นให้มันอึดอัดหรอก ผมเชื่อว่าคนส่วนมากอย่างดีก็คงทำหน้าตาเห็นอกเห็นใจ แล้วบุคคลที่เกินมาก็เดินจ๋อยๆ ไปหาที่นั่งใหม่

ขณะที่น้องเขากำลังจะไปหาที่นั่งอื่น ซึ่งมันก็คงจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่ผมก็เสนอให้น้องมานั่งที่ของผมแทนครับ! ลองวิเคราะห์ดูว่าผมไม่ชอบ แต่ทำไมผมถึงทำ!?

ถ้าว่าตามจริง ผมมีประสบการณ์ในงานสัมมนามาพอสมควร หากผมต้องไปนั่งเงียบๆ กินกับคนแปลกหน้าเต็มโต๊ะ ก็คงฝืดคอเล็กน้อย แต่ในเมื่อมันเป็นงานบุฟเฟต์ เราสามารถเดินออกไปผ่อนคลายหาของกินได้เรื่อยๆ สถานการณ์จึงไม่น่าจะถึงกับแย่มากมายนัก ในขณะที่น้องๆ อาจจะมีประสบการณ์บ้างแต่ก็คงน้อยกว่าผม และผมเองก็มีความหน้าด้านอยู่บ้าง อาจจะชวนคนแปลกหน้าคุยได้บ้าง แม้ว่าจะไม่ได้ response ที่ดีก็จะแอบเก็บเอาความหน้าแตกไว้คนเดียว จึงถือว่าผมมี "comparative advantage" คือ มีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับน้องๆ ซึ่งน่าจะหน้าบางกว่าผม

การที่ผมเสียสละโดยที่ผมไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย จึงเป็นการซื้อใจน้องๆ ที่ยังไม่ได้สนิทกันโดยไม่ต้องใช้เงินซักบาท และไม่ได้ซื้อทีละคน แต่ผมซื้อทีละ 4 คน ซึ่งผมเห็นแล้วว่ามันคุ้มเกินคุ้ม ยังไม่นับความรู้สึกที่เราได้ทำความดีกับเพื่อนมนุษย์อีกประการหนึ่งด้วย

ผลลัพธ์คือน้องๆ ให้ความนับถือผมยิ่งขึ้น และพวกเราก็มีบทเรียนว่าคราวหน้าต้องแสดงตนให้ชัดเจนมากๆๆๆๆ ว่าที่นั่งนี้จองแล้ว(โว้ย)

ลองมองดูตัวเองนะครับว่ามี comparative advantage อะไรกันบ้าง สิ่งเล็กๆ ที่ทำแล้วได้ผลใหญ่ ทำดีไม่ต้องอายครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. คนที่ชอบจองที่อนุมานได้ว่าเป็นคนไม่ชอบเสี่ยง ไม่ชอบเสี่ยงที่จะถือจานร่อนไปร่อนมาหาที่นั่ง หรือนั่งกับคนที่ไม่รู้จัก

    ตอบลบ